news on February 10, 2017, 09:39:02 AM
ก.วิทย์ ITAP-สวทช. จับมือ ธ.ก.ส. หนุนผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมนำงานวิจัยตอบโจทย์ ยกระดับการผลิตสินค้าภาคการเกษตร ด้วย วทน.




ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร



นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วย ผจก. ธ.ก.ส.


นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ  ผู้คิดค้นนวัตกรรมไวรัสเอ็น พี วี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช


เทคโนโลยี โดรนเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร  สำหรับฉีดพ่นยาและปุ๋ยในพื้นที่เกษตร ทดแทนแรงงานคน ประหยัดเวลา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ20 ไร่ เพียง40นาที




บรรยากาศการอบรมสัมมนา



10 กุมภาพันธ์ 2560-โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดเสวนา การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation for Agro-Industry) เพื่อเป็นการกระตุ้น สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมหันมาประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พร้อมนำงานวิจัยของ สวทช. ตอบโจทย์เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าภาคการเกษตร โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า 200 ราย
 
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านเกษตรกรรมที่สามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้น ยังมีข้อจำกัดในส่วนของคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบ รวมถึงยังมีปัญหาด้านความพร้อมของเอสเอ็มอี  (SMEs) เช่น การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตมีมูลค่าสูง แต่มูลค่าสินค้าเกษตรต่อหน่วยอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการยกระดับสินค้าด้วย วทน. โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร จึงจัดสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีองค์ความรู้ เข้าใจ และเข้าถึงแนวทางการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง ด้วยการนำผลงานวิจัยมาตอบโจทย์เกษตรอุตสาหกรรม อาทิ การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการจัดการเกษตร, เทคโนโลยี UAV & Robot จักรกลอัตโนมัติ, โรงเรือนปลูกอัจฉริยะ Smart Green House และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เป็นต้น

ทั้งนี้คาดหวังว่าผู้ประกอบการจะเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. มีกลไกพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้น จากนั้น จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าเยี่ยมผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนและวินิจฉัยปัญหา และจะเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายของ ITAP- สวทช. เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุเป้าหมาย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรกรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม Agro – Industry 4.0 นั้น ธ.ก.ส. มีแผนในการสนับสนุน SME เกษตรที่เข้าร่วม “โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร”ที่นอกเหนือจากการให้สินเชื่อ เช่น การให้ความรู้ที่จำเป็นและการเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสว. และ สวทช. รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ มีกลุ่มเป้าหมาย เช่น เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ  โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรายคน ที่ทำการผลิตเกษตรต้นน้ำ ให้เป็นเกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer) มีกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อรอบการผลิตที่สูงขึ้น  สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นผู้ประกอบการ และพัฒนาต่อยอดผลผลิตขั้นพื้นฐานให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งต่อคุณค่าสู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ตั้งสถาบันบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการ SMAEs เพื่อทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานสถาบันต่างๆ ในการช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ การวิจัย นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งด้านการแปรรูปด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับเทคโนโลยีพื้นฐาน จนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การรองรับมาตรฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการภาคเกษตรกร สามารถยกระดับเป็นที่ยอมรับของตลาด สามารถทดแทนการนำเข้าและสามารถส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้น ธ.ก.ส. และ สวทช. จึงจัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการการเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม (SMAEs) สามารถก้าวไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม 4.0 (Agro – Industry 4.0) ได้เร็วขึ้นตามนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตามหวังว่าการสัมมนานี้จะช่วยเติมองค์ความรู้ และจุดประกายความคิดการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ให้สามารถยกระดับสู่สากลและเป็นเกษตร 4.0 ในอนาคตอันใกล้นี้.
« Last Edit: February 11, 2017, 02:09:23 PM by news »