MSN on September 15, 2015, 03:20:20 PM
สวทช. พร้อมพันธมิตร โชว์ 82 สุดยอดเทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีอุตสาหกรรม หนุนผู้ประกอบการใช้ผลงานเทคโนโลยี สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชาติ











(15 กันยายน 2558) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน “Technology Show ครั้งที่ 2/2558” แสดงผลงานเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดและขับเคลื่อนสู่เชิงพาณิชย์มากถึง 82 ผลงาน จากงานวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ภาคเอกชนได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีไปต่อยอดหรือขยายผลเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น จัดแพ็กเกจพิเศษเอาใจเอกชนจ่ายค่าใช้สิทธิเพียง 2% เท่านั้นเมื่อขายได้ และค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการ 30,000 บาท สามารถขอคืนได้ตามเงื่อนไข รวมทั้งสามารถใช้งานร่วมกับคูปองนวัตกรรมได้ด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “งาน Technology Show ครั้งที่ 2/2558 เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ของ สวทช. มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งรวมผลงานวิจัยให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงผลงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ นำไปต่อยอดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีต่อไป โดยขั้นตอนการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ประกอบการที่สนใจจะเริ่มต้นจากวันนี้ด้วยการรับฟังนักวิจัยนำเสนอผลงาน หากท่านใดสนใจในงานวิจัยเรื่องใดให้กรอกแบบฟอร์มแสดงความสนใจ (ภายใน 15ก.พ. 2559) ซึ่งทางหน่วยงานเจ้าของผลงานวิจัยจะแจ้งผลการตอบรับให้ทราบต่อไป (ภายใน 15เม.ย. 2559) จากนั้นภายหลังจึงจะเป็นการลงนามในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิ และเริ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การให้ใช้ประโยชน์แบบมากกว่า 1 ราย (Non-exclusive licensing) กล่าวคือ เจ้าของเทคโนโลยีอนุญาตให้ผู้ขอรับอนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีโดยไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียว โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะทำให้ผู้ประกอบการได้ใช้เทคโนโลยี เกิดรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย รวมทั้งมีความร่วมมืออื่นๆ ต่อไปในอนาคต ตลอดจนผู้ประกอบการได้ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐพัฒนาขึ้น”

ทั้งนี้ โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ของ สวทช. มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนี้ ประกอบด้วย 1) ค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการ 30,000 บาท ให้ชำระเมื่อลงนามในสัญญาแล้ว 2) ค่าตอบแทนการใช้สิทธิ (Royalty fee) จำนวน 2% ของยอดขาย เมื่อมีการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์แล้ว และสามารถนำค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการ (30,000 บาท) มาหักลดได้ 3) มีระยะเวลาในการอนุญาตให้สิทธิ 3-5 ปี 4) อาจมีการกำหนดจำนวนหน่วยงานที่รับถ่ายทอดตามความเหมาะสม โดยมีคณะกรรมการร่วมเป็นผู้พิจารณา มีการลงนามในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิร่วมกัน โดยใช้เงื่อนไขตามที่ตกลง และ 5) ให้ใช้แบบฟอร์มสัญญาอนุญาตใช้สิทธิของหน่วยงานเจ้าของผลงาน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถใช้งานร่วมกับ “คูปองนวัตกรรม” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการขึ้นก่อนหน้านี้ได้ เพื่อช่วยกันผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวคิดด้านนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง

สำหรับโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ได้ดำเนินการต่อกันมาเป็นปีที่ 2 สิ่งที่พิเศษเพิ่มจากปีที่แล้วคือ มีหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีผลงานวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีมากถึงจำนวน 82 ผลงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร เช่น แอปพลิเคชันคำนวณการผสมปุ๋ยเคมี และแอปพลิเคชันคำนวณการใช้ปุ๋ยสั่งตัดและปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กลุ่มวัสดุ เช่น กระดาษสากันน้ำ และผ้าฝ้ายกันน้ำ กลุ่มเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมขัดผิวกาย และไมโครอิมัลชันเพื่อบรรเทาปวดและอักเสบน้ำมันไพลและสารสกัดพริก กลุ่มการแพทย์ เช่น แผ่นหนุนสะโพกจากน้ำยางธรรมชาติ และอุปกรณ์รองส้นเท้า เพื่อลดอาการปวดส้นเท้าจากยางธรรมชาติ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชาสมุนไพรจากผลหม่อน มะเม่าและตะขบป่า และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคต่างๆ และกลุ่มเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เครื่องกรองน้ำดื่ม โดยใช้เซรามิกเมมเบรน และ ชุดอุปกรณ์ปลูกต้นไม้สำหรับเด็ก Let’s plant เป็นต้น

ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป สามารถคลิกดูรายละเอียดของเทคโนโลยีที่อยู่ในโครงการทั้งหมด 82 รายการเพิ่มเติม ได้ที่ http://www.nstda.or.th/nstda-services
« Last Edit: September 15, 2015, 03:22:04 PM by MSN »