happy on July 30, 2017, 06:10:37 PM

ชื่อภาพยนตร์:      THE BEGUILED    
ชื่อไทย:      เล่ห์ลวง พิศวาส ปรารถนา
วันที่เข้าฉาย:       24 สิงหาคม 2560
จัดจำหน่าย:        บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด


<a href="http://www.youtube.com/watch?v=C-06UEDJP54" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=C-06UEDJP54</a>

เรื่องย่อ

The Beguiled เป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญด้วยบรรยากาศของหนัง จากผู้กำกับและเขียนบทที่ได้รับการยกย่อง โซเฟีย คอปโปลา

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในโรงเรียนประจำหญิงล้วนในภาคใต้ของอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ กลุ่มเด็กสาวช่วยชีวิตและนำทหารฝ่ายศัตรูที่บาดเจ็บเข้ามาอยู่ในโรงเรียน  ขณะที่พวกเธอให้ที่พักพิงและรักษาอาการบาดเจ็บของเขา สถานที่แห่งนี้ก็ถูกครอบงำด้วยความตึงเครียดเรื่องชู้สาวและการชิงดีชิงเด่นที่เป็นภัย  และข้อห้ามก็ถูกละเมิดเมื่อเกิดการพลิกผันที่ไม่คาดคิดของเรื่องราว

โฟกัส ฟีเจอร์ส เสนอภาพยนตร์จากการสร้างของบริษัทอเมริกัน โซอีโทรพ เรื่อง The Beguiled นำแสดงโดยโคลิน ฟาร์เรลล์, นิโคล คิดแมน, เคียร์สเตน ดันสต์, แอลล์ แฟนนิง ดนตรีประกอบโดยฟีนิกซ์  ดัดแปลงจาก Magnificat ของเคลาดิโอ มอนเตแวร์ดี, สเตซี แบทแททออกแบบเสื้อผ้า, ตัดต่อโดยซาราห์ แฟล็ค ( เอซีอี), ออกแบบงานสร้างโดยแอนน์ รอสส์, กำกับภาพโดย ฟิลิปป์ เลอ ซูร์ด (เอเอฟซี), โรมัน คอปโปลา, แอนน์ รอสส์, เฟร็ด รูส และโรเบิร์ต ออร์ทิซ เป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร อำนวยการสร้างโดยยูรี เฮนลีย์ และโซเฟีย คอปโปลา เขียนบทดัดแปลงและกำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา ผลงานภาพยนตร์โดยโฟกัส ฟีเจอร์ส







เกี่ยวกับงานสร้าง

หลังจากเคยร่วมเดินทางกับตัวละครมากมายในช่วงพลิกผันของพวกเขาในศตวรรษที่ 18, 20 และ 21 ตอนนี้ผู้กำกับโซเฟีย คอปโปลา เดินทางเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ด้วยผลงานเรื่อง The Beguiled ซึ่งเธอเขียนบทดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของโทมัส คัลลิแนน

ผู้มาร่วมเดินทางครั้งใหม่กับผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คอปโปลากลับมาร่วมงานกับนักแสดงสาวสองคนที่เธอชื่นชอบในจำนวนหลายๆคน คือเคียร์สเตน ดันสต์และแอลล์ แฟนนิง และร่วมงานครั้งแรกกับโคลิน ฟาร์เรลล์ นักแสดงเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ และนักแสดงรางวัลออสการ์ นิโคล คิดแมน นักแสดงมากประสบการณ์เหล่านี้ได้กลุ่มนักแสดงสาววัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการมาเสริมทีม

ทีมงานในส่วนงานสร้างของคอปโปลา ก็รวมถึงแอนน์ รอสส์ คนออกแบบงานสร้าง, ซาราห์ แฟล็ค คนตัดต่อ และสเตซี แบทแทท คนออกแบบเสื้อผ้า  ซึ่งแต่ละคนเคยร่วมงานกับเธอมาแล้วหลายเรื่อง  นอกจากนี้ยังมีฟิลิปป์ เลอ ซูร์ด ผู้กำกับภาพที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ มารับหน้าที่นี้ในหนังของคอปโปลาเป็นครั้งแรก

เหตุการณ์ของหนังเกิดขึ้นในปี 1864 เมื่อสงครามกลางเมืองของอเมริกาเข้าสู่ปีที่สาม และถ่ายทอดเรื่องราวในโรงเรียนประจำหญิงล้วนแห่งหนึ่งในภาคใต้ในเวอร์จิเนีย ที่มีทหารบาดเจ็บฝ่ายเหนือเข้ามาหลบภัย

เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง The Beguiled เวอร์ชั่นปี 1971 ที่กำกับโดยดอน ซีเกล นำแสดงโดยคลินต์ อีสต์วู้ด, เจอรัลดีน เพจ, อลิซาเบธ ฮาร์ตแมน และโจ แอนน์ แฮร์ริส  ดึงดูดใจคอปโปลา และอยากสำรวจลงไปให้ลึกในธีมที่ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงที่อยู่กันอย่างโดดเดี่ยวในช่วงสงครามกลางเมือง ในการเขียนบทดัดแปลง เธอกลับไปหาหนังสือต้นฉบับเพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของตัวละครผู้หญิงสำหรับหนังเรื่องนี้ของเธอ

ในขณะที่มีความตึงเครียดทั้งในเรื่องเพศและเรื่องอื่นตลอดเรื่องราวในหนัง “บทหนังที่น่าทึ่งมาก” ตามที่ฟาร์เรลล์คิด ดึงดูดใจเขาเพราะ “มันพินิจพิเคราะห์เรื่องที่ว่าความไร้เดียงสาใดๆที่คงอยู่มาตลอด ถูกทำลายไปได้อย่างไรในช่วงสงคราม  มันยังสำรวจลงไปถึงการที่ลักษณะคล้ายสัตว์ของพฤติกรรมมนุษย์สามารถถูกกระตุ้นและแพร่กระจายได้อย่างไร แม้แต่ตอนที่คุณไม่ได้อยู่ในแนวหน้า”   

“ความรุนแรงในหัวใจของมนุษย์เป็นธีมที่คงอยู่ตลอดกาล ไม่ว่าเรื่องราวของหนังจะเกิดขึ้นในยุคสมัยใด”

ดันสต์บอกว่า “เรื่องราวในหนังเป็นความลึกลับดำมืดแบบภาคใต้  ซึ่งสิ่งต่างๆจะคุกรุ่นอยู่ด้านล่าง จนกระทั่งมันถึงจุดเดือดและระเบิดออกมา  มันไม่น่ากลัว แต่รู้สึกมีความน่ากลัวอยู่ในนั้น ด้วยความรุนแรงและการทำลายล้าง  ทั้งหมดยิ่งกระตุ้นความสนใจมากขึ้น เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้หญิง”

“ตอนโซเฟียบอกฉันเกี่ยวกับไอเดียนี้เมื่อสองสามปีที่แล้ว สิ่งที่ฉันประทับใจคือเธอสนใจประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงหลายคนที่อยู่ด้วยกันตามลำพัง”

คิดแมนบอกว่า “ฉันคิดว่ามันน่าตื่นเต้นที่ได้ทำงานกับกลุ่มนักแสดงหญิง แล้วก็วางโคลินลงในความสมดุล”

“ฉันดีใจมากที่ได้สนับสนุนโซเฟียในฐานะผู้กำกับหญิง และฉันคิดเสมอว่าเธอทำหนังที่มีบรรยากาศในแบบที่เป็นลายเซ็นมาก  นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันอยากทำงานกับเธอ”

แฟนนิงบอกว่า “นอกเหนือจากการได้ทำงานกับโซเฟียอีกครั้ง นี่เป็นเหตุผลที่ฉันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ The Beguiled  ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจในหนังเรื่องนี้ ถึงแม้ฉากของหนังจะเป็นเหตุการณ์ในช่วงสงครามกลางเมืองก็ตาม”

ชีวิตในช่วงสงครามของผู้หญิงในโรงเรียนเป็นกิจวัตรมากเมื่อเรื่องราวของหนังเริ่มต้นขึ้น   แฟนนิงบอกว่า  “พวกเธอตื่นนอน ทำงานในสวน มีการสวดมนต์ เล่นดนตรี เรียนภาษาฝรั่งเศส ทานมื้อค่ำ และเข้านอน  จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  พวกเธอพาตัวทหารบาดเจ็บเข้ามาในโรงเรียน และความเห็นแก่ตัวก็เริ่มขึ้น”

แอนน์ รอสส์บอกว่า “มันหายากที่คุณจะเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงสงคราม และเรื่องที่ว่าพวกเธอมีปฏิกิริยาต่อกันยังไง  ใน The Beguiled โซเฟียได้สำรวจลึกลงไปทั้งในมุมของความเป็นเพื่อน และความโดดเดี่ยวของพวกเธอ”

จากข้อจำกัดของสังคมที่ผู้หญิงเติบโตมาก หรือยังคงเติบโตต่อไป  การค้นคว้าข้อมูลต้องเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเตรียมงานสร้าง  รอสส์บอกว่า  “อย่างน้อยเราต้องรู้ว่าอะไรคือความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นนวนิยาย”

“แต่โซเฟียกับฉันเริ่มต้นด้วยการทำแบบที่เราทำในหนังทุกเรื่อง นั่นคือการเอารูปภาพ, ของสะสมต่างๆที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรามาแชร์กัน ช่วยกันดู ทำเป็นมู้ดบอร์ดออกมา  และเขียนรายละเอียดขอบเขตของหนัง”  แรงบันดาลใจของหนังมีตั้งแต่หนังดราม่าของออสเตรเลีย เรื่อง Picnic at Hanging Rock  จนถึงศิลปการวาดภาพคนของจิตรกร จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์

เลอ ซูร์ดเริ่มต้นเตรียมงานสำหรับ The Beguiled “หนึ่งปีเต็มก่อนเริ่มที่เราจะเริ่มการถ่ายทำ  สิ่งที่ผมประทับใจตอนหาข้อมูลก็รวมถึงการได้ตรวจสอบการถ่ายภาพด้วยกล้องระบบดาแกร์โรไทพ์  และเรื่องที่การใช้สีแรงๆมีน้อยมากในช่วงสงครามกลางเมือง”

“โซเฟียกับยูรี เฮนลีย์ (ผู้อำนวยการสร้าง) ตัดสินใจถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งผมชื่นชมมาก  และเราเลือกใช้อัตราส่วนของภาพแบบหนังสมัยเก่าคือ 1:66/1 เพื่อให้เห็นภาษากายของนักแสดงมากขึ้น”

ผู้กำกับภาพทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับแบทแททและรอสส์เรื่องการใช้สีของหนัง และเรื่องการทำออกมาได้ถูกต้องตรงกัน  จากการที่เหตุการณ์ของหนังเกิดขึ้นก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้สิบกว่าปี จึงมีการจัดแสงแบบแสงธรรมชาติตอนกลางวันในฉากที่ต่อเนื่องกัน  แสงธรรมชาติจะมีแสงเพิ่มเติมจากแสงเทียน ซึ่งจะมีเก็บไว้ รวมทั้งทำใช้กันเองในโรงเรียนประจำแห่งนี้ และในบางครั้งก็เป็นแสงจากไฟสตูดิโอยุคปัจจุบัน

รอสส์บอกว่า “ตอนที่แม็คเบอร์นีย์ (รับบทโดยฟาร์เรลล์) ปรากฏตัวครั้งแรก  โลกที่เขาก้าวเข้ามาสีจะอ่อนๆ และซีดจาง  เมื่อเขาอยู่กับพวกผู้หญิงนานขึ้นสิ่งต่างๆก็เริ่มเป็นสีเข้มขึ้น สะท้อนอารมณ์ของหนัง”

ฟาร์เรลล์บอกว่า “ผมชอบที่หนังมีความเป็นดราม่า  และมีเมโลดราม่านิดหน่อยด้วย”

โคลิน ฟาร์เรลล์อยากร่วมงานกับคอปโปลามานานแล้ว ตอนที่ผู้กำกับหญิงคนนี้ติดต่อเขาสำหรับบทนี้ใน The Beguiled  เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการถ่ายทำหนังอีกเรื่องกับนิโคล คิดแมน  ฟาร์เรลล์พูดติดตลกว่า “ตอนนี้นิโคลกับผมเป็นหุ้นส่วนคนละ 50 เปอร์เซนต์ของบริษัททำหนังขนาดเล็กที่ใช้นักแสดงชุดเดิม”

“ผมชอบทำงานกับนิโคล  ตอนเธอมาเข้าฉาก ทุกคนจะทำตัวดีขึ้น ตั้งแต่นักแสดงจนถึงช่างไฟ”

แฟนนิงบอกว่า “ทุกคนจะยืนตัวตรงขึ้น โดยเฉพาะตอนที่นิโคลกลายเป็นมิสมาร์ธา”

การมีนักแสดงอยู่ประจำในสถานที่ถ่ายทำเพื่อรับบทเป็นผู้หญิงในภาคใต้  การค้นคว้าข้อมูลจึงขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น  มีการเรียนวิธีการเขียนโดยใช้ปากกาแบบจุ่มหมึก มีการสาธิตวิธีการใช้เครื่องห้ามเลือด  มีการซ้อมก่อนการถ่ายทำโดยนักแสดงแต่งตัวครบชุดด้วยเสื้อผ้าในยุคนั้น
แฟนนิงบอกว่า “ฉันมาจากจอร์เจีย เลยเข้าใจค่านิยมที่ตัวละครเหล่านี้ถูกเลี้ยงดูมา  ฉันคุ้นเคยมากกับการทำตัวเป็นสุภาพสตรีแบบนี้”

“แต่ในระหว่างการซ้อม เราก็ต้องไปเจอโค้ชที่สอนเรื่องมารยาท  และครูสอนเต้นรำที่สอนวิธีการเต้นรำสมัยนั้น”

ฟาร์เรลล์บอกว่า “ปฏิกิริยาระหว่างผู้ชายคนนี้กับผู้หญิงเหล่านี้เป็นไปตามมารยาทสังคม  จนกระทั่งบางคนก้าวออกมาจากกรอบที่เป็นที่ยอมรับ  จากนั้นมันก็ไม่ใช่บรรยากาศแบบที่ต้องจำกัดการแสดงความรู้สึกอีกต่อไป  ผมไม่คิดว่าตัวละครของผมต้องมีมารยาทมากนัก แต่โซเฟียก็ขอให้ผมไปเจอโค้ชที่สอนเรื่องมารยาทด้วยเช่นกัน ผมก็เลยไป”

นักแสดงหญิงหลายคนต้องฝึกสำเนียงการพูดซึ่งถูกกำหนดเพื่อบอกสำเนียงเฉพาะของหลายรัฐ วันละหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่ก็ทึ่งกับการสามารถคงการใช้เสียงแบบมิสมาร์ธาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอของนิโคล คิดแมน  เธอบอกว่า “ฉันพูดด้วยสำเนียงชาวใต้สำเนียงเฉพาะมาก และบางครั้งพยายามรักษาสำเนียงนั้นไว้ให้ได้ทั้งก่อนและหลังเทค”

