Facebook on November 13, 2015, 03:28:28 PM
ภาพข่าว: เปิดตัวหนังสือหยดน้ำตาสยาม



          สุวดี จงสถิตย์วัฒนา (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ร่วมกับ ทรงยศ สามกษัตริย์ (ขวา) กรรมการผู้จัดการ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวหนังสือหยดน้ำตาสยาม เขียนโดย แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ (ที่ 4 จากขวา) อดีตผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (ที่ 4 จากซ้าย) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2514 ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ (ที่ 3 จากขวา) ประธานกรรมการสมาคมฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการศูนย์วรรณคดีศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิม จงสถิตย์วัฒนา (ที่ 2 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และดร.วิทย์ สิทธิเวคิน (ซ้าย) ร่วมงาน ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา

Facebook on November 13, 2015, 03:29:30 PM
นานมีบุ๊คส์ เปิดตัว “หยดน้ำตาสยาม Siamese Tears” นิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยจากปลายปากกาชาวต่างชาติ “แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์”









          เรื่องเล่าวิกฤตยุคอาณานิคมผ่านมุมมองของผู้ที่เป็นเชื้อสายของเจ้าอาณานิคม

          หากแต่แฝงถึงเสียงของผู้ที่ถูกคุกคามจนเกือบต้องตกเป็นอาณานิคม

          นานมีบุ๊คส์ร่วมกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ เปิดตัวหนังสือ "หยดน้ำตาสยาม Siamese Tears" นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวความขัดแย้งและการสูญเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 จากมุมมองตัวละครที่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นคู่ขัดแย้งคู่หนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ผลงานเขียนโดย แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ ลูกครึ่งอเมริกัน-ฝรั่งเศส อดีตผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย แปลโดย สุมาลี ณ ห้อง 105 ชั้น 1 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ บริเวณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ในงานเปิดตัวหนังสือ "หยดน้ำตาสยาม Siamese Tears" คิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และทรงยศ สามกษัตริย์ กรรมการผู้จัดการศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยเสวนาพิเศษในหัวข้อ "สยามในสมัยรัชกาลที่ 5...กระดานหมากรุกในสายตาอังกฤษและฝรั่งเศส" โดย แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ ผู้เขียน และเสวนาพิเศษ หัวข้อ "มองนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผ่านหนังสือหยดน้ำตาสยาม" โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ผู้อำนวยการศูนย์วรรณคดีศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการ สมาคมฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย และดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2541

          คิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า "ดิฉันคิดว่าคนไทยทุกคนล้วนเคยถามตัวเองหรือไม่ก็เคยถูกเพื่อนต่างชาติถามว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นได้อย่างไร ความจริงพวกเราอาจเคยเรียนในโรงเรียน แต่มันก็กว้างเกินไปและอาจเป็นโฆษณาชวนเชื่อ หากเราได้อ่านเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของ จูลี่ กาเล ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่องนับว่าพวกเรานักอ่านโชคดีมาก เพราะจูลี่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศส เราจะได้รู้เรื่องราวจากทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นพวกเรายังโชคดีมาก เพราะคุณแคลร์เป็นนักวิจัยตัวฉกาจซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลจากห้องสมุดและหอจดหมายเหตุจากหลายประเทศ และยังเป็นคนที่หาข้อมูลจริง คือ เดินทางไปสถานที่จริง สัมภาษณ์จริงด้วย ดิฉันหวังว่านักอ่านคนไทยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนของเราผ่าน "หยดน้ำตาสยาม" และเชื่อว่าเรื่องเหนือจริงสะท้อนความจริงได้ดีกว่าความจริง แล้วนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนผ่านสายตาของคนนอกจะไม่ได้เปิดตาของคนในได้มากกว่าหรือ"

          ทรงยศ สามกษัตริย์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ทุกท่านคงทราบดีว่าในยุคที่ชาติมหาอำนาจทางตะวันตกแผ่ขยายการล่าอาณานิคมมายังทวีปเอเชีย ประเทศที่โอบล้อมรอบสยามในขณะนั้น ล้วนตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ด้วยพระปรีชาญาณและสายพระเนตรอันกว้างไกลของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทำให้สยามเป็นเพียงชาติเดียวที่สามารถธำรงรักษาเอกราชเอาไว้ได้ แต่นั่นก็หมายถึงการแลกมาด้วยคราบน้ำตาของชาวสยาม ที่ต้องจำยอมสูญเสียดินแดนและทรัพยากรบางส่วน ตลอดจนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อจิตใจ ในฐานะคนไทยทุกท่านคงจะทราบรายละเอียดในแง่มุมนี้กันเป็นอย่างดีแล้ว "หยดน้ำตาสยาม" นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นภาพเรื่องราวความขัดแย้งของสองมหาอำนาจในขณะนั้นคือ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะทำให้ทุกท่านได้รับอรรถรสจากการอ่านนวนิยายแล้ว ท่านยังจะได้รับความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย"

          แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ ผู้เขียน เผยถึงความเป็นมาในการแต่งหยดน้ำตาสยามว่า "หลังจากเขียนหนังสือ ฟอลคอนแห่งอยุธยาและตากสินมหาราชชาตินักรบจบก็มีความสนใจประวัติศาสตร์ไทยขึ้นเรื่อยๆ จนมาวันหนึ่งสนใจวิกฤตการณ์ปากน้ำ ช่วงรศ.112 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส แต่ไม่มีหนังสือที่พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะจึงตัดสินใจเขียนหนังสือด้วยตัวเอง เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ หาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดสยามสมาคมฯ หอจดหมายเหตุที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสแล้วนำมาถักทอเป็นเรื่องราว"

          "เสวนาครั้งนี้ใช้ชื่อว่า "สยามในสมัยรัชกาลที่ 5...กระดานหมากรุกในสายตาอังกฤษและฝรั่งเศส" ที่ตั้งชื่อนี้เพราะในสายตาดิฉันคิดว่าในช่วงนั้นประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส ฝั่งตะวันตกคือประเทศพม่าซึ่งตกเป็นอาณาจักรของจักรวรรดิอังกฤษ ส่วนอีกด้านคืออินโดจีนซึ่งตกเป็นอาณาจักรของฝรั่งเศส ประเทศที่ขั้นอยู่ตรงกลางคือประเทศไทยซึ่งเหมือนกำลังถูกบีบอยู่ ตัวละครเกือบทุกตัวในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ยกเว้น จูลี่ ตัวละครเอกที่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศสเพราะต้องการให้มาเป็นตัวแทนของความคิด และมีบทบาทของความรักทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษด้วย ซึ่งการเป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศสในยุคนั้นเป็นเรื่องที่น่ากดดัน แต่ดิฉันจะไม่ก้าวล่วงเกินตีความคนสยามในสมัยนั้นว่าคิดอะไรอยู่"

          "สาเหตุที่ตั้งชื่อหนังสือว่าหยดน้ำตาสยามก็เพราะตัวละครเอกในเรื่องค่อนข้างจะเศร้า ผนวกกับไปงานน้ำหอมแล้วพบว่ามีหัวน้ำหอมชื่อว่า The Tear of Siam จึงคิดว่าไม่มีชื่อไหนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้แล้ว ดิฉันเขียนขึ้นโดยมุมมองของคนต่างชาติที่รู้สึกว่าเรื่องราวสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาณาจักรสยามในสมัยนั้น คนไทยควรจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่งถึงศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ดำรงเอาไว้ซึ่งเอกราชด้วยหลักนิติธรรมคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์จะมีแนวโน้มที่จะทำมันอีกครั้งแบบครั้งแล้วครั้งเล่า"

          แคลร์ทิ้งท้ายฝากถึงนักอ่านว่า "ดิฉันแต่งเรื่องนี้ขึ้นมาประการแรกคือ คาดหวังให้ผู้อ่านได้มีความสุขในขณะอ่าน ประการที่สองคือ คนฝรั่งเศสในปัจจุบันอาจไม่ได้คิดเหมือนคนฝรั่งเศสในสมัยก่อน แต่การได้รู้ว่าคนสมัยก่อนคิดอะไรถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สมัยก่อนอาจคิดว่าการนำอารยธรรมมาให้โลกตะวันออกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การมีอาณานิคมอาจไม่ใช่สิ่งที่ผิด ดังนั้นการที่ได้รู้ว่าคนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วคิดอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงอยากฝากชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนอังกฤษ-ฝรั่งเศสให้นักอ่านได้ศึกษาชีวิตและเพลิดเพลินไปกับการอ่านเรื่องราวของจูลี่"

          รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ผู้อำนวยการศูนย์วรรณคดีศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "หยดน้ำตาสยาม มีคุณค่าและน่าสนใจยิ่งเพราะเล่าเรื่องวิกฤตยุคอาณานิคมผ่านมุมมองของผู้ที่เป็นเชื้อสายของเจ้าอาณานิคมแต่เผยถึงเสียงของผู้ที่ถูกคุกคามจนเกือบต้องตกเป็นอาณานิคม เป็นเรื่องเล่าที่เผยถึงตัวตน เพศสถานะ เพศวิถีของชาวฝรั่งเศส ซึ่งการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ยากมาก แคลร์ค้นคว้าจากหลายแหล่งข้อมูล ที่สำคัญเขียนให้เมืองไทยด้วยสายตาที่เป็นมิตรภาพ แคลร์พยายามเชิญชูคุณค่าของคนตะวันออกผ่านมุมมองของคนตะวันตก โดยต้องการให้อดีตเป็นบทเรียน เป็นอุทธาหรณ์สำหรับการดำเนินชีวิตไม่ไปทำซ้ำ ข้อดีของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์คือทั้งสนุก ทั้งทำให้ผู้อ่านอยากไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่าเรื่องเป็นแบบนี้จริงไหม ซึ่งผู้อ่านต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเรื่องจริงและอะไรเรื่องแต่งพร้อมเพลิดเพลินไปกับมัน แล้วคิดใคร่ครวญว่าอดีตที่ผ่านมาเราจะเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ซึ่งการที่ตัวละครเอกเป็นตัวละครสมมติเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้เสียงของสยามที่คนสยามคิดว่า "ทำไมนะ เราก็ปกครองของเราอยู่ดีๆ แล้วทำไมต้องมีคนจากที่อื่นมาบอกว่าเราควรจะทำอะไร เขาเป็นใคร" เสียงเหล่านี้จะออกมาในบทสนาของเรื่อง จึงถือว่านี่แหละคือหยดน้ำตาสยาม เป็นเสียงที่ทำให้เรารู้ว่าการเข้ามาครอบงำหรือล่าอาณานิคมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สยามจะต้องเจ็บปวดแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้าที่เยาวชนรุ่นหลังไม่ได้เรียนรู้ความเป็นมาว่าผ่านมาอย่างยากลำบาก รู้แค่ว่าเรารอดพ้นจากการเป็นอาณานิคม และเมื่ออ่านจบก็ยังรู้สึกได้ถึงอุทธาหรณ์ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีคนมาสั่งเราอยู่ น้ำตาเรายังไม่ได้แห้งหรอก เสียงชาวสยามท่ามกลางน้ำตานั้นยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน...มิใช่หรือ"

          ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการ สมาคมฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "หยดน้ำตาสยามเป็นเรื่องในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จูลี่ตัวเอกเป็นผู้หญิงลูกครึ่งฝรั่งเศส-อังกฤษที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วงที่สยามต้องเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการรักษาเอกราชของประเทศ แม้หยดน้ำตาสยาม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ มีจินตนาการผู้เขียนเป็นองค์ประกอบที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่สามารถอ้างอิงเป็นเอกสารวิชาการทางประวัติศาสตร์ได้ แต่ก็ค่อนข้างอิงความเป็นจริงสูงและอิงได้ดี จูลี่จะพาไปเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งแคลร์เขียนขึ้นไม่ใช่แค่เพราะสนใจโลกตะวันออกเท่านั้น แต่แคลร์นิยมประเทศไทยมาก ดังนั้นจะเขียนออกมาในแนวทางที่ให้ประโยชน์แก่ไทยมาก ผมหวังว่าหยดน้ำตาสยาม ของแคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ น่าจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์เช่นกัน"

          ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี 2541 เสริมว่า "หยดน้ำตาสยามทำให้นึกถึงสมัยก่อนตอนผมเรียนที่ฝรั่งเศส ตอนไปเรียนใหม่ๆ เพื่อนก็ทักว่าเธอมาจากประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษใช่ไหม พอย้ายไปเรียนที่อังกฤษพอบอกว่าเป็นคนสยามก็บอกว่าสยามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสใช่ไหม สิ่งนี้เป็นปมด้อยของผมมากในช่วงนั้น สมัยก่อนแผนที่โลกจะแบ่งเป็น 2 สีใหญ่ๆ คือสีชมพูจะเป็นพวกอังกฤษ ส่วนสีม่วงจะเป็นของฝรั่งเศส สีอื่นๆ อย่างเมืองไทยที่เป็นสีขาวจะมีน้อยมาก แม้แต่จีนก็มีสีชมพูตรงขอบชายฝั่ง หยดน้ำตาสยามทำให้ผมนึกถึงนวนิยายที่อิงความรู้มากๆ อย่างเช่น สี่แผ่นดิน ซึ่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์บางทีสนุกกว่าความจริงและเป็นเรื่องจริงยิ่งกว่าความจริงเสียอีก"

          ร่วมสนุกพร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยครั้งยิ่งใหญ่ผ่าน หยดน้ำตาสยาม จำนวน 392 หน้า ราคาเล่มละ 295 บาท จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์เอโนเวล ในเครือนานมีบุ๊คส์ วางจำหน่ายแล้วที่ร้านแว่นแก้ว นานมีบุ๊คส์ช็อป ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามที่ Nanmeebooks Call Center 0-2662-3000 กด 1 www.nanmeebooks.com และwww.facebook.com/nanmeebooksfan