wmt on February 03, 2017, 03:04:03 PM
7 เส้นทางท่องเที่ยว คว้ารางวัล “สุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวของประเทศ”

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “สุดยอดเส้นทางการท่องเที่ยวของประเทศ ประจำปี 2559” ซึ่งเป็นนโยบายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกสุดยอดเส้นทางการท่องเที่ยวของประเทศ  ซึ่งมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว นายอักกพล พฤกษะวัน นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายเจริญ วังอนานนท์ รองศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง และมีเส้นทางที่สามารถคว้ารางวัล “สุดยอดเส้นทางการท่องเที่ยวของประเทศ ประจำปี 2559” จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่

1.  เส้นทางการท่องเที่ยว “ถนนสายการเรียนรู้ ดูโลกทะเลโคลน เยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริ” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก เป็นเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริ ผ่านการเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มุ่งให้เกิดความยั่งยืน เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (Conservation Tourism) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบนิเวศทางทะเล และป่าชายเลน เรียนรู้ผ่านการจัดการการท่องเที่ยวที่รักษาคุณภาพทั้งการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (Natural-based Tourism) และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม (Cultural-based Tourism) อันจะนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)

2. เส้นทางการท่องเที่ยว “อาบน้ำแร่ แช่น้ำใส” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก  นำเสนอความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และสายน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวระนอง ทำให้จังหวัดระนองให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  การใช้วารีบำบัดจาก “น้ำพุร้อน” น้ำแร่ที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่นกำมะถัน และสามารถดื่มได้ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลก ประกอบไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมายที่ได้การรับรองคุณภาพ จนถูกนำไปใช้ในธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ

3. เส้นทางการท่องเที่ยว “สันหลังมังกร มหัศจรรย์ สันทราย แห่งท้องทะเลอันดามัน” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่นำเสนอเรื่องราวของสันหลังมังกร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสวยงามแปลกตา ผสานกับความเชื่อในเรื่องของ “มังกร” ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวไปเยือน มีแนวแนวสันทรายทอดยาวติดต่อกัน เชื่อมโยง 2 จังหวัด (ตรังและสตูล) จำนวน 13 แห่ง มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันตามสีสันของเปลือกหอย หิน และทราย เมื่อน้ำลดจะเกิดคลื่น พลิ้วไหว คล้ายกับมังกรโผล่พ้นน้ำ แหวกว่ายอยู่กลางทะเล ตามความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่า “มังกร” เป็นสัตว์นำโชคในตำนานการได้เจอสิ่งที่มีลักษณะคล้ายมังกรถือเป็นเรื่องมงคลแก่ผู้พบเห็น ช่วยส่งเสริมให้นักเที่ยวผู้มาเยี่ยมชมรู้สึกว่า หากยืนอยู่บนสันทรายสันหลังมังกรนี้ จะได้รับพลังบริสุทธิ์จากฮวงจุ้ยแห่งท้องทะเล ซึ่งจะช่วยเติมเต็มพลังกาย พลังใจ ให้กับร่างกายและจิตใจที่อ่อนล้าได้กลับมาเข้มเข็ง

4. เส้นทางการท่องเที่ยว “D.I.Y (Do it yourself) กับชุมชน” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์จริงร่วมกับชุมชนต่างๆ ผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงกันของฝั่งทะเลตะวันออก ใน จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ด้วยการเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวตะวันออกที่เป็นเอกลักษณ์และสืบทอดกันมา  พร้อมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีในท้องถิ่นด้วยตนเองร่วมกับชาวบ้าน เช่น การทอเสื่อกกที่เป็นเอกลักษณ์และนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้ การปลูกผักพื้นบ้านและนำไปปรุงอาหารด้วยตนเอง หรือการเก็บ ชิมผลไม้ ขึ้นชื่อของภาคตะวันออก ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น

5. เส้นทางการท่องเที่ยว “วิถีชุมชนวัฒนธรรมอันดามัน” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน  นำเสนอชุมชนแหลมสัก ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานที่ปรากฏภาพเขียนสีสมัยโบราณที่มีมากที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบัน “แหลมสัก” เป็นจุดศูนย์รวมของวัฒนธรรมสามสาย คือการอยู่ร่วมกันของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เชื้อสายจีนจากโพ้นทะเล และคนไทยพุทธท้องถิ่น และมีวิถีที่เป็นธรรมชาติ สงบ ทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสความแปลกใหม่จากการสัมผัสประสบการณ์จริงร่วมกับคนในชุมชน

6. เส้นทางการท่องเที่ยว “หัตถกรรม หัตถศิลป์ ถิ่นล้านนา” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา เป็นเส้นที่ดึงความเป็นเอกลักษณ์ของงานหัตถกรรม ที่ถือเป็นงานอัตถศิลป์ของดินแดนล้านนาอารยธรรมรากฐานของล้านนาที่เข้มแข็ง ซึ่งหลอมรวมความงดงามแห่งธรรมชาติวิถีชีวิตของผู้คนต่างชาติพันธุ์ ทั้งไทยเขินไทยลื้อ ไทยยอง ไทยโยนก วัฒนธรรมที่หลากหลาย ของผู้คนทำให้ เกิดการสืบสานความรู้จาก ภูมิปัญญา ชาวบ้าน และสะท้อนออกมาเป็น “ศิลปะอันประณีต”“ภูมิปัญญา” แก่นแท้ ศิลปะพื้นเมืองที่ยังคงมีอยู่  ฝีมือเชิงช่างอันประณีต

7. เส้นทางการท่องเที่ยว “อีสานใต้แซ่บนัว...ทัวร์ความหลากหลาย” เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งมีทั้งธรรมชาติที่งดงาม ชุมชนโบราณและร่องรอยความศิวิไลซ์ในอดีตทั้งวัดวาอาราม ปราสาทหิน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิต อาหาร และวัฒนธรรมพื้นถิ่นเส้นทางท่องเที่ยว “อีสานใต้แซ่บนัว ทัวร์ความหลากหลาย” เป็นตัวอย่างเส้นทางการท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นความหลากหลาย จากวัฒนธรรมในสมัยอารยธรรมขอม อารยธธรมสมัยสร้างเมืองอุบลราชธานี ศรีสะเกษและวัดวาอารามสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสวยงาม

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไปกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันสนับสนุนให้เส้นทางเหล่านี้ได้มีการพัฒนาทางด้านการตลาดและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีบริษัทที่จะสนับสนุนความร่วมมือ จำนวน 40 บริษัท นำเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการท่องเที่ยวต่อไป

หมายเหตุ  : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-283-1566 (กลุ่มขับเคลื่อนฯ  กองยุทธศาสตร์และแผนงาน)

wmt on February 03, 2017, 03:14:08 PM
7 เส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล














wmt on February 03, 2017, 03:16:34 PM
10 เส้นทางท่องเที่ยวที่ไม่ได้รางวัล



















« Last Edit: February 06, 2017, 07:39:24 AM by wmt »