อูนา ลอเรนซ์, แองกาวรี ไรซ์, เอ็มมา ฮาเวิร์ด และ แอดดิสัน ริคกี ถูกพูดถึงในฐานะ “ผู้เยาว์” เพราะนักแสดงหญิงทั้งสี่คน ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว แต่มีอายุต่ำกว่า 18   มิตรภาพระหว่างทั้งสี่คนแน่นแฟ้นขึ้นจากการเรียนหนังสือด้วยกันในระหว่างการถ่ายทำ รวมทั้งการนั่งรถไปและกลับสถานที่ถ่ายทำด้วยกันทุกวัน

เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพวกเธอให้มากยิ่งขึ้น และสร้างตัวเชื่อมระหว่างการค้นคว้าข้อมูลและจินตนาการ  คอปโปลาขอให้นักแสดงรุ่นเด็กเขียนบันทึกประจำวัน ในฐานะตัวละครที่พวกเธอแสดง  เล่าถึงอดีต คือครอบครัวที่แต่ละคนต้องมาอยู่ห่างไกล รวมถึงปัจจุบันของพวกเธอ คือที่โรงเรียน  ผู้กำกับยังให้ข้อมูลอย่างละเอียดแก่ทั้งสี่คนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสาวๆในวัยของพวกเธอจะประสบในช่วงสงครามกลางเมือง

ดันสต์บอกว่า “มิสมาร์ธาไม่ได้เป็นเพียงผู้นำของโรงเรียน แต่เธอเป็นผู้นำของสิ่งที่กลายมาเป็นครอบครัวด้วย  ตัวละครของฉัน คือเอ็ดวินา เป็นเหมือนผู้ดูแลสำหรับพวกเด็กๆ  แต่จากการที่สงครามยื้ดเยื้อยาวนาน เราเลยกลายเป็นเหมือนแม่ๆให้พวกเธอด้วย”

การมีนักแสดงหญิงที่มีความสามารถมากในทุกบท ทำให้เรื่องราวทั้งหมดของหนังมีความสำคัญมากขึ้น และความสัมพันธ์ซับซ้อนขึ้น  ทำให้ทุกฉากมีชีวิตขึ้นมา

ฟาร์เรลล์บอกว่า  “ผมถูกรายล้อมด้วยนักแสดงหญิงที่มีความสามารถ  เนื่องจากตัวละครของผมต้องนอนอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง ผมจึงมีที่นั่งที่ดีที่สุดในบ้าน  ดูพวกเธอทำงาน”

บทแม็คเบอร์นีย์ดึงดูดใจฟาร์เรลล์ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดด้านอารมณ์และ-หรือด้านร่างกาย  “เขาเป็นคนค่อนข้างหลงตัวเอง แต่ก็เก่งในการอ่านคนว่าใครเป็นยังไง  จนเขาอ่านออกว่าพวกเธอต้องการอะไร  เขารู้สึกถึงสิ่งที่พวกเธออาจจะคิดว่าเป็นการดูถูกและอยู่ให้ห่างจากสิ่งนั้น และไปหาจุดอ่อนของพวกเธอแทน ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยคำพูดที่อ่อนโยน หรือสงวนท่าที่มากขึ้น”

“บางที คนเดียวที่เขาจริงใจด้วย อาจจะเป็นเอมี ตัวละครของอูนา  เธอโอบอ้อมอารีกับเขาทันทีตั้งแต่แรก แต่แม้แต่ความไร้เดียงสานี้ก็ต้องถูกทำลายไป”

ดันสต์บอกว่า “มีการตายในหนังด้วย แต่ก็เกี่ยวกับการตายของความรู้สึกข้างในด้วยเช่นกัน  ฉันพยายามให้ความรู้สึกข้างในที่เต็มเปี่ยม เติมด้านอารมณ์ให้กับเอ็ดวินา  ความรู้สึกของเธอมีความละเอียดอ่อนที่แตกต่างอย่างมากสำหรับฉัน  และตรงกันข้ามกับตัวตนของฉัน”

แฟนนิงบอกว่า  “สำหรับตัวละครของฉัน คืออลิเชีย มันคือการกระตุ้นที่ได้เห็นผู้ชายในระยะประชิด  เธออยู่ในวัยที่เริ่มรู้สึกเบื่อ รู้สึกจมปลัก  ตอนเธอเริ่มปล่อยผมและเปิดเผยเสื้อชั้นในรัดทรงของเธอนิดๆ นั่นเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างมาก  แต่เธอไม่คาดคิดว่าการทำตัวยั่วยวนครั้งนี้จะมีผลตามมายังไง”

“ฉันชอบที่ได้แสดงเป็นคนที่กำลังเจอเหตุการณ์นั้น และจากยุคสมัยของหนัง  ซึ่งเป็นฉากของเหตุการณ์ที่ฉันไม่เคยแสดงมาก่อน”

นักแสดงคู่นี้ที่ร่วมงานในหนังเรื่องก่อนๆของคอปโปลา กลายมาเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว  ดันสต์บอกว่า “แอลล์กับฉันรู้ใจกันเลยว่าอีกคนจะพูดอะไร  ฉันได้เจอเพื่อนที่รู้ใจมากคนหนึ่ง”

ส่วนแฟนนิงบอกว่า  “ฉันรักเคียร์สเตน บางฉากเป็นฉากที่ยากสำหรับเรา เพราะเรามองหน้ากันไม่ได้ ไม่งั้นจะต้องหัวเราะออกมา”

กองถ่ายใช้หลุยเซียนาเป็นฐานในการถ่ายทำ ซึ่งสร้างความดีใจอย่างมากให้ริคกี ที่เกิดและเติบโตในรัฐนี้ ถึงแม้เธอจะรับบทตัวละครของเธอ คือมารี ด้วยสำเนียงแบบมิสซิสซิปปีก็ตาม

คอปโปลาชอบที่จะถ่ายในสถานที่ถ่ายทำจริงมากกว่า แบบเดียวกับที่ทำมาในหนังเรื่องก่อนๆของเธอ  ดังนั้น สถานที่ที่ถูกใช้เป็นโรงเรียนสตรีฟาร์นสเวิร์ธในหนัง คือบ้านไร่เมดวู้ด ซึ่งคนดูหลายคนอาจจะจำได้จากมิวสิควิดีโอเพลง Sorry ของบียอนเซ ในอัลบั้ม Lemonade ของเธอ

เมดวู้ดอยู่ห่างจากนิวออร์ลีนส์แบบขับรถไปสองชั่วโมง ถูกออกแบบและสร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงแม้สงครามกลางเมืองจะทำให้สร้างเสร็จล่าช้า  สถานที่แห่งนี้ผ่านความขัดแย้งมาเช่นเดียวกับที่เป็นใน The Beguiled  และมันยังตั้งอยู่ได้อย่างดีแม้เผชิญภัยธรรมชาติ  คีธ มาร์แชลผู้เป็นเจ้าของบอกว่า “ผนังใช้อิฐหนาถึง 24 นิ้ว”

“บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในคฤหาสน์สไตล์กรีกโบราณที่สมบูรณ์แบบที่สุดในอเมริกา”  นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์แล้ว เมดวู้ดยังเคยเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลดนตรี และเปิดเป็นที่พักพร้อมอาหารเช้าสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย  เป็นคฤหาสน์ที่เป็นแลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์ของชาติ

