เอกสารประกอบการแถลงข่าว งานสัมมนา “ชวนสังคมร่วมลงทุน” และผลวิจัย“โครงการศึกษาการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคีสุขภาวะ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วันที่ 11 มกราคม 2560 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด
หลักการและเหตุผล
แม้ประเทศไทยมีตัวเลขการบริจาคต่อปีโดยเฉลี่ย 70,000 ล้านบาท และมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่าน5 กองทุนด้านสังคม ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2559จำนวน 453 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของงบประมาณทั้งหมดจำนวน 2.72 ล้านล้านบาท นั้น ยังมีปัญหาการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มากพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา
ไม่เพียงเท่านั้น นิยาม “การลงทุนด้านสังคม” ของประเทศ ไม่ได้หมายความแค่ “ทุน” ที่หมายถึง “เงิน” แต่ยังหมายถึงทุนประเภทอื่น เช่น “ทุนมนุษย์” หรือ “ทุนความรู้” ตลอดจน “ทุนทางสังคม” หรือความสัมพันธ์ของการทำงานเชิงเครือข่ายของผู้เกี่ยวข้องสำคัญ (Stakeholders)ในระบบนิเวศการพัฒนาความยั่งยืนของสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่การดำเนินงานของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังแยกส่วนขาดกระบวนการทำงานการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันอย่างเป็นระบบและขาดการมองระบบนิเวศที่เชื่อมร้อยภาพใหญ่ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ศึกษาและวิจัยรูปแบบ “การลงทุนเพื่อสังคม”ด้วยการวิเคราะห์ถึงอุปสงค์และอุปทาน การสร้างผลกระทบทางสังคม และความยั่งยืนของประชาชนที่ได้รับประโยชน์ หรือภาคสังคมที่ได้รับการสนับสนุนทุนให้เข้าไปทำงาน การติดตามและประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ตลอดจนความร่วมมือระหว่าง ภาคการเงิน การลงทุน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการสร้างองค์ความรู้และต้นแบบการแก้ไขปัญหาสังคมและการลงทุนทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
หัวข้อการวิจัย
1. การพัฒนาระบบการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทย 2. การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน
3. อาชีวศึกษาทวิภาคี 4. การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีตราบาปทางสังคม
5. การให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแก่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ6. การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
ผลการศึกษาในภาพรวม
ตัวแปรสำคัญในการสร้างระบบนิเวศการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ“องค์กรตัวกลาง”(Intermediary Organization)เพราะเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถ/และหรือสนับสนุนทรัพยากรให้
ผู้ให้บริการทางสังคมบรรลุเป้าหมายความต้องการอันนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมตามพันธกิจหรือความเชี่ยวชาญที่ได้กำหนดไว้
องค์กรตัวกลางมีหลายประเภท จะมาจากภาคธุรกิจ ภาคสังคม หรือภาครัฐก็ได้ จะมุ่งเน้นทำงานเชิงประเด็น ด้านเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ได้ หรือเชิงความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านพัฒนาแหล่งทุน ด้านอาสาสมัคร ด้านการจัดกระบวนการ ด้านสร้างเสริมศักยภาพ ด้านองค์ความรู้ ด้านการสื่อสาร ฯลฯ ก็ได้ ยิ่งมีองค์กรตัวกลางทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพมาก ยิ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศการลงทุนด้านสังคมของประเทศ เกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาตามหัวข้อวิจัย
1. การพัฒนาระบบการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทย:ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศเกิดความอย่างยั่งยืน คือการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ทั้งผู้บริหารท้องถิ่นภาคประชาสังคม และเอกชนในท้องถิ่น ตลอดจนความสามารถและความมุ่งมั่นของผู้บริหารศูนย์เด็กเล็ก ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการสร้างกลไกในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เข้ามาสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กให้ตรงกับความต้องการ รวมทั้งมีกระบวนการพัฒนาบุคลากรของศูนย์เด็กเล็กเพื่อสร้างครูพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพต่อไป
2. การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน:ทุนการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียน แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสประมาณ4.8ล้านคนมีเด็กนักเรียนออกกลางคันในรอบ 5 ปี ประมาณ8.4หมื่นคน นอกจากนี้ทุนการศึกษายังต้องพึ่งพิงเงินบริจาคที่มีความไม่แน่นอนตามสภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ดังนั้นจึงเสนอให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคสังคมและภาคเอกชนร่วมกัน รณรงค์การให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ของเด็ก จัดตั้งองค์กรตัวกลางเพื่อพัฒนาระบบและประสานงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนามาตรการและกลยุทธ์ในการให้และการระดมทุนการศึกษา
3. อาชีวศึกษาทวิภาคี: ประเทศไทยยังขาดกรอบการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีที่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะกลไกที่มีอยู่ยังขาดความรัดกุมและมีต้นทุนธุรกรรมสูงขาดมาตรการจูงใจให้สถานประกอบการและผู้เรียน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัย “องค์กรตัวกลาง”ที่เกิดจากความร่วมมือภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่บริหารระบบ โดยเสนอให้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้ง “สภาส่งเสริมการศึกษาทวิภาคี” เพื่อทำหน้าที่องค์กรตัวกลาง ที่มีรูปแบบเป็นหน่วยงานเอกชนลักษณะพิเศษ
4. การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีตราบาปทางสังคม: ผู้มีตราบาปทางสังคม (ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ติดยาเสพติด) เป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาคสังคมน้อยกว่ากลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ทำให้ขาดโอกาสและกลับเข้าสู่วงจรเดิมขณะที่หน่วยงานและองค์กรที่ช่วยเหลือมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนและบุคลากร อีกทั้งยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคม ดังนั้นจึงเสนอให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคสังคมและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยกลุ่มผู้มีตราบาปกลับสู่สังคมผ่านการสนับสนุนองค์กรภาคสังคมในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือผู้มีตราบาปทางสังคมให้มีประสิทธิภาพต่อไป
5. การให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแก่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ: ร้อยละ 56ของผู้พิการวัยทำงานไม่ประกอบอาชีพทั้งๆ ที่มีความสามารถที่จะทำได้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 32,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากส่วนใหญ่มีการศึกษาแค่ประถมศึกษาหรือต่ำกว่าและขาดทักษะในการทำงาน รวมทั้งไม่สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นจึงเสนอให้หาองค์กรตัวกลางในการจ้างงาน และสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการเพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนฯ ไปช่วยเหลือผู้พิการได้มากขึ้น
6. การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง: (Palliative Care) ถือเป็นทางเลือกในการรักษาเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานทำให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบโดยวิถีแห่งธรรมชาติ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งแพทย์และผู้ให้บริการสาธารณสุขว่าการรักษาให้ถึงที่สุดอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในการทำพินัยกรรมชีวิต (Living will) รวมทั้งบรรจุหลักสูตรภาคปฏิบัติดังกล่าวเข้าไปในการเรียนการสอนคณะแพทย์ พยาบาล เภสัช และสังคม ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาระงับปวดเป็นต้น
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1. จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม (Social Investment Board)
ด้วยการออกกฎหมายในลักษณะคล้ายกับ Charities Act ของประเทศอังกฤษ เพื่อระบุสองเงื่อนไขหลักของกิจกรรมสาธารณกุศลคือ 1) ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ 2) การสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะโดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้านสังคม ซึ่งเป็นองค์กรอิสระภายใต้กฎหมายข้างต้น ขึ้นตรงต่อรัฐสภา และมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทางสังคมผสมกับผู้แทนจากกระทรวงการคลัง โดยมีหน้าที่ ขึ้นทะเบียน กำกับดูแล และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับองค์กรสาธารณกุศลที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการฯติดตามตรวจสอบและฟ้องร้องดำเนินคดีกับองค์กรที่ทำผิดเงื่อนไขหลักข้างต้น ทั้งนี้องค์กรการกุศลที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในลักษณะเดียวกันกับองค์กรการกุศลในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการจัดทำรายงานการเงินที่แสดงให้เห็นถึง1) การบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ 2) การสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะส่งให้กับคณะกรรมการฯ ด้วย
