news on November 17, 2016, 03:49:19 PM
สวทช.-ITAP ติวเข้ม ธุรกิจเชิงรุกยุคดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถ “กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้”
 

(วันที่ 17 พฤศจิกายน 59) ที่ห้องกินรี 1 โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ: น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โปรแกรม ITAP และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สมาคมธุรกิจไม้ จัดสัมมนา หัวข้อ “ตอบโจทย์ความคิด: ทำธุรกิจเชิงรุกยุคดิจิทัล” ภายใต้โครงการ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ SMEs อุตสาหกรรมผลิตไม้” โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 50 ราย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ด้านการเงิน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การตลาด ตลอดจนการเตรียมพร้อมด้านอื่นๆ ให้รู้ถึงศักยภาพของตนเองและสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โครงการ ITAP ยังเสริมความรู้การทำธุรกิจเชิงรุกยุคดิจิทัล (Digital Media marketing) ที่เป็นแนวโน้มของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ในอนาคต เพื่อยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตไม้ ให้ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถทันต่อสถานการณ์การทำธุรกิจยุคดิจิทัล

ที่สำคัญการอบรมให้ความรู้ครั้งนี้ จะเป็นประตูสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้แบบครบวงจรอีกด้วย เนื่องจากโครงการ ITAP ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมและผู้ที่มีความสนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ SMEs อุตสาหกรรมผลิตไม้” โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการ 1 ราย และเจ้าหน้าที่บริษัท 1 ราย มาอบรมร่วมกันตลอดหลักสูตรที่เข้มข้นรับจำนวนไม่เกิน 50 ราย ซึ่งจะได้ความรู้มากมายในโครงการฯ อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถานประกอบการให้สอดคล้องกับ 6 แนวคิดจาก Pizza Model การสัมมนาให้ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมไม้ (Wood Forum) การเข้าเยี่ยมและวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น และการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้เข้าอบรมต้องมีเวลาอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการอบรม จึงจะได้รับการรับรองผ่านการอบรมหลังสิ้นสุดโครงการ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลด้วยดีและได้ผู้ประกอบการตัวจริงที่มีขีดความสามารถแข่งขันในการทำธุรกิจยุคดิจิทัลและสามารถขับเคลื่อนองค์กรของตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วย
 

ด้าน นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า การอบรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ในวันนี้ สมาคมธุรกิจไม้ ได้นำเครื่องมือซึ่งได้พัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ใช้ประโยชน์ โดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษาโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ 2.การสร้างความยั่งยืนเชิงพาณิชย์ 3.การสร้างจิตสำนึกบนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมาย 4.สร้างความร่วมมือทางการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าในระดับภูมิภาคและสากล 5. เตรียมความพร้อมด้านการเงินของแต่ละองค์กร และ 6.มุ่งพัฒนาองค์กรให้พร้อมที่จะเกิดธุรกิจใหม่อยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เสาะหาความรู้ที่เกี่ยวข้องและศึกษาแน้วโน้มธุรกิจของแต่ละผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อนำมาปรับและประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและทันต่อแนวโน้มความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ที่เปลี่ยนแปลงไป




“ในอดีตการพัฒนาผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะพัฒนาในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ส่งผลให้มีความหลากหลายทางวัตถุดิบ เช่น เหล็ก ไม้ หนัง ผ้า ทำให้ไม่สามารถลงลึกในมิติใดมิติหนึ่งได้ ดังนั้นสมาคมธุรกิจไม้และ สวทช.-ITAP เล็งเห็นว่าควรจะมีการอบรมไปที่อุตสาหกรรมไม้เพียงอุตสาหกรรมเดียวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเจาะลึกทุกมิติการพัฒนาตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงระดับนโยบายของภาครัฐ รวมถึงจะช่วยให้เกิดเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมมือกันยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมไม้ของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าและเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลมากขึ้น”
« Last Edit: November 17, 2016, 10:13:29 PM by news »

news on November 17, 2016, 03:53:53 PM
PIZZA Model

1   Opportunity (การฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ) การศึกษาโอกาสทางธุรกิจตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมไม้ เพื่อให้มองเห็นโอกาสที่เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาแต่ละองค์กรต่างคนต่างพัฒนาตนเอง จึงไม่เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรม และไม่สามารถประเมินโอกาสทางธุรกิจได้เลย ทางสมาคมฯ ได้มองเห็นจุดนี้ว่าควรมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจไม้อย่างเป็นรูปธรรม

2   Green Mind Set  (การสร้างเจตนคติเพื่อความยั่งยืนเชิงพาณิชย์) ธุรกิจไม้ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายป่าไม้มาโดยตลอด การที่เราจะโฟกัสเกี่ยวกับเรื่องที่จะสร้างความยั่งยืนในอนาคตเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยต้องมองทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

3   Right Mindset (การสร้างจิตสำนึกบนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมาย) ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา ย่อมมองความถูกต้องตามกฎหมายป่าไม้ การลักลอบตัดไม้เถื่อนเป็นประเด็นสำคัญของภาครัฐในปัจจุบัน เพื่อที่จะเดินหน้าอุตสาหกรรมไม้ต่อไปได้ เราเลยมองว่าโจทย์นี้สร้างความชัดเจน ของคำว่าถูกต้องตามกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น

4   Network strategy (การสร้างโอกาสระดับภูมิภาคและสากล) ระดับภูมิภาคและสากล) เป็นเรื่องของโอกาสทางธุรกิจที่สามารถจะเชื่อมโยงระดับภูมิภาคของอาเซียน และระดับโลก สร้างโอกาสให้เกิดโอกาสทางการขาย การเชื่อมโยงจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือทางการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นต้น

5   Smart Finance (การตรวจสุขภาพความพร้อมธุรกิจของแต่ละองค์กร) เป็นการเตรียมความพร้อมในระดับแลกเกี่ยวกับสุขภาพทางการเงิน จะได้มีบรรทัดฐานของตนเองว่าปัจจุบันอยู่ในจุดไหน สถานะเป็นอย่างไร

6   Niche Development (พัฒนาตามความพร้อมขององค์กร มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรตามความพร้อม) โอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงสามารถเลือกแนวทางการดำเนินงานของตนเองได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะเกิดธุรกรรมใหม่ๆ หลายโครงการดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจดีเดิมขึ้น แต่โครงการนี้จะพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่