11 บลจ. ที่มีขนาดกองทุนรวมภายใต้การบริหารกว่า 90% จับมือจัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย โดยแบ่งค่าธรรมเนียมจัดการ 40% ไปบริจาคเพื่อสนับสนุนการมีธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชั่น
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า สมาคมได้รับความร่วมมือที่ดีจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และพร้อมที่เปิดจำหน่ายกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย โดยในเบื้องต้น มีจำนวนทั้งสิ้น 11 บลจ. ที่มีขนาดกองทุนรวมภายใต้การบริหารกว่า 90% ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม ซึ่งประกอบด้วย บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.ทหารไทย บลจ.ทาลิส บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.บัวหลวง บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ. กสิกรไทย บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.บางกอกแคปปิตอล ที่จะทยอยจัดตั้งและเปิดจำหน่ายกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เป็นต้นไป
กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ หรือตลาดรองอื่นๆ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกองทุนจะลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ใน Stock Universe ของกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยนั้น ทุก บลจ.จะส่งผู้แทนมา บลจ.ละ 1 รายเพื่อเป็น คณะกรรมการกำหนดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ในการลงทุน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าและออกจาก Universe การลงทุนของกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะเป็น Universe เดียวกันทุก บลจ. โดยรายชื่อบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับ Thai IOD (CGR) rating ตั้งแต่ 4 ดาวขึ้นไปซึ่งได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) โดยในเบื้องต้นมีหลักทรัพย์ที่ผ่านเข้า Stock Universe 103 หลักทรัพย์ ทั้งนี้ ทุก บลจ. สามารถเลือกหุ้นที่จะลงทุนจาก Universe ร่วมได้ตามนโยบายที่แต่ละ บลจ. มีความชำนาญ เช่น แบบ Passive, แบบ Active หรือ ETF เป็นต้น สำหรับการปรับปรุง Stock universe มีกำหนดเวลาภายใน 1 ปีนับจากวันที่ Thai IOD ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว
ที่สำคัญคือ บลจ.ต่างๆ จะนำรายได้ 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ได้รับไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมธรรมมาภิบาลไทย และหน่วยงานที่ส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยพิจารณาถึงความยั่งยืนของโครงการต่างๆ เป็นสำคัญ โดยทุก บลจ.จะส่งผู้แทนแห่งละ 1 รายมาเป็น คณะกรรมการพิจารณาการบริจาคเงิน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน พิจารณา คัดเลือก และอนุมัติการสนับสนุนโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน รวมถึงติดตามและประเมินผลการนำเงินบริจาคไปใช้ในโครงการที่สนับสนุนดังกล่าว โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์สูงในการทำงานด้านส่งเสริมธรรมมาภิบาลไทยและต่อต้านคอร์รัปชั่นมาเป็นที่ปรึกษาให้คณะกรรมการฯ
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการที่ 11 บลจ. ร่วมกันจัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากนักลงทุน จะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการบริหารจัดการ และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส่ มีธรรมาภิบาล และตระหนักในความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนและสังคม พร้อมทั้งเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยในรื่องธรรมาภิบาล และการทำหน้าที่ที่ดีของผู้ลงทุนสถาบันในการกำกับดูแลกิจการที่กองทุนนำเงินไปลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ยั่งยืนในการลงทุนในระยะยาว