happy on July 13, 2014, 05:17:14 PM
มูลนิธิกระจกอาซาฮี มอบทุนฯ หนุน งานวิจัย มจธ.

พร้อมขยายความร่วมมือต่ออีก 3 ปี





รับทุนจากประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี

                มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation - AF) เป็นมูลนิธิเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้มอบทุนอุดหนุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย และอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเหล่านั้น โดยในประเทศไทยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองที่ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีให้รับทุนดังกล่าว เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีศักยภาพในงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี




ผส.ดร.ถวิดา มณีวรรณ์

                ผศ.ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในผู้รับทุนวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยหุ่นยนต์พ่นยาบนต้นมะพร้าวราคาประหยัดที่ได้รับทุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากอุปกรณ์พ่นยาบนต้นมะพร้าว โดยใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนแทนการชักด้วยมือ ถือเป็นอุปกรณ์การทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเองในมหาวิทยาลัย ทำให้มีราคาถูก เพื่อต้องการตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับชาวสวนมะพร้าวที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่ขณะนี้กัดกินยอดมะพร้าว ที่เรียกว่าโรคมะพร้าวหัวหงอก สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชาวสวนมะพร้าว โดยเฉพาะมะพร้าวกะทิส่วนใหญ่ปลูกมากในแถบพื้นที่ภาคใต้และกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาจนถึงนครปฐม แม้ที่ผ่านมาเกษตรกรนิยมแก้ปัญหาโดยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงด้วยระบบแรงดันจากพื้นดินขึ้นไป ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดทำให้สิ้นเปลือง

                “ อุปกรณ์หรือหุ่นยนต์ตัวนี้ จึงได้ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้น โดยการติดตั้งชุดไต่และชุดพ่นยา เพื่อช่วยทำงานในที่สูง โดยผู้ใช้สามารถยืนห่างออกจากต้นในระยะที่เหมาะสมได้ อีกทั้งยังถือเป็นแนวคิดใหม่ที่ได้นำหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการยึดเกาะบนพื้นผิวต้นมะพร้าว และยังเป็นการร่วมกันของศาสตร์หลายแขนงประกอบด้วย เครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และเป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการทางหุ่นยนต์ในการวิเคราะห์เรื่องการฉีดพ่นสารเคมี  ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในการแก้ปัญหาทางการเกษตรมาก่อน จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ศึกษาวิจัยในมุมของคนพัฒนาหุ่นยนต์ ”

                ผศ.ดร.ถวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ยังมีราคาค่อนข้างแพง แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาขึ้นได้เองในห้องปฏิบัติ เช่น การควบคุมมอเตอร์ การควบคุมแบบไร้สาย ฯลฯ  ประกอบกับประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สั่งสมมากว่า 10 ปี ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นทั้งในเรื่องการเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง และการเข้าถึงในที่แคบ จึงนำมาใช้ในการออกแบบในโครงการนี้ ส่วนแนวคิดหรือการออกแบบที่เลือกใช้โซลูชั่นที่มีต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องการหุ่นยนต์ที่ฉลาด แต่ต้องการหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อลดปริมาณสารเคมีและสามารถประหยัดการใช้ลงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังลดการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม  ซึ่งวิธีที่นำมาใช้คือการพัฒนาอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ให้ไต่ขึ้นไปฉีดพ่นเฉพาะจุดคือบริเวณใต้พุ่มใบ

                นอกจากนี้ยังต้องการให้สามารถดัดแปลงหรือประยุกต์เป็นชุดเก็บเกี่ยวหรือชุดตัดทางใบได้ในอนาคต เพราะมองว่าประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกมะพร้าวในอันดับต้นๆ ของโลก สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และโรงเรียนฝึกสอนลิงเก็บมะพร้าวก็ไม่มีผู้สืบทอด ทำให้ทักษะการเก็บมะพร้าวกำลังค่อยๆ หายไป รวมถึงทักษะในการดูแลรักษา เช่น การตัดทางใบเพื่อป้องกันโรคระบาดก็ยังขาดอุปกรณ์ที่จะใช้  ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก คาดว่า ภายหลังจากที่ได้รับทุนสนับสนุนฯ จะสามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการนี้ต่อไป และมั่นใจจะสามารถนำมาใช้งานได้จริงภายในปี 2558

                ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกอาซาฮี และ มจธ.ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการมอบทุนวิจัยให้กับ มจธ. ระยะที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี( ปี 2555-2557) ปีละ 3 ล้านเยน (ประมาณ 1.3 ล้านบาทต่อปี) ใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ (Information Sciences and Automatic Control) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) และสาขาพลังงาน (Energy) โดยการมอบทุนวิจัยของมูลนิธิกระจกอาซาฮีนั้น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถด้านงานวิจัยของนักวิจัยไทย โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับมูลนิธิฯ

                โดยในปี2557นี้ มีโครงงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติทุนวิจัยทั้งสิ้น 5 โครงการ สาขาละ 1 โครงการ จากข้อเสนอโครงการวิจัยทั้งหมด 21 โครงการ โดยแต่ละโครงการจะได้รับทุนอุดหนุนประมาณ  600,000 เยน ( หรือประมาณ 200,000 บาท ) รวมเป็นทุนทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท  ซึ่งทุนดังกล่าวจะเป็นเงินทุนที่อาจารย์และนักวิจัยสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานวิจัยได้โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใดๆ ในโอกาสนี้ยังได้มีพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในการมอบทุนวิจัยให้กับ มจธ. ระยะที่ 2 (ตั้งแต่ปี 2558 - 2560) เนื่องจากมูลนิธิฯ เล็งเห็นศักยภาพในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย จึงได้ขยายความร่วมมือออกไปอีก 3 ปี //.


ผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดง


หุ่นยนต์พ่นยา




หุ่นยนต์พ่นยา