“คอตตอน ยูเอสเอ” เผยผลวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยผู้บริโภคประจำปี 2557 ชี้ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ในทุกๆ ปีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และมีพฤติกรรมช้อปปิ้งผ่านโซเชียล มีเดียสูงกว่าผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ
กรุงเทพฯ – คอตตอน ยูเอสเอ เผยผลสำรวจวิจัยตลาด “2014 COTTON USA Global Lifestyle Monitor” เกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคใน 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร ตุรกี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มช้อปปิ้งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 โดยช่องทางยอดฮิตที่คนไทยนิยมเลือกซื้อเสื้อผ้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้านค้าริมถนน ห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ อย่าง โซเชียล มีเดียมีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากถึงร้อยละ 69 และเป็นอัตราที่สูงกว่าผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า คอตตอน ยูเอสเอได้ทำการสำรวจวิจัยตลาดในหัวข้อ “Global Lifestyle Monitor” โดยจะทำการสำรวจทุกๆ 2 ปีกับผู้บริโภคใน 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร ตุรกี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศไทย เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั่วโลก และนำผลสำรวจที่ได้มาวิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้า เทรนด์การช้อปปิ้งของผู้บริโภค ช่องทางหลักในการเลือกซื้อสินค้า รวมไปถึงการจัดลำดับประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าของผู้บริโภคคนไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนพัฒนาสินค้า รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายให้ตอบโจทย์ความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
นายไกรภพ กล่าวต่อว่า “สำหรับในประเทศไทย เราได้สำรวจกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน แบ่งเป็นเพศชาย 500 คน และเพศหญิง 500 คน ในกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 15-55 ปี มีระดับรายได้อยู่ที่ 15,000 – 60,000 บาทขึ้นไป และพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ โคราช ชลบุรี และหาดใหญ่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 6 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยชอบซื้อเสื้อผ้า และกว่าร้อยละ 58 ซื้อเสื้อผ้าเดือนละหนึ่งครั้งหรือมากกว่า
จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ในทุกๆ ปี และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 โดยใน ปี 2557 นี้ มูลค่าโดยรวมของการซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคชาวไทยอยู่ที่ราว 2,763 พันล้านบาท โดยจากผลสำรวจพบว่า 6 ใน 10 มีพฤติกรรมชื่นชอบการซื้อเสื้อผ้า โดยร้อยละ 58 ต่างยอมรับว่าซื้อเสื้อผ้าอย่างต่ำเดือนละหนึ่งครั้งหรือมากกว่า และร้อยละ 63 ของผู้บริโภคชอบซื้อเสื้อผ้าตอนลดราคามากที่สุด และเมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญในการซื้อเสื้อผ้า พบว่า กว่าร้อยละ 93 มองว่า “คุณภาพที่ดี” เป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อเสื้อผ้า ซึ่งผู้บริโภคร้อยละ 57 ยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อคุณภาพที่ดีของสินค้า ในส่วนของวัตถุดิบหลักในการตัดเย็บเสื้อผ้า 8 ใน 10 ของผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันว่าเส้นใยฝ้ายเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพดี และเป็นเส้นใยที่ผู้บริโภคชื่นชอบมากที่สุด ในขณะที่ 6 ใน 10 ผู้บริโภคตระหนักถึงเส้นใยอื่นๆ ที่ถูกนำมาทดแทนเส้นใยจากฝ้าย และ ร้อยละ 64 ไม่พึงพอใจที่เส้นใยอื่นๆ มาทดแทนฝ้ายในเสื้อผ้า และ ร้อยละ 67 ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้เก็บส่วนผสมของฝ้ายไว้ในเสื้อผ้า
ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 69 ฮิตซื้อเสื้อผ้าผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย มากที่สุด
เมื่อถามถึงช่องทางการเลือกซื้อเสื้อผ้าในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย พบว่า ผู้บริโภคยังคงนิยมซื้อเสื้อผ้าที่ร้านค้าริมทางหรือตลาดนัดมากที่สุดถึงร้อยละ 51 ตามมาด้วยดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ร้อยละ 13 และไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 19 อย่างไรก็ตามในปี 2014 นี้พบว่าช่องทางออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคมีความนิยมซื้อเสื้อผ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียล มีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ค และ อินสตาแกรมเป็นช่องทางยอดฮิตที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดถึงร้อยละ 69 ตามมาด้วย เสิร์ชเอนจิน (Search engines) หรือเว็บไซต์ ร้อยละ 57 และออนไลน์ รีเทลเลอร์ ร้อยละ 15
จากการศึกษาสัดส่วนการจัดอันดับเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้าของผู้บริโภคชาวไทย พบว่าคนไทยมีกางเกงยีนส์ในตู้เสื้อผ้าประมาณร้อยละ 6 หรือโดยเฉลี่ย 11 ตัว สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
เมื่อถามถึงประเภท และสัดส่วนเสื้อผ้าที่ผู้บริโภคชาวไทยมีไว้ครอบครองในตู้เสื้อผ้า พบว่า เสื้อ เป็นไอเท็มที่คนไทยมีมากที่สุดถึงร้อยละ 30 ตามมาด้วยกางเกง ร้อยละ 22 ชุดชั้นใน ร้อยละ 15 ถุงเท้า ร้อยละ 9 ชุดกีฬา ร้อยละ 7 ชุดเดรสและกระโปรง ร้อยละ 4 เสื้อแจ็คเก็ตหรือเบลเซอร์ ร้อยละ 3 และไอเท็มอื่นๆ ร้อยละ 4 ตัว โดยไอเท็ม “ยีนส์” ยังคงเป็นไอเท็มยอดฮิตที่ครองใจผู้บริโภคทั้งเพศชาย และหญิง โดยมียีนส์เฉลี่ยคนละ 11 ตัว มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา คนละ 15 ตัว โคลัมเบีย คนละ 13 ตัว และ บราซิล คนละ 12 ตัว ตามลำดับ
“จากผลวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคคนไทยมีพฤติกรรมซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากแนวโน้มการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3 ในทุกๆ ปี และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3,186 พันล้านบาท อีกทั้งผู้บริโภคโดยส่วนมากยินดีที่จะจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับคุณภาพที่ดีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า รวมถึงส่วนผสมของเส้นใยที่ผู้บริโภคชาวไทยรับรู้ได้ถึงการนำเส้นใยอื่นๆมา
ทดแทนเส้นใยฝ้ายที่เป็นเส้นใยที่ชาวไทยชื่นชอบและรับรู้ว่าเส้นใยที่มีคุณภาพดี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและส่วนผสมเส้นใยฝ้ายที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บเสื้อผ้า นอกจากนี้เสื้อผ้าประเภทยีนส์ หรือเดนิมเป็นประเภทเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยร้อยละ 74 ของหนุ่มสาวออฟฟิศต่างนิยมสวมใส่ไอเท็มยีนส์ไปทำงานอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับช่องทางการโปรโมท และการขายเสื้อผ้านั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น โซเชียล มีเดีย เสิร์ชเอนจิน หรือออนไลน์รีเทลเลอร์ มากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางใหม่ที่ผู้บริโภคนิยมชื้อเสื้อผ้า และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน” นายไกรภพ กล่าวทิ้งท้าย