happy on July 30, 2017, 03:35:39 PM
กระทรวงพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เผยรายละเอียด 7 โครงการที่เข้ารอบการคัดเลือกในโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะในรูปแบบนิทรรศการและโมเดล ในงาน Smart Cities - Clean Energy @ 6th TGBI Expo 2017


                     ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่ กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ได้คัดเลือก 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ แล้ว คือ โครงการ นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน , มช.(เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด , เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ , ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ , วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน , ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง , และโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง และได้รับการสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครอบคลุมการจัดทำแบบ ประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วิเคราะห์ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและการลงทุน








                     ทั้งนี้ ทั้ง 7 โครงการ พร้อมแล้วที่จะนำเสนอรายละเอียดของแต่ละโครงการในรูปแบบการแสดงนิทรรศการในงาน Smart Cities - Clean Energy @ 6th TGBI Expo 2017 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ โดยรายละเอียดที่ 7 โครงการที่จะนำมาแสดงจะครอบคลุมเกี่ยวกับ ผังการใช้พื้นที่ แผนผังโครงการ การจัดวางอาคาร และแผนผังต่างๆ ได้แก่ อาคารภูมิสถาปัตย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบผลิต ส่ง และจ่ายพลังงาน ระบบเครื่องกล และไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ระบบ ระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำฝน ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบเพื่อแสดง การคำนวณตัวเลขของการประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำการลดปริมาณคาร์บอน การประหยัดค่าก่อสร้าง เป็นต้น 

                     โดยจะประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น, วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ, รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้

                     “การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City  ให้สามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของรัฐ และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง” ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าว










โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ

                     การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นมิติหนึ่งสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) ที่มีรูปแบบของพัฒนาเมืองเป็นห่วงโซ่คุณค่าสีเขียว (green value chain) ของการบูรณาการวางผังเมืองให้ส่งเสริมกันบนโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีอัจฉริยะ และเป็นคำตอบใหม่ของการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่พอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีผลสำเร็จได้แก่คุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย พร้อมกับการบริโภคทรัพยากรพลังงานที่ลดลง และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

                     สถาบันอาคารเขียวไทยได้รับมอบหมายจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ “เมืองอัจฉริยะและพลังงานสะอาด” (Smart Cities-Clean Energy) และคัดเลือกโครงการที่เสนอตัวเป็นเมืองอัจฉริยะ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับรางวัลในวงเงิน 80 ล้านบาท โดยในขั้นตอนแรกผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 20 รายจะได้รับรางวัลรายละ 500,000 บาท ซึ่งจะต้องจัดเตรียมรายละเอียดผังแม่บทโครงการเพื่อการคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะมีสิทธิได้รับรางวัลรายละ 10 ล้านบาท หากสามารถนำเสนอโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมได้

เกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะ

                     สถาบันอาคารเขียวไทยได้กำหนดขนาดของโครงการเมืองอัจฉริยะไว้ว่า เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 30,000 คน หรือมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีพื้นที่อาคารมากกว่า 1,000,000 ตารางเมตร หรือมีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 30,000 ตัน

                     สถาบันอาคารเขียวไทยได้จัดทำเกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะเป็น 7 หมวด ดังนี้

                     1.   พลังงานอัจฉริยะ (smart energy)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยค่าการใช้พลังงานต่อประชากร การผลิตพลังงานทดแทน การผลิตพลังงาน ณ จุดใช้งานการสะสมพลังงาน ระบบทำความเย็นและความร้อนรวมศูนย์ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ การลดการปลดปล่อยคาร์บอน การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า

                     2.   การสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยการวางผังโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงาน ระบบการจ่ายน้ำ ระบบการขนส่ง ระบบโดยสารสาธารณะ การบริหารที่จอดรถ การส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน การจัดเตรียมสถานพยาบาล ระบบฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัย สถานศึกษา สถานที่ท่องเที่ยว การบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย นอกจากนี้ยังประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริหารจัดการอัจฉริยะในทุกๆด้าน

                     3.   ชุมชนอัจฉริยะ (smart community)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ

                     4.   สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยการรักษาสภาพแวดล้อม ป่าไม้ พืชพันธ์ ระบบนิเวศน์ การส่งเสริมการเกษตร แหล่งผลิตอาหารในเมือง สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ มลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางอากาศ  ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

                     5.   เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยโมเดลทางธุรกิจ นวัตกรรมรูปแบบการลงทุน ความสร้างความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วน การบริหารรายได้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเมืองที่ยั่งยืน การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเขต

                     6.   อาคารอัจฉริยะ (smart building)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย การพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ระบบอาคาร/ บ้านอัจฉริยะ

                     7.   การปกครองอัจฉริยะ (smart governance)

                     ตัวชี้วัดประกอบด้วยหลักความเป็นเมืองอัจฉริยะ ภาวะความเป็นผู้นำ ยุทธศาสตร์ โครงสร้างองค์กร กระบวนการบริหารจัดการ ระบบการวัดผลสำเร็จ

บทสรุป

                     เมืองอัจฉริยะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองและการวางผังเมืองที่ถูกต้อง สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดและเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสวัสดิภาพที่ดี ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี