happy on November 04, 2009, 03:11:30 PM


จากนิยายขายดีที่ชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของคอร์แมค แมคคาร์ธีย์ ผู้ประพันธ์ NO COUNTRY FOR OLD MEN สู่ภาพยนตร์สุดประทับใจ ที่นำแสดงโดย วิกโก มอร์เทนเซ่น, ชาร์ลิซ เธอรอน, โรเบิร์ต ดูวัลล์, กาย เพียร์ซ และนักแสดงดาวรุ่ง โคดี้ สมิท-แมคฟี ในเรื่องราวแห่งการเอาชีวิตรอดของพ่อ (มอร์เทนเซ่น) และลูกชาย (สมิท-แมคฟี) เมื่อพวกเขาต้องเดินทางข้ามประเทศอเมริกาที่ถูกทำลายยับเยินโดยมหันตภัยลึกลับ THE ROAD นำเสนอภาพจินตนาการของโลกอนาคต ที่มนุษย์ถูกผลักดันให้ไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุด และสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้คือความรัก
* * * *

             เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่โลกถูกทำลายย่อยยับโดยอะไรบางอย่างที่ไม่มีใครบอกได้ มันอาจเป็นระเบิดปรมาณู หรือการปะทะกันระหว่างโลกกับดาวดวงอื่นในจักรวาล หรืออาจเป็นการระเบิดของดวงอาทิตย์ ที่ส่งผลให้ดวงดาวข้างเคียงเสียหายไปด้วย วันหนึ่งได้เกิดแสงสว่างวูบใหญ่ และทุกสิ่งทุกอย่างก็หายไป ไม่มีต้นไม้ใบหญ้า ไม่มีอาหาร ไม่มีพลังงาน ผู้คนนับล้านๆ เสียชีวิตทันทีด้วยเปลวไฟแผดเผาและน้ำท่วม ส่วนที่เหลือก็ตายอย่างช้าๆ จากความอดอยากหลังจากพลังงานสูญสิ้นไป
             ชายหนุ่ม (วิกโก มอร์เทนเซ่น) และเด็กชาย (โคดี้ สมิท-แมคฟี) คือ “โลกทั้งหมดของกันและกัน” อย่างที่แมคคาร์ธีย์บรรยายไว้ในนิยายของเขา กำลังก้าวย่ำไปพร้อมสิ่งของมีค่าของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, เสื้อผ้า หรือของกระจุกกระจิกอย่างเครื่องมือต่างๆ, ถุงพลาสติก, ผ้าใบ, ผ้าห่ม และอะไรก็ได้ที่ช่วยทำให้ทั้งสองรู้สึกอบอุ่นขณะอยู่ในพื้นที่โล่งอันเย็นยะเยือก บนหลังของพวกเขาและในรถเข็นมีกระจกรถจักรยานติดอยู่ เพื่อช่วยให้มองเห็นว่ามีใครตามหลังมาหรือไม่ สิ่งของไร้ค่าเหล่านี้รวมกับเนื้อตัวที่สกปรกมอมแมม ทำให้สารรูปของทั้งคู่ดูเหมือนคนเร่ร่อนอนาถา แต่นี่คือตัวตนของพวกเขา ตัวตนของคนทุกคนที่อยู่ในดินแดนอันแห้งแล้งไร้ชีวิตเช่นนี้
             ทั้งสองก้าวไปบนเส้นทางซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นถนนสายหลักของอเมริกาที่มุ่งหน้าสู่มหาสมุทร พวกเขาซ่อนตัวอยู่ในป่า หรือที่ใดก็ตามซึ่งเห็นว่าปลอดภัยจากกลุ่มคนที่จะมาแย่งชิงทรัพย์สินของเขาไป คนพวกนั้นคือแก๊งข้างถนนที่เป็นทั้งนักล่าและนักกินไม่เลือก บ้างเป็นพวกมนุษย์กินคนผู้เก็บอาหารที่ทำจากเนื้อมนุษย์ไว้ในบ้านหลังใหญ่บนเขา แต่ทั้งหมดล้วนมีพฤติกรรมไม่ต่างจากโจรร้าย
             ระหว่างทาง ชายหนุ่มและลูกพบชายชราถือไม้เท้าคนหนึ่ง (โรเบิร์ต ดูวัลล์) ผู้สวมรองเท้าที่ทำจากเศษผ้าและกระดาษแข็ง เด็กชายขอให้พ่อแบ่งอาหารให้ชายชรา ซึ่งต่อมาจึงรู้ว่าแกชื่ออีไล ชายเฒ่าบอกว่าแกอยู่บนท้องถนนมาตลอดชีวิต และเมื่อแกเห็นเด็กชาย แกนึกว่าแกตายไปอยู่บนสวรรค์แล้ว และได้พบเทวดาองค์หนึ่ง
             แม้แต่ในจักรวาลอันหนาวเหน็บเช่นนี้ ก็ยังมีช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นบางโอกาสที่สองพ่อลูกได้เจออาหารที่ถูกหลงลืมไว้ในตู้ หรือถูกซ่อนไว้ในเพิงที่พักบางแห่ง ชายหนุ่มพบโค้กกระป๋องหนึ่งตกค้างอยู่ในตู้ขายน้ำอัดลม เขามอบมันให้ลูกชาย ผู้ไม่เคยลิ้มรสความหวานซาบซ่านของน้ำชนิดนี้มาก่อน และเมื่อพวกเขาพบน้ำตกที่มีน้ำใสสะอาด ทั้งสองก็กระโดดโลดเต้นอย่างดีใจ ที่จะได้เวลาชำระล้างความสกปรกเสียที
             เมื่อชายหนุ่มย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตของตนเอง ในตอนที่เขาอยู่กับภรรยา (ชาร์ลิซ เธอรอน) ก่อนเหตุการณ์หายนะจะเกิดขึ้น ความทรงจำที่หอมหวานตอนนั้น และตอนที่เขายังเป็นเด็ก เปรียบเสมือนไฟดวงเล็กๆ ที่สว่างไสวในความมืด ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อปกป้องลูกชายจากอันตรายทั้งปวง
             THE ROAD เป็นทั้งภาพยนตร์ผจญภัย, ภาพยนตร์สยองขวัญ และภาพยนตร์รักประทับใจระหว่างพ่อกับลูก และสามีกับภรรยา มันจะปลุกสัญชาตญาณแห่งความทรหดอดทนของมนุษย์ และทดสอบพวกเขาในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด ด้วยสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขามี
             สำหรับพ่อแม่ทุกคนที่มีลูก และสำหรับลูกๆ ทุกคน THE ROAD จะนำคุณเดินทางไปสัมผัสจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ด้วยเรื่องราวของผู้รอดชีวิต ที่อาจเป็นวีรบุรุษผู้ถือคบไฟมาจุดความหวังให้แก่คนทั้งมวล

