happy on February 03, 2017, 07:39:20 PM
อ็อกแฟม ประเทศไทยเปิดรายงานความเหลื่อมล้ำในไทย
พบคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ !!!
พร้อมจัดเสวนา “เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?” ดึงคนดังทุกภาคส่วนมาร่วมถก
หวังกระตุ้นสังคมไทยเห็นปัญหาของ “ความเหลื่อมล้ำ” เพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคต


                   เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่สยามสมาคม กรุงเทพ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทยได้จัดกิจกรรม “เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?” โดยมีการเปิดเผย “รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” พร้อมเสวนาในหัวข้อ  ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน’ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารจาก Way Magazine, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค  และนายวินัย ดิษจร ช่างภาพมืออาชีพ ร่วมแลกแปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย


จักรชัย โฉมทองดี

                   นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ไม่จำกัดเพียงแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงภาคส่วนอื่นๆของสังคม อาทิ วิถีชีวิต การศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาความเหลือมล้ำนั้นจะต้องแก้ในทุกภาคส่วนพร้อมกัน โดย เริ่มจากการปฏิรูปในภาคเอกชนให้มีห่วงโซ่อุปาทานในการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการผลักดันมาตรการลดความเหลื่อมล้ำจากภาครัฐ เช่น ปรับระบบภาษีให้เป็นระบบก้าวหน้า เพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ครอบครองทุน  เก็บภาษีที่ดินสำหรับคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป เพราะแม้รัฐจะมีมาตรการเก็บภาษีที่ดิน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มรายได้ปานกลาง

                   “ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ยกระดับสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ในขณะที่ความยากจนลดลงไปมาก เรากลับเผชิญกับสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพย์สินและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ยากจนตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่สังคมต้องร่วมกันมอง คือลักษณะโครงสร้างของสังคม ระบบ ระเบียบ นโยบายของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นเดียวกัน เราจำเป็นที่ต้องกล้าพูดและยอมรับจริงๆว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เกษตรกร ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องทำงานถึง 4 เดือนถึงจะทำรายได้เท่าคนในเมืองเดือนเดียว มีความแตกต่างกันตรงนี้ การยอมรับจะนำไปสู่การตระหนักร่วมกันว่านั่นคือปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เป็นปัญหาที่สามารถเยียวยาได้

                   อ็อกแฟมในประเทศไทยได้ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในหลายระดับ โดยเราได้เล็งเห็นว่ากลุ่มที่มีบทบาทในการแก้ปัญหา คือกลุ่มผู้บริโภคเมือง กลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมีทั้งกำลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาและสื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประชาชนและสังคมจะตื่นตัวและช่วยแก้ไข เช่นเดียวกับสังคมประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป สิงคโปร์ และฮ่องกง”

                   โดย “รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” ซึ่งอ็อกแฟมประเทศไทยได้จัดทำและรวบรวมข้อมูลสถิติต่างๆตั้งแต่แต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 พบว่ารายได้ 1 ปีของคนรวยที่สุดในไทย สามารถนำมาใช้ลดความยากจนของคนทั้งประเทศได้ โดยคนรวยที่สุด 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 35 เท่า

                   โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 28 คน จาก 5 คน และทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันถึง 9,142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรของไทย 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน นอกจากนี้ยังพบว่าคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และ 5 ปีที่ผ่านมาคนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน

                   นอกจากนี้ดัชนีชี้วัดความมุ่งมั่นต่อการลดความเหลื่อมล้ำไทยอยู่ในลำดับที่ 122 จาก 155 ประเทศ คนงานนอกระบบ 25 ล้านคนหรือ 64% ของแรงงานทั้งหมดไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม สิทธิด้านสหภาพแรงงานในไทยยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล คนทำงานในเมืองได้ค่าจ้างที่สูงกว่าคนทำงานนอกเมือง เกษตรกร 2.2 ล้านคนมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดย 40% ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง และ 37% ไม่มีโฉนดที่ดิน ที่เหลือที่ดินไม่พอทำกิน นอกจากนี้ยังพบว่ายิ่งเจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งมากเพียงใด โอกาสที่จะลงเล่นการเมืองก็จะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนรวยสามารถเข้าถึงเครือข่ายต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่ตัวเองได้ประโยชน์ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)


นุชนารถ แท่นทอง

                   นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า การเป็นคนยากจนที่อยู่ในเมือง มักถูกตัดสินในแง่ลบจากคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อใช้ชีวิตในสลัม ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีใครไม่อยากได้โอกาสในชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่โอกาสจะมาถึงคนจนโดยเฉพาะในแง่ของการศึกษาซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตของคนได้จริงๆ นอกจากนี้เมื่อเอ่ยถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ มีเรื่องหนึ่งที่ตนเป็นกังวลมากคือเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของคนจน

                   “ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวที่มีคำสั่งไล่ออกจากป่า หาว่าบุกรุกป่า และเมื่อพื้นที่ชายแดนเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คนในพื้นที่ก็จะถูกไล่ออกไป โดยอ้างว่ากำลังนำความเจริญมาสู่ ก็เลยงงว่าเอ๊ะตกลงยังไงกันแน่ จะไล่คนข้างนอกเข้าข้างใน จะไล่คนข้างในออกข้างนอก นี่คือสิ่งที่เราเห็นชัดเจนเลย และก็เป็นปัญหาสำหรับพวกเราคนจน เพราะคนที่ทำมาหากินหรือคนที่ทำนาหรือเกษตรกรนี่ จะไร้ที่ดินทำกิน ที่ดินเหล่านั้นถูกต่างชาติเข้ามาทำการเช่า เพื่อปลูกพืชผักของเขาเอง พืชผักเรากลับหายไปแล้วเปลี่ยนพันธุ์ไป ต่อไปความมั่นคงทางอาหารของเราอยู่ตรงไหน อันนี้คือความห่วงใย และมีความรู้สึกว่าเรากำลังจะสูญเสียที่ดิน โดยที่คนจนอย่างพวกเราเองคงจะไม่มีโอกาสมีที่ดินอีกต่อไป”


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

                   นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าหน้าที่ของภาครัฐมี 2 ส่วนสำคัญ 1. คือสร้างความเจริญให้ประเทศ 2.นำความเจริญนั้นมากระจายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ผ่านมาเราเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ของ GDP แต่ไม่ได้ดูรายได้ประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องกระจายโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับคนในประเทศ

                   “การคมนาคมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพราะเป็นสิ่งที่คนเจอทุกวัน จะรวยหรือจนก็ต้องใช้ถนนร่วมกัน ในกรุงเทพคนจนโดยสารรถเมล์ราว 3 ล้านคน คนส่วนใหญ่อยู่กับรถเมล์ รถเมล์จึงเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราเน้นการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่คมนาคมที่คนส่วนใหญ่ใช้คือรถเมล์ เราต้องมีรถเมล์ที่ดีก่อน เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ ภาครัฐต้องเกลี่ยและกระจายโอกาสให้ทุกคน

                   แต่จริงๆแล้วการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องมาจากตัวเราเป็นหลัก ไม่ใช่จากภาครัฐหรือเอกชนรายใหญ่ ตัวเราต้องเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องเห็นความสำคัญของชีวิตคนอื่นด้วยว่ามีความสำคัญไม่ต่างจากเรา เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้จากรัฐหรือเอกชนรายใหญ่ ต้องเริ่มจากตัวเรา เริ่มที่การเห็นชีวิตของคนทุกคนสำคัญเหมือนกันและเท่ากัน ความชินชากับความเหลื่อมล้ำที่เจอเป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งคงต้องฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่”

                   โดยนอกจากกิจกรรมเสวนาแล้วภายในงาน “เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?” ยังมีการแสดงผลงานภาพถ่ายแนว Street Photo ในหัวข้อ ‘Tales from the Streets’ โดย “วินัย ดิษจร” การออกร้านของธุรกิจเพื่อสังคมร้านคนจับปลา (Fisherfolk Social Enterprise) และธุรกิจเพื่อสังคมวนิตา (Wanita Social Enterprise) ซึ่งเป็นโครงการที่อ็อกแฟมในประเทศไทยให้การสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนในสังคมไทยอีกด้วย โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง


สฤณี อาชวานันทกุล


อธิคม คุณาวุฒิ















« Last Edit: February 03, 2017, 08:08:23 PM by happy »

happy on February 03, 2017, 08:09:07 PM
“เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน”

รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

บทสรุปขนาดสั้น

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่สามารถลดความยากจนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรส่วนใหญ่กับกลุ่มคนที่รวยที่สุดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจบั่นทอนความก้าวหน้าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาได้  ณ ปัจจุบัน คนรวยที่สุดร้อยละ 1 ครอบครองความมั่งคั่งในปริมาณที่มากกว่าประชากรที่เหลือทั้งหมดรวมกัน จากปี 2551 ถึงปัจจุบัน จำนวนมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่า รายได้ในปีเดียวของบุคคล ที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศไทย สามารถลดความยากจนของทั้งประเทศไทยได้เป็นเวลาหนึ่งปี แม้จะเป็นสิ่งน่ายินดีที่รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายในการจะลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการจัดเก็บภาษีในรูปแบบที่ก้าวหน้ามากขึ้น เพิ่มการใช้จ่ายสาธารณะ ยกระดับบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข กำหนดค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) และปฏิรูปเกษตรกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 5 ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง หากแต่หลักฐานแสดงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้กระจายไปอย่างเท่าเทียม ทำให้ความยากจนยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนที่รวยมากกับคนส่วนใหญ่ของประเทศขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายงานฉบับนี้ สำรวจวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ที่กำลังส่งผลให้อนาคตของครอบครัวคนไทยจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง และเสนอทางเลือกต่างๆ ที่รัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ สามารถดำเนินการ  เพื่อให้อนาคตของประเทศมีความเป็นธรรมมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย: เรื่องของความสุดขั้ว

เป็นที่ชัดเจนว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมมาโดยตลอด ในปี 2557 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 1,067 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งมากพอที่จะกระจายให้ประชากรทุกคนได้คนละ 15,755 ดอลลาร์สหรัฐฯ และขจัดความยากจนให้หมดสิ้นได้  หากแต่ประชากรถึงร้อยละ 10  หรือประมาณ 7 ล้านคน ก็ยังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน     ขณะเดียวกัน จำนวนมหาเศรษฐีพันล้านของไทยได้เพิ่มขึ้นจาก 5 คน เป็น 28 คน ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา  และในปี 2558 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นเงินถึง 91.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จึงทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับความเจริญรุ่งเรืองของไทย

ประการแรก สถิติระบุว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมีรายได้สูงอย่างผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับรายได้ของทั้งประเทศ โดยในปี 2556 คนรวยที่สุดร้อยละ 20 เป็นผู้ได้รับรายได้ของประเทศมากกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 52 ของรายได้ทั้งหมด อัตราส่วนพาลมา (Palma ratio) ของประเทศไทยในปี 2556 เท่ากับ 2.8 ซึ่งหมายถึงคนที่รวยที่สุด ร้อยละ 10 มีรายได้มากเป็น 2.8 เท่าของรายได้ของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 40 รวมกัน ประชากรที่อยู่ฐานล่างสุดนั้น ยิ่งถูกทิ้งห่างไปไกลกว่าเดิม โดยในปีเดียวกันนั้น คนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีรายได้มากกว่าเป็น 35 เท่าของคนจนที่สุดร้อยละ 10 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดนั้นได้ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ และได้เพิ่มขึ้นสามเท่าตัวตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ซึ่งเผยให้เห็นแนวโน้มที่จะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นอีกในอนาคต

ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งในประเทศไทยเป็นไปอย่างสุดขั้ว ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนชั้นบนของเศรษฐกิจ โดยในปี 2558 ประเทศไทยติดลำดับที่ 11 ของโลกในการจัดลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด ทั้งนี้ คนรวยที่สุดร้อยละ 10 เป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุดร้อยละ 10 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 0.1 ของทั้งหมด  ความไม่เท่าเทียมกันด้านความมั่งคั่งยังเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยในระยะห้าปีที่ผ่านมา คนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.5 เป็น ร้อยละ 56   นั่นหมายถึง คนเพียงร้อยละ 1 เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนไทยทั้งประเทศที่เหลือรวมกัน  การเพิ่มพูนความร่ำรวยอันมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้ยังเป็นผลมาจากการบริหารความมั่งคั่ง และเงินได้ที่ต่อยอดจากเงินออมและทรัพย์สินต่างๆ ทั้งนี้ คนไทยที่รวยที่สุดร้อยละ 1 เป็นเจ้าของรายได้จากเงินออม การลงทุน และค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ราวครึ่งหนึ่งของประเทศ ทั้งนี้  การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า เงินได้ในแต่ละปีที่งอกเงยจากทรัพย์สินของบุคคลที่มั่งคั่งสุดของไทยนั้น เพียงพอที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทยเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งปี

ความมั่งคั่งของกลุ่มคนที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา ดังได้แสดงในภาพประกอบด้านล่าง ในปี 2551 มีมหาเศรษฐีพันล้านเพียงห้าคน ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกัน 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พอถึงปี 2558 จำนวนมหาเศรษฐีพันล้านได้เพิ่มขึ้นเป็น 28 คนและมีทรัพย์สินรวมกัน 91.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

การเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีไทยและมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2551-2558

