MSN on March 07, 2016, 10:42:13 PM
กรมโรงงานฯ ออกประกาศกระทรวงฯ อนุญาตโรงงานอาหารปล่อยน้ำทิ้ง ช่วยชาวเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

•   กรมโรงงานฯ เตือน โรงงาน 3,616 โรง ที่ตั้งอยู่ใน 24 จังหวัด รับมือภัยแล้ง






กรุงเทพฯ 7 มีนาคม 2559  – กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งชาวเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกรมโรงงานฯ ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559” ในช่วงเวลาเฉพาะกิจ อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ผัก ผลไม้ นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง เป็นต้น จำนวน 2,300 โรงงานที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานและคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานแล้วนำน้ำทิ้งโรงงานเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำเกษตรสู้ภัยแล้ง ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 คาดว่าจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังเตือนโรงงานที่ใช้น้ำมากจำนวน 3,616 โรงงาน ที่ตั้งอยู่ใน 24 จังหวัดรับมือภัยแล้ง

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ และให้หน่วยงานต่าง ๆ วางแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศและนำมาใช้อย่างเป็นระบบตามโครงการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนยุทธศาสตร์  เช่น การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) การจัดการคุณภาพน้ำเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การจัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ได้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และเห็นว่าปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบแก่ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากพบว่า มีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 3,616 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ลำพูน  ลำปาง  กำแพงเพชร  ตาก  พิษณุโลก  นครราชสีมา  ขอนแก่น  อุดรธานี  ชัยภูมิ  อุบลราชธานี  นครสวรรค์  อุทัยธานี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี  นนทบุรี  กรุงเทพมหานคร  สมุทรสาคร  สมุทรปราการ  และนครปฐม

  ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานฯ ได้แจ้งเตือนโรงงานให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีมาตรการระยะสั้น อาทิ ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs อาทิ ซ่อมท่อที่ชำรุดเพื่อลดการรั่วไหลของน้ำ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้น้ำรดต้นไม้โดยไม่มีการควบคุม หรือการใช้น้ำซ้ำ เช่น นำน้ำไปล้างพื้นของโรงงาน หรือนำน้ำไปใช้รดต้นไม้ นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้ใช้น้ำบาดาล หากพื้นที่นั้น ๆ ยังมีน้ำใต้ดินมีคุณภาพดีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อน รวมทั้งขอความร่วมมือลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน  ซึ่งส่งผลให้น้ำในแม่น้ำหรือคลองต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้อยหากโรงงานระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด จะทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำและคลองต่าง ๆ สำหรับมาตรการระยะยาว กรมโรงงานฯ ได้วางแผนให้โรงงานที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก พิจารณาขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝนเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำน้ำทะเลหรือน้ำทิ้งมาผลิตเป็นน้ำใช้อุตสาหกรรม

   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะประสบปัญหาจากภัยแล้ง แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมากที่สุด มากกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ทั้งหมด หรือประมาณ 114,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานฯ จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ และสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมตามข้อกำหนด ดังนี้

1.โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมต้องเป็น*โรงงานจำพวกที่ 3 เฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับอาหาร เนื่องจากวัตถุดิบเป็นสินค้าการเกษตร และกระบวนการผลิตให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำล้างทำความสะอาดวัตถุดิบเป็นหลัก ประเภทโรงงานที่อนุญาต ได้แก่ โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจาก พืช ผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ เป็นต้น ซึ่งมีโรงงานที่เข้าข่ายตามประกาศฉบับนี้จำนวน 2,300 โรง โดยแต่ละโรงสามารถปล่อยน้ำทิ้งใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรกรรมอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/วัน

2.ประเภทโรงงานต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องมีเงื่อนไขการบำบัดทิ้งให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงฯ และห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการแต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม จะต้องขออนุญาตอุตสาหกรรมจังหวัด โดยจะมีขั้นตอนในการอนุญาตภายใน 5 วันทำการหลังจากได้รับเอกสารครบถ้วนจากโรงงาน
 
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายประกาศฉบับนี้ทั้งระบบมีการระบายน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้ว จำนวนเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน เฉพาะโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง เป็นต้น  และเมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ผู้ประกอบการโรงงานห้ามระบายน้ำออกจากโรงงานตามเดิม และเมื่อเกิดภาวะภัยแล้งหลังจากนี้อีก กรมโรงงานฯ  จะมีการพิจารณาทบทวนการใช้ประกาศฉบับนี้ โดยนำสถิติการรายงานผลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ดร. พสุ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง หลักเกณฑ์อนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559 ได้ที่ ส่วนมลพิษน้ำ สำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน โทร. 02 202 4169 หรือสอบถามข้อมูลโครงการส่งเสริมใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ
*โรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และ/หรือ มีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องรับใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้ โดยผู้ประกอบการจอต้องทำใบขออนุญาต ได้แก่ แบบ รง.3 คือ แบบคำขอรับใบอนุญาต และแบบ รง.4 คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีแบบ รง.3/1 คือแบบขอต่ออายุใบอนุญาต และ แบบ รง.3/2 คือแบบคำขอรับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีการซื้อ เช่า หรือเช่าซื้อโรงงาน รวมถึงการรับเป็นมรดก

MSN on March 07, 2016, 10:43:17 PM
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559

ปัญหาภัยแล้งปี พ.ศ. 2559 มีผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทางของภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม จึงได้จัดหาแหล่งน้ำทดแทน นอกเหนือจากเกษตรกรจะพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเห็นควรสนับสนุนให้มีการนำน้ำทิ้งของโรงงานที่ผ่านการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559 ดังนี้

1. โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไม่มีสารโลหะหนักหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ประกอบกิจการอาหารจาก พืช ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช หรือหัวพืช นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืชหรือสัตว์ อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง อาหารสัตว์  เป็นต้น 
2. ประเภทโรงงานข้างต้นต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีเงื่อนไข 2 ข้อ ดังนี้
   2.1 “ต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) ต้องมีคุณลักษณะน้ำทิ้งเป็นไป ตามมาตรฐานน้ำทิ้งที่ต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไป ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน หรือประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกนอก โรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน”
   2.2 “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน”  ทั้งนี้ผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ให้ดำเนินการ ยื่นขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 
3. มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและเห็นชอบ
   3.1 การพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับเอกสารประกอบคำขอครบถ้วน  และให้อุตสาหกรรมจังหวัดมีหนังสือแจ้งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ตามแบบ น.2 (หนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559)
   3.2 กำหนดให้อัตราการนำน้ำทิ้งโรงงานออกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อวัน
4. เอกสารประกอบการยื่นขอ ได้แก่
   4.1สัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้ประกอบกิจการกับเกษตรกร ผู้ต้องการรับน้ำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม 
   4.2 หนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้ต้องการรับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม
   4.3 เอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบ  เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่
   4.4 หนังสือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้เห็นชอบให้เกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม
   4.5 แบบ น.1 (คำขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน”   และขอ อนุญาตนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้งปี พ.ศ. 2559)
5.การรายงานผลการนำน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม   
   5.1 ผู้ได้รับอนุญาต ต้องรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมให้อุตสาหกรรมจังหวัดผู้เห็นชอบ ทราบทุกเดือน
5.2 อุตสาหกรรมจังหวัดผู้เห็นชอบ ให้รายงานผลการนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม แจ้งผลแก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ (ประกาศใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559)