ฉากเหตุการณ์สำคัญในหนังถ่ายทำกันทั้งภายในเมดวู้ดและบริเวณรอบๆ รวมถึงฉากในครัวและห้องทานอาหารที่นักแสดงทั้งแปดคนอยู่กันพร้อมหน้า  ส่วนหน้าของอาคารที่เป็นประวัติศาสตร์หลังนี้ไม่ถูกแตะต้อง ถึงแม้ทีมงานของรอสส์ต้องมีการปลูกต้นไม้และตกแต่งด้านหน้า เพื่อบ่งบอกถึงการถูกละเลยเป็นบางครั้งเนื่องจากสงครามยังยืดเยื้อ และคนที่อยู่ในโรงเรียนก็ลดจำนวนลง

แต่ถึงอย่างนั้น รอสส์บอกว่าทีมงาน “ยังต้องหาบ้านหลังอื่นที่เราอาจจะปรับแต่งข้างในได้มากขึ้น และเปลี่ยนการตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ และทาสีนิดหน่อย ในจำนวนการวางแผนเตรียมการอื่นๆ”

“ในขณะที่ก็ต้องแน่ใจ ว่าจะไม่ทำให้อะไรเสียหาย” แฟนนิงยืนยัน  “เราทุกคนต้องระวังมากและเคารพสถานที่อย่างมาก  บันไดสุดอลังการเลย”  บ้านที่มีเอกชนเป็นเจ้าของหลังนี้อยู่ที่นิวออร์ลีนส์ และการตกแต่งภายในก็ทำให้มันกลายเป็นห้องนั่งเล่น, ห้องดนตรี และห้องนอนของโรงเรียน ในจำนวนสถานที่อื่นๆที่ระบุไว้ในบทหนัง

ในขณะที่อาคารโรงเรียนมีการถ่ายทำในสองสถานที่ คือเมดวู้ด และบ้านในนิวออร์ลีนส์  ทีมงานยังได้ถ่ายทำที่ไร่เอเวอร์กรีน และสวนสาธารณะซิตี้พาร์คของนิวออร์ลีนส์ และบริเวณรอบๆทั้งสองแห่งด้วย  ซิตี้พาร์คเป็นสถานที่ที่เหมาะมากสำหรับฉากเปิดเรื่อง ที่แม็คเบอร์นีย์ถูกพบตัวครั้งแรกโดยเอมี  คอปโปลาและเลอ ซูร์ดได้แรงบันดาลใจจากฉากในป่าในงานคลาสสิกของอากิระ คูโรซาวา เรื่อง Rashomon

สำหรับฉากภายในที่สถานที่ถ่ายทำหลักทั้งสองแห่ง ทีมงานของรอสส์ต้องเติมอุปกรณ์ประกอบฉากโรงเรียนสตรีฟาร์นสเวิร์ธด้วยข้าวของสารพัด ตั้งแต่คัมภีร์ไบเบิ้ล ถึงเชิงเทียน จนถึงเครื่องดนตรี   สำหรับฉากห้องอาหาร แผนกอุปกรณ์ประกอบฉากใช้เครื่องเงินโบราณ ซึ่งตอนนั้นดูหมอง จากการที่ในโรงเรียนมีจำนวนคนลดลง และความขาดแคลนในช่วงสงครามทำให้ไม่มีเวลาสำหรับงานที่ไม่จำเป็น เช่นการขัดเครื่องเงิน

ปืนที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งถูกเก็บไว้โดยมิสมาร์ธาเพื่อป้องกันตัว  เป็นปืนวิทนีย์วิลล์ ดรากูน ปืนลูกโม่ .44   ที่ผลิตขึ้นก่อนสงครามกลางเมืองหลายปี  ดังนั้นจึงเหมาะในบริบทของหนังว่าเคยเป็นของพ่อของมิสมาร์ธา  ข้อบังคับโดยรวมสำหรับแผนกอุปกรณ์ประกอบฉากคือ “ต้นศตวรรษที่ 19” เนื่องจากสิ่งของหลายอย่างจะมีการเก็บไว้และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง  หนังสือจากช่วงเวลานั้นใช้เวอร์ชั่นที่พิมพ์ซ้ำ เพื่อจะได้ไม่ดูหน้าตาล้ำกว่ายุคสมัยจริง

ถ้าทีมนักแสดงสามารถเดินทางเข้าไปในประวัติศาสตร์เมื่ออยู่ท่ามกลางอุปกรณ์ประกอบฉากและสถานที่ถ่ายทำ  แผนกของแบทแททก็ทำให้พวกเขารู้สึกในทันทียิ่งขึ้น ด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยมือ  การสวมชุดเหล่านี้ช่วยนักแสดงทุกคนในการเข้าถึงตัวละคร “เราใส่เสื้อชั้นในรัดทรงทุกวัน” แฟนนิงเผยความลับ  “เราต้องวัดเอวทุกวันเพราะกระโปรงตัดเย็บมาแบบพอดีตัว  มีกระดุมเม็ดเล็กๆเต็มไปหมด คุณใส่ชุดด้วยตัวเองไม่ได้ และถอดชุดเองก็ไม่ได้”

“การใส่เสื้อชั้นในรัดทรงทำให้คุณเดินและทรงตัวในแบบที่ต่างจากเดิม  สเตซีทำงานได้เยี่ยมมากด้วยกระโปรงที่เบาและแนบตัว  ชุดถูกซักให้ดูซีดจางมากๆ เนื่องจากตัวละครของเราคงมีเพียงแค่เสื้อผ้าที่เหลืออยู่มากในโรงเรียนตอนนั้น  กระโปรงมีสีซีดมากยิ่งขึ้นจากการถูกตากอยู่กลางแดดตอนเที่ยง”

นิโคลชื่นชมว่า  “ฉันหลงใหลวิธีการที่โซเฟียรวบรวมรูปลักษณ์ของ The Beguiled เข้าด้วยกัน  เธอมีความคิดที่ชัดเจนมากเรื่องที่ว่าภาพของหนังจะออกมายังไง รวมถึงเสื้อผ้าและฉาก และเธอต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นหนังทุนต่ำ”

การถ่ายทำใช้เวลาเพียง 26 วัน โดยเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2016  เลอ ซูร์ดเป็นคนถ่ายเอง บ่อยครั้งจะมีคอปโปลาอยู่ใกล้ๆ เพื่อเธอจะได้บอกกับนักแสดงได้โดยตรงเวลาที่พวกเขาถ่ายหลายเทค  เลอ ซูร์ดบอกว่า ผลจากการนี้ “เราช่วยกันทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงในฉากนั้น”

แฟนนิงเล่าว่า  “เรามีปาร์ตี้กันตอนที่หนังถ่ายทำไปถึงม้วนที่ 100  มันนานมากทีเดียวตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ฉันแสดงในหนังที่ถ่ายด้วยฟิล์มภาพยนตร์”

ฟาร์เรลล์บอกว่า “ด้วยการทำงานร่วมกันของฟิลลีผู้กำกับภาพของเราและโซเฟีย  ผมอยากบอกว่า The Beguiled เป็นหนังที่สวยที่สุดที่ผมเคยร่วมงานด้วย  หนังเรื่อง The New World (2005, กำกับโดยเทอร์เรนซ์ มาลิค) มีงานด้านภาพที่น่าทึ่งมาก แต่นั่นคือธรรมชาติแท้ๆ  The Beguiled เป็นฉากภายในและออกแบบฉากมากกว่า”

เลอ ซุร์ด บอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายฉากภายในหรือภายนอก เราจะโฟกัสไปที่นักแสดง ไม่ใช่ฉากหลัง”

ฟาร์เรลล์เสริมว่า  “มีความตึงเครียดน้อยมากในกองถ่ายของโซเฟีย คอปโปลา  เป็นบรรยากาศที่สงบมากและสนุกมากด้วยซ้ำ”