ที่มา : Forbes world's billionaires, available at: http://www.forbes.com/billionaires

ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน คือรูปแบบความเหลื่อมล้ำที่เก่าแก่ที่สุด ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินอย่างสุดขั้วโดยมีค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ของผู้ครองโฉนดอยู่ที่ 0.89 ในปี 2555 ประชากรไทยมากกว่าสามในสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย และในหมู่เจ้าของที่ดินนั้น เจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 10 มีที่ดินโฉนดมากเป็น 854 เท่าของผู้ถือครองที่ดินรายย่อยที่สุดร้อยละ 10


ความเหลื่อมล้ำด้านการทำงานและค่าจ้างทำให้ช่องว่างขยายใหญ่ขึ้น

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แรงงานคือแหล่งที่มาอย่างเดียวของรายได้ ซึ่งการทำงานที่มีคุณค่าและได้รับค่าจ้างเพื่อดำเนินชีวิต (living wage) จะเป็นโอกาสสำคัญในการนำไปสู่อนาคตที่เท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ในหมู่แรงงานเองก็ยังมีช่องว่างที่ทำให้การเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ประการแรก แรงงานในระบบได้รับค่าจ้างที่มากกว่าและสวัสดิการที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบจะมีหลักประกันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในขณะที่แรงงานนอกระบบไม่สามารถได้ประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานในระบบยังได้รับการคุ้มครองด้วยระบบประกันสังคมของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ ค่าดูแลบุตร การลาคลอด และเงินชดเชยการว่างงาน โดยในปี 2556 คนไทย 25 ล้านคน  (หรือร้อยละ 64 ของแรงงานทั้งหมด) ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการประกันสังคมดังกล่าว  แรงงานที่มีทักษะสูงก็ได้ค่าจ้างที่สูงตามไปด้วย แรงงานวิชาชีพและแรงงานระดับบริหารโดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้สูงเป็นสี่เท่าของคนงานในภาคเกษตรกรรมและการประมง  ส่วนชาวนาชาวไร่นั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในความยากจนเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ  นอกจากนี้ การศึกษายังมีบทบาทสำคัญมาก คนที่จบการศึกษาระดับปริญญามักจะมีเงินเดือนสูงเป็น 2-4 เท่า ของคนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า

การทำงานในเขตเมืองยังหมายถึงค่าจ้างที่สูงกว่าในชนบทอีกด้วย เงินเดือนโดยเฉลี่ยในเขตกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าสองเท่าครึ่งเมื่อเทียบกับเงินเดือนโดยเฉลี่ยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในขณะที่ช่องว่างด้านค่าจ้างระหว่างเพศหญิงและชายไม่แตกต่างกันมากนัก และนับว่าดีขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่แรงงานเพศหญิงยังคงประสบกับการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน โดยผู้หญิงในภาคเกษตรกรรมจะได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 84.7 เมื่อเทียบกับค่าจ้างของผู้ชาย  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 97.5 อย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานที่ทำในธุรกิจของครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ผู้ชายจะมีชื่อเป็นเจ้าของธุรกิจและเป็นผู้รับรายได้ต่างๆ 

สิทธิด้านสหภาพแรงงานในประเทศไทยนั้นยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล ตามดัชนีชี้วัดความมุ่งมั่นต่อการลดความเหลื่อมล้ำของอ็อกแฟมที่กำลังจะนำออกเผยแพร่ ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 122 จาก 155 ประเทศ ในด้านสิทธิแรงงานและสหภาพแรงงาน  กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสำหรับแรงงานส่วนใหญ่จากจำนวนทั้งหมด 39 ล้านคน

มีข้อจำกัดหลายอย่างเกี่ยวกับการรวมตัว ที่ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่คนงานชั่วคราวจะเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีสถานภาพเป็นลูกจ้างชั่วคราว  การใช้แรงงานแบบจ้างเหมาชั่วคราวมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิในการรวมตัวโดยปริยาย  ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละสิบของแรงงานทั้งหมดนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพหรือดำรงตำแหน่งใดในสหภาพแรงงาน สถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหภาพแรงงานสากลอินดัสตริออล (IndustriALL) ส่งคำร้องเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพด้านการสมาคมและการรวมตัวไปยังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันรณรงค์ระดับโลกเพี่องานที่มีคุณค่า (World Day for Decent Work) โดยชี้ให้เห็นว่า กฎหมายของไทยล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมให้แก่ร้อยละ 75 ของแรงงานทั้งหมด 39 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าร่วมสหภาพของคนงานต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ร้อยละ 1.5 เท่านั้น


