IBM Global CIO Study 2009…ผลสำรวจที่สะท้อนเสียงซีไอโอทั่วโลก
โดย เมเรอร์ดิต อัควิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ปัจจุบันผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือ ซีไอโอ (Chief Information Officer - CIO) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ซึ่งเมื่อธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วดังเช่นทุกวันนี้...จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าบทบาทของซีไอโอจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ?
ด้วยเหตุนี้ ไอบีเอ็มจึงได้ทำการสำรวจ “IBM Global CIO Study 2009” ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของไอบีเอ็มที่เคยทำการสำรวจมา โดยได้ทำการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับ CIO ทั่วโลกกว่า 2,500 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย โดยครอบคลุมองค์กรทุกขนาดจาก 19 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยได้เจาะลึกถึงแนวคิดและมุมมองในหลากหลายแง่มุม อันมีส่วนสำคัญกับการดำเนินกลยุทธ์ทั้งทางด้านไอทีและธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ซึ่งผลการสำรวจได้สะท้อนให้เห็นว่า ซีไอโอที่ประสบความสำเร็จจะต้องสามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกัน โดยบทบาทของซีไอโอในยุคปัจจุบันครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก คือ
- การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง (Making Innovation Real) ด้วยการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและสามารถลงมือปฏิบัติอย่างเห็นผล
- การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนทางด้านไอที (Raising the ROI of IT) ด้วยการสร้างมูลค่าอย่างเป็นรูปธรรมและลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
- การขยายบทบาททางธุรกิจ (Expanding Business Impact) ด้วยการประสานงานร่วมกับผู้นำธุรกิจจากหน่วยงานอื่น และการเป็นผู้จัดการไอทีที่สามารถโน้มน้าวใจทีมงานให้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้
จะเห็นได้ว่า ในวันนี้ความรับผิดชอบของซีไอโอมีแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ซีไอโอไม่อาจประสบความสำเร็จได้จากการกำหนดวิสัยทัศน์ การลดค่าใช้จ่าย หรือการดูแลระบบและโครงส้รางไอทีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ซีไอโอที่ประสบความสำเร็จจะต้องสามารถรับผิดชอบหน้าที่ทั้งหมดที่กล่าวมาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันซีไอโอไม่ใช่เพียง “ผู้จัดการฝ่ายไอที” อีกต่อไป หากแต่ซีไอโอคือบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการ “ขับเคลื่อน” ธุรกิจนั่นเอง
ซีไอโอทั่วโลกเทคะแนนให้ “การจัดการและการวิเคราะห์ธุรกิจ” สำคัญที่สุด
ซีไอโอได้ให้วิสัยทัศน์ที่มีความสำคัญสูงสุด และโครงการต่างๆ ที่มองว่ามีความสำคัญสูงสุด โดยครอบคลุมส่วนงานธุรกิจและไอทีตามที่แสดงในรูป
(หมายเหตุ: ไอบีเอ็มแยกผลสำรวจระหว่างองค์กรที่มีการเติบโตสูง และองค์กรที่มีการเติบโตต่ำ โดยใช้การเติบโตของกำไรก่อนหักภาษี ขององค์กรในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเกณฑ์)
จากผลการสำรวจ พบว่าโครงการหลักที่ซีไอโอให้ความสำคัญมากที่สุด 3 โครงการ คือ ระบบจัดการธุรกิจอัจฉริยะและการวิเคราะห์ข้อมูล (Business Intelligence and Analytics) โดยซีไอโอกว่า 80% มองว่าระบบดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับปรุงขีดความสามารถด้านการแข่งขัน รองลงมาคือ การพัฒนาโครงสร้างแบบแบ่งปันทรัพยากร หรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) มากกว่า 75%, และการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Risk Management and Compliance) มากกว่า 70%, นอกจากนี้ 65% ยังให้ความสำคัญกับโซลูชั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobility Solutions) และ 60% วางแผนที่จะพัฒนา/ปรับปรุงการทำงานร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า (Customers and Partner Collaboration)
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนมีความเห็นที่ต่างจากซีไอโอทั่วโลกเล็กน้อย โดยซีไอโอในอาเซียนมองว่า ระบบจัดการธุรกิจอัจฉริยะและการวิเคราะห์ข้อมูล (Business Intelligence and Analytics) มีความสำคัญที่สุด รองลงมาคือ การบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Risk Management and Compliance) และโซลูชั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobility Solutions) ตามลำดับ
ซีไอโอในอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะ “ผู้บริหารระดับสูง” มากกว่า
ถึงแม้ว่าผลการสำรวจในครั้งนี้จะพบว่าซีไอโอในอาเซียนมีลักษณะใกล้เคียงกับซีไอโอทั่วโลก โดยได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ การสร้างมูลค่า การชี้นำธุรกิจ การลงมือปฏิบัติ และการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ซีไอโอในอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะ “ผู้บริหารระดับสูง” มากกว่า และถูกมองว่าทำหน้าที่เป็นเพียง “ผู้จัดการฝ่ายไอที” น้อยกว่าเมื่อเทียบกับซีไอโอจากทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ซีไอโอในภูมิภาคนี้จึงมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในทุกแง่มุมในการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจร่วมกับผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งนำเสนอและตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร
โดยซีไอโอในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรที่มีการเติบโตสูง จะสามารถผสานรวมธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดีกว่า นอกจากนี้ ซีไอโอในอาเซียนภายในองค์กรที่มีการเติบโตสูงจะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของบริการทางด้านธุรกิจหรือไอทีจากหน่วยงานภายนอก เพื่อปรับปรุงความคล่องตัวของธุรกิจได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับองค์กรที่มีการเติบโตต่ำ ทั้งยังมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการในปัจจุบันและความต้องการใหม่ๆ ของทั้งพนักงานและลูกค้า โดยซีไอโอเหล่านี้มีแผนที่จะพัฒนาช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้บริหารแก่พนักงานและลูกค้าภายใน 5 ปีข้างหน้า
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในผลการศึกษาครั้งนี้คือ ซีไอโอในอาเซียนจากองค์กรที่มีการเติบโตสูงมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกำหนดวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจขององค์กร มากกว่าซีไอโอจากองค์กรที่มีการเติบโตต่ำ ซึ่งมักใช้เวลาไปกับการให้บริการด้านเทคนิคเป็นหลัก
ประการสุดท้าย ซีไอโอจากองค์กรที่มีการเติบโตต่ำในอาเซียนยังคงเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์ (Centralized Infrastructure) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับซีไอโอจากองค์กรที่มีการเติบโตสูงที่เชื่อมั่นว่า ขั้นตอนธุรกิจต่างๆ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องตามมาตรฐานและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
เสริมความแข็งแกร่งให้ “ซีไอโอแห่งอนาคต”
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยสำคัญที่ซีไอโอทั่วโลกมองว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนเองได้แก่ การการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ, งบประมาณด้านไอทีขององค์กร, ปัจจัยภายนอกทางด้านเศรษฐกิจ, ทักษะและความสามารถของบุคลากร ตลอดจนความท้าทายอื่นๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้า 76% ของซีไอโอเหล่านี้คาดการณ์ว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์ (Centralized Infrastructure) ที่แข็งแกร่งมากขึ้น และ 53% ของซีไอโอกำลังปรับเปลี่ยนระบบงานต่างๆ ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน และลดความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ 68% ของซีไอโอเชื่อว่าการทำงานร่วมกันกับลูกค้าและคู่ค้าจะช่วยให้เกิดการบูรณาการและความโปร่งใส
และจากผลการศึกษานี้เอง ไอบีเอ็มจึงได้ระบุมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซีไอโอ เช่น
- การเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับวิธีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการปรับปรุงระบบงานธุรกิจ
- การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกค้าภายในและภายนอกองค์กรต้องการ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
- การปรับปรุงการบูรณาการ ความโปร่งใส และการทำงานร่วมกับลูกค้า
- การสร้างระบบอัตโนมัติในส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั่วทั้งองค์กร
- การประสานงานร่วมกับผู้บริหารในสายงานธุรกิจ เพื่อกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพร่วมกัน โดยพิจารณาจากผลประกอบการทางด้านธุรกิจ
- การส่งเสริมบุคลากรด้านไอทีที่มีความรู้ความสามารถ และมีไหวพริบทางด้านธุรกิจ
- การรักษาความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังคงเป็นหัวใจสำคัญ
ผลการสำรวจ “IBM Global CIO Study 2009” ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าซีไอโอคือหัวใจสำคัญและเป็น “เข็มทิศ” ให้แก่องค์กร ในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจของตนแข่งขันได้ในโลกที่ฉลาดมากขึ้น เชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกัน และเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือที่เก่งกาจ
สำหรับรายละเอียดของผลการสำรวจครั้งนี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่
www.ibm.com/voiceofthecio