แสนสิริร่วมมือกับ 4 ดีไซเนอร์แนวหน้าของประเทศ สร้างแรงบันดาลใจใหม่สู่งานคราฟท์ไทย เพื่อสร้างสรรค์ SANSIRI ARTISAN COLLECTION: DESIGNER HANDMADE SHOWCASE
จากความเชื่อของแสนสิริว่าเราไม่ได้สร้างแค่เพียงที่อยู่อาศัย แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มสุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิต แสนสิริจึงได้รังสรรค์แสนสิริ คอลเล็คชัน ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยของลูกบ้านอย่างมีระดับ ด้วยปรัชญาที่ลงลึกในรายละเอียด และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของแสนสิริลงบนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างละเมียดละไม จวบจนวันนี้ ที่แสนสิริได้ขยายธุรกิจไปสู่จังหวัดต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี และภูเก็ตในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทำให้แสนสิริได้มีโอกาสเรียนรู้ และศึกษาวัตถุดิบต่างๆ ของท้องถิ่น จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการรวบรวมเสน่ห์ของทรัพยากรท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดที่ออกแบบอย่างประณีตทุกขั้นตอน โดยช่างฝีมือไทยที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผสมผสานเอกลักษณ์ที่ละเอียดละออของแต่ละภูมิภาคให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ บนฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์โมเดิร์น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ แสนสิริ อาร์ทิซาน คอลเล็คชัน (Sansiri Artisan Collection) ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางแห่งศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้คุณออกเดินทางเพื่อค้นพบประสบการณ์ใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้ง
และวันนี้ แสนสิริจึงสานต่อแนวคิดจากแสนสิริ อาร์ทิซาน คอลเล็คชัน (Sansiri Artisan Collection) เพื่อเพิ่มสีสันแห่งจินตนาการสู่งานคราฟท์ของไทย ที่จะทำให้ไลฟ์สไตล์เดิมๆ ของ การใช้ชีวิต และการพักผ่อนสนุกยิ่งกว่าเดิม แสนสิริจึงร่วมกับนิตยสาร Wallpaper* โดยเชิญ 4 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อาทิ จี๊ป-ภาสินี คงเดชะกุล ดีไซเนอร์จากแบรนด์ FLYNOW III, หนาม-รวิ ธนดล อิทธิระวิวงศ์ เจ้าของแบรนด์ Pastel ,เอิ้น-ศริญญา ลิมทองทิพย์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Srinlim และ กิ๊ฟต์-รักกิจ ควรหาเวช กราฟิกเวคเตอร์อันดับต้นๆ ของไทย ที่มีแนวคิดบวกกับฝีไม้ลายมือโดดเด่นมาต่อยอดกับ 4 ผลิตภัณฑ์จาก แสนสิริ อาร์ทิซาน คอลเล็คชัน ที่เหมาะกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน โดยสร้างสรรค์มาสเตอร์พีซในแบบ Handmade Edition ขึ้นมา ทั้งนี้ ก็เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญ และสนุกกับการใช้ผลิตภัณฑ์งานคราฟท์ของไทยมากขึ้นจนสามารถใช้งานได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันอย่างลงตัว อาทิเช่น Bag to the Sea กับกระเป๋าชายหาดเตยปาหนัน ที่ได้รับการเติมแต่งลวดลายใหม่จากจี๊ป -ภาสินี คงเดชะกุล ดีไซเนอร์เสื้อผ้าแบรนด์ Flynow III ที่ชื่นชอบการทำงานแฮนด์เมด ไม่น้อยไปกว่างานออกแบบบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่มักใช้สีสันฉูดฉาด และลวดลายคอนทราสต์มาผสมผสานกัน โดยจี๊ป –ภาสินีกล่าวถึงเสน่ห์ของงานแฮนด์เมดว่า “ช่วงเวลาที่เราค่อยๆ บรรจงวาด บรรจงปักนั่นแหละ คือเสน่ห์ของงานแฮนด์เมด การได้อยู่กับตัวเอง สองมือทำงานกับแบบที่อยู่ในหัว พร้อมกระบวนการที่ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน เพราะถ้าพลาดอาจย้อนกลับไปแก้ไม่ได้ เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย มันได้ลุ้นว่าเราจะทำออกมาเหมือนที่คิดมั้ย แต่เป็นการลุ้นที่สนุก ไม่เครียด มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ หรือแม้กระทั่งงานฝีมืออย่างผ้ามัดย้อม ที่มีกระบวนการสร้างลวดลายดูเหมือนจะง่าย แต่ก็ควบคุมไม่ได้ 100% หรือแม้แต่การร้อยพวงมาลัย ซึ่งเป็นความประณีตที่อยู่ใกล้ตัว สามารถพบเจอได้ทุกวันเช่นเดียวกับ “กระเป๋าชายหาดเตยปาหนัน” ซึ่งทำจากวัสดุพื้นบ้านที่มีมาช้านาน แต่หลายคนอาจมองข้ามไป ซึ่งครั้งแรกที่เห็นแสนสิริออกแบบมาก็ชอบแล้วเพราะมันดูร่วมสมัย เขานำเตยปาหนันซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ มาบวกกับหนังในรูปทรงเรขาคณิต แม้จะดูมินิมัลแต่ก็มีดีเทลแฝงอยู่ คิดว่าคนไทยน่าจะใช้ ต่างชาติก็น่าจะชอบ” จี๊ปเล่าอย่างออกรส และเมื่อต้องมาดีไซน์ความเป็นตัวตนลงบนกระเป๋าใบนี้ จี๊ปจึงนำแรงบันดาลใจจากการไปทะเลกระบี่มาสร้างสรรค์ลงบนกระเป๋าชายหาด แล้วหยิบจับโครงร่างของธรรมชาติใต้ท้องทะเลมาถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเจอ เราดึงรูปทรงเรขาคณิตอย่างวงกลมมาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับทรงกระบอกของกระเป๋าทั้งลูกปอมปอม และการหล่อเรซิ่นรูปครึ่งวงกลมที่ด้านในใส่รูปเกี่ยวกับท้องทะเลไว้ด้วย ทำเป็นหลายสี หลายขนาด แล้วจัดเรียงเป็นแพทเทิร์นคล้ายฟองอากาศล่องลอยอยู่ใต้ผืนน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเพนท์ด้วยสีอะคริลิคในรูปฟอร์ม silhouette ของสัตว์ทะเลนานาชนิดอย่างแมงกะพรุน แพลงตอน ปะการัง ตามจินตนาการของดีไซเนอร์ เพื่อสื่อถึงบรรยากาศสวยงามใต้ท้องทะเลที่ได้ไปสัมผัสมา เธออยากให้คนเห็นกระเป๋าใบนี้แล้วรู้สึกสนุกไปกับการตกแต่งด้วยสีสัน รูปทรง และวัสดุที่ใช้ ความสดใส ความเป็น 3 มิติ น่าจะชวนให้อยากพกไปเที่ยวทะเลตั้งแต่แรกเห็น ซึ่งการได้ร่วมงานกับแสนสิริในครั้งนี้ “จี๊ปว่าเป็นการทำงานที่สนุกมากอีกชิ้น และดีใจที่ได้มีส่วนส่งเสริมงานฝีมือไทยเช่นนี้ นับเป็นการเริ่มต้นให้อีกหลายหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญ และเห็นคุณค่างานฝีมือไทยด้วยค่ะ” จี๊ปกล่าวเสริม