happy on November 04, 2009, 03:12:53 PM
เบื้องหลังงานสร้าง
             THE ROAD คือภาพยนตร์ที่ต้องถูกสร้าง เปลือกนอกของมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับจุดจบของโลก ซึ่งมีทั้งมนุษย์กินคน และความโหดร้ายอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเป็นหนังแบบดูไป เคี้ยวข้าวโพดคั่วไป และแม้ว่าหลายสตูดิโอจะปฏิเสธภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยหลายเหตุผล แต่ก็มีผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับอีกหลายคน ที่เชื่อมั่นว่านิยายของคอร์แมค แมคคาร์ธีย์เรื่องนี้ สามารถนำมาทำเป็นหนังชั้นเยี่ยมได้อย่างแน่นอน
             ผู้อำนวยการสร้าง นิค เวชเลอร์ แฟนพันธุ์แท้ของแมคคาร์ธีย์ เคยผิดหวังในการซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่อง NO COUNTRY FOR OLD MEN มาแล้ว (ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นหนังที่ชนะรางวัลออสการ์ โดยฝีมือกำกับของสองพี่น้องโคเอ็น) ดังนั้น เขาจึงตั้งตารอคอยผลงานชิ้นใหม่ของแมคคาร์ธีย์อย่างใจจดใจจ่อ เขาและคู่หูผู้อำนวยการสร้าง สตีฟกับพอลล่า แม ชวาร์ทซ ฉวยโอกาสตอนที่คู่แข่งลังเล ขอซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องใหม่ของแมคคาร์ธีย์ตั้งแต่มันยังเป็นต้นฉบับ “สิ่งสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ มันช่างมืดมนและหมองหม่น พอที่จะทำให้ผู้อำนวยการสร้างคนอื่นรู้สึกไม่มั่นใจว่ามันจะถูกทำเป็นหนังได้” เขากล่าว “นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ผมได้ช่วงชิงมันมา ด้วยความช่วยเหลือของสตีฟและพอลล่า แม เพื่อนร่วมงานของผม”
             เช่นเดียวกับทีมงานคนอื่นที่มีส่วนร่วมในการสร้างหนังเรื่องนี้ เวชเลอร์ถูกกระตุ้นด้วยประสบการณ์การอ่านหนังสือของแมคคาร์ธีย์ เขามองเห็นว่ามันเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการสร้างภาพยนตร์ “ผมอ่านนิยายเรื่องนี้ในตอนเย็นวันเดียวกับที่ผมได้มันมา และผมคิดว่ามันเต็มไปด้วยพลัง และความสะเทือนใจ เรื่องราวของพ่อกับลูกชาย และการเดินทางของพวกเขา จะส่งผ่านความคิดด้านมนุษยธรรมไปยังผู้ที่ได้สัมผัสมันทุกคน”
             เมื่อเวชเลอร์ชักชวนรัดด์ ซิมม่อนส์ เข้ามาร่วมโครงการนี้ในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร เขาก็ตัดสินใจเลือกจอห์น ฮิลล์โคท มาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว ซิมม่อนส์ไม่เคยดู THE PROPOSITION หนังของฮิลล์โคทมาก่อน แต่เมื่อเขาได้ดู เขาก็ตกลงที่จะเลือกผู้กำกับคนนี้เช่นกัน “ผมดูหนังของจอห์นแล้ว สิ่งที่ผมชอบคือภาพทิวทัศน์ในเรื่อง และบรรดาตัวละครที่ดูเหมือนจะล่องลอยออกไปจากฉากหลังนั้นได้ THE ROAD มีเนื้อหาไม่ซับซ้อน แต่เรื่องราวแบบเทพนิยายของมัน และตัวละครทั้งหลาย ก็ดูเหมือนจะลอยออกไปจากโลกนี้ได้เหมือนกัน ผมไปคุยกับจอห์น และเราก็เข้ากันได้อย่างดีเยี่ยม”
             อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ซิมม่อนส์ประทับใจในตัวฮิลล์โคทคือ ขั้นตอนการเตรียมงานของเขา “ตั้งแต่ตอนแรกๆ จอห์นเขียนรายงานมาฉบับหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย” เขากล่าว “มันมีความยาว 3-4 หน้า ที่บอกถึงสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำ สิ่งที่เขาสนใจ วิธีการทำงาน แถมด้วยภาพประกอบจำนวนมาก”
             “นี่เป็นสิ่งที่เยี่ยมมาก เพราะว่าเราได้แจกจ่ายรายงานฉบับนี้ให้แก่ทีมงานทั้งหมด ทุกคนจึงรู้ว่าเขาต้องการอะไร และมองเรื่องราวออกมาในลักษณะไหน สิ่งที่ช่วยให้การดัดแปลงหนังสือออกมาเป็นหนังที่ดีจริงๆ นั้นคือ การที่ผู้กำกับค้นพบบางสิ่งที่น่าสนใจในนั้น แล้วถ่ายทอดมันออกมาตามความคิดของเขา และเรารู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นของจอห์น” ซิมม่อนส์กล่าว
             ในการสร้างหนังเรื่องนี้ ทีมงานรู้สึกไม่สบายใจนักที่ต้องถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับจุดจบของโลกในนิยาย ให้ออกมาเป็นภาพที่มีบรรยากาศใกล้เคียงกับความรู้สึกหวาดกลัวในเหตุการณ์ 9/11, สภาวะโลกร้อน, การขาดแคลนพลังงาน รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนโลก ดังนั้น เมื่อแมคคาร์ธีย์เขียนบรรยายสาเหตุของความหายนะอย่างไม่ชัดเจนในหนังสือของเขา ทีมผู้สร้างจึงมีอิสระอย่างเต็มที่ ที่จะตีความภาพมหันตภัยที่เกิดขึ้นตามความรู้ความเข้าใจของตัวเอง
             “เราทำตามหนังสืออย่างแท้จริง” ฮิลล์โคทกล่าว “ในหนังสือ มันเหมือนกับว่าได้เกิดระเบิดนิวเคลียร์ฤดูหนาวขึ้น ทุกอย่างดูคล้ายถูกปกคลุมด้วยละอองขี้เถ้า และมีเขม่าควันล่องลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ”
             สำหรับเรื่องสถานที่ถ่ายทำ ทีมงานต้องภูมิประเทศที่ดูเหมือนได้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นจริงๆ ฮิลล์โคท พร้อมด้วยซิมม่อนส์ และคริส เคนเนดี้ ผู้ออกแบบงานสร้าง ต้องใช้เวลามากมายในการเดินทางเพื่อค้นหาสถานที่ซึ่งดูชำรุดทรุดโทรมแบบนั้น เพราะพวกเขารู้ว่าฉากหลังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงเรื่องราวอันน่ากลัวที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในโลกปัจจุบัน “ทั้งคริสและผมไม่เคยนิยมชมชอบหนังแนวภัยพิบัติมาก่อนเลย แต่ครั้งนี้มันต่างออกไป เพราะเราคิดว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือมนุษย์ได้จริงๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมเราจะไม่ทำมันล่ะ”
             “ดังนั้น เราจึงเริ่มค้นหาข้อมูลทันที และเราก็ได้เห็นตัวอย่างมากมายจากหลายเหตุการณ์อย่างเช่น พายุแคทรินาในนิวออร์ลีนส์, ภูเขาเซนต์เฮเลนส์ในวอชิงตัน รวมถึงการทำเหมืองในเพนซิลวาเนีย และพิทท์สเบิร์ก ซึ่งภัยพิบัติเกิดขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมของมนุษย์ แล้วเราก็นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาผสมผสานกัน คล้ายๆ กับการปักผ้าผืนใหญ่”
             วิกโก มอร์เทนเซ่น นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง EASTERN PROMISES มารับบทเป็นพ่อผู้คอยปกป้องลูกชาย ซึ่งแม้ว่าช่วงที่เขาได้รับการติดต่อมานั้นเป็นเวลาที่เขาต้องการหยุดพักงานแสดงสักระยะ แต่เมื่อเขาได้รับบทหนัง พร้อมกับได้อ่านหนังสือ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะปฏิเสธงานนี้ “ผมคิดว่า ว้าว มันยากเหลือเกินที่จะพูดคำว่าไม่กับตัวละครตัวนี้ มันเป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆ มันเร่งเร้าให้คุณอยากรู้ว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร” เขากล่าว
             เมื่อนิยาย THE ROAD ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก โอปราห์ วินฟรีย์ ได้จัดให้มันอยู่ในรายชื่อหนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเธอ และบรรดานักวิจารณ์ก็ชื่นชมมัน มอร์เทนเซ่นเสริมว่า “เหตุผลที่หลายคนอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะมันกระทบความรู้สึกของคนอเมริกัน เนื้อหาของมันก็เป็นสากล พ่อแม่ทุกคนต่างมีความรู้สึกแบบนี้กันทั้งนั้น หวาดระแวง, กลัว, เป็นห่วงเป็นใย อะไรจะเกิดขึ้นตอนที่ฉันไม่อยู่บ้าน เด็กๆ จะสบายดีไหม? ถ้าลูกเกิดไม่สบายขึ้นมาล่ะ? ผมรู้ว่าตัวเองก็มีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน ผมจำเป็นต้องค้นหามันเพื่อนำมาใช้ในการแสดง”
