บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” เอารักมาฝาก ในภาพยนตร์เลิฟสตอรี่เรื่อง “ลูกทุ่งซิกเนเจอร์” วาเลนไทน์นี้ เพลงขึ้นให้รีบรัก
จุดเริ่มต้น-ที่มาที่ไปของโปรเจกต์เรื่องนี้
โปรเจกต์นี้ผมมีความคิดที่จะทำอยู่ในหัวมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีก่อน จะว่าไปแล้วก็เป็นไอเดียที่มีพร้อมๆ กับที่ผมอยากจะทำเรื่อง "องค์บาก" ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้ถ่ายองค์บากเลย โดยส่วนตัวผมเป็นชอบฟังลูกทุ่งมาก บางทีชอบถึงขนาดเปิดฟังในรถ แล้วขับวนไปวนมาอยู่ถนนหน้าบ้าน บางทีเราอินกับมันน่ะ ก็เลยรู้สึกว่า เพลงลูกทุ่งมันมีเสน่ห์อะไรบางอย่างโดยเฉพาะกับความเป็นคนไทย ก็เลยมีไอเดียอยากทำหนังเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งที่เป็นมุมมองของคนเมือง เพราะผมคิดว่ามุมนี้ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะจริงๆ แล้วคนไทยทุกคนกับเพลงลูกทุ่งมันอยู่คู่กันมาและก็เป็นจิตวิญญาณ
ซึ่งตอนนั้น "คุณศุ บุญเลี้ยง" ที่มีมุมลูกทุ่งเหมือนกัน ก็คุยกันและตั้งชื่อหนังให้ว่า "มนต์รักลูกครึ่ง" เพราะตอนนั้นกระแสลูกครึ่งกำลังมาแรง เลยมีความคิดว่าจะทำหนังลูกทุ่งแต่ใช้ลูกครึ่งเล่นกันทั้งเรื่องเลย ซึ่งเป็นไอเดียอยู่ ณ ตอนนั้น และเก็บไว้ในใจอยู่ตั้งนาน จนมาถึงตอนนี้พอเราเสร็จจากหนังแอ็คชั่น และหาช่วงเบรกจากหนังแอ็คชั่นก็อยากจะลองหาหนังแนวอื่นๆ มาทำดูบ้าง ไอเดียลูกทุ่งอันนี้เลยกลับมา
พัฒนาโปรเจกต์-เรื่องราวอย่างไร
ตั้งแต่ไอเดียแรกตอนนั้น มันเปลี่ยนไปเลยครับ ผมว่าเรื่องราวและเนื้อหามันต้องร่วมสมัยมากขึ้น ส่วนตัวเพลงลูกทุ่ง ยังไงผมก็ยังนึกถึงเพลงลูกทุ่งคลาสสิก ไล่มาตั้งแต่ยุคเก่าๆ แต่เพลงลูกทุ่งที่ผมจะใช้ในเรื่องนี้ต้องมีหลายเพลง และต้องเป็นเพลงที่คนรุ่นใหม่รู้จัก ซึ่งผมก็ดูรายการประกวดร้องเพลงไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่มีคนรุ่นใหม่มาร้อง มีเพลงอะไรที่เขานิยมเอามาร้องกันบ้าง ซึ่งนั่นคือเพลงที่ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักด้วย
การคิดเรื่อง-เขียนบท พี่ปรัชมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
ผมเป็นคนคิดเรื่องเองทั้งหมด ไอเดียและภาพจะอยู่ในหัวผมอยู่แล้ว แล้วผมก็หาคนเขียนบทมาช่วยเขียนไอเดียต่างๆ ที่ผมเล่าให้ฟัง วิธีการคิดเรื่องเนี่ย บางเรื่องก็ลอยมาเอง บางเรื่องก็มาจากเรื่องจริง ซึ่งหลายเรื่องในนี้ก็เป็นเรื่องจริงที่ผมได้เห็น มีมุมที่มันกระทบความรู้สึกซึ่งมันผสมกับเพลงลูกทุ่งได้ดีก็เลยนำมาผสมกัน