สำหรับ Special (Mobile) Case แสนสิริ ได้ร่วมมือกับ หนาม-รวิ ธนดล อิทธิระวิวงศ์ เจ้าของแบรนด์ Pastel ซึ่งหลายท่านอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับเคสไอโฟน และอุปกรณ์ใส่คอมพิวเตอร์พกพาลวดลายน่ารักที่ฮิตอยู่ในมือของเหล่าเซเลบในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะนั่นคือการสร้างสรรค์ของ หนาม-รวิ ธนดล ที่ใส่เสน่ห์ไว้ในงานของเขาเหมือนได้พกเอางานศิลปะที่มีเรื่องราวติดตัวไปในทุกที่ หนามเล่าว่า “ผมชอบอะไรที่มีเรื่องราว” พร้อมยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกเฉยๆ กับรองเท้ากีฬาแบรนด์หนึ่งมาก แต่เมื่อได้รู้ถึงเรื่องราวในการสร้างสรรค์ ทำให้ตอนนี้เขามีรองเท้าแบรนด์นั้นหลายคู่แล้ว ไม่ต่างกับงานแฮนด์เมด ที่เสน่ห์ก็อยู่ที่เรื่องราวเช่นกัน “ทุกขั้นตอนที่ช่างฝีมือได้ทำ จะเห็นถึงความไม่เนี้ยบ ความไม่เพอร์เฟกต์่เหมือนเป็นครูให้เราได้เรียนรู้ ถ้ามองในฐานะผู้ใช้ ผมยังเห็นถึงความใส่ใจว่าคนๆ นี้ใช้เวลาทำสิ่งนี้ขึ้นมา ทำให้เรายิ่งอยากใช้ของชิ้นนั้นมากขึ้นไปอีก” เหมือนกับ “แบตเตอรี่สำรองผิวไม้สัก” ที่แสนสิริออกแบบ โปรดักส์ดีไซเนอร์หนุ่มเผยว่า “ชอบมากครับ เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีที่ไม่มีชีวิต มาทำให้ดูอบอุ่น น่าใช้ น่าสัมผัส แต่เมื่อต้องมาพัฒนาต่อ แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการสร้างเรื่องราวให้กับชิ้นงาน ผมมองไปที่การใช้งานมากกว่าแค่ตัวแบตเตอรี่สำรอง เลยตัดสินใจทำเป็นเซ็ทอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันได้ จึงออกแบบเคสไอโฟนเพิ่มขึ้นมาอีก 3 แบบ ทั้ง Hard case, Folio case และ Wallet slip โดยทั้งหมดเข้าชุดเป็นคอลเล็คชันกับแบตเตอรี่สำรองผิวไม้สัก ตัวแบตเตอรี่สำรองผมอยากให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เลยเพิ่มวัสดุหนังเข้าไปผสมผสานกับผิวไม้สัก พร้อมกับทำเคสหนังใส่อีกที ส่วนด้านในเคสหนัง ก็บุผ้าที่ได้แรงบันดาลใจลวดลายมาจากผ้าถุงของไทย ส่วนสายชาร์จก็นำมาหุ้มหนังทั้งเส้น สามารถเอามาห้อยกระเป๋าถือได้ ซึ่งความยากของบางชิ้นที่ต้องพึ่งความประณีตสูงก็คือ การทำให้เนื้อไม้กับหนังบางเท่ากัน เพื่อให้ได้ผิวที่เรียบเนียน แถมยังมีส่วนโค้งที่จะต้องเปิด-ปิดได้อย่างนุ่มนวล ไม่ปริออกจากกันด้วย” และในฐานะโปรดักส์ดีไซเนอร์ หนามมองว่าเขาต้องการสร้างชิ้นงานที่สามารถผลิตได้จริงในระบบ ดังนั้น กว่าที่จะสำเร็จออกมาตามที่เห็น เขาทดลองกับต้นแบบมาแล้วมากมายหลายชิ้น แต่การทดลองนี้ก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจ และทำให้เขาได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น “ผมว่าฝีมือของช่างไทยในแต่ละท้องถิ่น มีอยู่แล้ว แต่เรื่องราวของเขามักไม่ถูกนำมาบอกเล่า คนจึงไม่ให้ความสนใจ จนวันนี้การที่แสนสิรินำมาพัฒนาต่อ โดยใส่ความทันสมัยลงไปเพื่อให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ดีมากครับ”