2. การประยุกต์ใช้พันธบัตรเพื่อดูแลสังคม(Social Impact Bonds) เพื่อเพิ่มทรัพยากรและประสิทธิภาพให้กับโครงการลงทุนด้านสังคม คณะกรรมการฯ อาจร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการประยุกต์ใช้พันธบัตรเพื่อดูแลสังคม โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนผ่านพันธบัตรฯ จะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินการในตอนต้นจากนักลงทุน (Investors) ผ่านการซื้อพันธบัตรดังกล่าว โดยผู้ให้บริการด้านสังคม (Social Providers) จะเป็นผู้รับเงินทุนเพื่อนำไปดำเนินโครงการด้านสังคมกับประชาชนผู้รับบริการโดยตรง หลังจากนั้นจะมีการวัดผลลัพธ์การดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการด้านสังคมและหน่วยงานของรัฐบาล (Government Commissioner) ทั้งนี้ในกรณีที่ผลลัพธ์การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ในตอนต้น หน่วยงานของรัฐบาลจะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่ลงทุนซื้อพันธบัตรเพื่อดูแลโครงการทางสังคมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผลลัพธ์การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หน่วยงานรัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องจ่ายคืนผลประโยชน์หรือแม้แต่เงินต้นให้กับนักลงทุน ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของพันธบัตรที่มีการกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น
เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคหรือการลงทุนทางสังคม
ปัจจุบันการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่การลงทุนทางสังคมของประเทศไทย เฉพาะการบริจาคให้กับมูลนิธิที่ทางกระทรวงประกาศให้เป็นองค์การกุศลสาธารณะ ตามมาตรา 47(7) จำนวน 935 แห่ง (ไม่รวมโรงเรียนและวัด) เท่านั้น ถึงจะสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้
• ระดับบุคคล หักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ
• ระดับนิติบุคคล หักได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
เกี่ยวกับศัพท์สำคัญว่าด้วยการลงทุนทางสังคม
• “ระบบนิเวศทางสังคม”(Social Eco-System)
: องค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องสำคัญและ/หรือ ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบหรือเชื่อมโยงระหว่างกันในชุมชน/สังคมนั้นๆ
• “นักลงทุนทางสังคม”(Social Investor)
: ความหมายกว้าง มีหลายบริบท ขึ้นกับว่า “ทุน” นั้นหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึง เงิน คือ ผู้บริจาค ถ้าให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือกำลัง คือ อาสาสมัคร
• “ผู้ให้บริการทางสังคม” (Social Service Provider)
: องค์กรหรือบุคคลที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคม จะมาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมก็ได้ จะเป็นการบริการแบบให้เปล่า หรือคิดผลตอบแทน เช่น กิจการเพื่อสังคมก็ได้ แต่ต้องมีเป้าหมายแก้ปัญหาสังคมมุ่งไปที่ “ผู้รับประโยชน์” เป็นสำคัญ
• “ผู้รับประโยชน์”(Beneficiary)
:ผู้ที่ได้รับประโยชน์/ผู้ได้รับการตอบสนองทรัพยากรจากผู้ให้บริการทางสังคม/นักลงทุนทางสังคม/กลไกการแก้ปัญหาสังคม ทั้งที่เป็นคนและที่ไม่ใช่คน เช่น สัตว์ ก็ได้
• “องค์กรตัวกลาง”(Intermediary Organization)
:องค์กรที่มีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถ/และหรือสนับสนุนทรัพยากรให้ผู้ให้บริการทางสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายอันนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมองค์กรตัวกลางมีหลายประเภท จะมาจากภาคธุรกิจ ภาคสังคม หรือภาครัฐก็ได้ จะมุ่งเน้นทำงานเชิงประเด็น ด้านเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ได้ หรือเชิงความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านพัฒนาแหล่งทุน ด้านอาสาสมัคร ด้านการจัดกระบวนการ ด้านสร้างเสริมศักยภาพ ด้านองค์ความรู้ ด้านการสื่อสาร ฯลฯ ก็ได้
• “แพลตฟอร์ม”(Platform)
:โครงการหรือเครื่องมือหรือช่องทางการแก้ปัญหาสังคมรูปแบบต่างๆ ที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม ดังนั้น สามารถยืดหยุ่นรูปแบบ หรือวิธิการดำเนินงานให้สามารถขยายผลได้ ทั้งในเชิงขนาด และในเชิงผลลัพธ์