Movie: THE LIGHT BETWEEN OCEANS
กำหนดฉาย 8 ธันวาคม 2016
จุดเริ่มต้น
จากนิยายขายดีที่ว่าด้วยโชคชะตา ความรัก บททดสอบทางศีลธรรมของคู่รักคู่หนึ่งที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง จากนิยายที่ทำให้คนอ่านต้องปาดน้ำตา สู่ภาพยนตร์นำแสดงโดย ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ อลิเซีย วิกันเดอร์ เรเชล ไวซ์ และเขียนบทและกำกับโดย เดเรค เซียนฟรานซ์
The Light Between Oceans เป็นนิยายของ เอ็มแอล สเตดแมน ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 2012 เรื่องราวในนิยายเกิดขึ้นที่ออสเตรเลียตะวันตก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นิยายเรื่องนี้นำคนดูไปพบกับเรื่องราวความรักที่มาพร้อมกับทางเลือกในชีวิตระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ตัวละครเอกของเรื่องคือ ทอม เชอร์บอร์น นายทหารที่สมัครมาเป็นคนดูแลประภาคารริมทะเล หลังจากล้มป่วยด้วยความเครียดจากการไปรบ เขาประจำการอยู่ที่นั่นคนเดียวโดยไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากทะเลและความเงียบเหงาเป็นเพื่อน จนกระทั่งเขาได้พบกับ อิซาเบล เกรย์สมาร์ค หญิงสาวผู้สูญเสียน้องชาย 2 คนไปในสงคราม
ความรักของทั้งคู่ค่อยๆ เบ่งบาน จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาพบว่ามีเรือลำหนึ่งลอยมาเกยที่ชายฝั่ง แล้วภายในเรือมีศพของชายผู้หนึ่ง และมีทารกสาวน้อยอยู่ข้างในด้วย เมื่อนั้นเอง พวกเขาต้องพบกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ การตัดสินใจซึ่งจะนส่งผลที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน
ผู้กำกับเดเรค เซียนฟรานซ์ กล่าวว่าหลังจากเขาได้อ่านนิยายเรื่องนี้ เขาพบว่ามันมีศักยภาพที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าได้ ผ่านการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์และการใช้ประโยชน์จากฉากหลังของเรื่อง ในนิยายมีประเด็นสำคัญมากมายไม่ว่าจะผลของสงคราม ความต้องการ และความรักของตัวละครซึ่งผลักดันพวกเขาทำผิดครรลองคลองธรรม และเซียนฟรานซืขอปฏิญาณตนว่า จะดัดแปลงมันนิยายเรื่องนี้ออกมาอย่างซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
"The Light Between Oceans เป็นหนังที่ว่าด้วยความรัก ความจริง ความลับของคู่รัก และเรื่องที่จะเกิดขึ้นหากความลับดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา มันคือหนังดราม่าทดสอบศีลธรรมคนดู แต่เหนืออื่นใด แก่นแท้ของมันคือเรื่องความรักที่ไร้กาลเวลานี่แหละครับ"
ทันทีที่นิยาย The Light Between Oceans ของ เอ็มแอล สเตดแมน วางจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคมปี 2012 มันกลายเป็นนิยายขายดีและกวาดเสียงตอบรับด้านบวกจากทั้งคนอ่านและนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม มันติดอันดับนิยายของดีจากการสำรวจของ New York Times และ USA Today ได้รางวัลหนังสือยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคมจากเว็บไซต์ Amazon.com และยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีก 35 ภาษาด้วย
ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับ เดเรค เซียนฟรานซ์ ไม่เคยกำกับหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือมาก่อน แต่เนื่องจาก The Light Between Oceans มีแก่นหลักของเรื่องว่าด้วยความรัก ครอบครัว ความเปลี่ยวเหงาและการตัดสินใจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีในหนังเรื่องเก่าๆ ของเขาทั้งนั้นไม่ว่าจะ Blue Valentine และ The Places Beyond the Pines ทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เขามองว่ามันเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องสำรวจเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในนิยายของสเตดแมน ยังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจนั่นคือเรื่องราวความรักครั้งนี้เกิดขึ้นบนเกาะที่อยู่ห่างไกล มีเด็กทารกคนหนึ่งอยู่กลางทะเล และมีหญิงสาวอีกคนหนึ่งซึ่งสูญเสียสามีและลูกสาวไปอย่างไร้ร่องรอย เซียนฟรานซ์ ต้องการสำรวจเรื่องราวความรักของคนที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน และแม้จะพวกเขาจะอยู่ห่างกันแค่ไหน พวกเขาก็หนีความจริง และผลกระทบจากการต้องเลือกตัวเลือกที่เลือกได้อย่างยากเย็นไม่พ้น
เรื่องราวใน The Light Between Oceans เกิดขึ้นบนเกาะเจนัสร็อค (Janus Rock) เกาะที่ถูกตั้งขึ้นตามชื่อของ1 ในเทพประกรณัมโรมันผูมี 2 หน้า หน้าหนึ่งมองไปยังอนาคต และอีกหน้ามองไปยังอดีต ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั้ง ทอมและอิซาเบลเองต้องเผชิญเช่นกันนั่นคือ การเลือกว่าจะก้าวเดินไปข้างหน้า หรือจะจมจ่อมอยู่กับอดีตอันโหดร้ายต่อไป เป็นการเลือกระหว่างด้านมืดกับด้านสว่าง
เซียนฟรานซ์ทำหนังเรื่องนี้โดยซื่อสัตย์ต่อตัวต้นฉบับ เมื่อหนังเปิดตัวฉายแล้วได้รับคำชื่นชม เขาบอกว่าคำชมที่มีความหมายต่อตัวเขาที่สุดมาจาก เอ็มแอล สเตดแมน ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้นั่นเอง โดยเธอกล่าวไว้ว่า "หนังเรื่องนี้ทำให้เธอเข้าใจว่า จุดมุ่งหมายของการมีชีวิตก็เพื่อเรียนรู้และเข้าใจกันและกันนี่แหละ"
เซียนฟรานซ์สารภาพว่าเขาร้องไห้ตอนอ่านนิยายเล่มนี้ตอนนั่งรถไฟใต้ดินด้วย "หลายปีที่ผ่านมา ผมเห็นคนอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วร้องไห้ในร้านกาแฟ สวนสาธารณะและรถไฟใต้ดิน มันทำให้ผมเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์อย่างสุดซึ้ง และสาเหตุที่คนมีอารมณ์ร่วมไปกับมันก็เพราะมันซื่อตรงต่อความรู้สึกเจ็บปวดจากการความรัก และการต้องสูญเสียความรักไป มันยังกลายเป็นความงดงามที่ทำให้คนอ่านได้เยียวยารักษาบาดแผลของตนเองด้วย"
ไม่เพียงแค่เซียนฟรานซ์ที่ตกหลุมรักนิยายเล่มนี้ เดวิด เฮย์แมน โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังตระกูล Harry Potter และหนังไซ-ไฟ Gravity ก็ปลาบปลื้มนิยายเรื่องนี้เข้าเต็มเปาเหมือนกัน หลังจาก โรซี่ อลิสัน โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง Testament of Youth และThe Boy in the Striped Pajamas แนะนำให้เขาได้อ่าน
"นิยายทำให้ผมมองเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้าน คุณจะไม่ได้เห็นแค่แง่มุมความคิดของทอม อิซาเบล และฮานนาห์ แต่ตัวละครทุกตัวต่างทำให้นิยายเรื่องนี้มีหลายระดับชั้น มันพาเราไปสำรวจตัวเอง พาเราไปพบกับผจญภัยที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ ผมคิดว่าทันทีที่หนังจบลง ผู้คนจะต้องอยากถกเถียงกันอย่างเมามันแน่นอน"
เฮย์แมนพบว่าสไตล์การทำงานของเซียนฟรานซ์ ซึ่งเน้นการเขียนบทด้วยภาษานุ่มนวลและยังมีวิชวลด้านภาพที่แข็งแรง เหมาะกับการดัดแปลงหนังเรื่องนี้มากๆ เขากล่าวถึงเซียนฟรานซ์ไว้ว่า " เราโชคดีที่ เดเรค สามารถเข้าถึงตัวละครแต่ละตัวได้ เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณอันแข็งกล้าของเขาในบททุกหน้าที่เขาเขียน รวมถึงในทุกเฟรมภาพที่ปรากฏขึ้นบนจอใหญ่"
เซียนฟรานซ์เขียนบทดัดแปลงหนังเรื่องนี้โดยไม่ได้พูดคุยหรือขอคำปรึกษา สเตดแมน เลย "แม้เราจะไม่ได้ติดต่อสื่อสารกัน แต่เหมือนว่าเราจะเข้าใจกันได้ดีในความคิดของผม ผมปฏิบัติต่อถ้อยคำในนิยายของเธอประหนึ่งเป็น คัมภีร์ไบเบิ้ล ผมอ่านหนังสือหลายรอบจนสามารถจำมันได้ขึ้นใจ ผมจะพยายามคงความรู้สึกจริงใจที่ได้ หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงเป็นครั้งแรกเอาไว้ครับ"