ทรัพยากรการผลิตจำกัดอยู่ในมือไม่กี่คน

ทรัพยากรการผลิตเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการหาเลี้ยงชีพ แต่ทว่าคนจนที่สุดจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกร ยังไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน ระบบการชลประทาน และเงินกู้ได้    หลักฐานชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรไทยนั้นอยู่ในภาวะสูญเสียที่ดินมากขึ้น สถิติทางการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่า คนไทยราว 2.2 ล้านคนอยู่ในสภาวะเปราะบางเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน โดยร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนอีกร้อยละ 37 ไม่มีโฉนดที่ดิน และที่เหลือไม่มีที่ดินเพียงพอในการทำมาหากิน และในขณะที่คนจนที่สุดยังคงดิ้นรนเพื่อที่จะมีที่ดินทำกิน หรือไม่ให้สูญเสียที่ทำกินที่มีอยู่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งหลายก็แทบจะไม่ได้ใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในปี 2545 กลุ่มผู้ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

นอกจากนี้ ในปี 2558 มีที่ดินในประเทศไทยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เชื่อมต่อกับระบบชลประทาน  โดยร้อยละ 41 ของที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตภาคกลาง  ทำให้เกษตรกรในชนบทที่ยากจนที่สุดต้องคงต้องอาศัยน้ำฝนต่อไป  สำหรับคนยากจนที่สุด นั่นหมายถึงพวกเขาต้องอาศัยเงินกู้ แต่การเข้าถึงเงินกู้ในระบบจำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดิน ทำให้พวกเขาต้องหันไปหาคนที่ปล่อยกู้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว  ในปี 2556 การสำรวจพบว่าร้อยละ 16 ของเกษตรกรไทยที่ยากจนแทบจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในระยะ 12 เดือนก่อนหน้านั้น  นับเป็นวงจรอุบาทว์ที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของเกษตรกรยากจน และอาจนำพาให้พวกเขายิ่งจนลงอีกจนถึงขั้นล้มละลาย


การศึกษาและการบริการสุขภาพ ยังคงทิ้งคนจนที่สุดไว้ข้างหลัง

การศึกษาที่มีคุณภาพสามารถเป็นบันไดช่วยให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้ แต่ประเทศไทยกลับมีช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการไต่บันไดดังกล่าว กฎหมายไทยรับประกันการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 15 ปี แต่ยังมีอุปสรรคด้านการเงินที่สำคัญ อาทิ ค่าเดินทาง ที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนได้  ในปี 2557 ร้อยละ 17 ของนักเรียนที่เลิกเรียนกลางคัน มาจากครอบครัวยากจน หรือจำเป็นต้องออกมารับบทบาทหาเลี้ยงครอบครัว ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ช่องว่างของอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมระหว่างคนจนและคนรวยเพิ่มขึ้นมาก  และสถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่าคนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีแนวโน้มจะได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษามากกว่าถึง 19 เท่า  เมื่อเทียบกับคนจนที่สุดร้อยละ 10  นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนในเมืองกับในชนบท อันเนื่องมาจากการลงทุนด้านทรัพยากรของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกันในจังหวัดชนบท ตัวอย่างเช่น การมีครูที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการประกันคุณภาพการศึกษา  แต่ในเขตชนบทที่ยากจนก็มักจะมีครูที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์น้อยกว่าที่อื่น

การลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก  ในปัจจุบัน คนไทยทุกคนได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่มีอยู่สามระบบ โดยที่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มใช้ใน ปี 2545 ได้ขยายการบริการถึงคนจนที่สุดได้อย่างมาก ในปีแรก ระบบนี้ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้คนจนที่สุดได้ถึงครึ่งหนึ่ง และหลังจากนั้นยังเพิ่มการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในสำหรับคนจน  ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราการตายของทารกได้อย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อไปอีกเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติคุ้มครองร้อยละ 76 ของคนไทยทั้งหมด  แต่กลับได้รับเงินลงทุนต่อหัวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับระบบประกันสุขภาพอื่นๆ โดยได้รับเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิยังคงไม่เพียงพอ อีกทั้งร้อยละ 70 ของบริการดังกล่าวยังไม่ได้บรรลุมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ  โดยที่ผู้ใช้บริการดังกล่าวคือผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติส่วนใหญ่และกลุ่มคนยากจนที่สุด นอกจากนี้ ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาในเขตพื้นที่ที่มีความต้องการสูงสุด  ทั้งนี้ แพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องรับผิดชอบคนไข้จำนวนมากเป็น 4.2 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ที่แพทย์ในกรุงเทพฯ ดูแล

