happy on June 06, 2014, 07:35:08 PM
สมอ. จับมือสถาบันอาหาร พาชมโรงงานมาตรฐานอาหารฮาลาล รับมือ AEC

               บริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ จำกัด สมุทรปราการ/สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับโรงงานอาหารสู่มาตรฐานฮาลาลรองรับตลาด AEC พาผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบมาตรฐาน และสื่อมวลชน เยี่ยมชมโรงงานมาตรฐานฮาลาล หวังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาลที่ถูกต้อง เสริมสร้างศักยภาพระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลเพิ่มขึ้น  มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย และเกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มชาวมุสลิมทั่วโลก


นางรัชดา อิสระเสนารักษ์

               นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่าเนื่องจากในปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาลสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมในตลาดโลกนั้นมีมูลค่าสูงมาก ซึ่งนับว่าตลาดอาหารฮาลาลกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าประมาณ 6,000,000 ถึง 8,000,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโต และการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจจากผู้ผลิตอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการดำเนินการผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารฮาลาลไทยจะส่งผลต่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น

               “ที่สำคัญการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้นั้นจะทำให้มีผลประโยชน์  มีอำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมากและคาดไม่ถึง ข้อมูลจากสถาบันอาหาร ระบุว่ามุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุดประมาณ 1,365 ล้านคน กล่าวเฉพาะมุสลิมในอาเซียนมีประมาณ 264 ล้านคน หรือราว 40% ของจำนวนประชากรในอาเซียนทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 606 ล้านคน  และประเทศที่มีมุสลิมอยู่มากกว่า 60%  ของจำนวนประชากรในประเทศ คืออินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน  โดยอินโดนีเซียมีมุสลิมสูงถึง 210 ล้านคน หรือคิดเป็น 88% ของจำนวนประชากร 241 ล้านคน ส่วนมาเลเซียมีมุสลิม 17.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 60.4% ของจำนวนประชากร 29 ล้านคน  ส่วนที่บรูไนมีมุสลิม 0.3 ล้านคน หรือราว 67% ของจำนวนประชากร 0.4 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีมุสลิมอยู่ประมาณ 7 ล้านคน ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลในอาเซียนมีมูลค่าราว 80,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกผ่านทางโมเดิร์นเทรด






               การร่วมมือกันเร่งผลักดันมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการไทย จึงนับเป็นภารกิจสำคัญเพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกเกิดความมั่นใจในการรับประทานอาหารที่ผลิตจากประเทศไทยได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร หลักสุขาภิบาล ความสะอาด และความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพของตลาดอาหารฮาลาลในประเทศให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง” นางรัชดา กล่าว


นางอรวรรณ  แก้วประกายแสงกูล

               นางอรวรรณ  แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจรับรองอาหารฮาลาล โดยมอบหมายให้สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม  จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มผู้ผลิตอาหารฮาลาลทั่วประเทศ กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฮาลาลทั้งผู้ตรวจรับรองและที่ปรึกษาฮาลาล ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป ได้รับความรู้ดังกล่าว และนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการของตนให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออกตลาดต่างประเทศต่อไป  ซึ่งภายใต้กิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภคที่จัดขึ้นในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบมาตรฐาน ผู้ประกอบการ ประชาชนผู้บริโภคทั่วไปรวมแล้วกว่า 40 ราย

               “วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมบริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานมาตรฐานอาหาร ฮาลาล รวมทั้งมาตรฐาน GMP และ HACCP  ในวันนี้ ก็เพื่อให้กลุ่มสื่อมวลชน ซึ่งเป็นตัวกลางในการประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดความสำคัญของอาหารฮาลาล อาหารที่ผลิตอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา ว่ามีกรรมวิธีการผลิตอาหารอย่างไรให้ประชาชนชาวมุสลิมทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นที่ยอมรับและมีความแตกต่าง กับการผลิตอาหารปลอดภัยปกติที่ไม่ใช่อาหารฮาลาล ตรงจุดไหนบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคกลุ่มมุสลิมจริงๆ และเป็นการให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป ได้มีประสบการณ์สัมผัสกับการผลิตอาหารฮาลาลจริง ๆ ในโรงงาน ซึ่งเจ้าของเป็นชาวมุสลิม ทำให้เข้าใจถึงหลักศาสนามากขึ้น และเข้าใจว่าอาหารฮาลาลมิใช่อาหารของชาวมุสลิมเท่านั้น ยังเป็นอาหารของชาวศาสนิกอื่นได้ด้วย มีมาตรฐานความปลอดภัย และความสะอาดเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง”

               นางอรวรรณ กล่าวต่อว่า ภายในโครงการนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่การฝึกอบรมในหัวข้อ ความสำคัญและการตรวจรับรองอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออกสู่ตลาดตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ AEC ตามภูมิภาคต่างๆ(เหนือ, ใต้, กลาง, ตะวันออก, และตะวันออกเฉียงเหนือ) รวมผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 400 ราย และจัดอบรมเรื่อง Train the Trainer แนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสำหรับผู้ตรวจรับรอง ด้านแนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสู่สากล ให้กับผู้ตรวจรับรองฮาลาลไปแล้วจำนวน 60 ราย


