HAL-Q สัญลักษณ์แห่งคุณภาพสินค้าฮาลาลระดับโลก
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างชื่อให้ประเทศไทย เขย่าวงการอาหารฮาลาลโลกอีกครั้ง ด้วยการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาลให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ชื่อว่า HAL-Q เป็นระบบที่นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรศาสนาอิสลาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้บริโภคให้เกิดความมั่นใจในความสะอาด ปลอดภัยและถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เตรียมประกาศ HAL-Q เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณภาพสินค้าฮาลาล สู่การเป็นที่ยอมระดับโลก พร้อมทั้งเตรียมจัดงาน HAL-Q World Premier Halal Quality Assurance ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ระบบการผลิตอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในเครือข่ายธุรกิจฮาลาลระหว่างประเทศ
รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า HAL-Q คือ ระบบการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล โดยการบูรณาการมาตรฐานฮาลาล เข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารอาหาร โดยเน้นความสะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ผนวกเข้ากับความถูกต้องตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าอาหารฮาลาลที่ผลิตขึ้นไม่มีการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนา
รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน กล่าวเพิ่มเติมว่าตามปกติการผลิตอาหารฮาลาลในระบบอุตสาหกรรมมีประเด็นต้องระวังอยู่มาก ผู้ผลิตต้องมีความเข้าใจเรื่องของฮาลาล เข้าใจความเคร่งครัดของมุสลิม รอบรู้เรื่องวัตถุดิบและความซับซ้อนของกระบวนการผลิต การชำระล้างอย่างถูกต้อง รวมถึงการพัฒนาบุคลากร
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการผลิตอาหารฮาลาลมาตั้งแต่ปี 2542 โดยบูรณาการระบบมาตรฐานฮาลาลสากลเข้ากับระบบการผลิตอาหารในทางอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ ทั้ง GMP, HACCP ภายหลังมีการนำระบบ ISO เข้ามาประยุกต์ นำห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน เมื่อพบว่าปัญหาในภาคอุตสาหกรรมคือการชำระล้างตามหลักศาสนาอิสลามซึ่งมีการใช้น้ำดินในการชำระล้างสิ่งสกปรกตามหลักการอิสลาม ศูนย์ฯจึงพัฒนาสบู่ดินที่มีคุณสมบัติเหมือนสบู่แต่คุณภาพดีกว่า ราคาถูกกว่าขึ้นมาใช้ ผลิตภัณฑ์สบู่ดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรรมการอิสลามในประเทศไทย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ จากนั้นได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ฮาลาลและการตรวจสอบย้อนกลับขึ้นเพื่อเชื่อมระบบ HAL-Q เข้ากับระบบอื่นๆ
การพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี มีการทดสอบในโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมคนงานเกือบแสนคน ส่งผลให้ระบบ HAL-Q ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านระบบ HAL-Q จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคมีความฮาลาลอย่างสมบูรณ์ องค์กรศาสนาอิสลามสามารถให้การรับรองฮาลาลด้วยความมั่นใจ
รศ.ดร. วินัย กล่าวต่ออีกว่า ระบบ HAL-Q สามารถใช้ได้กับทุกโรงงานผลิตอาหารที่มีคนงานไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยบุคลากรยังขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบการผลิตอาหารฮาลาล ศูนย์ฯจะจัดอบรมให้กับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้จักระบบและสามารถนำระบบไปปรับใช้ภายในโรงงานของตนเอง แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ ระบบ HAL-Q เน้นการใช้บุคลากรที่มีอยู่ให้สามารถทำงานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนลดลง สามารถแข่งขันได้ การดำเนินการแบ่งเป็น 4 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน ได้แก่ การอบรมฝ่ายบริหาร การอบรมฝ่ายปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางระบบและการประเมินผล
HAL-Q กำหนดให้สิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลามหรือหะรอม เป็นอันตรายอีกชนิดหนึ่งเพิ่มเติมจากอันตรายตามระบบ GMP และ HACCP เกิดเป็นอันตรายสี่ชนิดที่จำเป็นต้องขจัด ได้แก่ อันตรายทางกายภาพ ชีวภาพ เคมี และหะรอม อันตรายประการหลัง อาทิ เนื้อสัตว์ (หมู, สุนัข, สัตว์มีเขี้ยวเล็บ, สัตว์อันตราย, สัตว์เป็นโรค) รวมไปถึงพืชที่เป็นพิษ และเครื่องดื่มมึนเมา โดยในส่วนของ HAL-Q ประเภท Halal-HACCP จะมีการกำหนดจุดควบคุมวิกฤติหะรอม (Haram CCP) ขึ้นในสายการผลิตด้วย
รศ. ดร. วินัย เสริมด้วยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี แอฟริกาใต้ จอร์แดน แคนาคา ปาเลสไตน์ หรือแม้กระทั่งอิสราเอล ต่างชื่นชมในระบบ HAL-Q เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมาก เป็นระบบที่ดีที่สุดในขณะนี้ และจะเป็นแนวทางใหม่ของวงการอาหารฮาลาลในอนาคต
รศ. ดร. วินัย กล่าวต่อไปอีกว่า และเพื่อเป็นการเปิดตัวระบบ HAL-Q ในตลาดโลก ศูนย์ฯจึงได้ร่วมกับบริษัท Koelnmesse GmbH ประเทศเยอรมนี จัดงานประชุมนานาชาติ “World of Halal Science, Industry and Business-ANUGA 2009” ขึ้น ในงาน Anuga นครโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานการแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อแสดงศักยภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลของประเทศไทย ตลอดจนศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ได้รับการจัดวางระบบ HAL-Q กิจกรรมทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ HAL-Q เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติและได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวาง และปัจจุบันในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี อัฟริกาใต้ จอร์แดน แคนาดา อิสราเอง ต่างชื่นชมในระบบ HAL-Q เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมาก เพราะระบบ HAL-Q เป็นระบบที่ดีที่สุดในขณะนี้ และจะเป็นแนวทางใหม่ของวงการอาหารฮาลาลในอนาคต
“แต่สุดท้ายผมยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก หากใครลองศึกษาและนำมาปรับใช้ในองค์กร จะรู้ได้เลยว่าระบบ HAL-Q นอกจากจะทำให้โรงงานต่าง ๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลามแล้ว ยังเป็นระบบที่คนไทยพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นไทยแลนด์แบรนด์อย่างแท้จริง ระบบ HAL-Q จึงถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง สมตามแนวคิด Halal Science-Thailand’s Signature อีกด้วย ผมถือได้ว่าจุดนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการเผยแพร่ระบบ Hal-Q สู่มาตรฐานระดับโลก” รศ. ดร. วินัย กล่าวปิดท้าย