พลเมืองทุกคนมีสิทธิได้รับบริการด้านการศึกษาและสุขภาพ และบริการเหล่านี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ งานวิจัยพบว่าระบบสาธารณสุขและการศึกษาสาธารณะจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เพราะบริการเหล่านี้เปรียบ ‘เสมือนรายได้’ ในทางที่ก้าวหน้า คือ คนยากจนที่สุดจะได้รับประโยชน์มากที่สุด แม้ว่าในระยะสิบปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายสาธารณะด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพของไทยได้เพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับที่อื่น  แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำมากระหว่างจังหวัดต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนต่อหัวประชากรในจังหวัดหนองบัวลำพู  ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดนั้น น้อยกว่าเศษหนึ่งส่วนสิบสองของงบประมาณที่จัดสรรให้แก่พื้นที่กรุงเทพฯ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะลดช่องว่างด้านการศึกษาและสุขภาพ และจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอสำหรับบริการสาธารณะสำหรับคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด


ระบบภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นจะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

ระบบการจัดเก็บภาษีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดหางบประมาณสำหรับการบริการสาธารณะและสวัสดิการสังคม  ระบบภาษีที่เป็นธรรมยังสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ด้วย   ในปี 2557 สัดส่วนของภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยคิดเป็นร้อยละ 16 ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนภาษีร้อยละ 24  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่าสัดส่วนของไทยควรเพิ่มได้อีกถึงร้อยละ 36   อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลกันว่าไทยจะสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายด้านสาธารณะที่จำเป็นในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ใครควรต้องจ่ายภาษีอะไรบ้างเพื่อให้ระบบภาษีเป็นธรรมและยั่งยืน

ปัจจุบันนี้ รายได้ของรัฐจากภาษีที่มากที่สุดสามลำดับต้นมาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32  ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13   การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีทางอ้อมอื่นๆ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น  เนื่องจากคนจนใช้จ่ายรายได้ส่วนใหญ่ของตนไปกับการบริโภค การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจึงกระทบต่อพวกเขามากที่สุด  อัตราภาษีรายได้ส่วนบุคคลของไทยนั้นเป็นอัตราก้าวหน้า  แต่มีการยกเว้นภาษีต่างๆ ที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มคนรวยมากกว่า อาทิ การยกเว้นการเก็บภาษีผลได้จากทุน (capital gains exemption) แหล่งหลบภาษีอากร กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident funds) ทั้งรัฐบาลยังได้อนุมัติให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับคนที่มีรายได้สูงถึง 4-5 ล้านบาท จากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 30  อีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยควรเก็บภาษีจากความมั่งคั่งและทรัพย์สินให้สูงขึ้น เช่น ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และกำหนดให้อัตราภาษีมรดกและอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวหน้ามากขึ้นและมีช่องโหว่น้อยลง การยกเว้นภาษีต่างๆ ในปัจจุบันรังแต่จะทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งเลวร้ายลง และยังบั่นทอนความสามารถของรัฐบาลในการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะที่สามารถจะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้


ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจกำลังทำให้ความก้าวหน้าชะงักงัน

สถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและขบวนการภาคประชาชน ยังมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน แต่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของคนชนชั้นนำมากเกินไป ทั้งโดยตรงผ่านผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง และทางอ้อมผ่านทางอิทธิพลที่มาพร้อมกับความร่ำรวย ยิ่งเจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งมากเท่าใด ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะลงสมัครหรือเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองด้วยวิธีทางต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น   

ชนชั้นนำเหล่านี้สามารถเข้าถึงเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถล็อบบี้เพื่อให้สนับสนุนนโยบายที่ตนเองจะได้ประโยชน์  ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนจนที่สุดก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเขาเอง  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นมาคู่กันกับความเหลื่อมล้ำทางการเมือง  ในขณะที่นโยบายต่างๆ ยังคงเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนรวยต่อไป คนจนที่สุดก็จะยิ่งถูกผลักออกไปไกลยิ่งขึ้นจากกระบวนการการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางการเมือง  วงจรของการกีดกันและความเหลื่อมล้ำนี้จำเป็นต้องถูกสลายลง


