สัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42ฯ ประสบความสำเร็จเกินคาด!!! รวมพลคนรักหนังสือกว่า 1,900,000 คน ยอดขายโดยประมาณราว 700 ล้านบาท หนังสือแนววัยรุ่น ไลท์โนเวล การ์ตูนลายเส้นมาแรง ย้ำเด็กไทยอ่านหนังสือมากขึ้น
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ถึงผลสรุปของสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “โลกคือนิยาย” ซึ่งสิ้นสุดในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าความคาดหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานและยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 41 ที่ผ่านมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ประมาณ 20 % ซึ่งนับว่าเกินคาดมากในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์อ่อนไหวและเศรษฐกิจอยู่ระหว่างชะลอตัว
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่เรายังรักษาความรักในการอ่านได้และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีนักอ่านเข้าร่วมงานประมาณ 1,900,000 คน และมียอดขายโดยรวมที่ประมาณ 700,000,000 บาท ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้มาก เพราะช่วงแรกนั้นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คาดว่าจากสถานการณ์บ้านเมืองที่อ่อนไหวและสภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ผู้บริโภคน่าจะต้องการเก็บเงินสดไว้มากกว่าจับจ่ายใช้สอย โดยผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 15-30 ปี และมาเป็นกลุ่มๆเพื่อเลือกซื้อด้วยกัน หลายคนมาแล้วก็มาอีก ปีนี้ที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้เข้าร่วมงานมีอายุน้อยลง คือเด็กอายุ 12-13 ปีก็จับกลุ่มกันมาเดินเลือกหนังสือแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นความหวังของสังคมไทย แสดงว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจในหนังสือมากขึ้น”
นายจรัญยังกล่าวด้วยว่ากลุ่มหนังสือที่เติบโตอย่างน่าสนใจและเห็นปรากฏการณ์ได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้นั้น คือกลุ่มของหนังสือแนววัยรุ่น ทั้งนวนิยาย บันทึกประสบการณ์ การเดินทาง ไลท์โนเวล และการ์ตูนลายเส้นต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มหนังสือที่ทั้งสำนักพิมพ์และนักเขียนมีการติดต่อกับนักอ่านอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางของโซเชียลมีเดีย
“ที่ผ่านมาวงการหนังสือเคยกลัวว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้คนอ่านหนังสือลดน้อยลง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากหลายสำนักพิมพ์ สามารถพิสูจน์ได้ว่าโซเชียลมีเดียและหนังสือสามารถส่งเสริมกันได้ ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารและสร้างความรุ้สึกอยากอ่านให้แก่ผู้อ่าน วิธีการสื่อสารระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่านด้วยโซเชียลมีเดียถือว่าได้ผลอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งตลาดหนังสือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” นายจรัญกล่าว
อย่างไรก็ตามนายจรัญเผยว่าจากความสำเร็จครั้งนี้ คงยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขภาพรวมในไตรมาสแรกของธุรกิจหนังสือเติบโตขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งทุกสำนักพิมพ์ก็จะต้องพยายามกันอย่างหนักต่อไป เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เติบโตขึ้นในบ้านเมืองนี้ แต่อย่างน้อยความสำเร็จในครั้งนี้ก็จะเป็นกำลังใจสำคัญให้แก่คนทำหนังสือ และการที่ได้เห็นเด็กๆอ่านหนังสือมากขึ้นก็เป็นความหวังของชาติได้ในอนาคต