news on December 02, 2016, 01:51:48 PM
โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทยดึงวิทยากรฟินแลนด์มอบความรู้แนวคิดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กไทย





















ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งใน 20 หน่วยงานเครือข่ายโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (Thailand Children’s University) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "Children’s University-learning in hands-on activities from LUMA Center Finland" จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 59 ดึงกูรูนักสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเด็ก จากสถาบัน LUMA Centre Finland ประเทศฟินแลนด์ ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สนุก มีคุณภาพ แก่อาจารย์ นักวิชาการในหน่วยงานเครือข่ายโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย กว่า 60 ท่าน หวังต่อยอดพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กไทยระดับประถมปลายและมัธยมต้นในการมีทัศนคติที่ดีในเรื่องวิทยาศาสตร์ให้มองว่าใกล้ตัว สนุก และเกิดแรงบันดาลใจศึกษาสายวิทยาศาสตร์ต่อไป

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จัดการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เป็นวิทยากรจาก LUMA Center Finland ประเทศฟินแลนด์จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย Mr. Veli-Matti Ikävalko (นายเวลี่-มัทตี้ อิแกวัลโก้) Miss Jenni Räsänen (นางสาวเยนนี่ ราซาแนน) และ Mr. Jaakko Turkka (นายยัคโก้ ตุระกะ) มามอบความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การจัดกิจกรรมให้แก่หน่วยงานร่วมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก เป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2559 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อให้อาจารย์และวิทยากรเครือข่ายจากทั้ง 21 หน่วยงานที่ร่วมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย กว่า 60 คน อาทิ สวทช. สสวท. จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์ มศว. ม.มหิดล และโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นต้น ได้รับความรู้ความเข้าใจและแนวคิดการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและสร้างสรรค์สำหรับเด็ก พร้อมรับประสบการณ์ตรง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาและจัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็กต่อไป”

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวเสริมว่า “เป้าหมายเบื้องต้นการจัดอบรมคือ การสร้างนักพัฒนากิจกรรมที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจแนวคิดในการพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ ฉะนั้น ในทั่วโลกประเทศที่มีความสามารถในการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ได้สนุกและมีคุณภาพ โครงการมองว่าหนึ่งในกลุ่มนี้คือ ประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากทางสถาบัน LUMA Center Finland มีความน่าสนใจอยู่ 3 ประการ ได้แก่ (1) สถาบัน LUMA มีแนวคิดในการสร้างกิจกรรมที่สามารถทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการที่ปลายเปิด (Open-end) เด็กจึงมีโอกาสได้เลือกที่จะใช้จินตนาการได้เองสูง (2) ทุกกิจกรรมล้วนส่งเสริมให้เด็กได้มีความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และ (3) เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างโครงการกับประเทศฟินแลนด์ ทำให้ได้เห็นมุมมองและมิติใหม่ๆ ของการสร้างกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากประเทศนี้ สิ่งที่สำคัญคือภายหลังจากการอบรม ทางอาจารย์และวิทยากรเครือข่ายจะได้นำเอาแนวคิดและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ ผนวกกับความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่ทุกท่านเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการแปลงเนื้อหาสารเป็นกิจกรรมที่สนุก ได้ความรู้ และง่ายสำหรับเด็กๆ รวมทั้งเป็นเวทีที่ให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พัฒนากิจกรรมร่วมกัน และผูกโยงเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กไทย”

ด้าน Mr. Veli-Matti Ikävalko (นายเวลี่-มัตตี้ อิแกวัลโก้) หนึ่งในวิทยากรจาก LUMA Centre Finland กล่าวว่า “LUMA Cetre เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์ ที่ดำเนินการส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กของประเทศมาอย่างยาวนาน ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวิทยากรรวม 3 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่แตกต่างกันไป อย่างตนเชี่ยวชาญด้านเคมี จะสร้างสรรค์กิจกรรมผ่านการทดลองเพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นและเรียนรู้ไปในตัว เช่น การทดลองหาเทคนิควิธีการกำจัดและบำบัดน้ำมันที่ปนเปื้อนในน้ำว่าเทคนิควิธีไหนที่มีประสิทธิภาพที่สุด และการทดลองหาความเป็นกรดเบสของน้ำผึ้ง เพื่อดูว่ามีค่าเป็นกรด เบส หรือเป็นกลาง เป็นต้น ขณะที่วิทยากรอีกสองท่าน คุณเยนนี่ ราซาแนน มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ กิจกรรมจึงเกี่ยวกับตัวเลขและแก้ไขปัญหาโดยใช้ความคิดทางคณิตศาสตร์ เช่น เกมส์ต่อเลโก้รูปตึกจาก 1 ชั้นไปจน 4 ชั้น แล้วจัดให้อยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมทั้งแนวขวางและแนวตั้ง โดยห้ามมีอันที่ซ้ำกัน และอีกท่านคือ คุณยัคโก้ ตุระกะ ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการละครหรือดราม่า มีการนำละครมาประยุกต์กับเคมี ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับเคมี เช่น กิจกรรมจับกลุ่มกัน คนหนึ่งเป็นออกซิเจน อีกสองคนเป็นไฮโดรเจน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพันธะเคมี เป็นต้น โดยมองว่าการละครจะช่วยเสริมจินตนาการของเด็กๆ ในเรื่องความชอบต่อวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี”

นายเวลี่-มัตตี้ กล่าวต่อว่า “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัยจะช่วยสร้างการรับรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กทุกคนล้วนชอบทำกิจกรรม หากเราสร้างสรรค์กิจกรรมที่เขารู้สึกสนุก และได้ความรู้ เขาจะประทับใจกับวิทยาศาสตร์และอยากเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เมื่อเด็กๆ ได้เล่นและเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว ควรส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นได้นำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นด้วย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนที่กว้างขวางออกไป และสามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดได้เป็นอย่างดี”
« Last Edit: December 02, 2016, 02:04:40 PM by news »