กระจายเพื่อเท่าเทียม: ขั้นตอนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มั่งคั่ง หากแต่ความมั่งคั่งดังกล่าวไม่ได้ถูกกระจายออกไป เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยมุ่งให้ค่าสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ที่ 0.36 ซึ่งเป็นระดับที่เทียบได้กับกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD) ภายในปี 2579 และมุ่งให้รายได้ของคนจนที่สุดในประเทศร้อยละ 40 เพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 15 ต่อปี แต่หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไทยก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ว่าได้อย่างแน่นอน อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะทำให้การเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตตกอยู่ในอันตราย  และบั่นทอนโอกาสในชีวิตของคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด

เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตที่เป็นธรรมมากขึ้น รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปนี้

1.   ออกมาตรการที่ชัดเจนว่าจะเริ่มลดค่าสัมประสิทธิ์จีนีและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
2.   ดำเนินการให้มีการจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิต การเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรม และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานทุกคน
3.   ทำให้ห่วงโซ่อุปทานในการประกอบธุรกิจมีความเป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และกำหนดมาตรฐานสัญญาจ้างที่ระบุอำนาจการต่อรองของคนงานและเกษตรกรทุกคน
4.   เร่งการปฎิรูปเกษตรกรรมเพื่อให้คนจนเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ และทุนได้เพิ่มขึ้น
5.   ลงทุนในระบบการศึกษาสาธารณะ โดยมุ่งขจัดอุปสรรคด้านการเงิน และสร้างครูที่มีคุณภาพให้เพียงพอสำหรับทุกชุมชน รวมถึงชุมชนชายขอบ
6.   ลงทุนในบริการสาธารณสุขที่เอื้อประโยชน์แก่คนยากจน โดยเพิ่มงบประมาณในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ และการบริการปฐมภูมิ และจัดหาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทั่วถึง
7.   ปรับระบบภาษีให้เป็นระบบก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่มผู้ครอบครองทุนและความมั่งคั่งสูง รวมถึงลดการยกเว้นภาษี ลดช่องโหว่ทางกฎหมายและอัตราภาษีที่ถอยหลัง
8.   ประเมินผลกระทบของนโยบายทางการคลังต่อความเหลื่อมล้ำ และเปิดให้สาธารณชนให้ความคิดเห็นและตรวจสอบการประเมินดังกล่าว
9.   ปฏิรูประบบการจัดเก็บและการบริหารจัดการภาษี เพื่อให้รัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น
10.   ส่งเสริมเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด

เพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ โปรดติดต่อ นวพร ศุภวิทย์กุล เจ้าหน้าที่งานรณรงค์องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย อีเมล Nsupawitkul@oxfam.org.uk เบอร์โทรศัพท์ 02 632 0033

