MSN on August 24, 2016, 09:34:10 PM
ก.พลังงาน จับมือ มูลนิธิอาคารเขียวไทย สร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ลดใช้พลังงาน และลดคาร์บอน



พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมต.พลังงาน



ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร


คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ


คุณเกชา ธีระโกเมน



กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เพื่อพัฒนาเมืองของชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Smart Cities - Clean Energy

   พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาโครงการเมืองอัจฉริยะ ว่า สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายให้มีการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลังงานของประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประเทศที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ

ดังนั้น เพื่อให้การปล่อยก๊าซลดลงตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่ตั้งเป้าลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย จึงได้สนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy)  เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น  Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน (Community Energy Management Systems : CEMS) ระบบขนส่งอัจฉริยะ และยานยต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City
   
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเกณฑ์ และจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ  และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล  มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จะได้แนวทางในการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน และการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือ ความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือ มีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ 1) การส่งผลงานเพื่อประกวด ในขั้นตอนที่ 1 (Conceptual & Urban Planning) 2) ผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ผู้ผ่านการคัดเลือกหรือคัดสรร ในขั้นตอนที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอในขั้นตอนนี้ โดยข้อเสนอที่เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด 7 ลำดับแรก จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อแห่ง รวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ทั้งนี้การพิจารณาคัดเลือกหรือคัดสรรข้อเสนออาจให้การสนับสนุนไม่ครบ 7 แห่ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อเสนอ และ 3) โมเดลธุรกิจ (Business Model) ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมต่อไป ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนโอกาสในการจัดหาทุนเพื่อการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป

   สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถส่งผลงานได้ด้วยตนเองที่สถาบันอาคารเขียวไทย กำหนดส่งผลงานภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ภายในเวลา 16.30 น. และประกาศผลการประกวดทาง www.tgbi.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันอาคารเขียวไทย Email Smartcities.th@gmail.com
« Last Edit: August 24, 2016, 10:25:20 PM by MSN »

MSN on August 24, 2016, 10:18:01 PM
รายละเอียดโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy)

หลักการและเหตุผล/ที่มาและสภาพปัญหา/ความจำเป็น

จากจำนวนประชากรโลกที่มีจำนวน 7400 ล้านคน และคาดว่าว่าจะเพิ่มเป็น 9,600 ล้านคนในปี
พ.ศ. 2593 โดย 2 ใน 3 หรือประมาณกว่า 6,400 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองทำให้เมืองมีขนาดใหญ่ และซับซ้อนมากขึ้นในขณะที่ทรัพยากรจำกัดและก่อให้เกิดปัญหา จึงมีความจำเป็นในการส่งเสริมให้ชุมชนเมืองมีระบบการขนส่งและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ มีสุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ปลอดภัย รองรับสังคมในอนาคต

“ เมืองอัจฉริยะ ” หรือ  “ Smart City  ”    เป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองในแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น
ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้ เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบมิเตอร์อัตโนมัติ (Automatic  Meter  Infrastructure-AMI)  ระบบการควบคุมการจราจรอัจฉริยะ  ระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และระบบตรวจวัดมลภาวะ เป็นต้น
การส่งเสริมสนับสนุนการออกแบบ “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ช่วยลดปัญหาทางด้าน สิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพ อากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect)

วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือโครงการในลักษณะชุมชนเมือง เช่น Complex ขนาดใหญ่ไปสู่เมืองอัจฉริยะ

กลุ่มเป้าหมาย   : หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน

วงเงินสนับสนุนการออกแบบ  รวมทั้งสิ้น 80 ล้านบาท

ผู้ดำเนินโครงการ  :  สถาบันอาคารเขียวไทย (ภายใต้มูลนิธิอาคารเขียวไทย)

การดำเนินการ
1. ใช้วิธีการจัดการแข่งขัน ในการวางผังชุมชนและการออกแบบ “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาทางานร่วมกันเชิงบูรณการ ให้มีความสมบูรณ์ที่เพียงกับการนำไปใช้ ในการจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) และการจัดหาผู้ร่วมทุน
2.  จัดทำประกาศกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย   ภาคเอกชน และกำหนดลักษณะของ“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City”  หลักเกณฑ์การพิจารณา และเงื่อนไขการสนับสนุนจากกองทุนฯ
3.  จัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อออกกำหนดลักษณะเมืองอัจฉริยะและกำหนดเกณฑ์การพิจารณา และพิจารณาคัดเลือกหรือคัดสรรข้อเสนอแนวความคิดเมืองอัจฉริยะ
4. การประกวดการออกแบบเมืองอัจฉริยะ แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ข้อเสนอแนวความคิดในการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City Development Proposal)
ประกอบด้วยแนวความคิด การวางผังชุมชน (Urban planning) แสดงผังสภาพปัจจุบัน ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน   โอกาสการขยายตัวและการพัฒนาของเขตที่อยู่ อาศัยและเขตพาณิชยกรรม ถนนและโครงข่ายระบบการขนส่ง ระบบ สาธารณูปโภค การอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม พื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่ การกำหนดขอบเขตการ เติบโตของเมือง การพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบการสัญจร คมนาคม ขนส่ง การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค   ฯลฯ   เพื่อนำไปสู่ “ เมืองอัจฉริยะ ”  หรือ  “ Smart City ”

****ข้อเสนอแนวความคิดในการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ ที่ดีที่สุดไม่เกิน 20 อันดับแรก* จะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้ใน การดำเนินการขั้นต่อไป รายละไม่เกิน 500,000 บาท (รวมภาษีที่เกี่ยวข้อง)

ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  (Smart City Development Master Plan)
ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯใน  ขั้นตอนที่ 1 จะต้องดำเนินการจัดทำผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีรายละเอียดเบื้องต้นที่ครอบคลุมผังการใช้พื้นที่ แผนผังโครงการ  การจัดวางอาคาร ตลอดจนแผนผังต่างๆ ได้แก่  อาคารภูมิสถาปัตย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบผลิต  ส่ง และจ่ายพลังงาน ระบบเครื่องกล และไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจัดการน้ำเสียระบบนำน้ำกลับมาใช้ ระบบระบายน้ำระบบกักเก็บน้ำฝนระบบอัจฉริยะ เป็นต้น รวมทั้งขนาดของระบบ ต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น ระบบทำความร้อน ระบบน้ำประปา ระบบน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ปริมาณขยะ ปริมาณขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ ระบบพลังงานสะอาด พร้อมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบเพื่อแสดง การคำนวณตัวเลขของการประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำ การลดปริมาณคาร์บอน การประหยัดค่าก่อสร้าง เป็นต้น
****ข้อเสนอแนวความคิดในการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ ที่ดีที่สุดไม่เกิน 7 อันดับแรก* จะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุน ฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป รายละ ไม่เกิน 10,000,000 บาท (รวมภาษีที่เกี่ยวข้อง)

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model)
ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ  ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น (Construction budget estimation) วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ (Life cycle cost analysis) รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์(Financial feasibility study) เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ (Business Model) และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ต่อไป

   ****ข้อเสนอแนวคิดที่ดีที่สุดจะได้รับการยกย่องและเผยแพร่ในความเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาสู่
    “เมืองอัจฉริยะ”  หรือ  “Smart City” ตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. แนวทางหรือแบบการพัฒนาเมืองของชุมชน ที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน (demand) และการใช้พลังงานสูงสุด (peak demand) ส่งเสริมพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืน และเมืองคาร์บอนต่ำ (low carbon  city) หรือเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  (neutral carbon city)

2. จุดประกายความคิดของชุมชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ในการพัฒนาเมือง เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้พลังงานทดแทน ความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ชุมชน และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์

*การพิจารณาตัดสินเป็นดุลยพินิจเด็ดขาดของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดการออกแบบเมืองอัจฉริยะ

MSN on August 24, 2016, 10:19:46 PM
โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นมิติหนึ่งสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) ที่มีรูปแบบของพัฒนาเมืองเป็นห่วงโซ่คุณค่าสีเขียว(green value chain) ของการบูรณาการวางผังเมืองให้ส่งเสริมกันบนโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีอัจฉริยะ และเป็นคำตอบใหม่ของการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่พอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีผลสำเร็จได้แก่คุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัย พร้อมกับการบริโภคทรัพยากรพลังงานที่ลดลง และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

สถาบันอาคารเขียวไทยได้รับมอบหมายจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ“เมืองอัจฉริยะและพลังงานสะอาด”(Smart Cities-Clean Energy) และคัดเลือกโครงการที่เสนอตัวเป็นเมืองอัจฉริยะ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับรางวัลในวงเงิน 80 ล้านบาท โดยในขั้นตอนแรกผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 20 รายจะได้รับรางวัลรายละ 500,000 บาท ซึ่งจะต้องจัดเตรียมรายละเอียดผังแม่บทโครงการเพื่อการคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะมีสิทธิได้รับรางวัลรายละ 10 ล้านบาท หากสามารถนำเสนอโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมได้

เกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะ
   สถาบันอาคารเขียวไทยได้กำหนดขนาดของโครงการเมืองอัจฉริยะไว้ว่า เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 30,000 คน หรือมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีพื้นที่อาคารมากกว่า 1,000,000 ตารางเมตร หรือมีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 30,000 ตัน

สถาบันอาคารเขียวไทยได้จัดทำเกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะเป็น 7 หมวด ดังนี้
1.   พลังงานอัจฉริยะ (smart energy)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยค่าการใช้พลังงานต่อประชากร การผลิตพลังงานทดแทน การผลิตพลังงาน ณ จุดใช้งานการสะสมพลังงาน ระบบทำความเย็นและความร้อนรวมศูนย์ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ การลดการปลดปล่อยคาร์บอน การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า

2.   การสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยการวางผังโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงาน ระบบการจ่ายน้ำ ระบบการขนส่ง ระบบโดยสารสาธารณะ การบริหารที่จอดรถ การส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยานการจัดเตรียมสถานพยาบาล ระบบฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัย สถานศึกษา สถานที่ท่องเที่ยว การบริหารจัดการขยะ น้ำเสียนอกจากนี้ยังประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริหารจัดการอัจฉริยะในทุกๆด้าน

3.   ชุมชนอัจฉริยะ (smart community)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สุขภาพ การศึกษา การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ

4.   สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยการรักษาสภาพแวดล้อม ป่าไม้ พืชพันธ์ ระบบนิเวศน์ การส่งเสริมการเกษตร แหล่งผลิตอาหารในเมือง สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ มลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางอากาศ  ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

5.   เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยโมเดลทางธุรกิจ นวัตกรรมรูปแบบการลงทุน ความสร้างความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วน การบริหารรายได้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเมืองที่ยั่งยืน การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเขต

6.   อาคารอัจฉริยะ (smart building)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย การพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ระบบอาคาร/ บ้านอัจฉริยะ

7.   การปกครองอัจฉริยะ (smart governance)
ตัวชี้วัดประกอบด้วยหลักความเป็นเมืองอัจฉริยะ ภาวะความเป็นผู้นำ ยุทธศาสตร์ โครงสร้างองค์กร กระบวนการบริหารจัดการ ระบบการวัดผลสำเร็จ

บทสรุป
   เมืองอัจฉริยะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองและการวางผังเมืองที่ถูกต้อง สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาดและเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสวัสดิภาพที่ดี ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ลดการใช้ทรัพยากรพลังงาน เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี