news on January 11, 2017, 09:02:21 AM
รมว.วิทย์ฯ เยี่ยม สวทช. พร้อมให้นโยบาย เน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาล สร้างอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง







(11 มกราคม 2560) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และคณะ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมให้นโยบายเน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาล สนับสนุนนำการวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อน Thailand 4.0 สร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันในเวทีระดับโลก  โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าว นโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งเป้าหมายที่จะนำความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ควรที่จะต่อยอดนำงานวิจัยและพัฒนาไปใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ อีกทั้งให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเป็นหลัก สิ่งนี้ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนคือ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาโดยการบูรณาการด้านวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงฯ จะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ นอกจากนั้นแล้วมีนโยบายสนับสนุนให้ สวทช. มีส่วนช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เยาวชนมีความสนใจวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นรากฐานในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตของประเทศ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมของประเทศ สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยไปใช้และทำงานร่วมกันในภาคเอกชนคือ บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด เริ่มต้นทำธุรกิจอาหารสัตว์ ด้วยทุนจดทะเบียน  20 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ร่วมวิจัยและพัฒนาโดยใช้ความรู้จากศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าไปพัฒนาโดยใช้จุลินทรีย์ในการต่อยอดอาหารสัตว์ และพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เกิดการต่อยอดลงทุนเปิดบริษัทใหม่ด้านโปรไบโอติก โดยในปัจจุบันการดำเนินการได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก

และเป็นอุตสาหกรรมที่ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านชีววิทยาพัฒนาด้านอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนสตาร์อัพและเอสเอ็มอี โดยมีการตั้งกองทุนจำนวน 1,126 ล้านบาท ส่วนของการบริหารจัดการนั้นจะมีกลไกในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป  อีกทั้ง สวทช. ยังได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การวิจัยเครื่องช่วยฟังจากที่ซื้อจากต่างประเทศราคา 13,000 บาท เมื่อนำงานวิจัยไปใช้ในการผลิตราคาลดลงเหลือ 6,000 บาท ซึ่งเครื่องนี้ได้นำขึ้นบัญชีนวัตกรรมเพื่อให้ภาครัฐ เช่น สปสช. ซื้อและนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการทางการได้ยินต่อไป

สำหรับด้านการเกษตร สวทช. พัฒนาพันธุ์ข้าวธัญสิริน หรือที่เรียกว่า “กข.6 ต้านทานโรคไหม้” ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ให้ลำต้นแข็งแรง คุณภาพดีกว่าข้าว กข. 6 พันธุ์ปกติ หุงแล้วหอมนุ่ม เมื่อปี 2557-2558 มีเกษตรกรมากกว่า 1,700 ครัวเรือน นำไปปลูกในพื้นที่กว่า 6,000 ไร่  และมีผลผลิตมากกว่า 45,000 ตันแล้ว สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ พันธุ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนน้ำท่วมแบบมิดต้นข้าวได้นาน 2-3 สัปดาห์  ให้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2557-2558 เกษตรกรกว่า 500 ครัวเรือน นำไปปลูกในพื้นที่ 4,000 ไร่ ผลผลิตกว่า 29,000 ตัน สร้างรายได้มากกว่า 700 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช.นั้น จะมีการนำรวบรวมองค์ความรู้ที่มีในหน่วยงานวิจัยมหาวิทยาลัยไปพัฒนาภาคการเกษตร ที่ผ่านมาได้นำเทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ เช่น ราบิวเวอเรีย ไปใช้ทดแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช เทคโนโลยีการแปรรูป การปรับปรุงดิน รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยกลไลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ประโยชน์ต่อชุมชนชนบทสูงสุด และสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. สนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ ทดสอบ และมาตรฐานทั้งในเรื่องของงานวิจัย พัฒนา และการทดสอบทั้งในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของประเทศก้าวสู่ระดับนานาชาติสร้างรายได้และส่งเสริมให้ประเทศแข่งขันในระดับโลกได้

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC), โรงเรือนทดลองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ, โดรน สำหรับการฉีดพ่นยาและปุ๋ยในพื้นที่เกษตร เพื่อทดแทนแรงงานคนและประหยัดเวลา, หุ่นยนต์เกษตร (FarmBot) ทางเลือกของเกษตรกรรุ่นใหม่ในยุคที่แรงงานขาดแคลน ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ไม่เกี่ยงเรื่องเวลาทำงาน ทำงานได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา ทั้งระบบอัตโนมัติและแบบควบคุม, Netpie, สถาบันเทคโนโลยีคนพิการและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชมบริษัท มิตรผลวิจัยอ้อยและน้ำตาล จำกัด และบ้านประหยัดพลังงานบริษัท เอสซีจี ซึ่งเป็นหนึ่งในประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนร่วมกิจกรรมตะลุยวันเด็ก บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
« Last Edit: January 11, 2017, 09:52:30 PM by news »