เปิดห้องนั่งเล่นตุ๊กติ๊ก ตุ๊บปอง ครั้งที่ 3 ตอน ไปชิมไข่ฟองน้อยกันนะ
เลี้ยงลูกให้เก่ง ดี มีความสุข คือความหวังที่พ่อแม่ทุกคนปราถนา ต้องทำอย่างไรจึงให้ลูกรักเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการเลี้ยงลูกให้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากแต่คุณพ่อคุณแม่อดทนตั้งใจทำแล้ว เชื่อว่ารากแก้วที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีย่อมตั้งหลักได้อย่างงดงาม
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด จัดกิจกรรม เปิดห้องนั่งเล่นบ้านตุ๊กติ๊กตุ๊บปอง ครั้งที่ 3 จากโครงการ “คืนพ่อแม่ให้ลูก คืนสุขให้บ้าน” ในตอน ไปชิมไข่ฟองน้อยกันนะ โดยมี นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีบ (ตุ๊บปอง) และ นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน มาเล่าเรื่อง “ พ่อแม่ลูกปลูกรัก “ พร้อมเผยเคล็ดลับเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กดี นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กครอบครัวมากว่า 30 ปี ควบคู่ไปกับเขียนนิทานคำกลอน ปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เสนอแนะหลักคิด 8 ประการสำหรับคุณพ่อคุณแม่พึงปฎิบัติต่อลูก กล่าวคือ ดู ฟัง ท่อง ร้อง เล่น เล่า อ่าน และลงมือทำ
ดู ในช่วงแรกเริ่มของชีวิตเด็กต้องดูอะไรดีๆ ภาพที่เจริญตา ภาพที่พ่อแม่ขี้บ่น ทะเลาะ อารมณ์ไม่ดีใส่ลูก และแม่ที่ชอบบอกว่าอย่านะ ห้ามนะ ไม่นะ คือ เป็นภาพที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับลูก เขาจะมองสิ่งรอบตัวเป็นลบ เราไปปิดกั้นตัดวงจรสมองของลูก เราควรจะเป็นภาพที่เจริญตาให้กับลูก การเป็นพ่อคนแม่คนจะต้องพยายามรั้งตัวเรา รั้งอารมณ์เราให้อยู่ เพื่อลูกจะได้จดจำแต่สิ่งดีๆ
ฟัง เราจะต้องให้ลูกฟังอะไรดีๆ เช่น เพลงคลาสสิก เพราะดนตรีมีผลต่ออารมณ์ของลูก ท่อง การเรียกสมาธิเด็กได้ดีที่สุด คือการท่อง ที่ประเทศญี่ปุ่น จะฝึกให้เด็กมีสมาธิก่อน โดยการให้เล่นกีฬา เล่านิทานให้เด็กฟัง หรือในห้องครูต้องเล่นดนตรีให้เด็กฟังก่อนเริ่มเข้าสู่บทเรียน เพื่อให้จิตนิ่ง แล้วจึงใส่อะไรที่เป็นวิชาการลงไป แล้วเด็กจะจดจำได้แม่นยำ
ร้อง การร้องเล่น ทำกิจกรรมเข้าจังหวะช่วยให้เด็กมีจิตใจแจ่มใส กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เด็กที่ตบมือลงจังหวะ จะสมรรถนะดีกว่าเด็กที่ตบมือไม่เข้าจังหวะ การใช้เพลงและกิจกรรมเข้าจังหวะ ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีทักษะชีวิตดีขึ้น ทั้งการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ ภาษา คลังคำของเขาจะเพิ่มขึ้นเล่น มีอะไรบ้างที่พ่อแม่เล่นกับลูก ต้องหาให้ได้ว่ามีอะไรในครอบครัวที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ทั้งพ่อแม่และลูกต้องทำอะไรร่วมกัน การใช้ชีวิตยุคใหม่นี้อยู่กันคนละทิศละทาง แม่ก็มุม พ่อก็มุม ลูกก็มุม แต่เราต้องหาจุดที่ลงตัวด้วยกัน พ่อ แม่ ลูก เราเล่นอะไรด้วยกันได้
เล่า ในครอบครัวต้องพูดคุยกันบ้าง ภาษาการคุยของเราจะเข้าไปสู่โลกของลูกด้วยเหมือนกัน ปรับตวเองเข้าไป ลองฟังเรื่องเล่าของลูกบ้าง การพูดคุยและทำความเข้าใจกันช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะกัน เรื่องเล่าในบ้านอย่าได้ขาด
