MSN on July 22, 2015, 08:05:21 AM
เปิดโครงการ “จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล” หลักสูตรพัฒนาศักยภาพการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ครั้งแรกในเมืองไทย




 
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือซัมซุงเปิดโครงการ "โซโน สคูล" หลักสูตรพัฒนาศักยภาพการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ครั้งแรกในเมืองไทยเพื่อส่งเสริมความชำนาญและเพิ่มทักษะให้แพทย์ทั่วประเทศ

ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับซัมซุง เปิดโครงการ "จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล: โครงการพัฒนาศักยภาพการตรวจ คลื่นเสียงความถี่สูง ทางสูติศาสตร์ (อัลตราซาวด์)" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองไทย เพื่ออบรมและ ฝึกทักษะการใช้เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ ส่งเสริมความชำนาญและเพิ่มทักษะให้แพทย์ทั่วประเทศ ในการตรวจวินิจฉัยและดูแลมารดาตั้งครรภ์รวมถึงทารกในครรภ์ให้ปลอดภัยและมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ช่วยลดอัตรา การเสียชีวิตในแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อสังคมระดับโลกของซัมซุงซึ่งจัดขึ้นใน 20 ประเทศทั่วโลก

รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "สตรีมีครรภ์ในประเทศที่กำลังพัฒนามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 25 – 40 เท่า ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวคือ ความสามารถที่จะตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ทางการแพทย์ได้มีการนำเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวด์มาใช้ ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก มีทั้งแบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ ช่วยให้สามารถตรวจทารกในครรภ์ได้ละเอียดและชัดเจนขึ้น การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยแพทย์ในการตรวจพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยใช้ตรวจความพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ ลักษณะของรกและตำแหน่งที่ รกเกาะและสายสะดือ เป็นต้น หากแพทย์ไม่มีความรู้ความชำนาญในการใช้เครื่องหรือไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจจะทำให้เกิดการผิดพลาดในการรายงานข้อมูลซึ่ง โครงการ 'จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล: โครงการพัฒนาศักยภาพการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์' นี้จะช่วยให้แพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมีความเชี่ยวชาญและมั่นใจในการใช้เครื่อง อัลตร้าซาวด์วินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครรภ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น อันจะมีผลช่วยในการลดอัตราการเสียชีวิตในแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้"

"ความร่วมมือในโครงการ 'จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูลกับซัมซุงในครั้งนี้ถือเป็นโซโน สคูลแห่งแรกที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามปณิธานของหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นเสาหลักในการให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวด์ แก่แพทย์ทั่วประเทศ"

นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า "ซัมซุงมีพันธกิจหลักที่สำคัญในการทำกิจกรรมตอบแทนสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอันล้ำหน้าของซัมซุงมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ 'จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล: โครงการพัฒนาศักยภาพ การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์' ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างซัมซุงและหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึง การร่วมมือกันอย่างแข็งขันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพการศึกษาทางด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพทย์ โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อสังคมระดับโลกของซัมซุงซึ่งปัจจุบันจัดขึ้นใน 20 ประเทศ ทั่วโลกทั้งในแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และ อเมริกาเหนือ รวมถึง 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทย 'จุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล' จัดอบรมทักษะให้แพทย์ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ทั้งในระดับเบื้องต้นสำหรับแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจอัตราซาวด์บ้างหรือไม่มีเลย และระดับสูงสำหรับสูติแพทย์และแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจอัลตร้าซาวด์ คอร์สละ 35 คน ภายใน 1 ปี จะมีการอบรมอย่างน้อย 6 ครั้ง มีแพทย์เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ของซัมซุงในการเรียนการสอน และได้เริ่มเปิดอบรมมาแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยมีแพทย์ที่เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 207 คนจากการจัดอบรม 5 ครั้ง การเปิดอบรมแต่ละครั้งได้รับผลตอบรับที่ดีจากแพทย์ซึ่งสนใจลงทะเบียนและเข้าร่วมมากมาย ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลในภาคกลาง อีสานและใต้ การอบรมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะโครงการสนับสนุนค่าเดินทาง ที่พัก ตลอดการอบรม"

นายแพทย์ไพรวัลย์ พัชรธรรม โรงพยาบาลจันทรุเบกษา กรมแพทย์ทหารอากาศ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า "หลังจากได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการจุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล ก็ได้นำความรู้และประโยชน์ที่ได้ กลับไปใช้ดูแลสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์ โดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์สำหรับช่วยดูแลเพิ่มเติม ถือว่าได้เพิ่มประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้และทักษะเพื่อดูแลสตรีตั้งครรภ์ได้ ทำให้มีความมั่นใจในการดูแลคนไข้เพิ่มขึ้น คิดว่าโครงการนี้น่าจะมีส่วนลดอัตรามารดาตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เสียชีวิตน้อยลง และโครงการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสูตินรีแพทย์เท่านั้น แต่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับแพทย์สาขาอื่นๆ ได้อีกด้วย"

แพทย์หญิงนันทิดา ปราบนุชวงษ์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า "เข้าร่วมอบรมกับโครงการจุฬาฯ – ซัมซุง โซโน สคูล เพราะอยากจะพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ หลังจากเรียนจบ ซึ่งโครงการนี้มีประโยชน์มาก วิทยากรที่ให้ความรู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ ระหว่างอบรมก็ได้ลงมือปฏิบัติจริง ถือเป็นการเพิ่มพูนความรู้ หลังจากผ่านการอบรมก็มีความมั่นใจมากขึ้นในการตรวจคนไข้ที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ ช่วยให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น อุปสรรคน้อยลง นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ที่ได้ไปช่วยสอนแพทย์รุ่นน้องที่เป็นนักศึกษาแพทย์อีกด้วย สำหรับการฝึกใช้งานเครื่องอัลตราซาวด์ถือเป็นเรื่องความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับแพทย์ทุกคน เพราะแพทย์ต้องมีความรู้ที่อัพเดท เพราะการไม่รู้อาจทำให้คนไข้เสียประโยชน์ได้"

ติดตามข่าวสารและรายละเอียดการอบรมได้ที่www.facebook.com/sonoschoolthailand /www.sonoschoolthailand.org หรือ โทร. 09-4249-6503