ความหลากหลายของทั้งเรื่องราวและอารมณ์เพลงแบ่งสัดส่วนอย่างไร
ผมมองว่ามันจะเล่าเรื่องเดียวไม่ได้ และพอเป็นหนังเพลง มันก็ต้องมีหลายเพลง และให้ความสำคัญกับเพลงเหล่านั้นโดยที่เล่าเป็นเรื่องใครเรื่องมันไปเลย เสร็จแล้วผมก็มานึกถึงเรื่อง Love Actually ซึ่งเป็นหนังรักโรแมนติกที่หลายๆ คนประทับใจ เป็นหนังที่พูดถึงคู่รักหลายๆ คู่ หลายๆ รูปแบบ ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะกับโปรเจกต์นี้มากๆ ผมก็เลยไปศึกษาการเล่าเรื่องของเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าเค้าพูดมุมความรักให้ไม่ซ้ำมุมกัน แต่มันแทบไม่ได้เชื่อมตัวละครเลยด้วยซ้ำ ผมว่าเค้าก็เล่าอย่างนั้นก็ทำให้เราสนุกได้ ผมก็เลยคิดว่าวิธีนี้เราต้องทำให้ได้ ก็คือเล่าจากเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันก็ได้ ให้เรื่องแต่ละเรื่องมันเป็นเรื่องใครเรื่องมัน แล้วก็สมบูรณ์ในแต่ละเรื่องไปเลย
เรื่องเพลงนี่จริงๆ ผมคิดแยกกันเลย คือเรารู้แล้วว่าจะมาทางนี้ ไอ้ตรงเพลงผมเลือกมาก่อนเลยเป็นเพลงลูกทุ่งเก่าที่คนรุ่นใหม่รู้จัก คือพูดง่ายๆ ไปร้านคาราโอเกะแล้วต้องมี หรือเราได้ยินคนรุ่นใหม่นำร้องบ่อยๆ ร้องประกวดอะไรอย่างนี้ ผมก็เลยกรุ๊ปมาเลยว่าเพลงเหล่านี้ผมต้องได้ใช้แน่ๆ เสร็จแล้วผมก็โฟกัสให้มันชัดไปอีกคือ ต้องไม่ใช่เพลงที่พูดถึงท้องไร่ ท้องนา ควายอะไรอย่างนี้ ผมอยากให้เป็นเพลงที่พูดถึงแล้วคนกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้ ก็สัมผัสได้ เพราะฉะนั้นเนื้อหาก็จะเป็นแบบคิดถึงกัน หลงรักกันอะไรอย่างนี้ ผมก็ค่อยๆ โฟกัสให้มันชัดขึ้นๆ จนเหลือประมาณ 20-30 เพลง
หลังจากนั้นตัวเรื่องก็คิดแยกต่างหาก เรื่องนี้รู้สึกยังไง เรื่องนี้สัมผัสใจเรายังไง แล้วค่อยมาดูว่าเรื่องนี้กับเพลงไหนมันเข้ากัน ก็ใช้เวลากับตรงนี้หลายปีอยู่ พูดง่ายๆ คือที่ผมบอกว่า 10 กว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ผมก็คิดไม่หยุดตลอดเวลา คือปั้นมัน ผสม ปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา
เรื่องราวความรักหลายรูปแบบของตัวละครหลากสีสันที่อยู่รายรอบชีวิตเรา สะท้อนผ่านเพลงลูกทุ่งอันคุ้นเคย
ผมตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นความรักวาไรตี้ผสมกลิ่นอายเพลงลูกทุ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกเพศวัย มีทั้งอารมณ์รักซาบซึ้ง อบอุ่น ตลก ยิ้มยิ้ม น่ารัก เรียกว่าครบทุกความรู้สึกเลย
"CEOกับสาวเมทห้องน้ำ" เรื่องนี้ผมเชื่อในความรู้สึกและพลังของความรักที่เหลือเชื่อที่เราคงเคยเห็นหลายคู่ที่สถานะทางสังคม เรื่องส่วนตัว ไม่น่าเชื่อว่าสองคนจะมารักกันได้ ผมชอบพลังความรักแบบนี้ เรื่องนี้ผมก็เลยวางเรื่องและคาแรคเตอร์ให้พระเอกเป็นซีอีโอทำงานออฟฟิศหรูอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ส่วนนางเอกก็เป็นเมดห้องน้ำให้มันเหลือเชื่อไปเลย แล้วทำยังไงเค้าถึงรักกันได้ ซึ่งผมว่าก็เป็นไปได้ที่จะเอาเสียงเพลงมาเป็นตัวเชื่อม ความรู้สึกของเรื่องนี้ ผมนึกถึงอารมณ์ของแอนิเมชันสั้นที่ได้ออสการ์เมื่อ 2-3 ปี ก่อนเรื่อง Paperman มันจะเป็นฟิลลิ่งเดียวกันเลย คนทำงานหรือคนเมืองที่กำลังตามหาความรักอยู่ตัวคนเดียว
แคสติ้งของเรื่องนี้ "คุณน้อย กฤษดา" เนี่ยเป็นแคสที่ลอยมาตั้งแต่แรกแล้ว พอพูดถึงซีอีโอแล้ว คุณน้อยนี่หน้าตานอกจากจะเป็นคนเมืองแล้ว ยังไปทางลูกครึ่งฝรั่งๆ อีก มันก็เลยคอนทราสต์กับลูกทุ่งสุดๆ เป็นแคสที่ผมมองว่าใช่มากๆ ส่วนตัวเมดห้องน้ำ ผมอยากได้หน้าใหม่ ซึ่งต้องไม่สวยเกินไป และต้องมาด้วยเสียง ซึ่งมีคนแนะนำ "น้องไข่มุก" ให้ผมได้รู้จัก เพราะน้องไข่มุกเป็นน้องที่ชอบเพลงลูกทุ่งมากแล้วก็ประกวดมาหลายรายการ ตอนั้นยังไม่ประกวด The Voice เลย เค้าเป็นตัวเด่นที่น่าจับตาเลย ณ ตอนนั้น และพอผมเห็นปั๊บใช้เวลาแป๊บเดียวก็ตัดสินใจว่าคนนี้อ่ะใช่ เป็นเมดที่ไม่ได้สวยมาก แต่ตอนนี้กลายเป็นสวยมากแล้ว (หัวเราะ)
เรื่องนี้ผมไม่ต้องการความรักแบบผู้ชายผู้หญิงมากนัก ผมอยากได้ความรักที่มันบริสุทธิ์กว่านั้น ขนาดซีเอโอยังมาผูกพัน ลุ่มหลงในเสียงจนอาจพัฒนาเป็นความรักขึ้นมาก็ได้ แต่ว่าระหว่างคุณน้อยกับน้องไข่มุก มันต้องมีเส้นๆ หนึ่งที่คนดูจะไม่คิดไปไกลเกินนั้น คือดูแล้วจะยิ้มกับรักบริสุทธิ์ ซึ่งผมอยากได้ภาพอย่างนั้น
ตอนนี้มีเพลงประจำเรื่องคือเพลง "เรารอเขาลืม" เป็นเพลงที่คุณสุนารี ราชสีมาร้องไว้ มันฝังอยู่ในหัวผมนานเหมือนกัน แล้วตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ามันชื่อเพลงอะไร จนต้องฮัมทำนองถามจากคนที่รู้จักเพลงลูกทุ่ง แล้วพอเอามาให้ไข่มุกร้อง ก็เพราะในแบบเสียงหวานใสกังวานของน้องเลย