อ่าน ให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ช่วงแรกเกิด-5ปี ถ้าอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่แรกเกิด เด็กจะมีสมรรถนะที่ดี การอ่าน การเล่านิทานให้ลูกฟังต้องเริ่มจากการสัมผัสหนังสือ ธรรมชาติการจับ การเปิดแต่ละหน้า การได้เห็นการใช้สี ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เราควรจะปูพื้นฐานช่วง 6 ขวบปีแรกของชีวิตให้ดีที่สุดให้เขาได้สัมผัสหนังสือ เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตลงมือทำ ต้องอนุญาตให้ลูกทำ ให้ลูกทำตั้งแต่ยังเล็ก ใครทำเลอะต้องทำให้เรียบร้อย กินข้าวต้องตักพอประมาณ กินเสร็จต้องล้างจานเอง ลูกต้องทำทุกอย่างได้ตามวัย ตามสมรรถนะ อีกความเห็นหนึ่งในบทบาทของผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็ก และเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother and care นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กล่าวเสริมว่า
“เมื่อม้องย้อนไปในอดีต เมื่อวัยเด็กแม่ทำอะไรก็จะสอนเรา เช่นเรื่องกินข้าว ที่โต๊ะอาหารกินข้าวกับอากงอาม่า ต้องตักให้ผู้ใหญ่ก่อน สมัยนี้ เวลากินข้าว ลูกกินก่อนเลย อาหารอะไรที่ดีที่สุด เอาให้ลูกก่อน ลูกจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องการคิดถึงผู้อื่น เขาจะเรียนรู้แต่ว่าเขาเป็นผู้รับโดยตลอด อยู่ที่ว่าเราจะเป็นคนออกแบบชีวิตลูกแบบไหน เรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันที่เราคิดว่าลูกไม่ต้องทำ เช่น ล้างจาน รีดผ้า สมัยนี้เรามีแม่บ้าน เราไปตัดวงจรทักษะชีวิตที่จะฝึกให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองทั้งนั้นเลย ลองมองย้อนดูนะคะว่าเด็กทุกวันนี้ที่เขาเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแต่ตัวเอง เรามองไม่เห็นผู้อื่นบางทีมันเกิดจากน้ำมือของเรา สมัยนี้พ่อแม่กลัวลูกลำบาก ทำโน่นทำนี่ให้ เราจะต้องฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองเป็น มีทักษะชีวิต เอาตัวรอดได้ ต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการรับผิดชอบด้วยตัวเอง“
“อยากฝากให้ท่านรักษาสมดุล เราเคยเป็นลูกของแม่แบบไหน เราพยายามคิดถึง ณ วันนั้น มีจุดดี จุดด้อย ตรงไหน แล้ววันนี้เรามาเป็นพ่อแม่ของลูกในยุคนี้ เราควรที่เอาสิ่งต่างๆที่เราเคยเป็นลูกของพ่อแม่ มาปรับใช้ ในปัจจุบันเป็นโลกสังคมเปิด มีข้อมูลข่าวสารเยอะ เราต้องกรั่นกรองและหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เด็กยุคใหม่เติบโตมากับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิต คุณพ่อ คุณแม่ยุคใหม่ต้องอดทนและหนักแน่น ในการที่จะเป็นพ่อแม่คุณภาพ เราต้องเป็นพ่อแม่คุณภาพก่อนที่เราจะมีลูกคุณภาพ“
ภายในงาน เด็กๆได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงวัฒนธรรมอาหารและศิลปะทำมือ ผ่านกิจกรรมสนุกสนานที่ได้ทำร่วมกันในครอบครัว อาทิ นิทรรศการเล่นได้ เรื่อง “ ข ไข่ฟองน้อยอร่อยสารพัด “ ฟังนิทานน่ารักกับหลากหลายกิจกรรมที่ทำจากไข่ พบกับกิจกรรมดีๆได้ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ณ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาจตุรัสจามจุรีสแควร์ ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
www.planforkids.com หรือชมภาพกิจกรรมได้ที่
www.facebook.com/planforkids