happy on November 19, 2014, 08:29:53 PM
ศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว  ตะกรบ จ.สุราษฏร์ธานี
ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ
จัด “กิจกรรมสร้างสรรค์เวทีนักเล่นนิทาน”  โชว์นิทานผสานวัฒนธรรมภาคใต้
เพื่อถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ และองค์ความรู้ในการเล่า อ่าน เล่น ให้แก่ทุกครอบครัว
สานต่อแนวคิดการเล่า อ่าน เล่น จากโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก ปี 2557


                นับว่าประสบความสำเร็จมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้วสำหรับ โครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ปี 2557 ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงเจริญพระชันษาเข้าสู่ช่วงปฐมวัย  พระองค์ทรงใช้หนังสือนิทาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการอภิบาลพระโอรส  เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในทุกมิติ  เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน เหมาะสมวัย ด้วยทรงเข้าใจในธรรมชาติของเด็กวัยนี้อย่างลึกซึ้งว่า หากได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นในทางที่เหมาะสม เด็กจะพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ และสติปัญญาได้อย่างเต็มที่


                กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สานต่อแนวพระดำริ และได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบันโดยศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว ฯ เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 40 แห่งทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายคณะวิทยากรกระบวนการสานสายใยรักฯ เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” หรือ “คุณฟา (Facilitator: FA)” วิทยากรจิตอาสา ในโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ กว่า 1,600 คน เป็นตัวแทนในการส่งต่อแนวคิดและองค์ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กและสังคม ในระดับท้องถิ่นผ่าน เวทีชุมชน กว่า 300 เวที กระจายผลสู่ 27,800 ครอบครัวทั่วประเทศ


                สำหรับปี 2557 นี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6   โดยในปีนี้ยังคงมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนงานเชิงโครงสร้าง ไปสู่เชิงนโยบาย  เปิดพื้นที่อาสาให้คนเข้ามาทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ความยั่งยืน ผ่านเวทียุทธศาสตร์เล่าอ่านเล่นในพื้นที่เพื่อสำรวจฐานทุนและดึงศักยภาพพร้อมพัฒนาสร้างภาคีเครือข่ายในการทำงานให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมเวทีสร้างสรรค์ ใน 36 พื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการอบรมเติมความรู้เทคนิคด้านการเล่า อ่าน เล่น ผ่านกิจกรรม Workshop  ให้แก่ วิทยากรกระบวนการสานสายใยรักฯ เล่านิทานอ่านและเล่นกับลูก หรือ “คุณฟา” (Facilitator :FA)   ใน 4 พื้นที่ ศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ที่มีความโดดเด่นจากปีก่อนๆ  ในหัวข้อ “Creative Drama” ที่จะถ่ายทอดเทคนิคบทบาทสมมุติ (Role play) และ กระบวนการละคร (Drama process), เทคนิค Drama play reading, เทคนิค Narrator Telling และ เทคนิค Drama playing เพื่อให้เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการใช้เทคนิคบทบาทสมมุติ และ กระบวนการละครในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมแก่เด็กปฐมวัย ประยุกต์ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยบทบาทสมมุติ และ กระบวนการละคร ได้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมเล่านิทานในแต่ละพื้นที่ โดยสอดแทรกค่านิยมที่ถูกต้องรวมถึงคุณสมบัติที่พึงมี เพื่อเติบโตไปสู่การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมผ่าน กระบวนการต้นทางอย่างการเล่านิทาน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อมแก่เด็กปฐมวัย


นายกิตติ ทวีทรัพย์ ผู้จัดการศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ตะกรบ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในพระอุปถัมภ์ฯ

