สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดงาน TRF-ASEAN Public Forum “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทอาเซียน”
แรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจที่มีทั้งบวกและลบ แรงงานข้ามชาติอาจมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยผลิตสินค้าและบริการได้ด้วยต้นทุนต่ำ แต่มีคำถามว่าแรงงานข้ามชาติได้เบียดขับแรงงานไทยหรือไม่ ทำให้แรงงานไทยได้รับค่าแรงต่ำและผู้ประกอบการละเลยการพัฒนาผลิตภาพหรือไม่ ก่อให้เกิดการค้ามนุษย์และแรงงานหรือไม่ ตลอดจนอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ความต้องการการศึกษา และการสาธารณสุขที่จะเป็นภาระต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ขณะที่ในมิติความมั่นคงของมนุษย์และการสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทย แรงงานข้ามชาติได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมหรือไม่ ประเทศไทยปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติดีพอแล้วหรือไม่อย่างไร ถึงที่สุดแล้วประเทศไทยจะมีนโยบายและการบริหารจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างไรบนมาตรฐานแรงงานที่เป็นสากล ปัญหาข้างต้นจะซับซ้อนมากขึ้นในอนาคตเมื่อเกิดการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพเข้าสู่ประเทศมากขึ้น ประเทศไทยจะบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ใช้ทักษะและไม่ใช้ทักษะด้วยมาตรฐานแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจแรงงานข้ามชาติในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม จริยธรรม และด้านสถานการณ์ ผลกระทบ และการบริหารจัดการบนพื้นฐานความเสมอภาคและความมั่นคงของมนุษย์ แม้ สกว. ยังไม่สามารถให้คำตอบต่อคำถามข้างต้นได้อย่างครบถ้วน แต่ผลงานวิจัยสามารถตอบคำถามได้ในระดับหนึ่ง และสมควรจะสร้างความรู้ความเข้าใจรวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กับสาธารณะ และผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อดำเนินการสังเคราะห์องค์ความรู้และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป
เอกสารประกอบการประชุม TRF- ASEAN Public Forum ครั้งที่ 1 “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทอาเซียน”
http://aseanwatch.org/2014/07/17/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1-trf-asean/