sianbun on May 06, 2009, 04:20:00 PM
สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดนิทรรศการ ASA Green พร้อมประกาศ 9 สถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นของไทย ใน ASA Green Awards ณ สยามดิสคัฟเวอรี่ 5-13 พ.ค.นี้





สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดนิทรรศการ ASA Green Awards พร้อมประกาศผลงานเชิดชูเกียรติ 9 สถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นของไทย ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อเผยแพร่คุณค่าอาคารสีเขียวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันให้คนไทยยื่นมือ ขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นสีเขียวอย่างแท้จริง ในวันที่ 5 – 13 พฤษภาคม 2552 ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ หวังอนาคตสมาคมฯ จะก้าวสู่การเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมสีเขียวระดับประเทศได้

นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นิทรรศการ ASA Green และการประกาศความชื่นชมผลงานสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นของไทยทั้ง 9 แห่งนั้น เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ASA Green โดยคณะกรรมาธิการวิชาการเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสถาปัตยกรรมสีเขียว สมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อส่งเสริมให้งานด้านสถาปัตยกรรมเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เผยแพร่คุณค่าของสถาปัตยกรรมแม่แบบสำคัญ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานเพื่อคนไทย นับเป็นการกระตุ้นความคิดและปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้กลับมาตื่นตัวและเข้าใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกครั้ง พร้อมเป็นแรงผลักดันในการผสานความร่วมมือ ขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางใหม่ๆ

“สถาปัตยกรรมสีเขียว” หรือ Green Architecture เคยถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสความเคลื่อนไหวหนึ่ง ของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน และการร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังหาทางแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่ได้ผ่านมาหลายทศวรรษได้แสดงให้เห็นแล้วว่า“สถาปัตยกรรมสีเขียว”มิใช่เป็นเพียงกระแสความเคลื่อนไหว หรือแฟชั่นการออกแบบในวงการสถาปนิกเท่านั้น แต่สถาปัตยกรรมสีเขียวกลับกลายเป็น “ทิศทางหลัก” ของการออกแบบในปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังจะมาถึง ซึ่งแนวทางการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสีเขียว มิได้จำกัดอยู่แต่ในวิชาชีพสถาปนิกเท่านั้น ผู้เกี่ยวข้องทางการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นนักผังเมือง ภูมิสถาปนิก สถาปนิกภายใน วิศวกรหลากหลายสาขา รวมทั้งนักธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์ ต่างก็มีบทบาทของตนเองในการพยายามสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติการก่อตั้งสมาคมฯ   ที่เวียนมาครบรอบ 75 ปี ในปี 2552 นี้ สมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะสำหรับรับผิดชอบงานส่งเสริมสถาปัตยกรรมสีเขียวโดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร เป็นประธานกรรมาธิการฯ โดยได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ สำหรับสมาชิกและประชาชนทั่วไป ประกอบกับการที่สมาคมฯ ได้รับความสนับสนุนอย่างดีจากศูนย์การค้า Siam Discovery ในการจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์สมาคมสถาปนิกสยามฯ หรือ ASA Center ที่ชั้น 5 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปนิกและงานสถาปัตยกรรมด้านต่างๆ และยังเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานที่ได้ถ่ายทอดความสมบูรณ์แบบของอาคารทั้ง 9 สู่สาธารณชน ผ่านการคัดเลือกและตัดสินตามหลักเกณฑ์ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำไปสู่การเป็น “สถาปัตยกรรมสีเขียว” อย่างยั่งยืน โดยหวังว่าอาคารที่ได้รับรางวัล “สถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น” ในปีนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดสถาปัตยกรรมสีเขียวอื่นๆ ตามมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้พวกเราทุกคนได้กลับมาร่วมกันแสดงความยินดีกันอีกครั้งในปีหน้า และหวังว่าสมาคมฯ จะก้าวขึ้นสู่การเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมสีเขียวระดับประเทศได้

ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ประธานกรรมาธิการวิชาการเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม สมาคมสถาปนิกสยามฯ และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การออกแบบก่อสร้างอาคารที่มีการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรได้พบเห็นอยู่ประจำนี้ จึงเป็นแนวทางที่จะทำได้ในเบื้องต้นก็คือการนำหลักเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียว (ASA Green Guide) มาใช้เป็นเกณฑ์การมอบรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียว ASA Green Awards ให้แก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีการออกแบบก่อสร้างสอดคล้องกับแนวทางของสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มผู้ออกแบบและเจ้าของอาคารที่ทำดี ได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์โครงการที่ดีและรักษาสิ่งแวดล้อมสืบต่อไป และในที่สุดคู่มือการออกแบบและประเมินอาคารของสมาคมฯ ก็จะได้รับการรู้จักและยอมรับเป็นมาตรฐานระดับชาติในอนาคต

คณะกรรมการโครงการ ASA Green ได้ทำการพัฒนาเกณฑ์การประเมินสถาปัตยกรรมสีเขียวขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการในการสรรหาอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาอาคารที่ได้รับรางวัล ASA Green Award นี้ คณะกรรมการได้พิจารณาจากแง่มุมต่างๆ ที่เจ้าของอาคารและสถาปนิกผู้ออกแบบได้พยายามแสดงออกในการออกแบบก่อสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกณฑ์ 10 ข้อต่อไปนี้จะใช้พัฒนามาเป็นคู่มือการออกแบบต่อไป  1. INTENTION: ความมุ่งมั่นในการออกแบบอาคารเขียว (Green Design Intention) 2. CONTEXT: บริบททางสังคมและชุมชน (Community & Cultural Context) 3. EARTH: ใช้ประโยชน์ที่ดินและภูมิทัศน์อย่างยั่งยืน (Sustainable Land Use & Landscape) 4. TROPICAL: สอดคล้องกับเขตอากาศเขตร้อนชื้น (Tropical Design Solution) 5. COMFORT: ปลอดภัย น่าสบาย และสุขภาวะของผู้ใช้อาคาร (Occupant Safety, Health & Comfort) 6. ENERGY: ประหยัดพลังงาน (Energy

Conservation) 7. WATER: ประหยัดน้ำ (Water Conservation) 8. MATERIALS: วัสดุอาคารและการก่อสร้าง (Building Material & Construction)  9.SELF-SUFFICIENCY: ความยืดหยุ่น การปรับใช้และความพอเพียง (Flexibility, Adaptability & Sufficiency) 10.FEEDBACK: ผลตอบรับหลังการใช้งาน (Post-occupancy Feedback) 

โดยสถาปัตยกรรมดีเด่น ทั้ง  9 แห่ง ได้แก่
อาคารที่ทำการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ) (ออกแบบโดยฝ่ายออกแบบและก่อสร้าง กฟผ.)
ธนาคารกสิกรไทย สาขาแจ้งวัฒนะ (ออกแบบโดยบริษัท Design 103 International)
ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม (ออกแบบโดยบริษัท Plan Architects)
The Avenue รัชโยธิน Siam Future (ออกแบบโดยบริษัท Contour)
สนามบินนานาชาติสมุย (ออกแบบโดยบริษัท Habita)
หอศิลป์ มหาวิทยาลัย กรุงเทพ (ออกแบบโดยบริษัท A49)
อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (ออกแบบโดยบริษัท ต้นศิลป์)
โรงงาน Interface Floor (โดยบริษัท Thai Nakano Co.,Ltd.)
กุฏิวัดพุทธเขาโคดม (ออกแบบโดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ )

คุณศิริเพ็ญ อินทุภูติ ผู้บริหารสยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์ กล่าวถึงบทบาทการเป็นผู้นำของศูนย์การค้าสีเขียวว่า “นโยบายด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมนับเป็นนโยบายหลักด้านCSR ของทั้งสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่มาโดยตลอด ซึ่งบริษัทฯ ได้กระตุ้นให้ทั้งพนักงานของบริษัทฯ ร้านค้าต่างๆ ภายในศูนย์การค้า รวมถึงประชาชนผู้มาใช้บริการได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่ทุกคนในโลกต้องช่วยกันแก้ไข ทั้งนี้ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังได้รับรางวัลการบริหารจัดการใช้พลังงานดีเด่น “โครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม ปี 2547” จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) อีกด้วย” โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ทางบริษัทฯ ได้เปิดตัวโครงการ “Eco Projects” เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ ตลอดปี 2552 ทางบริษัทฯ จะยังคงสานต่อกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

นิทรรศการ ASA Green Awards จะจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนได้ร่วมรับชม ระหว่างวันที่ 5 – 13 พฤษภาคม 2552 ณ แกรนด์ฮออล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-658-0561 นอกจากนี้ยังขอเชิญชมนิทรรศการ Why Green? ที่เกี่ยวเนื่องกับจะจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมสีเขียว ในวันที่ 25 เมษายน – 9 มิถุนายน 2552 ณ อาษาเซ็นเตอร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ อีกด้วย
« Last Edit: May 08, 2009, 05:55:29 PM by sianbun »

sianbun on May 08, 2009, 05:51:14 PM
โครงการ ASA GREEN
โดยคณะกรรมาธิการวิชาการ สาขาเทคโนโลยีอาคาร และสิ่งแวดล้อม
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2551-2553

หลักการและเหตุผล
   ปัจจุบันบทบาทของสถาปนิกทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมมีความเด่นชัดมากขึ้น สังคมเรียกร้องให้วิชาชีพให้ความสนใจในประสิทธิภาพของอาคารทั้งทางด้านการใช้พลังงาน การปลดปล่อยของเสีย การใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษต่อผู้ใช้ การปรับสภาวะแวดล้อมภายนอกและภายในให้น่าสบาย และอื่นๆ โดยอ้างอิงแนวทางอาคารสีเขียว (Green Buildings) หรือ สถาปัตยกรรมยั่งยืน (Sustainable Architecture) ที่เกิดขึ้นแล้วในระดับสากล คณะกรรมาธิการวิชาการ สาขาเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องสร้างรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ส่วนหลักอันได้แก่ สภาพแวดล้อม (Environmental Sustainability) สังคม (Social Sustainability) และเศรษฐกิจ (Economic Sustainability) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิชาการ ได้เห็นว่าสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นองค์กรที่มีความพร้อมและความสามารถในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในวงการก่อสร้าง เพื่อผลักดัน (Push) และส่งเสริม (Pull) ให้เกิดสถาปัตยกรรมยั่งยืน

วัตถุประสงค์
เป็นที่รวมกลุ่มผู้รู้ ผู้สนใจ เพื่อจัดตั้ง ASA Green Forum
ทำการศึกษา วิจัย เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียวสำหรับประเทศไทย เพื่อนำมาสร้างเป็น Code of Practices และ Design Tools
จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมสถาปัตยกรรมสีเขียวทั้งการสร้าง Awareness และการจัดการความรู้ (Knowledge Management)
เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิก หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้าง และจัดการอาคารให้เป็นสถาปัตยกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน
เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมสีเขียวระดับประเทศ

กิจกรรมหลักภายใต้โครงการ ASA GREEN
ASA Green Forum: การรวบรวมกลุ่มความคิด
ASA Green Guide: การสร้างคู่มือการออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียว
ASA Green Points: การสร้างเกณฑ์การประเมินสถาปัตยกรรมสีเขียว
ASA Green Awards: การส่งเสริมและให้รางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น

ASA GREEN AWARDS
หลักการและเหตุผล
   คณะกรรมาธิการวิชาการฯ มีความเห็นว่าการที่จะส่งเสริมให้มีการนำแนวทางการออกแบบและประเมินสถาปัตยกรรมสีเขียวที่สมาคมๆ จะได้พัฒนาขึ้นนี้ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการก่อสร้างของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาคม ฯ จะต้องสร้างแจงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการออกแบบก่อสร้างอาคารที่มีการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในท้องตลาด แนวทางที่จะทำได้ในเบื้องต้นก็คือการนำหลักเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียว (ASA Green Guide) มาใช้เป็นเกณฑ์การมอบรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียว (ASA Green Awards) ให้แก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีการออกแบบก่อสร้างสอดคล้องกับแนวทางของสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มผู้ออกแบบและเจ้าของอาคารที่ทำดี ได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์โครงการที่ดีและรักษาสิ่งแวดล้อมสืบต่อไป และในที่สุดคู่มือการออกแบบและประเมินอาคารของสมาคมฯ ก็จะได้รับการรู้จักและยอมรับเป็นมาตรฐานระดับชาติในอนาคต

วัตถุประสงค์
เพื่อเสาะหาอาคารและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวทางการออกแบบและก่อสร้างอาคารสีเขียวสอดคล้องกับแนวทาง ASA Green Guide ของสมาคม ฯ
เพื่อส่งเสริมสถาปัตยกรรมสีเขียว โดยการมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่มีโครงการที่มีการออกแบบที่น่าสนใจตามเกณฑ์ของสมาคม ฯ