คิดแมนบอกว่า  “โซเฟียเป็นคนพูดเบามาก และอ่อนหวานน่ารักเวลาอยู่ใกล้  ทุกคนให้เกียรติเธอมาก”

ดันสต์บอกว่า  “ในการทำหนัง ไม่มีหนังเรื่องไหนจัดเตรียมเหมือนหนังของโซเฟีย  เธอบ่มเพาะพลังงานที่ดี ดังนั้นภาพที่เธอคิดไว้จึงมีชีวิตขึ้นมา  เธอไม่เคยสงสัยในตัวเอง และเชื่อใจนักแสดงของเธอจริงๆ”

แฟนนิงกล่าวว่า  “โซเฟียเป็นคนที่ควบคุมงานเต็มที่มาก  เธอรู้ภาพที่เธอต้องการสำหรับฉากนั้นๆ  แต่กองถ่ายเป็นที่ที่รู้สึกปลอดภัย ที่คุณสามารถคิดและลองทำสิ่งต่างๆ”
« Last Edit: July 30, 2017, 06:17:08 PM by happy »

happy on July 30, 2017, 06:26:09 PM





“มีความลึกลับเสมอระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง”
ถาม-ตอบ กับผู้เขียนบทและผู้กำกับ โซเฟีย คอปโปลา

ถาม: คุณเคยพูดว่าคุณพยายามทำหนังที่มีความเป็นส่วนตัว  อะไรคือความเป็นส่วนตัวสำหรับคุณเกี่ยวกับ The Beguiled

โซเฟีย คอปโปลา: กับหนังเรื่องไหนก็ตาม ฉันไม่เคยรู้จนกระทั่งหลังจากนั้น  สิ่งต่างๆที่ฉันเคยเห็นมา ผู้คนที่ฉันรู้จักกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน

แต่ฉันมักสนใจวิธีที่ผู้หญิงมีปฏิสัมพันธ์กัน  และฉันได้เห็นว่าบางครั้งพวกเธอเปลี่ยนไปยังไงเวลาที่มีผู้ชายอยู่

ถาม: ถ้าอย่างนั้น The Beguiled คือการกลับไปการทำงานที่มีธีมเกี่ยวกับกลุ่มผู้หญิง หรือชุมชนของผู้หญิงที่พัฒนาไป หรือกำลังเปลี่ยนแปลงไปใช่มั้ย  ใน The Virgin Suicides มีพี่น้องผู้หญิงในชุมชน  ใน Marie Antoinette มีราชสำนักที่เป็นโลกของตัวเอง และใน The Bling Ring ก็มีกลุ่มของตัวเองที่ลงเอยด้วยการทำผิดกฎหมาย

คอปโปลา: ใช่ ฉันมักจะชอบสังเกตความกระตือรือร้นของคนที่อยู่กันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้หญิง  ฉันรู้สึกว่าพลังในกลุ่มผู้หญิงสามารถซ่อนเร้นไว้ข้างในได้มากและแยบยล ในขณะที่ผู้ชายจะชัดเจนมากกว่า

เรื่องนี้ก็เลยดึงดูดใจฉัน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง และทำให้ฉันนึกถึง The Virgin Suicides นิดหน่อย  จากการที่พวกผู้หญิงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก  และเพราะจริงๆแล้วฉันไม่เคยทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงหลากหลายวัยในจุดที่ต่างกันของชีวิต และพวกเธอสัมพันธ์กับแต่ละคนยังไง  ในเรื่องนี้ ผู้หญิงแต่ละคนสัมพันธ์กับผู้ชายคนนี้แตกต่างกัน

ถาม: มีกลุ่มอายุแตกต่างกันสี่รุ่น คือมิสมาร์ธา, เอ็ดวินา, อลิเชีย และรุ่นเด็กลงมาหน่อย

คอปโปลา: แต่ละคนมีความสัมพันธ์ของตัวเองกับแม็คเบอร์นีย์

ถาม: คุณพบข้อมูลต้นเรื่องอย่างนิยายเรื่อง The Beguiled ของโทมัส คัลลิแนนตอนไหนและเจอได้ยังไง

คอปโปลา: เพื่อนฉันและคนออกแบบงานสร้าง แอนน์ รอสส์ เคยบอกฉันเกี่ยวกับหนังเรื่อง The Beguiled ซึ่งฉันไม่เคยดู แต่รู้ว่าเป็นหนังที่ได้รับการชืนชมอย่างมาก  พอฉันดูหนัง เรื่องราวในหนังก็ค้างคาใจฉัน ตรงที่มันแปลกและการพลิกผันก็คาดไม่ถึง  ฉันไม่เคยคิดจะเอาหนังเก่ามาสร้างใหม่ แต่ฉันอยากรู้ เลยไปเอาหนังสือที่เป็นต้นเรื่องมา

ฉันคิดในใจว่า  ถ่ายทอดเรื่องราวนี้อีกครั้งจากมุมมองของผู้หญิงดีมั้ย  ดังนั้น The Beguiled จะเป็นการตีความใหม่  เต็มไปด้วยสมมุติฐาน เพราะพลังและความมีชีวิตชีวาระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงมันเป็นสากล  มีความลึกลับเสมอระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง “โอ ทำไมเขาพูดแบบนั้น (หัวเราะ)”

ถาม: คุณคิดเรื่องเปลี่ยนฉากของเหตุการณ์ในหนังสือมั้ย

คอปโปลา: คนพูดกับฉันว่า “คุณอาจจะเปลี่ยนฉากเป็นเหตุการณ์อื่นก็ได้” แต่ฉันรู้สึกสนใจภาคใต้ยุคสงครามกลางเมือง และวิธีที่ผู้หญิงถูกเลี้ยงดูมาในสมัยนั้น เรืองความสัมพันธ์กับผู้ชาย เรื่องการต้องเป็นคนอ่อนช้อยและมีเสน่ห์ และการเป็นเจ้าบ้านที่ดี บทบาททั้งหมดของพวกเธอเกี่ยวข้องกับผู้ชาย แต่แล้วพวกผู้ชายก็ไม่อยู่  มันเป็นยังไงบ้างสำหรับพวกเธอ กับการถูกทิ้งให้ต้องดำรงชีวิตและประคองตัวให้รอดด้วยตัวเอง

ถาม: งั้นนี่ก็ไม่ใช่หนังรีเมค แต่เป็นการดัดแปลงจากหนังสือมากกว่า ซึ่งคุณเคยทำมาก่อน หนังสือบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของผู้ชายหรือเปล่า

คอปโปลา: เปล่า หนังสือเขียนโดยผู้ชายแต่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของผู้หญิง แต่ละบทก็จะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกเล่าเรื่องราวของเธอ

ถาม: อะไรจากหนังสือที่คุณเลือกที่จะนำเสนอ หรือในทางกลับกัน เลือกที่จะตัดทิ้ง

คอปโปลา: มีบางส่วนที่ฉันรู้สึกว่ามันมากเกินไป ถึงแม้เรื่องราวจะแรงขึ้นพอสมควร  ฉันอยากให้รู้สึกสมจริงและสัมผัสได้มากที่สุดที่เป็นไปได้

ในหนังสือ ทหารเป็นคนไอริช  ตอนฉันพบกับโคลิน ฟาร์เรลล์และได้ยินสำเนียงไอริชปกติของเขา ฉันคิดว่าถ้าคงไว้ในหนังคงจะเยี่ยมมาก และทำให้แม็คเบอร์นีย์เป็นคนต่างถิ่นยิ่งขึ้นสำหรับพวกผู้หญิง  และเราก็สร้างเรื่องอ้างอิงว่าเขาเป็นทหารรับจ้างที่ถูกจ้างให้มาทำหน้าที่แทนทหารคนอื่น (ในฐานะทหารฝ่ายเหนือ)  แต่ฉันอยากให้เขาดูมีเสน่ห์ ไม่อยากให้ชัดเจนว่าเขาจะเป็นตัวปัญหา  จากมุมมองของพวกผู้หญิง มันคือ “ฉันอยากเชื่อเขา”  ซึ่งกับโคลิน เขาให้สิ่งนั้นได้