             สำหรับผู้กำกับ ฮิลล์โคท เขาไม่ข้องใจที่ได้วิกโก มอร์เทนเซ่น มารับบทพ่อ ระหว่างเตรียมงานสร้าง เขาบอกว่าภาพของตัวละครตัวนี้ในใจของเขาคือผู้ชายที่มีลักษณะอ่อนนอกแข็งในแบบนักแสดงอมตะ เกรเกอรี่ เพ็ค “มันแน่ชัดว่าวิกโกสามารถแสดงได้ทุกบท แต่สำหรับตัวละครตัวนี้ เราอยากได้คนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกตรงกับที่บทต้องการด้วย” ผู้กำกับกล่าว “เหตุเกิดในโลกที่ชีวิตต้องดิ้นรนอย่างสาหัสที่สุด บทพ่อนี้ไม่เพียงต้องการนักแสดงที่มีรูปร่างแข็งแกร่งบึกบึน แต่เขาต้องสามารถแสดงถึงความอ่อนไหว และความเข้มแข็งที่ซ่อนอยู่ภายในด้วย” ฮิลล์โคทย้ำ “ถ้ามีใครสักคนที่สามารถดำรงอยู่ในโลกหลังมหันตภัยได้ คนๆ นั้นน่าจะเป็นวิกโก”
             นิค เวชเลอร์ เสริมว่า “วิกโกมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะรับบทผู้ชายคนนี้ เขามีจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง เขาทุ่มเทสุดตัวลงไปในตัวละครของเขา จนทำให้คุณคิดว่า ‘ว้าว เขาคือผู้ชายคนนั้น ไม่ใช่นักแสดงที่กำลังแสดงเป็นผู้ชายคนนั้น’ และนี่คือสิ่งที่เราต้องการสำหรับบทนี้”
             สิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือการสรรหานักแสดงที่จะมารับบทเป็นลูกชายของมอร์เทนเซ่น หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกตัวหลายขั้นตอน พวกเขาก็พบโคดี้ สมิท-แมคฟี เด็กชายผู้มีพ่อเป็นครูสอนการแสดง บทบาทของโคดี้ที่แสดงร่วมกับเอริค บานา ในภาพยนตร์เรื่อง ROMULUS, MY FATHER ทำให้เขาเป็นที่สนใจของผู้สร้าง
             การตัดสินใจเลือกโคดี้ สมิท-แมคฟี เกิดจากเหตุผลหลายข้อ ทีมผู้อำนวยการสร้าง และมอร์เทนเซ่นรู้สึกพิศวงกับพรสวรรค์ทางการแสดงของเด็กคนนี้ “คุณดูโคดี้แสดง และเขาสามารถทำให้ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมา ทุกเทคที่เราเห็นคือความพิเศษ สิ่งที่ผมประทับใจโคดี้มากที่สุดคือ การมีวินัย และความเอาใจใส่ของเขา” ซิมม่อนส์กล่าว
             วิกโก มอร์เทนเซ่นบอกว่า หากภาพยนตร์เรื่องนี้จะอยู่ในความทรงจำของผู้ชม นั่นไม่ใช่เพราะการแสดงของเขา แต่เป็นเพราะพรสวรรค์อันแสนพิเศษของเด็กชายที่แสดงคู่กับเขา “เขาเป็นนักแสดงที่ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาจริงๆ ผมคิดว่าบทบาทของเขาจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ ด้วยความสัตย์ ผมคิดว่ามันจะเป็นบทบาทหนึ่งที่ผู้คนจดจำกันไปอีกนานเท่านาน”
             ความสัมพันธ์ระหว่างลูกชายและพ่อคือส่วนที่โอบอุ้มเรื่องราว และยกระดับ THE ROAD ให้เป็นมากกว่าหนังไซ-ไฟเรื่องหนึ่ง ในนิยายมีบทพรรณนามากมายว่าพวกเขาปฏิบัติต่อกันอย่างไรในสภาวะแวดล้อมที่แสนทรมานเช่นนี้ แต่เมื่อเป็นภาพยนตร์ ทุกสิ่งถูกถ่ายทอดผ่านทางแสงสีเสียงและการแสดง มอร์เทนเซ่นสรุปว่าหัวใจของเรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์ในหนังเรื่องนี้อยู่ที่ตัวโคดี้นั่นเอง
             ในนิยาย THE ROAD คือการเดินทางอันโดดเดี่ยวของสองตัวละครหลัก โดยตัวละครอื่นเป็นเพียงอุปสรรคระหว่างทาง, ภาพความหลัง หรือส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเป็นภาพยนตร์ ผู้สร้างตกลงใจเพิ่มบทบาทของตัวละครอื่นๆ เพื่อเล่าเรื่องราวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทมากขึ้นคือภรรยาของชายหนุ่ม ผู้ฆ่าตัวตายเพราะความรู้สึกหวาดกลัวคนที่ตามล่าเธอและครอบครัว “ไม่ช้าก็เร็ว พวกมันจะพบเรา และจะฆ่าเรา” เธอกล่าว “พวกมันจะข่มขืนฉัน และข่มขืนเขา พวกมันจะข่มขืนและฆ่าพวกเรา และกินพวกเราทุกคน” ในหนังสือ จุดจบของหญิงสาวถูกเล่าอย่างกระชับและชัดเจนท่ามกลางฉากหลังอันน่าสะพรึงกลัว ทางเลือกของชายหนุ่มคือพาลูกของเขาออกเดินทางไปบนถนน เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าให้เด็กชาย
             สำหรับตัวละครตัวนี้ ผู้สร้างไม่ต้องการแค่นักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียง แต่ต้องมีฝีมือด้วย “ทำไมถึงเป็นชาร์ลิซน่ะหรือ” ฮิลล์โคทกล่าว “เพราะว่าเราต้องการคนที่มีแรงดึงดูด มีความรู้สึกลึกซึ้งที่จะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต เราอยากแสดงให้เห็นถึงบาดแผลทางวิญญาณที่เกิดจากความหายนะของโลก และชาร์ลิซคือคนที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาได้อย่างกว้างไกล การเปลี่ยนตัวเองของเธอใน Monster นั้นน่าทึ่งมาก เธอคือหนึ่งในนักแสดงหญิงที่สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามบท พร้อมๆ กับการเข้าถึงอารมณ์ข้างในของตัวละครได้อย่างแท้จริง”
             อีกหนึ่งการคัดเลือกนักแสดงที่สำคัญคือโรเบิร์ต ดูวัลล์ ในบทชายชราที่สองพ่อลูกพบเจอระหว่างทาง “เขารู้จักคอร์แมค แมคคาร์ธีย์ เขาคุ้นเคยกับโลกแบบนั้น นั่นเป็นประโยชน์มากทีเดียว” ฮิลล์โคทกล่าว
             การปรากฏตัวในฉากของดูวัลล์ ไม่เพียงช่วยฉายภาพโลกในจินตนาการของผู้ประพันธ์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างความลุ่มลึกให้เรื่องราว และเป็นแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงแก่ทีมงาน “เขาทำสิ่งพิเศษมากภายใต้สถานการณ์กดดัน มันคือความทรงจำ เพราะว่าโรเบิร์ต ดูวัลล์อายุ 77 แล้ว แต่เขายังมีความเฉียบแหลม และพลังเหลือล้น มันช่างน่าอัศจรรย์แท้ๆ”
             THE ROAD ยังมีตัวละครสมทบอย่างชายหนุ่มผู้แข็งแกร่งอีกคน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละคร ‘ฝ่ายดี’ ที่ช่วยปกป้องเด็กชายไว้ขณะใกล้สิ้นสุดการเดินทาง และหัวขโมยผู้หยิบฉวยทุกสิ่งไปจากสองพ่อลูก “ผมล่ะตื่นเต้นจริงๆ ที่มีตัวละครหลากหลายขนาดนี้” ฮิลล์โคทกล่าว “บทชายหนุ่มคนดีนี่ผมไม่คิดถึงใครเลยนอกจากกาย เพียร์ซ และเราก็โชคดีที่ได้ตัวเขามา เราต้องการทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้ตะลอนไปในโลกใหม่เพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง และกายก็เหมือนกับวิกโก คุณเชื่อว่าเขาเอาตัวรอดได้แน่ ส่วน ไมเคิล เค. วิลเลี่ยมส์ ก็นำความเป็นชาวเมืองมาใส่ไว้ในบทหัวขโมย ซึ่งแตกต่างจากการ์เร็ท ดิลลาฮันท์ ผู้รับบทเป็นสมาชิกแก๊งข้างถนน ที่ดูเป็นคนบ้านนอกมากกว่า และมอลลี่ พาร์คเกอร์ ในบทหญิงสาวอีกคนก็แสดงได้เยี่ยมมากในตอนจบ ซึ่งผมคิดว่าบทของเธอเป็นบทที่ยากมากบทหนึ่ง แต่สิ่งที่ท้าทายจริงๆ สำหรับนักแสดงทุกคนคือ การทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ในเวลาอันสั้นว่า ตัวละครต่างๆ นั้นมีที่มาและมีบาดแผลในใจอย่างไร ซึ่งทุกคนก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม”
             สำหรับฮิลล์โคทและทีมงาน ภารกิจครั้งนี้คือการบรรยายให้เห็นถึงความสยดสยองของโลกที่ถูกทำลายพินาศ โดยไม่ให้ซ้ำรอยกับหนังจุดจบโลกเรื่องอื่น ทีมงานหลักของเขายังคงเป็นผู้ที่เคยร่วมงานกันมาก่อน ได้แก่ จอน เกรเกอรี่ ผู้ลำดับภาพ, คริส เคนเนดี้ ผู้ออกแบบงานสร้าง และมาร์โกท์ วิลสัน ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ทุกคนล้วนรู้ใจกันอย่างดี และนี่คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้การทำงานของพวกเขาสำเร็จลงด้วยความราบรื่น