happy on February 03, 2017, 08:09:25 PM


  Forbes world's billionaires (มหาเศรษฐีพันล้านของโลก จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: http://www.forbes.com/billionaires/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559]. รายได้จากสินทรัพย์ (Earnings on wealth) เป็นการประมาณโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4  อัตรานี้สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งของกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ HNWI (high net worth individuals) ในปี พ.ศ. 2558 จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนเพื่อสะท้อนค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สำหรับปีดังกล่าว (สำหรับผู้ร่ำรวย) โดยนำข้อมูลมาจากรายงานความมั่งคั่งของโลกประจำปี พ.ศ.2559 (2016 World Wealth Report) ของบริษัท CapGemini  ส่วนจำนวนเงินที่ต้องใช้เพื่อขจัดความยากจน ได้มาจากการคูณค่าสัมบูรณ์ของช่องว่างความยากจน (อ้างอิงจากเส้นความยากจนระดับชาติรายเดือน แล้วนำไปคูณด้วย 12) สำหรับจำนวนคนยากจนในปี พ.ศ.2557
  GDP growth (annual %), World Bank’s World Development Indicators [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  GDP, PPP (current international $), World Bank’s World Development Indicators [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  ฐานข้อมูลคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  Forbes world's billionaires. [ออนไลน์] เข้าถึงได้ที่: http://www.forbes.com/billionaires/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559] โดยนิยามมหาเศรษฐีว่าเป็นบุคคลที่มียอดรวมทรัพย์สิน (ทั้งทรัพย์สินที่เป็นทุนทรัพย์และทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทุนทรัพย์) มากกว่า 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป   
  อ้างแล้ว
  คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (2558). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้าในประเทศไทย.
  อ้างแล้ว 6
  อ้างแล้ว 6
  Tansakun, S. (2559). Observations about inequality in Thailand. [ออนไลน์] เข้าถึงได้ที่: https://www.kepa.fi/tiedostot/observations_about_inequality_in_thailand.pdf [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  Credit Suisse (2558).Global wealth databook
  Credit Suisse’s global wealth databook for the year 2011-2015
 กอบศักดิ์ ภูตระกูล. (2556). คุณภาพการเจริญเติบโตจากมิติของการกระจายรายได้. รายงานนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2556
  อ้างแล้ว 1
  Forbes world's billionaires. [ออนไลน์] เข้าถึงได้ที่: http://www.forbes.com/billionaires/ [เข้าถึงเมื่อวันที่  25 สิงหาคม 2559]
  ดวงมณี เลาวกุล. (2556). การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย 
  ผู้เขียนคำนวณจากข้อมูลที่ได้จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559] และดวงมณี เลาวกุล. (2556). การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย
  อ้างแล้ว 13
  อ้างแล้ว  6
  อ้างแล้ว  6
  อ้างแล้ว  6
  สมชัย จิตสุชน, ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ (2558). เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างทั่วถึงเพียงใด: บทวิเคราะห์และนโยบาย. รายงานนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558
  อ้างแล้ว  6
  อ้างแล้ว  6
  อ้างแล้ว  6
  http://survey.ituc-csi.org/Thailand.html#tabs-3
  คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2554). คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559). [ออนไลน์] เข้าถึงได้ที่: http://www.nesdb.go.th/download/article/article_20160323112431.pdf [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  V-Reform (2556). ภาพรวมปัญหาที่ดิน และแนวทางแก้ไข. [ออนไลน์] เข้าถึงได้ที่: http://v-reform.org/v-report/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  มูลนิธิสถาบันที่ดิน (2545). การถือครองและใช้ประโยชน์จากที่ดิน
  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2559). ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2558. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: http://www.oae.go.th/download/download_journal/2559/yearbook58.pdf [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  อ้างแล้ว
  สถาบันวิจัยสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2558). โครงการศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรและแนวทางการปรับปรุงศักยภาพการดำเนินงานกองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. งานวิจัยสำหรับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  อ้างแล้ว 3
  Lathapipat, D. (2014). Equitable and Efficient School Funding: Design and Implementation
  อ้างแล้ว 3
  Lounkaew, K. (2011). Explaining urban-rural differences in literacy, mathematics and science: evidence from PISA 2009, paper presented at the conference ANU-DBU Economics of Education Policy: Access and Equity at Dhurakij Pundit University, Bangkok, Thailand
  P. Glewwe et al (2011) School Resources and Educational Outcomes in Developing Countries: a review of the literature from 1990 to 2010
  อ้างแล้ว 30
  S. Limwattananon et al (2011) ‘The equity impact of Universal Coverage: health care finance, catastrophic health expenditure, utilization and government subsidies in Thailand’, Consortium for Research on Equitable Health Systems, Ministry of Public Health,  http://r4d.dfid.gov.uk/Output/188980
  Gruber, J., Hendren, N., and Townsend, R.M. (2014). The great equalizer: health care access and infant mortality in Thailand. American Economic Journal: Applied Economics 6(1), pp91–107
  อ้างแล้ว
  เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, วีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี, ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ, และพรชัย ฬิลหาเวสส (2556). กลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
  วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์. (2558) การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า: สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ. สัมมนาสาธารณะของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 1 ก.ย. 2558
  กระทรวงสาธารณสุข (2558). ยุทธศาสตร์เป้าหมาย และตัวชี้วัด กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
  อ้างแล้ว
  E. Seery, (2014), ‘Working For the Many: Public Services Fight Inequality', Oxford: Oxfam International, https://www.oxfam.org/sites/www.oxfam.org/files/file_attachments/bp182-public-services-fight-inequality-030414-en_1.pdf
  Government expenditure on education, total (% of GDP) and health expenditure, public (% of GDP), World Bank’s World Development Indicators [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  http://govspending.data.go.th [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  Oxfam (2557). Even it up: time to end extreme inequality. Oxford: Oxfam GB.
  https://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2013/wp13244.pdf
  อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีส่วนบุคคลสูงสุดได้ปรับลดจากร้อยละ 65 เป็น 55, 50, 37 และ 35 ในปี 2529, 2532, 2535, 2556 ตามลำดับ
  http://www.mof.go.th/home/eco/290459_2.pdf [เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559]
  Bunkanwanicha, P. and Wiwattanakantang, Y. (2009). Big business owners in politics. Review of Financial Studies 2(6), pp2133-2168
  Treerat, N. and Vanichaka, P. (2016). Elite networking through special executive courses. In P. Phongpaichit and C. Baker ed., Unequal Thailand: aspects of income, wealth and power. Singapore: NUS Press
  OECD (2015). In it together: why less inequality benefits all. Paris: OECD Publishing