sianbun on November 29, 2009, 04:08:55 PM
KTAMแจงดูไบเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้  ไม่กระทบKTFF2เน้นลงทุนอาบูดาบี-กาต้าร์
       
          นายสมชัย   บุญนำศิริ   กรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า   จากกระแสข่าวที่รัฐบาลดูไบได้ประกาศ ขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปทำให้ตลาดเกิดความเกรงกลัวต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐอื่นๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย โดยที่ผ่านมารัฐดูไบได้มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ The World, The Palm หรือตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างเช่น Burj Dubai เป็นต้น ซึ่งการลงทุนที่เกินตัวนี้ทำให้รัฐดูไบเข้าสู่สถานการณ์ที่ลำบากเมื่อวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลกเกิดขึ้น  จนทำให้ต้องเลื่อนการชำระหนี้  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  บริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ของรัฐดูไบมาโดยตลอด และเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่มากเกินไป จึงไม่ได้มีการลงทุนในดูไบแต่อย่างใด

        ก่อนหน้าที่ บริษัทได้ปิดจำหน่ายกองทุนกองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ต่างประเทศ เอฟไอเอฟ 2 (KTFF2) เมื่อวันที่ 24  พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นกองทุนที่มีอายุโครงการ 2 ปี11 เดือน  มูลค่าโครงการ 400  ล้านบาท  สามารถระดมเงินลงทุนได้ 148  ล้านบาท  เป็นกองทุนที่ เน้นลงทุนในพันธบัตรของรัฐอาบูดาบี   ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)  ลงทุนในบริษัท ลาส รัฟฟาน ลิควีไฟด์ เนเชอรัล แก๊ส  จำกัด    ลงทุนในบริษัทอาบูดาบี  เนชั่นแนล  เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน)  และลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลเกาหลีใต้  ในสัดส่วนสถาบันละประมาณ 25 %ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน     โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่3%  ต่อปี 

            โดยกองทุนไม่ได้รับผลกระทบจากสถานะการดังกล่าว  เนื่องจาก รัฐอาบูดาบีมีความเข้มแข็งกว่ามาก  เป็นรัฐขนาดใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับอามิเรตส์      โดยมีพื้นที่ประมาณ 67,340  ตร.กม. หรือประมาณ 80%ของประเทศ    และมีรายได้สูงสุด มาจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ  ซึ่งอาบูดาบีมีปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองคิดเป็นประมาณ 95% ของปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองของประเทศทั้งหมด และถือเป็นปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นลำดับที่ 7 ของโลก   ดังนั้น  รัฐอาบูดาบีจึงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถแปลงเป็นเงินทุนได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากดูไบที่ไม่มีน้ำมันดิบสำรองเหลืออยู่แล้ว

             นอกจากนี้ รัฐอาบูดาบียังได้เก็บรายได้จากการขายน้ำมันเข้าสู่ Sovererign Wealth Fund (SWF) คือ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ซึ่งนับเป็น SWF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อว่ามีทรัพย์สินภายใต้การจัดการอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.75 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2551  ซึ่งใหญ่กว่า SWF ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนอร์เวย์ถึงประมาณหนึ่งเท่าตัว

          ทั้งนี้  Moody’s ได้ให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐอาบูดาบีที่ Aa2  เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติสำรองอีกเป็นจำนวนมาก และความแข็งแกร่งของฐานะการคลังของรัฐ ซึ่งสามารถรับภาวะถดถอยของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

              สำหรับบริษัทอาบูดาบี  เนชั่นแนล  เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน) (Abu Dhabi National Energy Company PJSC    : TAQA) เป็นธุรกิจด้านพลังงานครบวงจรของรัฐ อาบูดาบี  ณ สิ้นปี 2551 TAQA มีสินทรัพย์ทั้งหมด 86.4 พันล้านเดอร์แฮม และมีรายได้ในปี 2551 เท่ากัย 16.8 พันล้านเดอร์แฮม  และมีกำไรสุทธิเท่ากับ พันล้าน 1,825 พันล้านเดอร์แฮม โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Abu Dhabi Water and Electricity Authority ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ดังนั้น TAQA จึงมีความเข้มแข็งเทียบเท่ากับได้กับรัฐอาบูดาบี โดย Moody’s Investor Service จัดอันดับความน่าเชื่อถือของ TAQA ไว้ที่ Aa2

                ส่วนบริษัท ลาส รัฟฟาน ลิควีไฟด์ เนเชอรัล แก๊ส  จำกัด     (Ras Laffan LNG Company Limited  : RASGAS) เป็นบริษัทในเครือของกาตาร์ปิโตรเลียมซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านปิโตรเลียมและการพัฒนาพลังงานของประเทศกาตาร์    ซึ่งรัฐบาลกาตาร์ถือหุ้นใน Qatar Petroleum   ประมาณ 10% โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RasGas II-3  คือ Qatar Petroleum และ Exxon Mobil  ซึ่งถือหุ้นในส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยปัจจุบัน RasGAs II-3 เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิต LNG แถวหน้าของโลก ส่วนประเทศกาตาร์นับเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อคนสูงที่สุดในโลก มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติสำรองที่มากเป็นอันดับที่ 3 ของ โลก และเพียงพอที่จะผลิตได้อีกมากกว่า 100 ปี  ณ  ระดับการผลิตในปี 2008  รายได้จากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันทำให้กาตาร์มีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง นอกจานี้ กาตาร์ยังพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจสามารถพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาว แม้ว่ากาตาร์จะมีความพยายามที่จะพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ แต่ก็ไม่ได้ลงทุนมากเกินตัวดังเช่นดูไบ และยังได้รับอันดับความน่าเชื่อถือที่ Aa2 จาก Moody’s และ AA- จาก S&P
« Last Edit: November 29, 2009, 04:34:02 PM by sianbun »