                นายกิตติ  ทวีทรัพย์   ผู้จัดการศูนย์  ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว  ตะกรบ จังหวัดสุราษฎร์ธานีฯ  ได้กล่าวว่า  “การรวมกลุ่มของชาวบ้านในท้องถิ่น เช่น ครู พยาบาล ปราชญ์ชาวบ้านในท้องที่และสมาชิกในพื้นที่มารวมกลุ่มกันเข้ารับการอบรมในโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกฯ ตั้งแต่ปี 2552  โดยมีแรงบันดาลใจร่วมกันในการสร้างและพัฒนาคุณภาพของเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อเป็นรากฐานสำคัญของชุมชน   สร้างความอบอุ่นในครอบครัว  ได้พัฒนามาเป็นกลุ่มอาสาสมัครวิทยากรกระบวนการสานสายใยรักแห่งครอบครัว เล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก จำนวนกว่า  30 ท่านสลับหมุนเวียนกันมาทำงานและส่งเสริมเผยแพร่แนวคิดในการใช้นิทานเป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาการแก่เด็กๆ รวมทั้งช่วยสร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัวอย่างต่อเนื่องผ่านเวทีกิจกรรม เวทีอบรมเติมความรู้ต่างๆ โดยได้รับความสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่และสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างดี ก่อเกิดเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในมุมมองของคนทำงานและชุมชน”

                การดำเนินงานในปี 2557 ของ ศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ตะกรบ จังหวัดสุราษฎร์ธานีฯ  ได้มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ “เวทีนักเล่นนิทาน” เพื่อเป็นการต่อยอดเพิ่มเติมความรู้ที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตร “Creative Drama” หรือ กระบวนการละคร และบทบาทสมมติ  ในเวที Workshop  จาก เสาวนีย์  วงศ์จินดา หรือ ครูเม้ย  นักการละครผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้  เกี่ยวกับเทคนิคการเล่า อ่าน เล่น ผ่านศิลปะการแสดง มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ผ่านกิจกรรม “ลานเล่นนิทานอมตะ” โดยเป็นแสดงการเล่า อ่าน และเล่นนิทานอมตะอันโด่งดังอย่าง “สโนว์ไวท์ กับคนแคระทั้งเจ็ด” ในแบบฉบับของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยการนำภาษาท้องถิ่นมาใช้ในการแสดง  เพื่อสื่อสารให้พ่อแม่ และเด็กๆ ในชุมชนเข้าใจได้ง่าย  อีกทั้งยังเพลิดเพลินไปกับมุขตลกในแบบฉบับคนสุราษฎร์ฯ อีกด้วย  ทำให้ระหว่างการเล่า อ่าน และเล่นนิทาน  ตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น สโนว์ไวท์ คนแคระ แม่มด และเจ้าชาย  สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ตลอดทั้งงาน


แพทย์หญิงพนิดา จันทรังสิกุล

                นอกจากความสนุกสนานครื้นเครงจากการแสดงนิทานของ คุณฟา แล้ว  ภายในงานยังได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ความสำคัญของการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก” โดย แพทย์หญิงพนิดา จันทรังสิกุล  กุมารแพทย์ ประจำโรงพยาบาลไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้พ่อแม่ และผู้ปกครองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้นิทาน เป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูก ได้กล่าวว่า “มีการพูดถึงความสำคัญของการเล่านิทานว่า เล่านิทานให้ลูกฟังวันละ 5 นาที ลูกจะฉลาดไปตลอดชีวิต พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง ทำให้ได้รับความรู้จากนิทาน ขณะเล่านิทานพ่อแม่ได้อยู่ใกล้ลูก เด็กเองได้พัฒนาประสาทสัมผัสตั้งแต่การฟัง การมองเห็น เช่น ดูรูป ดูตัว อักษรต่างๆ แม้กระทั่งกล้ามเนื้อมัดเล็กที่พยายามจับหนังสือนิทาน เมื่อเด็กพยายามจะพลิกเปิดหน้ากระดาษ เด็กจะได้พัฒนาทั้ง 4 ด้าน คือ สติปัญญา อารมณ์ สังคม และร่างกาย  แต่การที่สมัยนี้เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปไกลมากขึ้น มีสีสันและเสียงที่กระตุ้นการรับรู้ให้เด็กตื่นตาตื่นใจมากขึ้น  เมื่อพ่อแม่ไม่เล่านิทาน  ลูกจะหันไปดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์แทน  ซึ่งมันเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กไม่รู้จักการอ่าน การจับกระดาษ หรือการฟังอย่างตั้งใจ การเลือกนิทานให้ลูกยิ่งมีความสำคัญ พ่อแม่จะต้องคิดวิเคราะห์แล้วว่าเนื้อเรื่องหรือตัวละครมีความเหมาะสม นิทานบางเรื่องที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก อย่างเช่น แจ็คผู้ฆ่ายักษ์  ซึ่งแจ็คทำผิดศีล 5 หลายข้อ ตั้งแต่การลักขโมย จนไปถึงการฆ่ายักษ์  ดังนั้นพ่อแม่จะต้องอ่านและวิเคราะห์ให้ลูกฟัง โดยให้ลูกสรุปใจความสุดท้ายด้วยตัวเอง นั่นจึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดที่เด็กจะได้จากนิทาน”