happy on November 04, 2009, 03:14:14 PM
นักแสดง
วิกโก มอร์เทนเซ่น
             มอร์เทนเซ่นเกิดที่นิวยอร์คในครอบครัวสองเชื้อชาติ คือแม่ชาวอเมริกัน และพ่อชาวเดนมาร์ก เขาใช้เวลา 11 ปีแรกของชีวิตอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนที่จะไปอาศัยและทำงานที่ประเทศเดนมาร์ก มอร์เทนเซ่นเริ่มอาชีพนักแสดงที่นิวยอร์คโดยเรียนการแสดงกับวอร์เรน โรเบิร์ตสัน พร้อมกับการปรากฏตัวในละครเวทีและภาพยนตร์หลายเรื่อง จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่ลอส แองเจลิส
             ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ WITNESS (1985) ของผู้กำกับ ปีเตอร์ เวียร์ ส่วนภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้เขา ได้แก่ THE INDIAN RUNNER (1991), A PERFECT MURDER (1998), HIDALGO (2004), ภาพยนตร์ชุด THE LORD OF THE RING, A HISTORY OF VIOLENCE (2005) และ EASTERN PROMISES ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปี 2007 บนเวทีออสการ์, ลูกโลกทองคำ, Screen Actors Guild และ BAFTA               

