SAM ผนึกกำลังนานาประเทศแลกเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินและการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรับ AEC ในปี 2558
SAM ผนึกกำลังกับภาครัฐจากนานาประเทศในภูมิภาคเอเชีย แลกเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินและแนวทางการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพร่วมกันในการประชุม The 2nd IPAF 2014 รับ AEC ที่กำลังจะมาถึง มั่นใจช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารสินทรัพย์ของไทยให้ทัดเทียมระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเพื่อให้เกิดความเสถียรภาพมากขึ้น
นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า SAM เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้ง NPL และ NPA เพื่อลดความสูญเสียของประเทศให้เหลือน้อยที่สุด อันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ซึ่งในปีนี้ SAM ได้รับเกียรติจากกลุ่มสมาชิกบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (AMC: Asset Management Company) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการเงินและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระดับภูมิภาคเอเชียหรือ International Public AMC Forum : The 2nd IPAF 2014
“การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Preparing for the New Economic Horizon : More Financially Integrated Asia And Healthier Developing Economies 2014 หรือ มุ่งสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งโลกเศรษฐกิจ : เพื่อเอเชียที่รวมเป็นหนึ่งและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งถือว่าเป็นการการประชุมระดับผู้นำด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ของรัฐที่ยิ่งใหญ่มากในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีการในการป้องกัน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตและความมั่นคงของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในครั้งนี้คือการยกระดับมาตรฐานการบริหารสินทรัพย์ของไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล การประชุมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของไทยให้มีความเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เกิดการสร้างเครือข่ายความรู้ทำให้เกิดพลังในการนำเสนอแนวทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาแก่หน่วยงานภาครัฐ เกิดการต่อยอดและวางนโยบายหรือมาตรการในการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ SAM ในการเร่งทำตลาดเชิงรุก เพื่อก้าวสู่การเป็น AMC ชั้นนำในระดับภูมิภาค ในปี 2560 ต่อไป
ทั้งนี้ เวทีการประชุม IPAF หรือ International Public AMC Forum เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มสมาชิก AMC ของภาครัฐในแต่ละประเทศ การประชุมครั้งแรกถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2556 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้การผสานความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ Korea Asset Management Corporation หรือ KAMCO โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นราว 400 คน ปัจจุบัน IPAF มีสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐทั้งหมด 6 องค์กร จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และประเทศไทย และในอนาคตอันใกล้นี้ยังมีหลายประเทศในเอเชียเริ่มให้ความสนใจในการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของ IPAF เพิ่มเติม
สำหรับสัญญลักษณ์ของการประชุมนานาชาติครั้งนี้ SAM เลือกใช้ปลาตะเพียนสานซึ่งแสดงความเป็นไทยมาผูกร้อยกับสัญญลักษณ์ที่สื่อถึงความก้าวหน้า ความรุ่งเรืองและความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจและการเงินที่มั่นคง อีกทั้งเป็นการผสานความร่วมมือกันขององค์กรสมาชิกด้านสถาบันการเงินและการบริหารจัดการสินทรัพย์ของรัฐ โดยในวันที่ 26 กันยายน 2557 ได้รับเกียรติจาก หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มุมมองต่อการฟื้นตัวของ
เศรษฐกิจสหรัฐ/กลุ่มประเทศยุโรป/เอเชีย และผลกระทบการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อกลุ่มอาเซียน” จากนั้นเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวแทนสมาชิก โดยจะแบ่งเป็น 3 Sessions ได้แก่ “เส้นทางการรวมกลุ่มเศรษฐกิจและการเงินของชาติอาเซียน ผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนและโอกาสในการลงทุน” โดย มร.อาเจน กอสวามี่ (Mr.Arjun Goswami), Director of Regional Economic Integration department at ADB, มร.เผิง รุ่นจง (Mr.Peng Runzhong), Director of Asia-Pacific Finance and Development at ADB, มร.หลี่ เหยา (Dr. Li Yao) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนจีน-อาเซียน, มร.เหว่ย เจียหนิง (Mr.Wei Jianing) รองกรรมการและนักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของจีน และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ ส่วน Session ที่สอง “แนวโน้มตลาดการบริหารสินทรัพย์ทั่วโลกในปี 2015” โดย ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน (ฝศง.) สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, มร.จอห์น กินเนน (Mr.John Ginane) หุ้นส่วนอาวุโส บริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ ประเทศไทย,มร.ตันหยาง เซี่ย (Mr.Danyang Xie), Professor and Dean, Economics and Management School of Wuhan University ,มร.โจว เฉวียนเซิง (Mr. Zhou Quansheng), Director of Banking Supervision Dept.IV, China Banking Regulatory Commission และ ดร. ชางฮยอน ยุน ประธานกรรมการสถาบันการเงินแห่งเกาหลีใต้ และ Session สุดท้าย หัวข้อ “วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของบริษัทบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ (การวางกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายและโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศในอนาคต) โดย ดร.จุนเกียว ลี (Dr.Junkyu Lee), Principal Economist of OREI department at ADB, มร.ซัน จุน โช (Mr.Sun Joon Choe) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจต่างประเทศของ KAMCO, มร.ซาง ไซหมิง (Mr.Zhang Zaiming) ผู้จัดการทั่วไป บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลจีน รวมทั้งคุณนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน main speaker ด้วย