news on July 13, 2017, 08:05:20 AM
เอ็มเทค สวทช. ผนึกเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ใช้ วทน. สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศ





(13กรกฎาคม 2560)ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ซึ่งประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียางระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีการพบปะแลกเปลี่ยนทัศนะ และระดมความคิด เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมยางพาราในประเทศ



ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูลผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)สวทช.
กล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราหรือยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตได้มากกว่า 4 ล้านตันต่อปี และมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนหลายภาคส่วนในประเทศ เช่น เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ผลิตยางดิบ อุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น เมื่อพูดถึง “ยาง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย จึงได้รับความสนใจอย่างมากในทุกมุมมอง อีกทั้งเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน คือการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาแปรรูปยางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกดังนั้นการใช้ยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และการวิจัยด้านเทคโนโลยียางได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้จักและความร่วมมือระหว่างบุคลากรที่ทำวิจัยด้านเทคโนโลยียาง ซึ่งสังกัดในมหาวิทยาลัย หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนระดมความคิดร่วมกันผ่านเวที“การประชุมความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียาง”โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา 4 หน่วยงาน คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.ร่วมกันจัดการประชุมขึ้น

สำหรับการประชุมดังกล่าว นอกจากที่จะได้มารับฟังว่ามีการวิจัยด้านยางในองค์กรต่างๆ เป็นอย่างไรแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความพร้อมในด้านบุคลากรและเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบเพื่อขับเคลื่อนความพร้อมเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมยางพาราในประเทศได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ทั้งภาคเกษตรกร นักธุรกิจ นิสิตนักศึกษา บุคลากรด้านการศึกษาวิจัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยางพารา หรือบุคคลทั่วไปจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียาง ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาของหลายองค์กร ที่จะช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม“ยางพารา” และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมของประเทศไทย

ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวเสริมว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราของศูนย์เอ็มเทค สวทช. มียุทธศาสตร์การวิจัยยางล้อซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมขนส่งและการบินนั้น เป็นสองในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งศูนย์เอ็มเทค สวทช. มีโครงการวิจัยกี่ยวกับแปรรูปยางพารา เช่น งานวิจัยยางล้อยึดเกาะถนนเปียกได้ดี ยางล้อความต้านทานการหมุนต่ำ ยางล้อเสียงดังต่ำ และยางล้อไม่ใช้ลม (LiteWheel) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิตในการส่งออกตลอดจนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนบทบาทและแผนงานต่อไปในอนาคตของเอ็มเทค สวทช. ในฐานะหนึ่งในสี่ภาคีเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราคือ จะสานต่อการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการและการผลิตยางพารา จากกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล จากโจทย์ที่ได้รับจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
« Last Edit: July 13, 2017, 10:03:08 PM by news »