เรื่อง "หนุ่มสะพานลอย" นี่มันมาจากเรื่องจริงนะ คือมีวันหนึ่งผมได้ดูข่าวจากเมืองจีน เป็นหนุ่มวัยรุ่นที่เขาจะฆ่าตัวตายบนสะพานลอยข้ามถนน ซึ่งในเนื้อข่าวนั้นน่ะ มันอาจจะเหมือนไม่มีอะไรนะ แต่มันน่าสนใจตรงที่ว่า ในระหว่างที่เขาจะฆ่าตัวตาย มีเด็กนักเรียนวัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง วิ่งฝ่าฝูงชนฝ่าตำรวจเข้าไปหาผู้ชายคนนั้น แล้วก็ในข่าวเขารายงานว่า ตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าเขาเป็นแฟนกัน แต่พอสังเกตดูอาการในการคุยกันของเขา จับความรู้สึกได้เลยว่า สองคนนี้ไม่รู้จักกันมาก่อน คือแล้วผู้หญิงทำไมวิ่งเข้าไปหา อันนี้คือสิ่งที่ผมสนใจมาก เหมือนประมาณว่าเข้าไปช่วยเหลืออ่ะ เหมือนว่าผู้หญิงคนนี้คงเข้าใจความรู้สึกของผู้ชายคนนี้ในเรื่องของความรักอกหักประมาณนี้ แล้วผู้หญิงคนนี้แบบว่าฉลาดมากเลยคือโน้มคอผู้ชายคนนี้มาจูบ มันเลยทำให้ตำรวจเข้าไปช่วยได้ เป็นเรื่องที่ผมแบบอึ้ง เป็นข่าวที่ผมดูแล้วมันเป็นเรื่องจริง ผมก็เลยชอบ หลังจากตอนนั้นผู้ชายคนนี้ก็ไม่พูดอะไรเลย พูดอย่างเดียวว่าผู้หญิงคนนั้นอยู่ไหน อยากเจออีก ซึ่งผู้หญิงคนนั้นก็เป็นผู้หญิงที่ลึกลับแล้วก็หายไปเลยอ่ะ ในข่าวมันมีแค่นี้ ผมแบบอันนี้มันใช่อ่ะ เป็นเรื่องที่ผมต้องเล่าให้ได้ ผมชอบเรื่องนี้ คือมันอาจจะดูไม่มีอะไร แต่ในแง่ความรู้สึกมันได้อ่ะ
แล้วผมก็เลยเลือกเพลง "ความรักเจ้าขา" เรื่องนี้เป็นเพลงที่แบบพูดง่ายๆ ผมว่าคนไม่ค่อยได้ยินหรอก เป็นเพลงที่ ถามว่าฮิตกับคนรุ่นใหม่มั้ย ผมว่าไม่ฮิต แต่ว่าเนื้อเพลงมันใช่ มันถึงความรู้สึกจริงๆ เลย แล้วก็ด้วยแคส "น้องนนท์ The Voice" ลอยมาเลยอ่ะ เพราะผมก็แอบชอบนนท์ตอนดูรายการนี้ นนท์เขาเป็นคนที่ร้องเพลงเพราะจริงๆ และพอให้เขามาร้องเพลงนี้ของคุณรุ่งเพชร แหลมสิงห์ โอ้โฮ น้องนนท์ร้องแบบทุกคนอึ้งเลย เขาร้องเพราะมากๆ เพราะจริงๆ ซึ่งจริงๆ แล้วน้องนนท์เนี่ยตอนที่เขาแข่ง The Voice ยังไม่หล่อนะฮะคือแค่ดูใช้ได้ แต่ปัจจุบันนี้วันที่ผมมาถ่ายหนัง มันโชคดีมากเลย คือ เขาเปลี่ยนเป็นดูหล่อเลย โดยเฉพาะพอเอาแว่นออกนี่ โอ้โฮ หล่อมากๆ เลย
นอกจากน้องนนท์แล้ว ผมก็อยากได้น้องผู้หญิงวัยรุ่นหน้าใหม่เลย แล้วก็ได้ "น้องพลอย ศรนรินทร์" มา ซึ่งตอนนั้น ผมก็กำลังดูแลหนังเรื่อง "อาบัติ" แล้วคุณฝน (ขนิษฐา ขวัญอยู่) ผู้กำกับเขาก็แนะนำให้ผมได้รู้จัก บอกว่าพี่สนใจไหมเนี่ยน้องพลอย ผมก็ โอ้โฮ…ใช่เลย ก็เลยให้น้องพลอยมาเล่น ซึ่งบทก็ไม่ได้เยอะอะไรมากหรอกครับ แต่ว่าด้วยแคส ด้วยความสดของน้องพลอย ความใหม่ของน้องนนท์ มันก็ได้ลงตัว รับผิดชอบเรื่องนี้ได้สมบูรณ์แบบมากๆ
"นายเฉาก๊วยกับสาวหน้าผี" นี่ก็มาจากเรื่องจริงครับ ก็หลายปีมาแล้วผมได้ดูรายการของคุณวิทวัสฮะ เขาก็พาดหัวว่า นายเฉาก๊วยกับสาวหน้าผี ประมาณนี้แหละ ถ้าผมจำไม่ผิดนะ น่าสนใจมาก อะไรคือนายเฉาก๊วย แล้วผมก็ได้นั่งดูคุณวิทวัสสัมภาษณ์ แล้วก็นายเฉาก๊วยก็เล่าประวัติชีวิตของเขา ตั้งแต่เป็นลูกจ้างผลิตเฉาก๊วยจนออกมาเข็นรถเข็นขายเฉาก๊วยอยู่ย่านหมู่บ้านอิสลาม แล้วก็มาเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่เด็กๆ แถวนั้นชอบล้อว่าสาวหน้าผี สาวหน้าผี ซึ่งเขามารู้ทีหลังว่าที่หน้าของผู้หญิงมีก้อนเนื้อปูดออกมาตรงลูกตาข้างซ้าย จากความที่เขารักด้วยความจริงใจ ไม่รังเกียจผู้หญิง เขาก็เลยได้เป็นแฟนกัน แล้วก็ทางรายการคุณวิทวัสเนี่ยสนใจความรักของสองคนนี้ก็เลยพาผู้หญิงไปทำศัลยกรรม ซึ่งวันที่ผมได้ดูรายการวันนั้นนะฮะ เป็นวันที่ศัลยกรรมเสร็จแล้ว แล้วจะเชิญผู้หญิงมาเปิดแผลเปิดหน้ากลางรายการเลย พร้อมกับให้นายเฉาก๊วยได้ดู ได้เจออะไรประมาณนี้ฮะ ซึ่งดูเหมือนกับปกติแหละครับ แต่ว่ามันมีประโยคๆ หนึ่งที่คุณวิทวัสถามนายเฉาก๊วยว่า คุณคาดหวังที่จะได้เห็นหน้าตาแฟนคุณสวยแค่ไหน ปรากฏว่าเขาตอบมาคำๆ หนึ่ง ผมน้ำตาไหลเลย เขาตอบมาว่า ตอนแรกเขาก็อยากจะเห็นแฟนเขาสวยเหมือนคนอื่น แต่พอมาคิดอีกทีหนึ่ง เขาเปลี่ยนใจละ เขาบอกอย่าสวยเลย ไม่ต้องสวยหรอก เพราะว่าถ้าสวยแล้วกลัวจะเสียเธอไป ซึ่งตรงนี้แววตาของนายเฉาก๊วยนั้นเห็นได้ชัดเลยว่าเขารักและหวงแฟนเขามาก ความรักของสองคนนี้ ดูแล้วแบบน้ำตาไหล แล้วก็อมยิ้มกับความรักของเขา ซึ่งผมก็ชอบและประทับใจ ก็เลยอยากจะพูดถึงความรักของคู่นี้
"คุณกอล์ฟ เบญจพล" เนี่ย ผมแอบสังเกตมาหลายปีแล้วฮะ ผมชอบเขาแสดงดราม่า เขาดราม่าได้กินใจมาก คือ โอเค บางคนอาจจะเห็นภาพเขาตลกๆ แต่ผมชอบดราม่ามากกว่า และผมก็เคยคุยกับคุณกอล์ฟตั้งนานแล้วว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาส อยากทำงานด้วยนะ แต่อยากให้กอล์ฟดราม่าให้ ซึ่งผมก็คิดว่าโปรเจกต์นี้แหละ ซึ่งเป็นบทไหนตอนนั้นผมยังไม่รู้ แต่พอมาตัดใจเลือกว่าจะทำเรื่องนายเฉาก๊วยนี้ ก็ต้องกอล์ฟเลย แล้วก็ตัวผู้หญิงก็ต้องดูดีมากๆ ซึ่งได้ "คุณนุ่น ศิรพันธ์" มาเล่น ผมก็ลำบากใจว่านุ่นต้องมาเล่นแบบมีก้อนเนื้อปูดที่ลูกตา ซึ่งพอเขาทราบเรื่องทราบคอนเซ็ปต์ เขาก็สนใจและก็ท้าทายที่ได้มาดราม่ากับคุณกอล์ฟ มีความรักกัน ซึ่งพอสองคนนี้มาเล่นด้วยกันแล้ว