กลุ่มซีไอเอ็มบีประกาศกำไรก่อนภาษีงวดครึ่งปี 2559 จำนวน 2,312 ล้านริงกิต
กำไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากกำไรก่อนภาษีของกิจการในอินโดนีเซียที่เติบโตร้อยละ 241.2 และโครงการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดำเนินไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง
· รายได้จากการดำเนินงานงวดครึ่งปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.5 และร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและเงินให้สินเชื่อ ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่มาจากตลาดทุนขยายตัวดีในไตรมาส 2
· ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนของปีนี้ตามลำดับ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 53.6
· สถานะเงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของร้อยละ 10.7 ณ 30 มิถุนายน 2559
· สำรองหนี้สูญที่ลดลงของกิจการในอินโดนีเซียช่วยให้สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อ (loan loss charge) งวดครึ่งปี 2559 ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 71 bps
· เงินให้สินเชื่อเติบโตร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปี 2558 จากแรงขับเคลื่อนของธุรกิจลูกค้าผู้บริโภค ในขณะที่เงินฝากขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยเป็นผลมาจากสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) เติบโตร้อยละ 7.8
· กำไรก่อนภาษีของธุรกิจลูกค้าผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปี 2558 และร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาในปีนี้ เป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในภูมิภาคประกอบกับค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในการดำเนินงานและสำรองหนี้สูญลดต่ำลง
· กำไรสุทธิงวดครึ่งปี 2559 เติบโตร้อยละ 1.7 จากงวดครึ่งปี 2558 โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นคำนวณเป็นอัตราส่วนเต็มปีเท่ากับร้อยละ 8.1
· จากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง ฝ่ายจัดการจึงยังคงเน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และโครงการบริหารค่าใช้จ่าย
รายงานข่าวจากซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด (“กลุ่มซีไอเอ็มบี” หรือ “กลุ่มฯ”) เปิดเผยว่า กลุ่มฯประกาศกำไรก่อนภาษีงวดครึ่งปี 2559 จำนวน 2,312 ล้านริงกิต (ราวๆ 2.31 หมื่นล้านบาท) มีกำไรสุทธิจำนวน 1,687 ล้านริงกิต (ราวๆ 1.68 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 1,659 ล้านริงกิต โดยมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 19.6 เซ็น อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติคำนวณเป็นอัตราส่วนเต็มปีเท่ากับร้อยละ 8.1 กลุ่มฯประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งที่ 1 8.0 เซ็นต่อหุ้น โดยเปิดให้เลือกระหว่างรับเป็นเงินสดหรือเข้าร่วมแผนนำเงินปันผลไปลงทุนต่อ (Dividend Reinvestment Scheme) จำนวนเงินปันผลระหว่างกาลสุทธิที่มีการจ่ายรวมเป็นจำนวน 698 ล้านริงกิต คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 41.4 ของกำไรสุทธิครึ่งปี 2559 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2559 กลุ่มฯประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษในรูปอื่นที่ไม่ใช่เงินสดจำนวน 2.0 เซ็นต่อหุ้น โดยเป็นการจ่ายเป็นหุ้นซีไอเอ็มบี ไนอากา บี แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มซีไอเอ็มบีทุกราย ในอัตราส่วน 1 หุ้นซีไอเอ็มบีไนอากาต่อทุกๆ 6.39 หุ้นกลุ่มซีไอเอ็มบี
เต็งกู ดาโต๊ะ ศรี ซาฟรูล์ อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า “ธุรกิจลูกค้าผู้บริโภคและธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ยังคงมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ตลาดทุนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ของปี การที่กลุ่มฯมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดเป็นผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ประกอบกับรายได้ที่ดีขึ้น ทำให้กำไรสุทธิงวดครึ่งปี 2559 เติบโตร้อยละ 1.7 จากปีก่อน เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของแข็งแกร่งขึ้นเท่ากับร้อยละ 10.7 จึงมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายปลายปีที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 11 ได้ กลุ่มฯได้เสนอจ่ายเงินปันผล 8 เซ็นต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 40 สำหรับครึ่งปีแรก จากการที่สภาวะเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีความท้าทายต่อเนื่อง กลุ่มฯจึงมีความพอใจกับผลประกอบการดังกล่าว”
เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าวว่า กลุ่มซีไอเอ็มบียังคงระมัดระวังในการขยายการเติบโตของงบดุลเนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอกยังคงมีความท้าทาย จึงได้เน้นในเรื่องปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแล คุณภาพสินทรัพย์ และการบริหารค่าใช้จ่าย โดยโครงการและมาตรการริเริ่มต่างๆที่ดำเนินการอยู่ได้เริ่มส่งผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าซีไอเอ็มบีไนอากาจะมีผลประกอบการดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ซีไอเอ็มบีมาเลเซียและสิงคโปร์คาดว่าผลประกอบการจะลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของทั้งสองประเทศ ส่วนซีไอเอ็มบีไทยจะยังคงเน้นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และการปรับโครงสร้างการดำเนินงานต่อไป
“จากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความสุ่มเสี่ยง ทำให้กลุ่มฯเน้นสร้างผลตอบแทนที่มีการปรับค่าความเสี่ยงจากเซ็กเมนต์ที่เห็นว่ามีแนวโน้มเติบโตดีเท่านั้น แม้กลุ่มฯจะคาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น แต่การเติบโตของเงินให้สินเชื่อและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้แม้ว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ และอัตราการจ่ายเงินปันผล ต่างมีแนวโน้มจะบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ก็ตาม ทั้งนี้ ยังคงมีการติดตามดูแลคุณภาพสินทรัพย์และการใช้เงินกองทุนให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันกลุ่มฯจะผลักดันการดำเนินการตาม T18 ในเรื่องค่าใช้จ่าย การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้กลุ่มฯมีสถานะที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง” เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าวในที่สุด