news on June 28, 2017, 08:50:31 AM
สวทช. จัดค่ายชุมนุมนักศึกษาทุน JSTP พร้อมมอบทุนระยะยาว (มัธยม-ป.เอก) รุ่น 19 จำนวน 16 ทุน เพื่อหนุนเยาวชนผู้ฉายแววอัจฉริยภาพเดินบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์



พิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชน


ชุุมนุมสมาชิก JSTP


ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. 3



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP มีเป้าหมายที่จะเฟ้นหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาเข้ามารับการดูแลและส่งเสริมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ และการฝึกทักษะวิจัยทำโครงงานกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง โดย JSTP ได้จัดกิจกรรมแสดงความยินดีและปฐมนิเทศนักเรียนทุนระยะยาวประจำปี 2560 และค่ายชุมนุมสมาชิก JSTP 2560 ระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย. 60 ณ บ้านวิทยาศาสตริ์สิรินธร และที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งปีนี้ดำเนินการคัดเลือกเป็นรุ่นที่ 19 แล้ว มีเยาวชนผู้ได้รับทุนจำนวน 16 ทุน ซึ่งนักเรียนทุนเหล่านี้จะได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาเอก พร้อมจัดรวมพลค่ายชุมนุมสมาชิก JSTP กว่า 60 คน เปิดโอกาสรุ่นพี่รุ่นน้องพบปะแลกเปลี่ยนกันในแต่ละสาขาวิชา พร้อมการทัศนศึกษา เรียนรู้นอกสถานที่ ด้วยมุ่งหวังให้เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโส สวทช.
กล่าวว่า “สวทช. ก่อตั้งโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ Junior Science Talent Project (JSTP) ด้วยเล็งเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของ สวทช. ไม่เพียงเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์หรือการคิดค้นความรู้ใหม่เท่านั้น แต่ภารกิจหลักสำคัญอีกประการคือ การสร้างคนที่จะต้องสืบต่อไปในฐานะที่เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาตร์ นักเทคโนโลยี วิศวกร หรือแพทย์ที่ทำงานวิจัย ซึ่งโครงการไม่ได้เน้นคัดเลือกเฉพาะเด็กที่เรียนเก่งเท่านั้น แต่เลือกเด็กที่มีพื้นฐานดี ประกอบกับชอบเรียนรู้ คือนอกจากเป็นนักเรียนที่ดีแล้ว ยังต้องมีความคิดริเริ่ม แต่การทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น ในการที่จะทำงานวิทยาศาสตร์ให้ดีต้องมีอาจารย์พี่เลี้ยงที่คอยช่วย ทั้งที่มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และอยู่ใน สวทช. โดยกระบวนการคัดเลือกเด็กมี 2 ขั้นตอน ขั้นแรกจะคัดจากใบสมัครที่น้องๆ ส่งมาเข้าสู่โครงการระยะสั้นประมาณ 100 คน เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งน้องๆ จะได้ทำงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง หลังจากนั้นจะคัดให้มาอยู่ในโครงการระยะยาวปีละประมาณ 10 - 20 คน ซึ่งปี 2560 นี้ดำเนินการคัดเลือกรุ่นที่ 19 แล้ว มีจำนวน 16 ทุน ซึ่งโครงการจะให้การสนับสนุนจนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกในประเทศไทย แต่ถ้าเยาวชนที่ได้ทุนไปต่างประเทศ ที่จริงจำนวนมากทีเดียวที่ได้ทุน ถือเป็นเครือข่ายที่จะติดต่อกันได้ตลอดไป”

“นักวิทยาศาสตร์แท้จริงแล้วเป็นดังคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่มีความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก จะทำอะไรที่ต้องการและต้องการที่จะทำเรื่องใหม่ๆ ด้วย เยาวชนที่ได้รับทุนไม่จำเป็นต้องไปถึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลก ขอให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี เป็นนักค้นคว้าวิจัยที่ดี ทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น ไม่จำเป็นต้องสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา เพียงทำซอฟต์แวร์หรือชิ้นส่วนที่จะเอาไปใช้ในหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของคนที่อยากรู้อยากเห็น ชอบทดลองและชอบทำของใหม่ และในที่สุดสิ่งเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมของเรา” ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าวเสริม



