รายละเอียดการแสดง
การแสดงชุดที่ 1 การแสดงชุด “สักการะเทวราช”
การแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่มีการแสดงมหรสพในคืนแรกหลังพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ เป็นการแสดงเพื่อแสดงความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
การแสดงชุดที่ 2 การแสดงชุด “นักษัตร”
การแสดงสร้างสรรค์ใหม่เพื่อแสดงความจงรักภักดี และถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
การแสดงชุดที่ 3 การแสดงขับไม้บัณเฑาะว์และขับเสภา ชุด พุทธรักษาบูชาพ่อ
การแสดงแห่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ ทรงใช้ทศพิธราชธรรมปกครองแผ่นดิน จะทรงสถิตในชีวันนิรันดร ซึ่งใช้ประกอบเพลงสำเนียงมอญ ถ่ายทอดอารมณ์โศกเศร้าแทนความอาลัย ซึ่งนักแสดงจะร่ายรำนาฏศิลป์ไทยแบบราชสำนัก พระ-นางรำหมู่พร้อมกันนุ่งโจงกระเบนสีดำและประดับเข็มกลัดดอกพุทธรักษาติดริบบิ้นสีดำไว้ที่หน้าอก ดอกพุทธรักษาเป็นดอกไม้สีเหลือง สัญลักษณ์วันพ่อ มีการขับเสภาพุทธรักษาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ บูชาพ่อ โดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และศิลปินแห่งชาติ ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นหลังเสด็จสวรรคตด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
การแสดงชุดที่ 4 การเสวนาหน้าม่านเรื่อง “ในหลวง รัชกาลที่ ๙ กับการนาฏศิลป์ไทย”
โดย 1. ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ และอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
2. รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ
3. อาจารย์จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ และพระอาจารย์สอนโขนในรัชกาลที่ ๑๐
4. อาจารย์รัตติยะ วิกสิตพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย
การแสดงชุดที่ 5 การแสดงรามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฑ์เกี้ยวนางเบญจกาย
การแสดงที่รังสรรค์ขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙ ที่เป็นชุดการแสดงที่งดงามเข้าใจง่าย ถ่ายทอดการแสดงอันทรงคุณค่าของชาติได้อย่างดงาม ผ่านนาฏศิลป์ที่อ่อนช้อย ดนตรีที่ไพเราะ และบทในวรรณคดีที่ล้ำค่า
การแสดงชุดที่ 6 การแสดงชุด “รับขวัญข้าว”
การแสดงที่น้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฎีใหม่และการทำการเกษตรแบบพอเพียงมาดัดแปลงเป็นการแสดงอันเรียบง่ายแต่สวยงาม สะท้อนวิถีชีวิตท้องทุ่งแห่งความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ทำหน้าที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งชาติ
การแสดงชุดที่ 7 การบรรเลงขับร้องปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เรื่อง พระมหาชนก
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มาถ่ายทอดเป็นการแสดงชุดพิเศษผ่านท่วงทำนองแบบไทยแท้โดยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ที่หาชมได้ยาก นำแสดงโดย รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้เคยได้รับเชิญให้รับบทพระมหาชนกคนแรกของไทย และได้รับการชื่นชมอย่างมากว่าเป็นนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดลีลาการรำตามแบบฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
การแสดงชุดที่ 8 การแสดงชุด “กรุงเทพฯ”
การแสดงที่รังสรรค์จากแรงบันดาลใจในวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยที่มีความเจริญในทุกด้านควบคู่ไปกับความสุขของคนที่เติบโตขึ้นใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สมกับความหมายของเมืองที่ว่า “กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง”
การแสดงชุดที่ 9 การแสดงชุด “คิดบวกสิปป์”
การแสดงร่วมสมัยที่ใช้แสงและเงาสะกดผู้ชมถ่ายทอดเนื้อหาแห่งพระบารมีและความจงรักภักดีของพสกนิกรที่มีต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