MSN on November 14, 2014, 02:56:06 PM
เอสซีจี องค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดมผู้เชี่ยวชาญเปิดเวที ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 สานพลังเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งอาเซียนเพื่อโลกที่ยั่งยืน



กรุงเทพฯ: 14 พฤศจิกายน 2557 – เอสซีจี องค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ 1 ของโลกจาก DJSI ในสาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (Construction Materials) 4 ปีต่อเนื่อง จัดสัมมนาระดับภูมิภาค ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 ครั้งที่ 4 บูรณาการแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งอาเซียน เสริมสร้างความร่วมมือ เพิ่มศักยภาพ ย้ำไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นภาคบังคับที่ธุรกิจต้องทำเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
   นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า การจัดงาน ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และขยายผล “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปสู่ทุกภาคส่วน เป็นการประสานองค์ความรู้ให้เกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ และเครือข่ายของสภาธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

   “จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่จะมีมากกว่า 9,000 ล้านคนภายในอีก 35 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงจากการอุปโภคบริโภค ผู้บริหารองค์กรชั้นนำกว่า 200 แห่งทั่วโลกต่างมีความเห็นเกี่ยวกับโลกธุรกิจตามวิสัยทัศน์ 2050 หรือ พ.ศ. 2593 ว่าภาคธุรกิจในวันนี้ต้องตระหนักถึงการสร้างสมดุลพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ และสมดุลแห่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์และจรรโลงสังคมให้ดำเนินอยู่ในกรอบแห่งความดี ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับองค์กร ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นวิถีปฏิบัติอันจำเป็นหรือ Must Have Agenda ที่จะต้องวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการประสานสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเดินหน้าขับเคลื่อนทุกปัจจัยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน”

   นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสซีจี กำหนดแนวทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแผนแม่บทในการดำเนินธุรกิจ โดยเริ่มจากภายในองค์กร และขยายสู่ห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การยกระดับคู่ธุรกิจด้วย Greening the Supply Chain การสร้างมาตรฐานและให้การรับรองความปลอดภัยคู่ธุรกิจ การยกระดับพนักงานของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ผ่านการอบรมจากโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ (Skills Development School) และสร้างสังคมที่ยั่งยืนผ่านการแบ่งบันประสบการณ์และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและชุมชน

   “ตัวอย่างความสำเร็จของการ Collaboration ของเอสซีจี อาทิ สมาคมเพื่อนชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน เพื่ออุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน หรือ โรงปูนรักษ์ชุมชน ที่สระบุรี โดยการร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตซีเมนต์ แม้จะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ แต่ก็มาจับมือกัน เพื่อดูแลสังคมที่ยังยืน ความสำเร็จเช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าแต่ละองค์กรยังต่างคนต่างทำ” นายรุ่งโรจน์ กล่าวเสริม   

“วันนี้ทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพียงการแบ่งปันองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการส่งต่อและลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ แต่ต้องเป็นความร่วมมืออย่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันอย่างมีกลยุทธ์ทั้งในมิติเชิงกว้าง และเชิงลึก สร้างเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ทั่วทั้งอาเซียนเพื่อมุ่งขยายผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง”  นายกานต์ กล่าวสรุป
« Last Edit: November 17, 2014, 03:47:51 PM by MSN »

MSN on November 17, 2014, 03:44:56 PM
Factsheet
สัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งอาเซียนครั้งที่ 4 4th ASEAN Sustainable Development Symposium

   สัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกิจกรรมระดับอาเซียนที่เอสซีจีจัดเพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
1. เป็นเวทีให้ผู้บริหารธุรกิจในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก รวมทั้งผู้นำหน่วยงานระดับโลก สามารถแบ่งปันวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และประสบการณ์กับบุคคลอื่น ๆ
2. เน้นความจำเป็นที่ภาคเอกชนต้องกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของตน
3. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแรงกดดันด้านสังคม ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน
4. กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความเร่งด่วนของการร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายของการพัฒนาที่ยั่งยืน 
   กิจกรรมในครั้งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ทั้งผู้บริหารจากภาคราชการและเอกชน(วิสาหกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่) นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนหาทางบรรเทาผลกระทบโดยใช้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในทางตรงกันข้ามจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
พัฒนาการของสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2553
   สัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความริเริ่มของเอสซีจี ที่เริ่มจากการจัดสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อแนะนำแนวคิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ให้กับทุกภาคส่วน เนื่องจากสัมมนาวิชาการในลักษณะเช่นนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และเป็นหัวข้อใหม่ในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในระดับประเทศและให้เกิดการยอมรับเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ประเด็นหลักและปาฐกถาในรายการมีเนื้อหาสำคัญสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้น และที่สำคัญเป็นการอภิปรายถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไป
   ในปีนี้ เอสซีจีได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และ ฯพณฯ รินโปเช ดร.คินซัง ดอร์จี (Kinzang Dorji) อดีตนายกรัฐมนตรีภูฐาน ดร.คินซัง ดอร์จีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness - GNH) เพื่อเป็นหลักการชี้นำแนวทางพัฒนาไปสู่สังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน

ในปี 2554
    สัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทยครั้งที่สอง (Thailand SD Symposium) เป็นการจัดทำเพื่อสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนให้เห็นความจำเป็นของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีต่อสังคมของเรา และให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นประเด็นระดับโลก และชี้นำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความรับผิดชอบในการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
   สัมมนาวิชาการในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฯพณฯ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และนายบีจอน สติกสัน (Bjorn Stigson) ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development – WBCSD) มาเข้าร่วม ผลจากการประชุมในปีดังกล่าวทำให้เอสซีจีตระหนักถึงศักยภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีขอบเขตนอกเหนือจากประเทศไทย

ในปี 2555 
   เอสซีจีนำเสนอประเด็น “อนาคตที่ยั่งยืนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ประสบกับผลกระทบด้านลบและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากการดำเนินงานของมนุษย์ เกราะป้องกันเพียงอย่างเดียวเพื่อคุ้มครองพวกเราและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาท้าทายเหล่านี้ได้แก่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’
   ขอบเขตของสัมมนาวิชาการในปีนี้ขยายจากระดับชาติไปสู่ภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นเครื่องจักรกลเพื่อการเติบโตของโลก จึงจำเป็นต้องทำให้การเติบโตมีความสมดุลกับแม่แบบการบริโภคที่ยั่งยืน ในช่วงเริ่มต้นนี้ พันธมิตรทางธุรกิจของเราในอาเซียน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในรายการดังกล่าว เพราะเราคาดหวังให้พันธมิตรเหล่านี้นำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติ และเป็นแม่แบบในประเทศของตน
   ในปีนี้ ผู้กำหนดนโยบายซึ่งเผชิญกับปัญหาท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฯพณฯ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD และนายปีเตอร์ เบกเกอร์ (Peter Bakker) ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของอาเซียน
   จากความสำเร็จดังกล่าว สัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน (ASEAN SD Symposium) ได้กลายเป็นกิจกรรมสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศ กว่า 70% ของผู้เข้าร่วมตอบรับที่จะนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้กับหน่วยงานของตนโดยทันที

ในปี 2557
   สัมมนาวิชาการครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงและทำให้ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ขอบเขตของงานจะขยายไปสู่ทุกภาคส่วนของธุรกิจในอาเซียน รวมทั้งสมาคมธุรกิจทุกชนิดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคาร และเครือข่ายภูมิภาคของสภาธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCSD of Regional Network) อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
   ก้าวย่างสำคัญอีกประการหนึ่งในปีนี้ของเอสซีจี คือการจัดทำเวทีและรับฟังเพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง และการระดมความคิดสำหรับประเด็นที่จะพัฒนาไปสู่แผนปฏิบัติการอาเซียนปี 2563 (ASEAN Action2020) ซึ่งเป็นเวทีที่ภาคธุรกิจในอาเซียนจะปฏิบัติการในภารกิจที่ท้าทายมากที่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่าภารกิจ “ต้องทำ” สำหรับอาเซียน (ASEAN Must-have(s)) ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมกับสนับสนุนศักยภาพของหน่วยงานในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ และการขาดแคลนทักษะ
« Last Edit: November 17, 2014, 03:46:28 PM by MSN »

MSN on November 17, 2014, 03:46:55 PM
เอสซีจี องค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดมผู้เชี่ยวชาญเปิดเวที ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 ประสานพลังเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งอาเซียนเพื่อโลกที่ยั่งยืน



ฯพณฯ สมหมาย ภาษี (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฯพณฯ เล เลือง มินท์ (ที่ 6 จากซ้าย) เลขาธิการอาเซียน คุณกานต์ ตระกูลฮุน (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี คุณอิโว เดอ โบเออร์ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้อำนวยการทั่วไป สถาบันโกลบอล กรีน โกรวท์ คุณเดวิด เพียรสัน (ที่ 7 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีลอยท์ โกลบอล คุณแคลินน์ เจมส์ (ที่ 8 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอาร์เอ็ม ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก คุณฟิลลิป ฟอนด้า (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการสภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หรือ WBCSD-CSI คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (ขวา) ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี และคุณสมเกียรติ อ่อนวิมล (ซ้าย) ผู้ดำเนินรายการ ร่วมเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาระดับภูมิภาค ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 ครั้งที่ 4 เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายผล “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปสู่ทุกภาคส่วน รวมถึงประสานองค์ความรู้ให้เกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน  เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งอาเซียน เพื่อความยั่งยืนในอนาคตอย่างแท้จริง