ไม่เพียงแค่นั้น เขาจะไม่ด่วนตัดสินตัวละครตามแบบในหนังสือด้วย "สิ่งที่ผมตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือในนิยายเรื่องนี้ไม่มีใครที่เป็นคนดีสุดขั้วชั่วสุดขีด ในใจของพวกเขาเป็นคนดี แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในทุกๆ เรื่อง และผลที่ได้จะไม่เกิดผลเสียต่อใครเลย ในฐานะคนทำหนังที่สนใจความเป็นมนุษย์ ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ผมจะได้เล่าเรื่องราวของคนที่เหมือนจะร้ายที่สุด และยังเป็นคนที่เรารักมากที่สุดด้วยเช่นกัน"
อย่างที่ผู้กำกับเซียนฟรานซ์กล่าวไว้ว่า เขาจะพยายามคงทุกอย่างที่นิยายเคยมีให้มากที่สุด แต่เขาก็จำเป็นต้องหาดัดแปลงให้มันเป็นหนังที่มีชีวิตชีวาในแบบของมันเอง เขาต้องพบกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ว่าจะดัดแปลงเรื่องราวที่สเตดแมนเขียนขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบให้กลายมาเป็นหนังที่มีเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณที่น่าค้นหาได้อย่างไร
"ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงใดๆ ก็ตาม ความท้าทายที่สุดคือการต้องหาว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ต้องใส่เข้ามาก็ได้ มันคล้ายๆ งานประติมากรรมตรง เมื่อคุณเลือกจะทำงานนี้แล้ว มันจะกลายมาเป็นผลงานของคุณ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะขยายเรื่องราวและแกนของเรื่องที่คุณรักออกไปยังไง ตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งระหว่างหนังกับหนังสือคือปัจจัยว่าด้วยเวลา เราจะจัดการกับจังหวะของหนังยังไง รวมถึงการต้องหาวิธีการเปิดเผยความลับในหนังเรื่องนี้ใหม่ด้วย"
"วิธีการเฉลยปมลับของตัวละครเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับหนังที่ดัดแปลงจากนิยาย ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ ทั้งทอม และอิซาเบลรู้ความจริงเกี่ยวกับเด็กทารกพร้อมๆ กัน แต่ในหนัง ทอมจะรู้ก่อน และคนดูจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกแบกรับความกดดันนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียวของเขา"
หลังจากเขียนบทเสร็จไปหลายดราฟท์แล้ว เซียนฟรานซ์ถึงได้ไปพบกับ สเตดแมน "ผมตื่นเต้นมากครับ" เขาทบทวนความจำ "เพราะผมเคารพเธอมากและหวังอย่างยิ่งว่าผมจะปฏิบัติต่องานของเธออย่างดี เราทานอาหารร่วมกันเธอช่างมีเสน่ห์มาก เป็นคนน่ารักและมีหัวคิดดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอ เธออาจเป็นคนเก็บตัวแต่เธอก็สนับสนุนผมอย่างเต็มที่ตอนผมทำหนังเรื่องนี้ การที่ผมเอาเรื่องที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมาสร้างใหม่ แล้วเธอยังไว้วางใจในตัวผมอีก มันทำให้ผมมีกำลังใจและความมั่นใจในการทำหนังเรื่องนี้ครับ"
ทางฝั่งของ สเตดแมน เองก็เปิดใจถึงโปรเจ็คท์นี้ว่า "ฉันโชคดีมากที่ Heyday Films (บริษัทสร้างหนังของ เดวิด เฮย์แมน) และค่าย DreamWorks เลือกใช้งานคนที่ไว้ใจได้อย่าง เดเรค เซียนฟรานซ์ เขานำความรักและความเป็นมืออาชีพมาใช้ดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ให้กลายเป็นหนังชั้นยอด ที่มีนักแสดงชั้นนำมารับบทนำ และมีการกำกับภาพและดนตรีประกอบที่ดี ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความซื่อตรงที่เขามีต่อนิยายเล่มนี้ และในฐานะผู้กำกับ เขายังทุ่มเทตีความหนังเรื่องนี้กับนักแสดง ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับฉันที่ได้ชมหนังเรื่องนี้บนจอค่ะ"
ไม่เพียงแค่ สเตดแมน ที่ชื่นชมความทุ่มเทในการทำงานของเซียนฟรานซ์ แต่นักแสดงนำอย่าง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ผู้รับบท ทอม เชอร์บอร์น ก็ปลาบปลื้มเซียนฟรานซ์มากเช่นกัน "บทหนังเรื่องนี้ทำให้ผมร้องไห้หนักพอๆ กับตอนอ่านนิยายเลยครับ ความรักของทอมและอิซาเบลถูกเล่าออกมาอย่างงดงาม เมื่อเราได้เห็นอะไรบางอย่างบนจอที่ทำให้เราสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าคนดูจะได้เห็นความเป็นทอมและอิซาเบลในตัวเอง นั่นคือช่วงเวลาที่หนังทรงพลานุภาพที่สุดเลยทีเดียว"
" love you forever and ever and ever "