ผมก็ชอบการทำงานแบบว่า ให้เขาเป็นเขา ให้เขาทำการบ้านมาเอง ให้เขานำเสนอ คือคุยให้เขาเข้าใจแล้วเอาเลยทั้งสองคน ซึ่งทั้งสคู่ก็ทำการบ้านมาดีมาก ถ่ายกันดีมากๆ ส่วนที่ยากที่สุดคือคุณวิทวัส ผมก็บอกว่า คุณวิทวัสเป็นคุณวิทวัสแหละ เหมือนไม่เคยสัมภาษณ์มาก่อน เหมือนสัมภาษณ์ใหม่เลย ซึ่งคุณวิทวัสใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร เพราะว่าความถนัดอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายทุกอย่างก็ลงตัวหมด ดีมาก
ตอนนี้ได้ "คุณศรเพชร ศรสุพรรณ" มาร้องเพลง "บุพเพสันนิวาส" ให้ด้วย คุณศรเพชรเนี่ย เขาได้ร้องเพลงของศิลปินท่านอื่นมาหลายเพลงแล้ว แต่เพลงนี้ในชีวิตของคุณศรเพชรไม่เคยร้องนะฮะ เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ฟังศรเพชร ร้องเพลงบุพเพสันนิวาสนี้กันครับ
เรื่อง "สาวมือระเบิดกับหนุ่มอาร์ต" นี่มันก็มีที่มาจากเรื่องจริงเหมือนกัน คือตอนผมทำหนังแอ็คชั่นไล่มาตั้งแต่เรื่อง "องค์บาก" แล้วก็มา "ต้มยำกุ้ง" เนี่ย ก็มีหลายๆ ครั้งผมจะต้องมีฉากระเบิด ผมก็ต้องใช้ "เฮียเล้ง" มาทำระเบิดให้ ซึ่งคนในวงการจะรู้จักแกดี และผมก็เห็นเฮียเล้งมาพร้อมกับลูกสาว ซึ่งลูกสาวตอนนั้นกำลังเป็นวัยรุ่น ผมก็เห็นลูกสาวเฮียเล้งมาช่วยพ่อวางระเบิด ขุดดิน ใส่ดินปืน เดินสายไฟ ทำแบบแคล่วคล่องมาก คือเป็นภาพที่ผมสนใจ นั่งมองการทำงาน คือ ผู้หญิงที่วางระเบิดมันเป็นภาพที่แปลกดี แล้วการวางระเบิด อุปกรณ์สมัยก่อนก็ไม่ได้เหมือนสมัยนี้ คือมันต้อง Manual มากเลย เอาตะปูมาตอกๆ ใส่ไม้แล้วเอาทองแดงมาพันๆๆ แล้วตะปูอีกตัวหนึ่งพันสายไฟมาขั้วบวกขั้วลบ แล้วก็ระเบิดกันตูมๆๆ อะไรอย่างนี้ ผมเห็นแล้วก็แบบสนใจคาแรคเตอร์เหล่านี้ บางทีคาแรคเตอร์คนเรามันสร้างเรื่องราวได้ ก็เลยพยายามผูกเรื่องราวขึ้นมาให้เกิดความรักในกองถ่ายระหว่างหนุ่มอาร์ตหน้าใหม่กับสาวมือวางระเบิดครับ
ซึ่งก็ได้ "น้องกาย นวพล" มาเล่น หน้าตาก็ไปทางลูกครึ่งนิดๆ ส่วน "น้องจอย พัชรี" นางเอกนี่ผมหาอยู่นานนะฮะ อยากได้ผู้หญิงที่ต้องดูแล้วเชื่อว่าเขาวางระเบิดเป็น ตอนนั้นก็มีคนแนะนำจอยให้รู้จัก ช่วงนั้นเขาได้เล่นโฆษณาตัวหนึ่งพอดี เป็นเด็กที่อยู่กับพ่อเป็นใบ้ที่มีดราม่ากันน่ะ คราวนี้ถึงตัวละครเฮียเล้ง ก็เลือกอยู่หลายคนว่าจะเอาใคร สุดท้ายก็เลยนึกถึงว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เอาคุณพ่อที่เล่นเป็นใบ้ในโฆษณาตัวนั้นกับน้องจอยมาเป็นคู่เลย