นายวิรุตม์  ทรัพย์พจน์

               ด้าน นายวิรุตม์  ทรัพย์พจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ จำกัด ก่อตั้งโดย คุณสามารถ ทรัพย์พจน์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 80 ล้านบาท เพื่อเข้าดำเนินกิจการต่อจาก บริษัท ไอบีเอฟ อินดัสทรี จำกัด ซึ่งตามความหมายเดิม “ไอบีเอฟ” ย่อมาจากคำว่า “อิบรอฮีมฮาลาลฟู้ดส์” โดยได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร  เครื่องจักร ระบบการผลิต การจัดส่งและการจำหน่าย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ และให้คำนิยาม ไอบีเอฟ (IBF) ใหม่ว่า International Business Food ภายใต้สโลแกนว่า “ฮาลาลแน่ อร่อยจริง”

               บริษัทเป็นผู้ผลิตอาหารตามหลักการอิสลาม จากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาทิ กลุ่มลูกชิ้นไก่ ลูกชิ้นเนื้อ กลุ่มไส้กรอกไก่ ไส้กรอกอีสาน ไก่เชียง ไส้กรอกเนื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง อาทิ พะแนงไก่/เนื้อ แกงเขียวหวานไก่/เนื้อ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส อาทิ ซุปผงปรุงรสไก่ น้ำปลา น้ำจิ้มไก่ เป็นต้น ซึ่งได้รับการปรุงแต่งรสชาติให้เหมาะสมสำหรับทุกคนได้รับประทานด้วยความพอใจ และมั่นใจในความเป็นฮาลาลของผลิตภัณฑ์ ด้วยการจัดเตรียมวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานพร้อมตามหลักการอิสลามสำหรับการทำอาหาร ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน HACCP และ GMP ด้วยจำนวนพนักงานราว 100 คน โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นมุสลิม

               “ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ไอบีเอฟ เน้นผลิตและจำหน่ายสินค้ากลุ่มลูกชิ้นและไส้กรอกเป็นหลัก โดยมีตลาดส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งกระจายสินค้าผ่านศูนย์กระจายสินค้าที่บริษัทไปตั้งที่จังหวัดยะลา และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จุดแข็งของการผลิตสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐานฮาลาลของแบรนด์ไอบีเอฟนั้น นอกจากที่เจ้าของกิจการเป็นคนมุสลิมแล้ว พนักงานกว่าครึ่งก็เป็นคนมุสลิม รวมทั้งบริษัทฯยังมีรถขนส่งกระจายสินค้าเป็นของตนเอง ไม่ได้จ้างบริษัทขนส่งภายนอก ทั้งนี้เพื่อต้องการควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการไม่ให้สินค้าฮาลาลไปปะปนกับสินค้าอื่น  และในปีนี้เตรียมเพิ่มจำนวนรถขนส่งขนาดใหญ่รองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนตลาดราว 65% จะจำหน่ายผ่านศูนย์กระจายสินค้า/ร้านค้า/ตลาดสดในกรุงเทพและจังหวัดต่างๆในภาคใต้ ราว 20% จำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพ อาทิ แม็กซ์แวลู และเดอะมอล์  อีก 15% จำหน่ายให้ครัวสายการบินและโรงแรม เช่น การบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ และกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป อาทิ โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมเจ้าพระยาปริ้นเซส โรงแรมออลซีซั่นส์หัวหมาก เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีแผนจะขยายตลาดในส่วนนี้ให้มากขึ้น”






               นายวิรุตม์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยอดขายส่วนใหญ่ราว 95% ยังเป็นตลาดในประเทศ มีเพียง 5% ในกลุ่มสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องที่ส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มเพิ่มสัดส่วนการผลิตอาหารพร้อมรับประทานในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยในหลากหลายเมนูมากขึ้นทั้งอาหารบรรจุกระป๋อง บรรจุถุง และอาหารแช่แข็งซึ่งตลาดมีความต้องการสูง เพื่อรองรับการบุกตลาดส่งออกอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันภายในปีนี้มีแผนจะเพิ่มไลน์การผลิตไก่สดแปรรูปแช่แข็งเพื่อการส่งออก โดยคาดว่าในปี 2557 บริษัทฯจะเติบโตราว 5% ด้วยยอดขาย 126 ล้านบาท

               “วันนี้พี่น้องมุสลิมต้องฉุกคิดในเรื่องของการบริโภค เราอยากให้คนมุสลิมได้บริโภคอาหารที่เป็นฮาลาลและปลอดภัยทั้งดุนยาและอาคิเราะห์ คือไม่มีสิ่งหะรอมมาเจือปน ทุกอย่างได้มาตรฐานระดับสากล แบรนด์ ไอบีเอฟ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม” นายวิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย