MSN on August 18, 2014, 02:08:42 PM
วิศวะมจธ. วิเคราะห์ สกรูยึดฟันเผยคนไทยทำได้







นักวิจัย มจธ. ชี้คนไทยรักษาฟันแพงส่วนหนึ่งคือผลจากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูง จึงเร่งการวิจัยหวังคลอดผลวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การออกแบบ miniscrew implants ในแบบฉบับของไทยคาดช่วยลดอุบัติเหตุระหว่างรักษาและลดค่าใช้จ่ายให้คนไข้ในอนาคต

อีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญต่อระบบการย่อยอาหารของร่างกายคือ ฟัน ทำหน้าที่ในการบดฉีกอาหารแต่หากดูแลรักษาไม่ดีอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นหลายคนจึงต้องยอมจ่ายในราคาสูงเพื่อรักษาฟันให้แข็งแรงและสวยงามอยู่เสมอ

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายคือประเทศไทยยังต้องสั่งซื้อวัสดุทางการแพทย์หลายชิ้นจากต่างประเทศซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ผู้ช่วยอธิการบดีอาวุโสฝ่ายกิจการนานาชาติ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในเรื่องวัสดุเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตรียมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์โดยอุตสาหกรรมไทยเพื่อคนไทยก็คือ “การวิเคราะห์แรงบิดของ miniscrew implants”

ผศ.ดร.อนรรฆ กล่าวว่า mini-screw implants คือหมุดไทเทเนียมที่มีขนาดเล็กมากนำมาช่วยในการจัดฟันสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสบฟันผิดปรกติมากจนลวดจัดฟันอย่างเดียวนั้นไม่สามารถเคลื่อนฟันได้อย่างพอเพียงแพทย์จึงต้องใช้ mini-screw implants ปักเข้าไปในเหงือกเพื่อทำหน้าที่เป็นเสาสำหรับนำ Coil spring มาติดตั้ง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนฟันทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในการจัดฟันนั้นปรกติแล้วราคาเริ่มต้นเริ่มกันที่หลักหมื่นบาท ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าจะต้องใช้ mini-screw implants ด้วย ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หนึ่งตัวราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งก็ถือว่ามีราคาแพงมากหากเทียบกับ สกรูทั่วไปที่เราใช้ในงานวิศวกรรมราคาตัวละสองบาทเท่านั้นและนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไข้บางคนต้องจ่ายเงินหลายหมื่นบาทในการจัดฟันดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยนี้คือการวิเคราะห์สมบัติทางกลและสาเหตุของความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานmini-screw implant หลายๆยี่ห้อที่ประเทศไทยนำเข้ามา เพื่อเป้าหมายในการออกแบบและพัฒนาให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ผลิตขึ้นโดยอุตสาหกรรมไทยในอนาคตเพื่อลดต้นทุนการรักษา”

ปัจจุบันไทยมีการนำเข้า miniscrew implants จากหลายบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และอเมริกา ซึ่งสินค้าแต่ละยี่ห้อจะมีคุณสมบัติทางกลที่แตกต่างกันออกไปซึ่งค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของทันตแพทย์เพราะหากไม่ชำนาญกับเครื่องมือก็จะไม่รู้แรงบิดขณะติดสกรูให้คนไข้ หากใช้แรงบิดมากไปจะทำให้สกรูหักและตามมาด้วยปัญหาใหญ่เพราะต้องผ่าออกและคนไข้จะเจ็บมาก

ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีการสร้างเครื่องมือวิเคราะห์แรงบิดของสกรูด้วยโปรแกรมที่เรียกว่า finite element โดยนำ miniscrew implants ที่นำเข้าทุกยี่ห้อมาถอดแบบให้เป็นภาพ 3 มิติแล้วนำข้อมูลที่ได้จากแบบไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมแล้วทดสอบแรงบิดตามจุดต่างๆ ซึ่งการทดสอบนี้จะให้ข้อมูลเชิงตัวเลขที่สามารถบอกตำแหน่งที่เสียหาย ด้วยแรงเท่าไหร่ ความเค้นเท่าไหร่ และหลังจากนั้นจึงทำการทดสอบด้วยการสร้างเครื่องมือจริงจำลองเหมือนการทำงานของหมอด้วยการหมุน screw เข้าไปในกระดูกเทียมพร้อมวัดแรงบิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขาดหรือเข้าไปจนหมดแล้วดูว่ามีแรงบิดเกิดขึ้นที่ตรงไหน เท่าไหร่ และนำข้อมูลจากการทดลองจริงและโปรแกรม finite element มาเปรียบเทียบเพื่อดูความเหมือนและความต่างหากตรงกันแสดงว่าข้อมูลเชื่อถือได้ และพร้อมที่จะนำไปสู่กระบวนการออกแบบ miniscrewimplants ที่เป็นต้นแบบของไทยต่อไป

สุดท้าย ผศ.ดร.อนรรฆ กล่าวว่าหากมี miniscrewimplantsที่เป็นต้นแบบและผลิตขึ้นภายใต้อุตสาหกรรมไทยแล้ว นอกจากทันตแพทย์ที่จะได้รับประโยชน์ในการรักษาที่ง่ายขึ้นแล้ว คนไข้เองอาจได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากันเพราะปัจจุบันการจัดฟันในไทยยังไม่สามารถเบิกเงินได้เพราะถือว่าเป็นแฟชั่นและมีราคาสูง ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยทุกคนควรมีสิทธิเบิกเงินเพื่อการจัดฟันเพราะเป็นคือเป็นการจัดสรีระให้ถูกที่ทางของอวัยวะในร่างกายดังนั้นหากในอนาคตอุตสาหกรรมไทยให้ความสนใจและผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าและเมื่อถึงตอนนั้นค่าใช้จ่ายในการรักษาและจัดฟันอาจลดลงอีกมากซึ่งไม่แน่คนไทยอาจโชคดีสามารถเบิกค่ารักษาฟันได้ในที่สุดก็เป็นได้