เขาเคยเล่นด้วยกันมาแล้ว ผมก็เออ ดีมากเลย ก็เอามา คราวนี้ปัญหาก็คือคุณพ่อที่เล่นโฆษณาตัวนั้นเขาเป็นใบ้จริงๆ ผมก็อ้าวเหรอ ทำไงดี ในบทเฮียเล้งต้องพูดด้วย ผมก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนให้เฮียเล้งเป็นใบ้ ผมว่ามันน่าสนใจขึ้น มันมีมิติขึ้นเยอะเลย มือระเบิดเป็นใบ้ มันลงตัว แล้วก็ใส่เรื่องราวให้มันเกิดขึ้น
ในส่วนของเพลงเรื่องนี้จะพิเศษกว่าเรื่องอื่นตรงที่ว่าตัวละครไม่ได้ร้องเพลง แต่ว่าในความรู้สึกจะต้องมีเพลงมาซัพพอร์ตจริงๆ ผมเลยคิดว่าจะต้องมีตัวละครอื่นมาร้องให้ เป็นการเชื่อมเรื่องอีกแบบหนึ่ง เป็นตัวละครอื่นจากเรื่องราวอื่นมาร้องให้ ซึ่งก็คือเพลง "บอกรักฝากใจ" ซึ่งได้ "เบน ชลาทิศ" มาร้องให้ ซึ่งเป็นแพลงฮิตนะครับ ฮิตมากๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ หลายคนเอามาร้อง แล้วก็เวลาคุณ search ดูใน YouTube นะฮะ "บอกรักฝากใจ" คุณจะเห็นเลยว่าใครๆ ก็ร้อง นักร้อง ดารงดาราเอามาร้องหมดเลย ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในใจของคนลูกทุ่ง แล้วเนื้อหาก็น่ารักมาก คือรักเขาแต่ไม่กล้าบอก ก็แค่บอกว่ามีคนฝากมาบอกนะอะไรอย่างนี้ ซึ่งเหมาะกับเรื่องนี้มากๆ ครับ
เรื่อง "ซุป'ตาร์สัมผัสทุ่ง" จะว่าไปก็มีส่วนจริงเกิดขึ้นอยู่ คือตั้งแต่ตอนผมทำงานอยู่ RS นะฮะ ผมทำมิวสิควิดีโอของคุณทัช ณ ตะกั่วทุ่ง มาตั้งแต่อัลบั้มแรกคือ สัมผัสทัช แล้วหลังจากนั้นก็เป็นทัชนู่นทัชนี่ สัมผัสมาทางเทคโนโลยี มาทางแดนซ์ มาทางป๊อป อิเล็กทรอนิคผสมกันไปงี้เลย แล้วอยู่มาวันหนึ่งเพื่อการตลาด ทัชจะต้องมาร้องเพลงลูกทุ่ง แล้วชื่ออัลบั้มว่า "ทัชสัมผัสทุ่ง" ผมก็เห็นว่าเออ...อันนี้คือสัจธรรรม นี่คือธุรกิจนะ ตัวตนของเขากับความเป็น คือมันคนละเรื่องเลย มาแดนซ์แล้วมากลายเป็นลูกทุ่ง ก็แค่มุมนี้ละฮะที่มันทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เพราะว่ามันเหมาะกับการที่ผมจะมาพูดเรื่องลูกทุ่งว่า จริงๆ แล้วลูกทุ่งกับเพลงแนวอื่นๆ อะไรเนี่ย มันมีคุณค่าไม่ต่างกันจริงๆ มันมีคำคมคำหนึ่งที่พี่ประภาสเขียนไว้นานแล้ว ผมชอบมากๆเลย เขาพูดถึงวงการเพลง เพลงประเภทต่างๆ เขาบอกว่า "คลาสสิกอย่าดูถูกแจ๊ส แจ๊สอย่าดูแคลนป๊อป ป๊อปก็อย่ารังเกียจลูกทุ่ง ลูกทุ่งเองก็อย่ารังงอนหมอลำ หมอลำก็อย่าไปคิดว่าคลาสสิกมันสูงส่ง" ซึ่งประโยคคำคมนี้มันใช่เลย แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ผมจะมาพูดในหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นตัวละครในเรื่อง "ซุป'ตาร์สัมผัสทุ่ง" เนี่ย จะต้องเป็นนักร้องเพลงป๊อปแดนซ์ที่วันหนึ่งการตลาด จากเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนไป แล้วก็ความดังของเขามันเปลี่ยนไป ค่ายเพลงจะต้องให้เขาไปทำอัลบั้มลูกทุ่ง ซึ่งนักร้องคนนี้จะต้องเป็นคนที่แบบว่า ไม่มีความเป็นลูกทุ่ง แล้วก็ไม่ได้คิดว่าชีวิตเขาจะต้องไปเกี่ยวกับลูกทุ่ง ผมอยากเล่าให้ตัวละครในเรื่องนี้แทบจะเป็นแก่นของหนังเรื่องนี้เลยว่า จากคนที่ไม่รู้จักลูกทุ่ง แล้วไปสัมผัสลูกทุ่ง อะไรทำให้เขาเปลี่ยน อะไรทำให้เขาเข้าใจ แล้วก็เขาได้เรียนรู้อะไรกับความเป็นลูกทุ่ง
แล้วก็ใช่มากเลย ผมก็คิดอยู่นานจะเอาใครมาเล่น แต่ผมว่าตัวจริงเขาต้องเป็นนักร้องด้วย ไม่ควรเอาดารามาเล่น ควรจะเป็นนักร้องตัวจริง ถ้าจะให้ดีต้องเป็นนักร้องที่ไม่ใช่ลูกทุ่งด้วยเลย ก็คิดอยู่นาน เลือกอยู่หลายครั้ง ช่วงนั้น "คุณเบน ชลาทิศ" เขากำลังโด่งดังขึ้นมาเลย เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถ้าไม่ ผมไม่ได้นึกถึงเขาเลยตอนแรก แล้วพอจังหวะอีท่าไหนไม่รู้ พอชื่อเขาลอยขึ้นมา ใช่เลย ใช่สุดๆ เลย คือพอเขายินดีรับเล่น ผมแทบจะกราบเขาเลย เพราะว่าตอนนั้นต้องเขาเท่านั้นเลยครับ
อย่างที่ผมว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นตัวละครที่เหมือนเป็นตัวแทนคนดูส่วนใหญ่ที่จะเข้าไปสู่วงการเพลงลูกทุ่ง คนที่ไม่รู้จักลูกทุ่ง จะได้รู้จักผ่านตัวละครของเบน แล้วผมก็อยากได้ครูเพลงมาแสดง เป็นช่วงที่เขาทำงานด้วยกันจะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน เกิดการซึมซับซึ่งกันและกัน ผมว่า "ครูสลา คุณวุฒิ" ก็น่าจะเป็นครูเพลงที่รุ่นใหม่รู้จักแล้วก็น่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี ผมต้องการความขลังของลูกทุ่ง แต่ไม่ใช่ว่าดูซีเรียสเกินไป ครูสลานี่ผมว่าเป็นกลางๆ ดี แล้วก็ส่วนตัวแม่ของลูกทุ่งเนี่ย มันต้องมี Featuring กัน ซึ่งเราก็เห็นว่า บางทีเราเห็นค่ายเพลงแกรมมี่บ้าง อาร์เอสบ้าง บางทีก็เอาศิลปินป๊อปมา Featuring คู่กับลูกทุ่งหญิงชื่อดัง แล้วก็ได้เพลงฮิตๆ มาหลายเพลงเลย ผมก็เลยน่าจะมาทางนี้ ก็ได้ "คุณอาภาพร นครสวรรค์" เพราะว่าคุณอาภาพรกับเบนเขาก็น่าจะเหมาะกันดีฮะ แล้วเพลงที่เลือกใช้ก็เหมือนเป็นเพลงชาติของลูกทุ่งเหมือนกัน ก็คือ "ทำบุญร่วมชาติ" เพลงนี้พอพูดปุ๊บ ใครๆ ก็ เด็กรุ่นใหม่ก็รู้จักครับ