happy on December 04, 2015, 07:04:37 PM
ทั่วโลกจับตามอง ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั่วโลกจับตามองการประชุมผู้นำโลกเพื่อหาข้อสรุปของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ หรือ COP21 ณ กรุงปารีสในสัปดาห์นี้

ผู้นำทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันในการหาข้อสรุปของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องทางวิทยาศาสตร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่จะสามารถรักษา
การเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส คือขีดสูงสุดที่ชุมชนและระบบนิเวศทั่วโลกจะสามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
แนวปะการัง ผืนน้ำแข็งอาร์กติกและรัฐต่างๆ ที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก


สิ่งที่ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนและความจำเป็นในการหาข้อสรุปดังกล่าว คือ รายงานข่าวล่าสุดที่ระบุว่า อุณหภูมิโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการยืนยันการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า ปี 2558 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

มาร์โค ลัมเบอร์ตินี ผู้อำนวยการของกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานใหญ่ (WWF International) กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์กำลังบอกเราว่า เราจำเป็นต้องเร่งมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประชุม ณ กรุงปารีสครั้งนี้ คือโอกาสของพวกเราทุกคน เราต้องการแผนการแก้ปัญหาที่จริงจังในการลดก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การสนับสนุนด้านการเงินที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ และการปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศเช่น ผืนป่าและมหาสมุทรที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มหาศาล ปฏิบัติการที่มุ่งมั่น ณ กรุงปารีสในครั้งนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราสามารถดำเนินแผนงานที่ครอบคลุมองค์ประกอบข้างต้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้กับพวกเรา”

ซานแมนธา สมิธ หัวหน้าโครงการ Global Climate and Energy Initiative กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF)  กล่าวว่า “เป็นที่เข้าใจดีสำหรับทุกคนว่า ขณะนี้พวกเรากำลังแข่งกับเวลาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ยอมอ่อนข้อและพวกเราเชื่อว่าทุกฝ่ายต้องการข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผู้นำโลกต้องช่วยกันพลิกความท้าทายนี้ให้เป็นมติที่เป็นรูปธรรมซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องทางวิทยาศาสตร์และเป็นธรรมกับทุกคน ปฏิบัติการก่อนปี 2563 โดยเฉพาะการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมทั้งการจัดหาเงินสนับสนุนและเทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งหากเราจะควบคุมให้ภาวะโลกร้อนมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส”

ทัสนีม เอสสอป หัวหน้าคณะผู้แทนของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในการประชุม COP 21 กล่าวว่า “เป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประนีประนอมได้อีกต่อไป การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งของโลกในการสร้างความก้าวหน้าว่าด้วยปฏิบัติการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่มีการประชุม COP15 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ในปี 2552 ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะต้องช่วยให้เรามีพลังในการขับเคลื่อนงานในระยะต่อไป เราจำเป็นต้องได้มติที่จะช่วยกำหนดให้ระดับความพยายามของการแก้ปัญหาในปัจจุบันเป็นมาตรฐานร่วมเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจนสามารถเติมเต็มช่องว่างให้ไปถึงจุดมุ่งหมายที่มีอยู่ให้จงได้”
 
ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการประชุม ณ กรุงปารีสนั้นจะต้องเป็นธรรม มีความมุ่งมั่น และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับหัวใจหลักคือ หลักการทางวิทยาศาสตร์และความเท่าเทียม รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามด้วยความเร่งด่วนเพื่อให้หลักประกันว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะขึ้นถึงระดับสูงสุดก่อนปี 2563 และลดลงหลังจากนั้น มีการส่งมอบเงินสนับสนุนการแก้ไขภาวะวิกฤตของสภาพภูมิอากาศจำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีตามที่สัญญาไว้ภายในปี 2563 และบรรดารัฐบาล เมืองต่างๆ ภาคเอกชนและพลเมืองต่างมีการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การประชุม ณ กรุงปารีสในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยปกป้องประชาชนทั่วโลกและระบบธรรมชาติซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร้สมดุล  ข้อตกลงในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยเป้าหมายระดับโลกเพื่อการปรับตัวและระบุทางออกที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาความสูญเสียและความเสียหายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
“ผู้นำทางการเมืองทั้งหลายคือตัวแทนของประชาชนทั่วโลกที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ตัวแทนเหล่านี้ต้องกล้าหาญและเด็ดขาดในการนำพาโลกไปสู่เส้นทางที่ปลอดภัยกว่านี้เพื่อประชาชนและโลกของพวกเราใบนี้” สมิธกล่าว


เกี่ยวกับ WWF

WWF เป็นองค์กรอิสระด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่และได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้สนับสนุนกว่าหกล้านคนและเครือข่ายระดับโลกที่ทำงานแข็งขันในประเทศต่างๆ กว่า 100 แห่ง ภารกิจของ WWF คือหยุดยั้งการสร้างความเสื่อมโทรมให้แก่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของโลกและสร้างอนาคตที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การให้ความมั่นใจว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบหมุนเวียนเป็นการใช้ที่ยั่งยืนและส่งเสริมการลดมลพิษและการบริโภคที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ต้องการข่าวล่าสุดและข้อมูลสื่อ เชิญที่เว็บไซต์ www.wwf.or.th