ถาม: ใช่ การดูพวกเธอกับเขาบนจอ คุณได้ความรู้สึก...ถ้าไม่เชิงหวังนะ ว่าสิ่งต่างๆอาจจะไม่เลวร้ายลงและระเบิดออกมา

คอปโปลา: พวกผู้หญิงต้องรู้สึกหวัง โดยเฉพาะตัวละครเอ็ดวินาของเคียร์สเตน ดันสต์  สำหรับแม็คเบอร์นีย์ เขาได้ตามเป้าหมายและมีความสุขมาก  พวกเธอทุกคนช่วยดูแลเขา และแต่งตัวสวยๆเพื่อเขา

เราพูดถึงพวกผู้ชายที่มีเสน่ห์แต่เป็นคนที่คุณไม่ควรจะไว้ใจ ถึงแม้คุณอยากจะไว้ใจใช่มั้ย  ฉันรู้สึกว่าทุกคนเข้าใจเรื่องนั้นได้  ทุกคนเคยเจอมาก่อน

ถาม: ในหนังเวอร์ชั่นปี 1971 มีตัวละครที่เป็นอาฟริกัน-อเมริกัน คือแฮลลี แสดงโดยเม เมอร์เซอร์  คุณคิดเรื่องถ่ายทอดเรื่องราวของเธอในหนังมั้ย

คอปโปลา: ฉันไม่อยากให้มีตัวละครที่เป็นทาสใน The Beguiled เพราะนั่นเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และฉันไม่อยากนำเสนอแค่ผิวเผิน  หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งในช่วงสงคราม

ถาม: และในหนังของคุณมีเด็กผู้หญิงอยู่ที่โรงเรียนน้อยกว่าใน The Beguiled...

คอปโปลา: ความคิดของเราคือคนส่วนใหญ่ไปจากโรงเรียนแล้ว

ถาม: คุณให้มิสมาร์ธาพูดถึงเรื่องที่เธอส่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่กลับบ้านแล้ว

คอปโปลา: ใช่ มันเลยยิ่งรู้สึกถูกทอดทิ้ง

ถาม: เมื่อกี้คุณพูดว่าเรื่องราวของหนังมันแรงขึ้น คุณสนุกมั้ยในการก้าวเข้าไปในส่วนที่เป็นความตื่นเต้นของโครงเรื่อง

คอปโปลา: ฉันนึกถึงหนังเรื่อง Misery ในเรื่องนั้นผู้ชายเป็นแขกและนักโทษ เป็นหนังปี 1990 ที่ฉันได้ดูตอนออกฉาย หนังเรื่องนั้นติดอยู่ในใจฉัน แต่มันเป็นความท้าทาย เพราะฉันไม่เคยทำอะไรแบบเรื่องนี้มาก่อนเลย มันอยู่นอกขอบเขตความเคยชินของฉัน แต่ฉันก็ยังคงทำในแบบของฉันอยู่ ฉันต้องรีดสิ่งต่างๆออกมามากขึ้น เพราะปกติแล้วฉันจะยั้งไว้ มันสนุกที่มีพล็อตและฉากที่สวยงามราวบทกวีอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับฉัน (หัวเราะ)

ถาม: คุณเคยทำหนังเรื่องอื่นๆที่มีฉากของเหตุการณ์อยู่ในอดีต  เนื่องจากคุณต้องการคงเหตุการณ์สงครามกลางเมืองตามที่เป็นในหนังสือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณประหลาดใจเกี่ยวกับยุคนั้น ที่คุณได้เรียนรู้ในระหว่างหาข้อมูล

คอปโปลา: ฉันประหลาดใจว่าพวกเธออยู่กันได้ยังไงในเวลาที่สิ่งต่างๆขาดแคลนมาก เรามีภาพจำลองเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่สอนวิธีการรักษาพยาบาลในสมัยนั้น นิโคล คิดแมนเรียนรู้เกี่ยวกับการพันผ้าพันแผล และงานฝีมือ งานเย็บปักถักร้อย กระดาษของพวกเธอหมด และต้องเขียนตามขอบหนังสือ

เราอ่านหนังสือมารยาทสังคมในสมัยนั้น ตัวอย่างหนึ่งจากหนังสือพวกนั้นคือผู้หญิงไม่ควรรับคำชม เพราะนั่นจะไปกระตุ้นให้เกิดความหยิ่งยโส ต้องแสดงออกและเน้นย้ำบทบาทของผู้หญิงที่เป็นสุภาพสตรี แต่ผู้หญิงเหล่านี้เริ่มเบื่อกับการถูกวุ่นวายแบบนี้

ถาม: มีความเป็นพิธีรีตองมาก  รวมถึงการเรียกกันและกันว่า “คุณ” และตามด้วยชื่อแรก  ทำให้บทสนทนามีความเป็นบทกวีมากขึ้น

คอปโปลา: ใช่ และฉันชอบมาก แม้กระทั่งจะไปถึงตอนจบของหนัง ที่พวกเธอทำ...สิ่งต่างๆ (หัวเราะ) พวกเธอมีหน้ากากของความมีมารยาทแบบสุภาพสตรีและการคุยเรื่องสัพเพเหระแบบนี้อยู่ตลอด

ยังคงมีมารยาทจากยุคนั้นหลายอย่างในภาคใต้สมัยนี้ และแสดงออกด้วยท่าทางมากมายแบบนั้นเหมือนกัน







ถาม: อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพของคุณ

คอปโปลา: หลายอย่างรวมกัน จากทุกที่ เราดูภาพคนในช่วงสงครามกลางเมือง แต่ก็ดูภาพถ่ายเด็กผู้หญิงรวมกลุ่มกันของวิลเลียม เอ็กเกิลสตันจากยุคทศวรรษที่ 70 เช่นกัน  และดูหนังเรื่อง Tess (1979, กำกับโดยโรมัน โปลันสกี)  และหนังของอัลเฟรด ฮิทช์ค็อกสำหรับอารมณ์แบบระทึกใจ

ถาม: ขณะที่โปรเจ็คต์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำไมคุณตัดสินใจเลือกฟิลิปป์ เลอ ซูร์ดมาเป็นผู้กำกับภาพของคุณ นี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขากับคุณ

คอปโปลา:  ฉันเคยทำงานกับเขามาก่อนในหนังโฆษณาสองสามชิ้น  เขามีความเป็นศิลปินมาก ฉันรู้สึกว่าเขาสามารถนำสิ่งที่สวยงามมาให้กับ The Beguiled ได้

ฉันมีความสุขมากที่ได้ถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ และใช้เลนส์แบบเก่า เพราะเป็นสิ่งที่หายากขึ้นทุกวัน  ภาพของหนังเรื่องนี้ต้องซอฟต์และโปร่ง แต่ก็ต้องมีแดดมากในฉากที่ร้อนและมีควันมากด้วยเช่นกัน  ตัวละครมีอาการหายใจไม่ออก นั่นรวมถึงการเก็บกดความรู้สึกทางเพศไว้ด้วย

ถาม: สถานที่นั้นในหนังให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้มากๆเลย