อีกหนึ่งในนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่กำลังเป็นที่น่าจับตามอง ที่ขาดเธอไปไม่ได้ นั่นคือ เอิ้น-ศริญญา ลิมทองทิพย์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Srinlim ด้วยประสบการณ์และการทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แรงบันดาลใจในการออกแบบของเธอจึงมาจากทุกสิ่งรอบตัว ซึ่งเธอสามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้เสมอ เอิ้น-ศริญญา กล่าวว่า “แม้งานของเราจะเป็นอุตสาหกรรม แต่ก็ผสมงานฝีมือ เราใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ผ้าร่วมกับงานปัก ซึ่งเป็นช่างฝีมือชาวบ้าน มาเพิ่มให้งานของเราดูมีมิติ มีเสน่ห์มากขึ้น เป็นของสองสิ่งที่จะต้องรวมกันเป็นงานดีไซน์” และจากความหลงใหลในศิลปะไทย จึงเป็นที่มาให้เธอคิดออกแบบลวดลายบนสิ่งทอเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายใน โดยเธอได้แรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เต็มไปด้วยสีสันและความวิบวับของ ‘ลิเกไทย’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับผู้คน เธอกล่าวว่า “ลิเก ก็ไม่เห็นมีใครนำมาเล่น คนรุ่นใหม่ก็จะมองว่าเชย มองเชิงลบกันหมด แต่เราน่าจะเอามาทำให้เก๋ได้ เลยจับเอาเพชรซีกมาเป็นจุดเด่นในลายจัดแพทเทิร์นใหม่ ใส่สีสันใหม่ พิมพ์ลงบนผ้ามันแล้วทำออกมาเป็นเก้าอี้ เป็นหมอนอิง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี” เช่นเดียวกับ “ที่นอนสามเหลี่ยมจากผ้าทออีสานแบบพกพา” ที่ได้รับโจทย์มาจากแสนสิริ เอิ้นได้นำเอกลักษณ์ลวดลายลิเกที่เธอพัฒนามาต่อยอดลงไปในผลงานชิ้นนี้เช่นกัน เอิ้นเล่าว่า “ตอนแรกที่เห็น สิ่งที่สัมผัสได้คือฟังก์ชันที่ดีมาก น้ำหนักเบา จึงพยายามคิดว่าจะเอาลวดลายของเราเข้าไปใส่แบบไหน ใช้สีอย่างไร เริ่มจากการทำลายพิมพ์ผ้า เราเลือกใช้ผ้าสีเมทัลลิค เพื่อให้ลวดลายที่พิมพ์กับด้ายที่ปักเกิดการผสมผสานของสี ซึ่งจะได้มิติที่ชวนมองกว่า” นอกจากนี้ นักออกแบบสาวยังใส่ความพิเศษลงไปในชิ้นงาน ด้วยเทคนิคการต่อลายลงบนที่นอนสามเหลี่ยม ที่ไม่ว่าจะพับหรือกางออกก็จะเห็นเป็นลวดลายที่มีความงามแตกต่างกัน ซึ่งมีการวางแพทเทิร์นใหม่หมด และสังเกตจังหวะการพับเพื่อให้ลวดลายมีความต่อเนื่อง สุดท้ายเธอกล่าวถึงการร่วมงานในครั้งนี้ว่า “การออกแบบของแสนสิริถือเป็นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งที่หลายคนคิดว่าเชย แต่เราสามารถปรับรูปลักษณ์บางอย่างให้ทันสมัย และยังช่วยพัฒนางานฝีมือไทยอีกด้วย”
และชิ้นสุดท้ายกับการสร้างสรรค์ของ กิ๊ฟต์-รักกิจ ควรหาเวช กราฟฟิกเวคเตอร์คนแรกๆ ของไทย ที่ไม่เพียงผลงานจะเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่นอกเหนือไปจากการทำงานเชิงพาณิชย์ เขายังคงสร้างผลงาน street art ด้วยมืออย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด โดยมีลวดลายกราฟิก พร้อมรูปทรงเรขาคณิตสีสดใส ประกอบกันขึ้นเป็นสัตว์นานาชนิด เป็นคาแรคเตอร์ประจำตัว ซึ่งกราฟิกหนุ่มได้นำแรงบันดาลใจการใช้สีสันแบบขั้วตรงข้ามมาใช้ในการเพนท์ “ลำโพงไม้จามจุรี” ที่แสนสิริออกแบบมาอย่างมีเอกลักษณ์ ดูสวย นิ่ง โมเดิร์น ด้วยการใช้ไม้หลายๆ ชิ้นมาประกบกันทำให้ผิวสัมผัสไม้ดูแตกต่างในตัวเอง แถมยังเอารูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสาน กิ๊ฟ -รักกิจกล่าวว่า “เมื่อเห็นวัสดุธรรมชาติผมก็เลยนึกถึงลวดลายของชนเผ่า อยากเอามาสร้างสรรค์ในสไตล์เรา โดยใช้ปากกามาร์คเกอร์วาดลวดลายแพทเทิร์น แล้วใช้การจับคู่สีแบบที่เห็นบนเสื้อผ้าของชนเผ่าพื้นเมือง ใส่ลงไปในแต่ละช่องว่าง โดยใช้สีอะคริลิค ตัดเส้นด้วยพู่กันมาผสมเพื่อเติมดีเทลให้คมชัด จากนั้นก็พ่นเคลือบทับด้วยเคลียร์ด้าน ซึ่งการได้พ่น ได้เพนท์ มันอาจไม่เนี้ยบเหมือนเวลาออกแบบบนจอ แต่ก็ช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น” กิ๊ฟย้ำว่าเพราะเสน่ห์ของงานแฮนด์เมดคือ ความไม่สมบูรณ์แบบ งานแฮนเมดทุกชิ้นไม่เหมือนที่ออกมาจากเครื่องจักรแต่ละชิ้นจึงมีความเป็นออริจินอลในตัวเอง และด้วยสไตล์การออกแบบที่แปลกตาทำให้กิ๊ฟต์ชื่นชอบการจับคู่สีที่แตกต่าง ทั้งการใช้สีบนเสื้อผ้าของชนเผ่าพื้นเมือง หรือแม้แต่งานเพนท์สีบนรถบรรทุก ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่เขาสนใจ “ผมชอบที่รถบรรทุกทุกคันมีเรื่องราวเฉพาะตัว แต่กลับมีสไตล์การใช้สีที่คล้ายกัน คือการจับคู่สีแบบขั้วตรงข้าม อย่างสีชมพูกับสีเขียว ทำไมเขาเอาคู่สีที่ตรงข้ามขนาดนี้มารวมกันได้ หรืออย่างสีสันบนเสื้อผ้าของพวกชนเผ่า ฉูดฉาดแต่ลงตัว ยิ่งเข้าไปดูใกล้ๆ แต่ละจุดก็จะมีรายละเอียดซ่อนอยู่ด้วย และผมเองก็อยากให้คนที่เห็นงานเราแล้วรู้สึกสนุก เช่นเดียวกับเวลาที่เห็นงานของคนอื่นตามสถานที่ต่างๆ และอยากฝากให้นักออกแบบนำศิลปวัฒนธรรมไทยไปต่อยอดลงในงานดีไซน์มากขึ้น โดยเป็นการประยุกต์ให้เหมาะสมกับงาน เข้ากับสไตล์ที่ทำเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้งานฝีมือไทยได้มีการพัฒนาไป ไม่หยุดอยู่กับที่” เหมือนกับที่แสนสิริ และตัวเขาร่วมกันสร้างสรรค์ลำโพงไม้จามจุรีชิ้นพิเศษ อันเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยอย่างแท้จริง
พบกับ SANSIRI ARTISAN COLLECTION : DESIGNER HANDMADE SHOWCASE ครั้งแรกได้ภายในงาน ‘Life Comes Home’ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 10-12 ตุลาคม 2557 หรือแสนสิริ เลานจ์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2557 นี้เท่านั้น และยังสามารถเข้าไปดูเบื้องหลังการทำงานของเหล่าดีไซเนอร์ทั้ง 4 ท่าน ได้ที่
www.sansiri.com/sansiricollection