เกณฑ์ในการให้รางวัล ASA Green Award 2009
คณะกรรมการโครงการ ASA Green ในคณะกรรมาธิการวิชาการ สาขาเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องสร้างรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ส่วนหลักอันได้แก่ สภาพแวดล้อม (Environmental Sustainability) สังคม (Social Sustainability) และ เศรษฐกิจ (Economic Sustainability) ซึ่งคณะกรรมการโครงการ ASA Green ได้ทำการพัฒนาเกณฑ์การประเมินสถาปัตยกรรมสีเขียวขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการในการสรรหาอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาอาคารที่ได้รับรางวัล ASA Green Award นี้ คณะกรรมการได้พิจารณาจากแง่มุมต่าง ๆ ที่เจ้าของอาคารและสถาปนิกผู้ออกแบบได้พยายามแสดงออกในการออกแบบก่อสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกณฑ์ 10 ข้อต่อไปนี้จะใช้พัฒนามาเป็นคู่มือการออกแบบต่อไป

1. INTENTION: ความมุ่งมั่นในการออกแบบอาคารเขียว (Green Design Intention)
   สถาปัตยกรรมแสดงออกถึงวัตถุประสงค์อย่างเด่นชัดของผู้ออกแบบหรือเจ้าของอาคาร ในการที่จะนำเสนอแนวคิดในการสร้างสถาปัตยกรรมสีเขียวที่มีความยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน (Ecological, Social, และ Economics) ผลงานออกแบบโดยรวม (Overall design) มีความกลมกลืน เหมาะสม มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม

2. CONTEXT: บริบททางสังคมและชุมชน (Community & Cultural Context)
   มีความพยายามเสริมสร้าง ไม่ทำลายลักษณะทางกายภาพ บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมของชุมชน มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงเอกลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อมของชุมชน และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Community Identity & Sense of Place) พัฒนาและส่งเสริมการใช้พื้นที่เปิดโล่งแก่ชุมชนเมืองอย่างเหมาะสม และได้ประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างเต็มที่ ส่งเสริมระบบคมนาคมขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืน การเชื่อมโยงกับชุมชนและแหล่งสาธารณูปโภค เช่นการจัดเตรียมที่จอดรถจักรยาน ระบบ Carpool ระบบขนส่งมวลชน

3. EARTH: ใช้ประโยชน์ที่ดินและภูมิทัศน์อย่างยั่งยืน (Sustainable Land Use & Landscape)
การพัฒนาโครงการคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพ ระบบนิเวศของที่ดินที่ก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมสูง คำนึงถึงการใช้ที่ดิน การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อมเดิม ทั้งทางด้านการเก็บรักษาหน้าดินเดิม แหล่งน้ำ พืชพันธ์พื้นถิ่น และแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธ์ของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งพยายามลดพื้นที่ฐานอาคาร (Footprint) ของอาคาร คำนึงถึงการลดการชะล้างหน้าดินจากฝน การลด discharge rate ของน้ำฝน หรือการเตรียมบ่อหน่วงน้ำ (Retention pond) การควบคุมการปลดปล่อยน้ำเสีย คำนึงถึงการช่วยลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะร้อน (urban heat island) โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ หรือการใช้หลังคาเขียว (green roof)
4. TROPICAL: สอดคล้องกับเขตอากาศเขตร้อนชื้น (Tropical Design Solution)
คำนึงถึงลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมเขตร้อน และมีการประยุกต์ใช้ในการออกแบบอย่างเหมาะสม เช่นการบังแดด (Solar shading) การป้องกันความร้อน (Heat protection) ทิศทางลมและการระบายอากาศ (Wind direction & Natural ventilation) การเสริมสร้างสภาวะน่าสบาย (Thermal comfort) การใช้แสงสว่างธรรมชาติ (Daylighting) การทำความเย็นด้วยวิธีธรรมชาติ (Passive cooling)

5. COMFORT: ปลอดภัย น่าสบาย และสุขภาวะของผู้ใช้อาคาร (Occupant Safety, Health & Comfort)
การออกแบบและการจัดการอาคารที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาวะของผู้ใช้อาคารอย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านความน่าสบายเชิงอุณหภาพ (Thermal comfort) แสงสว่าง (Lighting) ทิวทัศน์ (Visual) เสียง (Acoustics) คำนึงถึงการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร ทั้งทางด้าน คุณภาพอากาศ (Air quality) การยศาสตร์ (Ergonomics) การป้องกันเพลิงไหม้ (Fire protection) คำนึงถึงการเข้าถึงของคนพิการ และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Handicap access & Universal design)

6. ENERGY: ประหยัดพลังงาน (Energy Conservation)
คำนึงถึงการออกแบบและจัดการอาคารที่เน้นการประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างพอเพียง ทั้งในแง่การออกแบบเปลือกอาคาร การปรับอากาศ การใช้แสงสว่าง การเลือกใช้ระบบวิศวกรรมอาคาร มีการคำนวณ ตรวจสอบ ค่าดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของอาคารทั่วไป เช่น ค่า OTTV, RTTV, lighting power density, energy consumption, power demand คำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทน (renewable) หรือพลังงานทางเลือก (alternative energy) อย่างเหมาะสม