คอปโปลา: ใช่ สถานที่ถ่ายทำจริงมีต้นโอ้คและมอสสเปน  เมดวู้ดเป็นสถานที่ถ่ายทำที่สวยมาก แต่ก็มีความลึกลับซ่อนอยู่ภายใต้เช่นกัน เพราะประวัติของมันที่เคยเป็นบ้านไร่

ฉันอยากให้รู้สึกถึงพวกแมลงที่มีอยู่ที่นั่นและความเขียวครึ้ม ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่สามารถทำให้สถานที่นี้ดูสะอาดสะอ้านได้อีกต่อไป เพราะพวกเธอมีคนไม่มากพอและคนดูแลสวนก็ไปจากโรงเรียนแล้ว  ดังนั้นจึงมีเถาวัลย์เลื้อยขึ้นไป และเพิ่มความรู้สึกถึงอันตราย ถึงแม้พวกเธอจะพยายามดูแลม่านลูกไม้และข้าวของสวยงามภายในบ้าน  มันดูมีความขัดแย้ง บ้านหลังนี้สวยงามมาก แต่ธรรมชาติภายนอกกลับมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบและดูเป็นป่า

และก็มีความขัดแย้งระหว่างแม็คเบอร์นีย์กับพวกผู้หญิง พวกเธอใส่ชุดเสื้อผ้าสีอ่อนจาง แล้วผู้ชายสกปรกมอมแมมคนนี้ก็มาถึง พวกเธอใส่เสื้อผ้าหลายชั้น ร้อนมาก แต่ไม่สามารถใส่ชุดหน้าร้อนได้  ต้องติดกระดุมถึงคอตลอดในสภาพอากาศที่ร้อน

สเตซี แบทแทท (คนออกแบบเสื้อผ้า) กับฉัน ตัดสินใจกันว่าพวกผู้หญิงคงจะไม่ใส่กระโปรงแบบสุ่มไก่อันใหญ่ๆอีกแล้ว พวกเธอใส่แค่กระโปรงที่ไม่มีสุ่มไก่พวกนั้น ดังนั้นชุดจะดูเหมือนชุดแบบที่เราอาจจะใส่กันในสมัยนี้  ฉันอยากให้รู้สึกว่าเสื้อผ้าสมจริงตามยุคสมัย  แต่คนดูก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย  มีความน่าเชื่อถือ แต่ก็น่าสนใจสำหรับสายตาคนยุคใหม่ด้วย

ทุกสิ่งมันซีดจางมากจนสีมันกลืนเข้าด้วยกัน และพวกเธอยิ่งดูเหมือนกองกำลังผู้หญิงมากยิ่งขึ้น สเตซีไม่เคยทำหนังย้อนยุคมาก่อน ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอ

ถาม: อย่างแอนน์ รอสส์ เธอทำหนังกับคุณมาหลายเรื่อง

คอปโปลา: แอนน์กับฉันทำมู้ดบอร์ดรวมแนวคิดและแรงบันดาลใจของเราที่สเตซีกับฟิลิปป์จะสามารถตรวจสอบ เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจตรงกัน  การทำงานกับทีมที่ฉันรู้จักมานาน ทำให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่ฉันกำลังคิด และมีวิธีการสั้นๆง่ายๆในการอ้างอิง

ถาม: นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณสามารถถ่ายหนังเรื่องนี้เสร็จใน 26 วัน

คอปโปลา: และเรามีทีมงานท้องถิ่นในหลุยเซียนาที่เก่งมาก

ถาม: ซาราห์ แฟล็คคนตัดต่อของคุณที่ร่วมงานกันมานาน ตัดต่อตั้งแต่เริ่มถ่ายทำเลยหรือเปล่า

คอปโปลา: ใช่ ซาราห์จะได้ฟิลม์หนังตอนเราถ่ายเสร็จ และตัดต่อหนังไปในขณะที่เราถ่ายทำ มันคงดีถ้ามีเวลามากกว่านี้ แต่กับการทำหนังทุนต่ำ คุณต้องทำงานให้เร็วที่สุดที่จะทำได้

ถาม: คุณพูดถึงพวกแมลงที่อยู่ที่บ้านหลังนั้น และพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเสียงใน The Beguiled มีดนตรีในหนังน้อยมาก เหมือนว่าดนตรีประกอบคือเสียงกลองของการระเบิดที่ดังอยู่ไกลหลายไมล์ แต่จริงๆแล้วไม่ไกลขนาดนั้น

คอปโปลา: ชีวิตของคนกลุ่มนี้เรียบง่ายมาก จนมันคงไม่สมเหตุผลสมผลที่จะมีดนตรีประกอบแบบยิ่งใหญ่  ฉันอยากคงให้มันน้อยที่สุดไว้

ฉันคิดว่าคงจะตึงเครียดมากขึ้นสำหรับคนดู กับความรู้สึกว่าพวกเธอทุกคนติดอยู่กับเสียงจั๊กจั่นที่ดังแทบไม่หยุด และเสียงปืนใหญ่ดังแว่วอยู่ไกลๆ สงครามดำเนินต่อเนื่องยาวนาน และมันดังมาให้ได้ยิน พวกผู้หญิงเริ่มชินกับมันแล้ว

ถาม: คนดูก็เช่นเดียวกับตัวละคร คุณจะสังเกตเสียงปืนใหญ่ จนคุณไม่สังเกต แล้วคุณก็อาจจะสังเกตว่าได้ยินเสียงมันอีก เพราะมันดังอยู่ทุกวัน

คอปโปลา: มันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของพวกเธอ เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม

ถาม: อะไรทำให้นิโคล คิดแมนมีคุณสมบัติที่มีความพิเศษในการเล่นเป็นมิสมาร์ธา ตามที่คุณจินตนาการตัวละครตัวนี้ขึ้นอีกครั้ง

คอปโปลา: ฉันชอบการแสดงของนิโคลมานานแล้ว โดยเฉพาะตอนเล่นบทที่มีความแปลกนิดๆอย่างใน To Die For ฉันอยากร่วมงานกับเธอมาตลอด และตอนที่เขียนบท ฉันก็นึกเป็นภาพเธอ ซึ่งนั่นช่วยฉันได้มาก  ฉันรู้ว่าเธอจะนำหลายสิ่งหลายอย่างมาให้กับบทมิสมาร์ธา รวมทั้งอารมณ์ขันและความสะเทือนใจ นิโคลเล่นได้มีอำนาจมากจนคุณรู้เลยว่าเธอเป็นผู้ควบคุมคนทั้งกลุ่ม

ถาม: เป็นอย่างนั้นมากๆเลย  ในบางฉากกับแม็คเบอร์นีย์ เหมือนมิสมาร์ธาเป็นนายพลและเขาเป็นทหารที่มาเยือน

คอปโปลา: ใช่ แต่ฉันไม่อยากได้ภาพแบบเดิมๆของครูใหญ่ผู้หญิงที่น่ากลัว ผู้หญิงทุกรุ่นในหนังเรื่องนี้เป็นสาวชาวใต้ที่หน้าตาสะสวย ถึงแม้ช่วงเวลาของการเป็นสาวสวยชาวใต้ของมิสมาร์ธาจะผ่านไปแล้ว และงานเลี้ยงจบลงแล้ว สิ่งที่กลายเป็นความเป็นจริงสำหรับเธอคือการปกป้องเด็กๆ เธอต้องเข้มแข็งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ถาม: คุณกลับมาร่วมงานกับเคียร์สเตน ดันสต์อีกครั้ง และหนังทุกเรื่องของคุณที่มีเธอนำแสดง เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต

คอปโปลา: ฉันไม่เคยนึกเรื่องนั้นมาก่อนเลย เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ถาม:  ถึงแม้เธอจะมีบทนิดหน่อยใน The Bling Ring