ด.ช.สิริวุฒิ ศิริพรหมสมบัติ หรือคิม


น.ส.ธีรยาณี ไชยเพชร หรือน้ำ


นายเศกศิลป์ ศรีสุขสันต์ หรือจั๊มป์



ด้านนักเรียนทุน JSTP ระยะยาวรุ่นที่ 19 ประจำปี 2560 ด.ช.สิริวุฒิ ศิริพรหมสมบัติ หรือคิม ชั้น ม.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวถึงเป้าหมายของตนว่า “อยากจะเป็นแพทย์ และจะเลือกเรียนแพทยศาสตร์ และอยากจะเป็นครูโดยจะไปสอบใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ส่วนการเตรียมตัวเพื่อเข้าเป็นนักเรียนทุนโครงการ JSTP คือต้องเขียนแบบสัมภาษณ์ที่แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์และให้ความสำคัญกับการทำโครงงาน” ขณะที่สองนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ น.ส.ธีรยาณี ไชยเพชร หรือน้ำ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการระยะยาวค่ายครั้งนี้ มีความรู้สึกว่าไม่ได้เจอแค่รุ่นเดียวกัน มีรุ่นพี่ปีก่อนๆ มีรุ่นใกล้ๆ กัน ได้รู้จักเพื่อนต่างศูนย์ต่างมหาวิทยาลัยมากขึ้น ถือเป็นค่ายเปิดประสบการณ์ ได้ทำความรู้จัก ได้ความรู้วิทยาศาสตร์ ทำให้เราอยากเรียนต่อและทำงานต่อไป ในอนาคตเมื่อหลายคนจบจากหลากหลายสาขา จะสามารถทำงานเป็นทีมและร่วมกันพัฒนาด้านต่างๆ ที่กำลังขาดแคลน ประเทศไทยถือว่าขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ เมื่อเรียนจบ เราเก่งคนละด้านแต่กลับมารวมกัน เราจึงจะช่วยพัฒนาประเทศได้ดีขึ้น” ส่วนนิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเศกศิลป์ ศรีสุขสันต์ หรือจั๊มป์ กล่าวว่า “การมาเข้าร่วมโครงการทำให้ได้เห็นเส้นทางของวิทยาศาสตร์ ได้เจอกับเพื่อนเจ๋งๆ อาจารย์เจ๋งๆ ได้เปิดโลกให้กว้างขึ้น เห็นทัศนะใหม่ๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เหมือนได้เปิดตาที่ 3 การได้มา JSTP เราได้ทำวิจัย การทำวิจัยนั้นไม่เหมือนกับการเรียนจากหนังสือซึ่งเหมือนการดูรูปถ่ายของหมอกบนยอดเขา แต่การทำวิจัยเปรียบเสมือนการได้ปีนไต่ขึ้นไปบนภูเขาด้วยตนเอง เราเห็นเส้นทางรอบข้างที่สวยงาม สุดท้ายเมื่อได้ขึ้นถึงยอดเขาเราจะได้พบกับความสวยงามด้วยตนเอง”



07-กิจกรรม Design Thinking



รุ่นพี่รุ่นน้องพบปะแลกเปลี่ยนกันในแต่ละสาขาวิชา



กิจกรรมชวนน้องดูดาว


JSTP Alumni จากอดีตสู่ปัจจุบัน



สำหรับค่ายชุมนุมสมาชิก JSTP เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในแต่ละสาขาวิชา และได้ทัศนศึกษา เรียนรู้นอกสถานที่ โดยกิจกรรมในค่ายประกอบด้วย พิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชน กิจกรรมวิทยาศาสตร์ และการบรรยายเสวนาในหลายๆ เรื่อง อาทิ การปรับตัวสู่อนาคต JSTP / กิจกรรม Designing Life / กิจกรรมชวนน้องดูดาว / การเสวนา JSTP Alumni: จากอดีต.....สู่ปัจจุบัน และกิจกรรม JSTP Team Building เป็นต้น
« Last Edit: June 29, 2017, 08:35:49 AM by news »