โคดี้ สมิท-แมคฟี
             โคดี้ก้าวเข้าสู่ความโด่งดัง หลังจากแสดงภาพยนตร์เรื่อง ROMULUS, MY FATHER (2007) ร่วมกับเอริค บานา, มาร์ตัน โซคัส และฟรานคา โพเทเทอ บทบาทในหนังเรื่องนี้ทำให้เขาชนะรางวัลนักแสดงดาวรุ่งจากสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลีย และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม รวมทั้งได้รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากชมรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งออสเตรเลียด้วย
             เขาเกิดวันที่ 13 มิถุนายน 1996 ในครอบครัวนักแสดง ซึ่งนอกจากการแสดงแล้ว สิ่งที่โคดี้โปรดปรานอย่างมากคือการเล่นสเก็ตบอร์ด และแต่งเพลง
         
ชาร์ลิซ เธอรอน
             เจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และรางวัลอื่นอีกมากมาย ในปี2003 จากบทฆาตกรต่อเนื่องใน MONSTER เธอรอนมีพื้นเพเป็นชาวแอฟริกาใต้ เธอเริ่มเป็นที่จดจำของผู้ชมจากภาพยนตร์เรื่อง 2 DAYS IN THE VALLEY (1996) ก่อนที่จะไปแสดงคู่ทอม แฮงส์ ใน THAT THING YOU DO! (1996), ประกบอัล ปาชิโน และคีอานู รีฟส์ ใน DEVIL’S ADVOCATES (1997) และมีผลงานเด่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น MIGHTY JOE YOUNG (1998), THE CIDER HOUSE RULES (1999), THE ASTRONAUT’S WIFE (1999), REINDEER GAMES (2000), THE LEGEND OF BAGGER VANCE (2000), MEN OF HONOR (2000), SWEET NOVEMBER (2001) และ NORTH COUNTRY ที่ส่งให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำ, Screen Actors Guild, Critics Choice และออสการ์อีกครั้งในปี 2005   