คอปโปลา: บทรับเชิญ อันนั้นไม่นับ ฉันสนุกกับการทำงานกับเคียร์สเตน ฉันเลยอยากทำงานร่วมกับเธออีก

ถาม: เธอเหมาะยังไงกับการรับบทเป็นผุ้หญิงหลายคน ต่างยุคสมัยกัน ต่างสถานที่กัน

คอปโปลา: เคียร์สเตนมีคุณสมบัติที่ทำให้ดูน่าเชื่อว่าเป็นคนในสมัยอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นคนร่วมสมัยไม่ได้นะ แต่เวลาที่เธอใส่ชุดแบบสมัยก่อน ฉันก็เชื่อได้เลย ว่าเธอเป็นคนยุคนั้นจริงๆ

สำหรับใน The Beguiled ฉันอยากให้เธอเล่นเป็นเอ็ดวินา ครูที่อ่อนแอ เพราะเธอไม่ได้เป็นแบบนั้น ตัวละครนี้เก็บกดและเปราะบาง และนั่นไม่ใช่เคียร์สเตนเลย

และเป็นแบบเดียวกันกับการให้แอลล์ แฟนนิง ซึ่งเป็นคนน่ารักมากและมีน้ำใจมาก มาเล่นเป็น “สาวร้าย” ฉันคิดว่ามันคงสนุกดี ฉันชอบเห็นนักแสดงหญิงเล่นบทที่ตรงข้ามกับที่คุณคาดหวังจากพวกเธอ

ถาม: ตอนนี้แอลล์มีความสามารถมากขึ้นยังไงบ้างในฐานะนักแสดง จากครั้งสุดท้ายที่คุณทำงานกับเธอเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ใน Somewhere

คอปโปลา: เธออายุ 11 ตอนเราทำเรื่อง Somewhere  และน่าทึ่งมากที่เธออายุ 18 ตอนถ่ายทำ The Beguiled  เธอยังมีบุคลิกภาพเหมือนเดิม และยังเป็นคนเดิม แต่เป็นเวอร์ชั่นที่โตขึ้น ยังมีความมีชีวิตชีวาแบบเด็กๆเหมือนเดิม และเป็นธรรมชาติมาก ตอนนั้นฉันประทับใจเธอมากในฐานะนักแสดง ตอนนี้ยิ่งประทับใจกว่าเดิม

แอลล์ให้หลายสิ่งหลายอย่างมากในการรับบทตัวละครอลิเชีย และแสดงให้เห็นตัวละครที่เห็นแก่ตัวและหลงตัวเอง  อลิเชียรู้ดีว่าเธอเสนอตัวเองมากแค่ไหน อย่างตอนที่แหวกกระโปรงออกตอนที่ทุกคนนั่งลงอยู่กับแม็คเบอร์นีย์ และเธอมองดูเขา ในหนังสือ ตัวละครตัวนี้ถูกเลี้ยงดูมาเพือจับผู้ชายจริงๆ

ถาม: แอลล์มักถูกห้อมล้อมด้วยนักแสดงรุ่นเด็กกว่าของหนัง  คุณพบเธอทั้งสี่คนและเลือกพวกเธอมาแสดงเป็นกลุ่มเด็กได้ยังไง

คอปโปลา: ฉันมีทีมคัดเลือกนักแสดงที่เก่งมาก  การได้นักแสดงที่มีอายุตรงตามตัวละครเป็นสิ่งสำคัญ  ฉันต้องการเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราได้พบกับนักแสดงเด็กๆที่มีช่วงอายุตามนั้นเยอะมาก

จากนั้นเราก็เริ่มเอารูปของนักแสดงหลายๆคนติดบนผนังเพื่อดูว่าเวลารวมกลุ่มแล้วพวกเธอจะเป็นยังไง หน้าตาจะดูคล้ายกันเกินไปหรือเปล่า เพื่อคนดูจะได้ไม่สับสน แต่ละคนยังต้องมีบุคลิกลักษณะที่ชัดเจนและต้องแยกออกว่าใครเป็นใคร  เราเริ่มเอาคนที่เราชอบมาวางไว้ด้วยกัน และดูว่ารวมกลุ่มแล้วเข้ากันได้มั้ย  นักแสดงสี่คนนี้โดดเด่นมาก

สองคนในนั้น อูนา ลอเรนซ์ กับเอ็มมา ฮาเวิร์ด เคยเล่นละครบรอดเวย์เรื่อง Matilda  อูนาเป็นเอมี ร้องเพลงได้ และเอ็มมาเป็นเอมิลี เธอดูเหมือนภาพวาดจากยุคของหนังเลย

แองกาวรี ไรซ์มาจากออสเตรเลีย และเก่งมาก ฉันให้เธอเล่นเป็นเจนที่เจ้าระเบียบ แอดดิสัน ริคกีที่เล่นเป็นมารีก็ตลกมาก  ฉันไม่รู้จนหลังจากได้เจอเธอแล้ว ว่าเธอแสดงในซีรีส์เรื่อง The Thundermans ซึ่งลูกๆฉันชอบดูมาก

ทุกคนเข้ากันได้ดี เวลาอยู่ในหนัง ฉันคิดว่าคุณรู้สึกเลยว่าพวกเธออยู่กลุ่มเดียวกัน

ถาม: คุณเน้นย้ำเรื่องความสนิทสนมที่เพิ่มขึ้นในหนัง ด้วยการแสดงให้เห็นเด็กผู้หญิงมานอนบนเตียงเดียวกัน

คอปโปลา:  ใช่ เราคิดว่าเด็กสาวที่มาอยู่ไกลครอบครัวคงจะนอนห้องเดียวกัน แล้วก็จะมีบางคนที่มานอนด้วยที่ห้อง เพราะในบ้านใหญ่หลังนี้น่ากลัว พวกเธอเป็นเด็ก และเกาะติดกันแจ

ถาม: คุณพัฒนาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในกลุ่มพวกเธอเลยหรือเปล่า เพื่อให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

คอปโปลา: ใช่ เรามีช่วงที่เราซ้อม พวกเธอก็เลยเรียนเต้นรำ และเรียนรู้เรื่องมารยาทและการเย็บปักถักร้อย สิ่งที่เด็กสาวๆในสมัยนั้นทำกัน  การใช้เวลาด้วยกันในกิจกรรมทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้พวกเธอสร้างสายสัมพันธ์ต่อกัน

ในระหว่างการถ่ายทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเราอยู่ที่เมดวู้ด พวกเธอจะสังสรรค์กันและกลายเป็นเพื่อนกัน พวกเธอออกไปขอขนมตามบ้านในวันฮัลโลวีนด้วยกันในเมืองที่เราอยู่ตอนนั้น

ฉันคิดว่ามีความรู้สึกของความเป็นเพื่อน หรือการไปเข้าค่ายพักแรมด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับทีมงานและทีมนักแสดงกลุ่มเล็กๆในหนังทุนต่ำ เป็นความรู้สึกเวลาที่ทุกคนอยู่ที่สถานที่ถ่ายทำ เพราะคุณไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติหลังจากถ่ายทำเสร็จในแต่ละคืน

ใน The Beguiled เราทุกคนพักที่แฮมป์ตัน อินน์ และเราอยู่ที่ล็อบบี้โรงแรมในชุดนอน ตอนเราถ่ายทำฉากภายในที่บ้านในนิวออร์ลีนส์ จะมีเฉลียงที่มีโต๊ะยาวตัวใหญ่และกลายเป็นที่ที่เรามานั่งสังสรรค์กัน หรือที่สนามหลังบ้าน บรรยากาศน่ารักมาก