news on January 24, 2017, 02:15:11 PM
ก.วิทย์- สวทช. พร้อมนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนุนไทยสู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” สร้างความเข้มแข็งระบบเศรฐกิจ



ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วท.












(วันที่ 23 มกราคม 2560) กรุงเทพฯ : คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน จัดมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทศ ภายในงานมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม ได้แก่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ หน่วยงานวิจัยได้แก่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้เกียรติเข้าร่วมในการลงนาม โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี 

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นจุดแข็ง แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ศักยภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ฝากไว้ 3 ประการ คือ 1. Aim High คือ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้ยกระดับจากเกษตรธรรมดาให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมให้ได้ 2. ต้องทำให้ดีกว่า Biopolis ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แต่เราไม่ได้ทำ จึงอยากให้ รมว. อุตสาหกรรม ต้งเป้าทำอย่างจริงจัง 3. การทำทั้งหมดนี้ เพื่อภาคเกษตร ซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ ดังนั้น ก.อุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าทีมสานพลังประชารัฐจากภาครัฐ ควรคิดต่อว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้ ภาคเอกชน รัฐ การศึกษา การวิจัย ทำงานร่วมกันเดินหน้าโครงการได้อย่างราบรื่นและเกิดผลลัพธ์ที่ดี แม้วันนี้จะเริ่มโดยภาคเอกชน แต่ในอนาคต ภาครัฐต้องทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม( Inclusive Growth ) เพิ่มขึ้น โดยขอให้ทุกภาคส่วนลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการขับเคลื่อน Bioeconomy ที่ยั่งยืนด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพิธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ ด้วยการนำความรู้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในด้านต่างๆ เช่น การเกษตรและอาหาร พลังงาน สุขภาพการแพทย์ รวมถึงการวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพได้มากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ  ที่ชูนโยบายด้านนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และมาเลเซีย เนื่องจากมีความพร้อมด้านผลผลิตทางการเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพไทย ซึ่งหน่วยงานภาตใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีลักษณะดีเด่นตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ พันธุ์อ้อยต้านทานโรคแมลงที่ให้ผลผลิตน้ำตาลสูง หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตแป้งสูง ตลอดจนการพัฒนาใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และเอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นสารชีวภาพมูลค่าสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ

“จุดแข็งของประเทศไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ แคนาดา ที่ต่างเห็นโอกาสและกำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ได้แก่ ความพร้อมของวัตถุดิบทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พร้อมต่อยอดสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืนนั้น ต้องประกอบด้วยฐานความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในลักษณะประชารัฐโดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน” รัฐมนตรี วท. กล่าว

ดร.อรรชกา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งมีเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น one-stop service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ที่มีส่วนสำคัญกับการผลิตอาหาร นอกจากนั้นแล้วกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายในกระทรวงฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
« Last Edit: January 24, 2017, 02:22:08 PM by news »