โรเบิร์ต ดูวัลล์
             ภาพยนตร์เรื่องแรกของดูวัลล์คือ TO KILL A MOCKING BIRD ในปี 1962 จากนั้นนักแสดงผู้เป็นตำนานคนนี้ ก็มีผลงานชั้นยอดหลั่งไหลตามมาอีกนับไม่ถ้วน อาทิ MASH (1970), THX 1138 (1971), THE GODFATHER (1972), THE CONVERSATION (1974), THE GODFATHER PART II (1974), NETWORK (1976), APOCALYPSE NOW (1979), THE GREAT SANTINI (1979), TRUE CONFESSIONS (1981), TENDER MERCIES (1983), LONESOME DOVE (1989), RAMBLING ROSE (1991), STALIN (1992), FALLING DOWN (1993), THE APOSTLE (1997), A CIVIL ACTION (1998), OPEN RANGE (2003) และ WE OWN THE NIGHT (2007)
             เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก THE GODFATHER และเข้าชิงสาขาเดิมอีกครั้งใน APOCALYPSE NOW ก่อนที่จะเขยิบขึ้นไปชิงสาขานักแสดงนำใน THE GREAT SANTINI แล้วจึงได้รับรางวัลออสการ์สาขานี้ในปี จากภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง TENDER MERCIES
             ต่อมาเขาก็ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำอีกครั้งใน THE APOSTLE ผลงานที่เขารับหน้าที่เขียนบทและกำกับด้วย ดูวัลล์ได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ พร้อมรางวัลออสการ์ ในสาขานักแสดงสมทบจาก A CIVIL ACTION และเขาก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำจากเรื่อง APOCALYPSE NOW, TENDER MERCIES, LONESOME DOVE และ STALIN   
กาย เพียร์ซ
             นักแสดงที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งในบรรดานักแสดงรุ่นเดียวกัน เพียร์ซเริ่มเป็นที่จดจำจากบทกระเทยหนุ่มใน THE ADVENTURES OF PRISCILLA, QUEEN OF THE DESERT (1994) ก่อนที่จะมาโด่งดังถึงขีดสุดกับหนังชั้นเยี่ยมสองเรื่องคือ L.A. CONFIDENTIAL (1997) และ MEMENTO (2000)
             ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขา ได้แก่ RAVENOUS (1999), THE COUNT OF MONTE CRISTO (2002), THE PROPOSITION (2005), TRAITOR (2008) และ THE HURT LOCKER (2008)   

ไมเคิล เคนเน็ธ วิลเลี่ยมส์
             เส้นทางในวงการบันเทิงของวิลเลี่ยมส์เริ่มจากการเป็นนักออกแบบท่าเต้น และนักเต้นข้างถนนในนิวยอร์ค เขาสร้างผลงานในมิวสิควิดีโอมากกว่า 50 ชิ้น รวมทั้งบนเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินหลายคน เขาก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นในฐานะนายแบบ ด้วยการชักนำของเดวิด ลาชาเพลล์ และสตีเว่น ไคลน์ สองช่างภาพชื่อดัง จากนั้นก็เริ่มอาชีพนักแสดงด้วยการรับบทเป็นพี่ชายของทูแพค ชาเคอร์ ในเรื่อง BULLET (1996) และบทนักค้ายาเสพติดใน BRINGING OUT THE DEAD (1999) ของมาร์ติน สกอร์เซซี ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขา ได้แก่ THE ORPHAN KING (2005), LACKAWANNA BLUES (2005), GONE BABY GONE (2007), I THINK I LOVE MY WIFE (2007), THE INCREDIBLE HULK (2008) และ MIRACLE AT ST. ANNA (2008)   

