ทรูยื่นข้อเสนอต่อกสทช. แบ่งคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้จำนวน 5 เมก เพื่อดูแลผู้บริโภคที่ซิมจะดับ ยินดียืดหยุ่นถึงขั้นไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านคลื่น 900 MHz มีผลกระทบน้อยที่สุด ย้ำทุกฝ่ายควรพักการแข่งขัน ร่วมงานกันเพื่อประโยชน์ผู้บริโภคเป็นสำคัญ
กรุงเทพฯ 11 มีนาคม 2559 – กลุ่มทรู ชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทและยื่นหนังสือค้ำประกันวงเงินประมูล จำนวน 73,036.06 ล้านบาท แก่กสทช. พร้อมยื่นข้อเสนอให้กสทช.สามารถใช้คลื่น 900 MHz ล็อตที่ 2 จำนวน 5 เมก เป็นการชั่วคราวถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อดูแลผู้ใช้บริการคลื่น 900 MHz เดิม โดยทรูยินดียืดหยุ่นถึงขั้นไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อลูกค้าหลายล้านคนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากซิมดับจะได้รับการดูแล ในขณะที่กลุ่มทรูได้เร่งเตรียมความพร้อมของโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเทียบเท่าผู้ให้บริการ 2G รายเดิม โดยจะครอบคลุมประมาณ 16,000 สถานีในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะเพิ่มอย่างต่อเนื่องเป็น 20,000 สถานี ภายในสิ้นปี 2559 เชิญชวนทุกฝ่ายพักการแข่งขัน หันมาร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบนับล้านราย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทจะนำคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้ไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้บริโภคชาวไทยทุกคน ซึ่งจะสามารถให้บริการคลื่น 900 MHz ครอบคลุมทั้ง 2G และ 4G จำนวนประมาณ 16,000 สถานี ทั่วประเทศได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะครอบคลุมถึง 97% ของประชากร เทียบเท่าความครอบคลุมของระบบ 2G ที่บริหารโดยผู้ให้บริการรายเดิม และจะเพิ่มสถานีอย่างต่อเนื่องเป็น 20,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะสร้างโครงข่ายบนคลื่น 900 MHz ที่ดีที่สุด รวมทั้งโครงข่าย 1800 MHz และ 2100 MHz ด้วย
ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้กล่าวถึงความกังวลใจว่า “ในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะทำให้มีการปิดคลื่นความถี่หรือซิมดับหลังจากผู้ชนะประมูลได้ชำระเงินและได้รับใบอนุญาตแล้วตามเงื่อนไข และในขณะที่โครงข่ายของทรูยังขึ้นไม่ครอบคลุมทั่วประเทศจนกว่าจะถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีโอกาสสูงที่ประชาชนจำนวนมากอาจจะไม่สามารถใช้บริการได้หรือซิมดับ ดังนั้น บริษัทจึงยินดียื่นข้อเสนอให้กสทช.นำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ทรูประมูลได้มาใช้งานเป็นการชั่วคราว ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อให้ลูกค้า 900 MHz สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องบนระบบเดิมที่ดำเนินการโดยทีโอทีและเอไอเอส นอกจากนี้ กลุ่มทรู สามารถพิจารณาและมีความยืดหยุ่นถึงขั้นไม่คิดค่าใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนนี้ ด้วยความจริงใจและความตั้งใจจริงของเรา ที่อยากให้การเปลี่ยนผ่านของคลื่น 900 MHz ไม่มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้ใช้บริการบนคลื่น 900 MHz เดิม”
นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการดูแลผู้บริโภค พักเรื่องความเป็นคู่แข่งกันไว้ก่อน และร่วมมือกันภายใต้การดูแลของกสทช. เพื่อไม่ให้เกิดซิมดับ โดยทรูยินดีให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 5 เมก จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ทีโอทีสนับสนุนอุปกรณ์ 2G ที่ได้รับโอนมา และเอไอเอสดูแลระบบบริหารจัดการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 3 จะช่วยลดผลกระทบของผู้ใช้บริการคลื่น 900 MHz ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถึงแม้ว่าเอไอเอส จะมีข้อตกลงโรมมิ่งกับดีแทคบนคลื่นความถี่ 1800 MHz แต่ความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการของคลื่น 1800 MHz ที่ดีแทคให้บริการ 2G นั้น ยังไม่เทียบเท่า 2G บนคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส จึงมีโอกาสสูงมากที่คนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศจำนวนถึง 3-4 ล้านราย จะไม่สามารถรับสัญญาณได้แม้จะเปลี่ยนเครื่องมือถือ หรือเปลี่ยนซิม
“เรามีความเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งคาดว่าหากทุกฝ่ายสามารถหาข้อสรุปได้ จะสามารถดำเนินการเพื่อไม่ให้ซิมดับได้แล้วเสร็จภายในเวลา 2-3 วัน“ นายศุภชัย กล่าวสรุป