7. WATER: ประหยัดน้ำ (Water Conservation)
การออกแบบและจัดการได้คำนึงการประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำประปา การรีไซเคิลน้ำทิ้ง มาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ รวมทั้งการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม และการเลือกใช้พืชพันธ์ที่บริโภคน้ำอย่างเหมาะสม การพยายามไม่ใช้น้ำประปาเพื่อการรดน้ำต้นไม้ รองรับน้ำฝนมาใช้ในโครงการ พยายามนำน้ำทิ้งมาเก็บและบำบัดเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ หรือมีนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

8. MATERIALS: วัสดุอาคารและการก่อสร้าง (Building Material & Construction)
เลือกใช้วัสดุก่อสร้างอาคาร หรือวิธีการก่อสร้างที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง (เสียง ควัน ฝุ่น ก๊าซพิษ น้ำเสีย) และโดยอ้อม (Embody energy และ คาร์บอน) คำนึงถึงการ reuse, recycle ของวัสดุ สนับสนุนการใช้วัสดุพื้นถิ่น เพื่อสนับสนุนการสร้างงาน หรือระบบเศรษฐกิจของชุมชุน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

9. SELF-SUFFICIENCY: ความยืดหยุ่น การปรับใช้และความพอเพียง (Flexibility, Adaptability & Sufficiency)
“Right size - Long life - Loose Fit“คือคำอธิบายที่สำคัญมากอันหนึ่งของสถาปัตยกรรมสีเขียว ที่สอดคล้องกลมกลืนกับแนวคิดสถาปัตยกรรมพอเพียง ที่กล่าวถึง ความประหยัด ความพอเหมาะ ความสมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้คู่คุณธรรม สถาปัตยกรรมสีเขียวจะต้องมีความประหยัดคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร การใช้พื้นที่ การใช้งบประมาณ โดยยังคงแสดงออกถึงการคงคุณค่าตามกาลเวลา รวมทั้งความสามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอย (adaptive reuse) และความยืดหยุ่น (flexibility) เข่นพิจารณาการออกแบบอาคารแบบถอดประกอบได้ หรืออาคารที่ใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Prefabrication)

10. FEEDBACK: ผลตอบรับหลังการใช้งาน (Post-occupancy Feedback) 
มีการพิจารณา ประเมินผลสำเร็จ และข้อผิดพลาด จากการออกแบบก่อสร้าง และการใช้สอยอาคารเพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะ บทเรียน แก่สังคมและคนรุ่นหลัง (Post-occupancy evaluation) อธิบายผลของการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบอาคาร ผู้ใช้อาคาร ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และตัวแทนชุมชน ในการที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ (green design intention) ที่วางไว้ อธิบายว่าการจัดการอาคาร commissioning & monitoring จะช่วยให้อาคารประสบความสำเร็จได้อย่างไร ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ใช้อาคาร และผู้จัดการอาคารเป็นอย่างไร (knowledge management) มีการเผยแพร่ความรู้ทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  หรือเปิดให้ทัศนศึกษา

ผลการพิจารณา ASA GREEN AWARDS 2009
ในครั้งแรกนี้มีอาคารที่ควรค่าแก่การประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับทราบจำนวน 9 อาคาร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาได้เสนอชื่ออาคารดังกล่าวและนำมาเข้าเกณฑ์การพิจารณาที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งอาคารแต่ละหลังล้วนมีจุดเด่นทางด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เน้นหนักทางด้านต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งได้แก่ 9 อาคารดังนี้
1.   อาคารที่ทำการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ) (โดยฝ่ายออกแบบและก่อสร้าง กฟผ.)
2.   ธนาคารกสิกรไทย สาขาแจ้งวัฒนะ (โดยบริษัท Design 103 International)
3.   ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม (โดยบริษัท Plan Architects)
4.   The Avenue รัชโยธิน Siam Future (โดยบริษัท Contour)
5.   สนามบินนานาชาติสมุย (โดยบริษัท Habita)
6.   หอศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (โดยบริษัท A49)
7.   อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (โดยบริษัท ต้นศิลป์)
8.   โรงงาน Interface Floor (โดยบริษัท Thai Nakano Co.,Ltd.)
9.   กุฏิวัดพุทธเขาโคดม (โดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์)