การ์เร็ท ดิลลาฮันท์
             การ์เร็ท ดิลลาฮันท์ คือนักแสดงหนุ่มผู้ได้รับการยกย่องว่าสามารถเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับบทได้อย่างน่าชื่นชม พิสูจน์ได้จากผลงานที่ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ HBO เรื่อง DEADWOOD ที่เขารับบทเป็นสองตัวละครที่มีบุคลิกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
             ดิลลาฮันท์แสดงเป็นหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง TERMINATOR: THE SARA CONNOR CHRONICLES (2008-2009) และเป็นดารารับเชิญในหนังโทรทัศน์เรื่องดังอย่าง NUMBERS, LAW & ORDER และ CSI
             ผลงานโดดเด่นทางจอใหญ่ของเขาคือ NO COUNTRY FOR OLD MEN (2007), THE ASSASSINATION OF JESSE JAMES BY THE COWARD ROBERT FORD (2007), WALTER PILLS (2009) และ THE LAST HOUSE ON THE LEFT (2009)

มอลลี่ พาร์คเกอร์
             พาร์คเกอร์โด่งดังขึ้นมาจากภาพยนตร์ซีรีส์ของสถานีโทรทัศน์ HBO เรื่อง SIX FEET UNDER (2002), IRON JAWED ANGELS (2004) และ DEADWOOD (2004-2006) พร้อมผลงานจอเงินเด่นๆ อย่าง WINGS OF COURAGE (1995), KISSED (1996), WONDERLAND (1999), SUNSHINE (1999), MARION BRIDGE (2002), PURE (2002), THE GOOD SHEPHERD (2004), NINE LIVES (2005), THE WICKER MAN (2006) และ HOLLYWOODLAND (2006)
             เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลจีนี่ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง WHO LOVES THE SUN (2006), MEN WITH BROOMS (2002), MARION BRIDGE และได้รับรางวัลนี้จากเรื่อง KISSED   

ทีมงาน
จอห์น ฮิลล์โคท (ผู้กำกับภาพยนตร์)
             จอห์น ฮิลล์โคทใช้ชีวิตวัยเด็กในอเมริกา, แคนาดา และอังกฤษ เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนภาพยนตร์สวินเบิร์น ในออสเตรเลีย ที่ซึ่งเขาได้ผลิตละครสั้นสองเรื่องคือ THE BLONDE’S DATE WITH DEATH และ FRANKIE AND JOHNNY จากนั้นเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการกำกับและตัดต่อมิวสิควิดีโอให้ศิลปินอย่าง นิค เคฟ, โรเบิร์ต แพลนท์, INXS, Crowded House, Depeche Mode, Muse และ Razorlight ซึ่งผลงานของเขาเหล่านี้ก็ได้รับรางวัลทั้งในประเทศออสเตรเลีย และในระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ
             GHOSTS… OF THE CIVIL DEAD ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของฮิลล์โคทในปี 1988 ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Australian Film Institute Awards ถึง 9 สาขา ตามด้วยผลงานเรื่องที่สอง TO HAVE AND TO HOLD ในปี 1996 ภาพยนตร์เรื่องที่สาม THE PROPOSITION ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล  Australian Film Institute Awards ประจำปี 2005 ถึง 12 สาขา และคว้ามาได้ 4 รางวัล
             THE ROAD คือผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของฮิลล์โคท

นิค เวชเลอร์ (ผู้อำนวยการสร้าง)
             ผู้อำนวยการสร้างที่มีเครดิตผลงานโดดเด่นนับไม่ถ้วน ดังตัวอย่างรายชื่อต่อไปนี้ SEX, LIES AND VIDEOTAPE (1989), DRUGSTORE COWBOY (1989), THE PLAYER (1992), LITTLE ODESSA (1994), THE YARDS (2000), REQUIEM FOR A DREAM (2000), QUILLS (2000), 15 MINUTES (2001), ANTITRUST (2001), THE FINAL CUT (2004), NORTH COUNTRY (2005), THE FOUNTAIN (2006), WE OWN THE NIGHT (2007), RESERVATION ROAD (2007) และ THE TIME TRAVELER’S WIFE (2009)             

รัดด์ ซิมม่อนส์ (ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร)
             เริ่มต้นอาชีพผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในหนังของจิม จาร์มุช เรื่อง NIGHT ON EARTH (1991) กับ MYSTERY TRAIN (1989) และหนังของทิม ร็อบบินส์ เรื่อง DEAD MAN WALKING (1995) ซิมม่อนส์มักได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเสมอ ซึ่งนอกจากจาร์มุช และร็อบบินส์แล้ว ก็มีสตีเฟ่น เฟรียร์ส (HIGH FIDELITY, THE HI-LO COUNTRY), เวส แอนเดอร์สัน (THE LIFE AQUATIC WITH STEVE ZISSOU, THE ROYAL TENENBAUMS) และจูลี่ เทย์มอร์ (ACROSS THE UNIVERSE)