คุณเสาวนีย์  วงศ์จินดา หรือ ครูเม้ย

                โดยหลังจากการเสร็จสิ้นกิจกรรม  คุณเสาวนีย์  วงศ์จินดา หรือ ครูเม้ย  ซึ่งเดินทางมาชมผลงานการแสดงของคุณฟา และเด็กๆในวันนี้ ได้กล่าวถึงผลงานเวทีนักเล่นนิทาน  ในครั้งนี้ว่า “ตอนที่มาจัดการอบรมเรื่อง Creative Drama หรือบทบาทสมมติและกระบวนการละครให้กับ คุณฟา ที่สุราษฎร์ธานี  รู้สึกเลยว่า คุณฟา ที่นี่มีทักษะที่ดีอยู่แล้ว และทุกคนต่างให้ใจกับการทำงานมาก  เมื่อเราได้เติมทักษะใหม่ๆ เพิ่มเข้าไป ก็สามารถนำไปต่อยอดได้  เห็นได้จากกิจกรรมในวันนี้  ที่แสดงนิทานเรื่อง สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด  คุณฟาได้นำเทคนิคต่างๆมาใช้  รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กๆ ในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแสดง  โดยนำเด็กๆ มาร่วมเล่นเป็นคนแคระทั้งเจ็ด  ซึ่งทุกคนก็ทำได้ดีมาก  เด็กๆที่มานั่งชมก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และได้รับการเรียนรู้ คติสอนใจไปด้วยว่า  ถ้าคิดดีทำดีแบบอย่างสโนว์ไวท์  จะได้รับผลในตอนท้ายออกมาดี  ส่วนคนที่คิดไม่ดีอย่างแม่มดใจร้าย  จะได้ผลตอบแทนเป็นทางลบ  คุณพ่อคุณแม่ก็ได้เข้าใจการเล่านิทาน  ว่าไม่ได้เพียงหมายถึงการอ่าน หรือเล่าเท่านั้น  แต่การเล่นนิทานจะทำให้นิทานสนุกสนาน  และได้สอดแทรกคติสอนใจให้กับลูกไปพร้อมกันด้วย   นอกจากนี้การเปิดเวทีเสวนา มีคุณหมอมาให้ความรู้ เรื่องความจำเป็นและความสำคัญของนิทานกับเด็กๆ  ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกันด้วย   นั่นยิ่งทำให้กิจกรรมเวทีสร้างสรรค์นักเล่นนิทานที่ จ.สุราษฎร์ธานีเป็นเวทีที่น่าสนใจ และสร้างกระบวนการการเรียนรู้  ส่งผลไปยังพ่อ-แม่ ผู้ปกครองและเด็กๆ ไปพร้อมกันเลยทีเดียว  ถือได้ว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมของโครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ปี 2557 นี้”