มาร์ค บูแทน (ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร)
             บูแทนเป็นประธานของบริษัท 2929 Productions ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 และมีผลงานสร้างชื่อคือ GOOD NIGHT, AND GOOD LUCK ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 2005 ถึง 6 สาขา ตามด้วยผลงานชั้นดีอย่าง AKEELAH AND THE BEE (2006), WE OWN THE NIGHT (2007) และ WHAT JUST HAPPENED? (2008)

สตีฟ ชวาร์ทซ (ผู้อำนวยการสร้าง)
             ประธานบริษัท  Chockstone Pictures ผู้สำเร็จการศึกษาด้านการเขียน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาและภรรยา พอลล่า แม ร่วมก่อตั้ง Schwartz Communications บริษัทประชาสัมพันธ์ยักษ์ใหญ่ในปี 1990 ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์           

พอลล่า แม ชวาร์ทซ (ผู้อำนวยการสร้าง)
             สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน เริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ Newsweek ก่อนผันตัวเองไปทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งหนึ่งในลูกค้าของบริษัทนี้คือสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ปัจจุบัน พอลล่า แม เป็น CEO ของ Chockstone Pictures และรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารร่วมกับสตีฟ ชวาร์ทซ สามีของเธอ

โจ เพ็นฮอลล์ (ผู้เขียนบทภาพยนตร์)
             นิตยสาร The Financial Times ยกย่องให้เขาเป็น ‘หนึ่งในนักเขียนบทละครที่ดีที่สุด’ บทละครเรื่อง BLUE/ORANGE ของเขาพิชิตรางวัลโอลิเวียร์, อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด และชมรมนักวิจารณ์ สาขาบทละครยอดเยี่ยม และบทหนังเรื่อง ENDURING LOVE ที่เขาดัดแปลงจากนิยายของเอียน แมคเอแวน ก็ได้รับรางวัลจากชมรมนักวิจารณ์แห่งชาติ ในปี 2004
             ผลงานบทภาพยนตร์เรื่องอื่นของเขา ได้แก่ THE UNDERTAKER (2005) และ SOME VOICES (2000)

คริส เคนเนดี้ (ผู้ออกแบบงานสร้าง)
             THE ROAD คือการร่วมงานกันครั้งที่สามระหว่างเคนนเนดี้ และผู้กำกับ ฮิลล์โคท หลังจากภาพยนตร์เรื่อง GHOSTS… OF THE CIVIL DEAD (1988) และ THE PROPOSITION (2005)
             เคนเนดี้มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักสร้างหนังมาตั้งแต่ยังเรียนสาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่วิทยาลัยสวินเบิร์น สถาบันที่เขาจบมาในปี 1982 ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขา ได้แก่ DIRTY DEEDS (2002), DEAD LETTER OFFICE (1998), TO HAVE AND TO HOLD (1996), THAT EYE THE SKY (1994), GINO (1994), SAY A LITTLE PRAYER (1993) และ SPOTSWOOD (1992)

ฮาเวียร์ อากิเรซาโรเบ (ผู้กำกับภาพ)
             อากิเรซาโรเบเป็นชาวเมืองไอบาร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน เคยร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังมาอย่างมากมาย อาทิ วูดี้ อัลเลน (VICKY CRISTINA BARCELONA), เปโดร อัลโมโดวาร์ (TALK TO HER), อเลฮานโดร อามีนาบาร์ (THE SEA INSIDE, THE OTHERS), วิคเตอร์ เอริซี่ (THE QUINCE TREE OF THE SUN), มิลอส ฟอร์แมน (GOYA’S GHOSTS) และเจมส์ ไอเวอรี่ (THE CITY OF YOUR FINAL DESTINATION)
             เขาเคยได้รับรางวัล National Prize ของสเปน สาขาการกำกับภาพ และยังเป็นเจ้าของรางวัล Goya อีก 6 ครั้ง

ฟรองซีน ไมส์เลอร์ (ผู้คัดเลือกนักแสดง)
             หนึ่งในผู้คัดเลือกนักแสดงซึ่งเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในวงการ ด้วยผลงานภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง และหนังโทรทัศน์อีกจำนวนหนึ่ง ผลงานเด่นๆ ของเธอมีดังนี้ MILK (2008), TROPIC THUNDER (2008), BABEL (2006), MEMOIRS OF A GEISHA (2005), COLLATERAL (2004), 21 GRAMS (2003), RED DRAGON (2002), SPIDER-MAN (2002), YOU’VE GOT MAIL (1998), AS GOOD AS IT GETS (1997), GATTACA (1997) และ THE USUAL SUSPECTS (1995)

จอน เกรเกอรี่ (ผู้ลำดับภาพ)
             เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่จอห์น เกรเกอรี่สร้างผลงานโดดเด่นไว้ในภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะในงานของสองผู้กำกับชื่อดังชาวอังกฤษ ไมค์ ลีห์ และไมค์ นีเวลล์ หนังของลีห์ที่เกรเกอรี่รับหน้าที่ลำดับภาพให้คือ SECRETS & LIES (1996), NAKED (1993), A SENSE OF HISTORY (1992), LIFE IS SWEET (1991), HIGH HOPES (1988) และ THE SHORT AND CURLIES (1987)
             ส่วนหนังของนีเวลล์ ได้แก่ PUSHING TIN (1999), DONNIE BRASCO (1997), AN AWFULLY BIG ADVENTURE (1995) และ FOUR WEDDINGS AND A FUNERAL (1994) ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล British Academy Film Award