ซีพี ออลล์ เผยยุทธศาสตร์ “สร้างคน” ปี 57 มุ่ง CSR การศึกษา พัฒนาเยาวชน
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย ประกาศเดินหน้านโยบายบริษัทปี 2557 เน้นงาน CSR “ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน” หลายรูปแบบทุกระดับชั้น ผ่านวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ , ศูนย์การเรียนรู้ทวิภาคี , สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมส่งเสริมการอ่าน-เขียน และทักษะทางปัญญา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สู่เยาวชน เตรียมให้ทุนการศึกษาอีกกว่า 800 ล้านบาทในปีนี้ โดยได้รับเกียรติจากคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร, คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมแถลงข่าว ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า กว่า 25 ปี ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ซีพี ออลล์ อยู่เคียงคู่กับสังคมไทย บริษัทมุ่งมั่นสร้างสังคม “แบ่งปัน” ด้วยการส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคมทั้งในรูปแบบที่เป็นสถาบันการศึกษาและที่เป็นการเรียนรู้เพิ่มทักษะทางปัญญาให้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง
บริษัทได้จัดการศึกษาระบบทวิภาคี หรือการเรียนทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงาน (Work Based Learning) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2538 โดยก่อตั้งสถาบันการศึกษาภายใต้ชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก, สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ, สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานจริง โดยเรียน 3 เดือน สลับกับภาคปฏิบัติ 3 เดือน ตลอด 3 ปี สามารถทำงานได้จริงทันทีที่จบการศึกษา พร้อมมีรายได้ตามมาตรฐานแรงงานระหว่างฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และยังรับประกันว่า จบแล้วมีงานทำทุกคน ซึ่งพบว่าบัณฑิต 3 รุ่นแรกที่จบมานั้นได้งานทำ 100% ตลอดเวลาที่ผ่านมาวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์, ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ และ วิทยาลัยเครือข่ายเอกชน ผลิตนักเรียนที่เก่งและดีไปแล้วกว่า 28,000 คน
“ปัจจุบันมีนักเรียนที่ศึกษาอยู่จำนวนกว่า 8,700 คน โดยในปีนี้บริษัท ได้เตรียมงบประมาณในการสนับสนุนการศึกษา ระดับ ปวช. จำนวนกว่า 14,000 ทุน ทุนละ 51,000 บาท เพื่อเป็นทุนและค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมมูลค่ากว่า 714 ล้านบาท” นายก่อศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดทางการศึกษาไปสู่ระดับปริญญาตรีปริญญาโท และปริญญาเอก โดยก่อตั้งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ (PIM) ในปี 2550 เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ มีศักยภาพด้านการทำงาน ในสาขาวิชาที่ส่งเสริมนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ โดยมีการเปิดสอนหลายคณะวิชา อาทิ คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งมีสาขาธุรกิจค้าปลีก,สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร,สาขาการจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี , คณะศิลปศาสตร์ , คณะวิทยาการจัดการ , คณะนิเทศศาสตร์ , คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร และในปี 57 นี้ จะเปิดหลักสูตรใหม่ ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต , หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ , หลักสูตรวิชาการจัดการธุรกิจการบิน และ หลักสูตรการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว
“กว่า 7 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน PIM สามารถผลิตนักศึกษาในระบบ กว่า 10,000 คน และมีบัณฑิตจบไปแล้ว 3 รุ่น บัณฑิตทุกคนจบไปมีงานทำ 100 % โดยมีการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องไปแล้วกว่า 7,100 ทุน มูลค่ารวมกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งในปี 57 นี้บริษัทยังคงสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยแบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 2,815 ทุน ปริญญาโท 65 ทุน รวมมูลค่า 93 ล้านบาท “
นอกเหนือจากส่งเสริมการศึกษาในภาคปกติแล้ว ซีพี ออลล์ ยังเดินหน้าส่งเสริมทักษะด้านการอ่าน การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมอ่าน – เขียน และทักษะทางปัญญาให้แก่เด็กเยาวชน สำหรับด้านการอ่าน ได้รณรงค์ให้ครอบครัว ชุมชน และเยาวชนรักการอ่านตั้งแต่ปี 2542 ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการโรงเรียนรักการอ่าน เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนในโรงเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนร่วมโครงการถึง 436 โรงเรียน โครงการชุมชนรักการอ่าน ในแต่ละส่วนของภูมิภาคเพื่อกระจายการอ่านไปยังชุมชนต่างๆ รวม 32 ชุมชน และโครงการหนังสือเล่มแรก หรือ (Book Start) เชิญชวนให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกตั้งแต่ตั้งครรภ์ 6 เดือน ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กตั้งแต่ยังไม่คลอด ปัจจุบันมีครอบครัวเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 600 ครัวเรือน
ด้านการเขียน ได้สร้างสรรค์เวทีประกวด “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ในปี 2546 เพื่อส่งเสริมให้เกิดงานเขียนและหนังสือดีมีคุณภาพประเภทต่างๆ 7 ประเภท อาทิ วรรณกรรมสำหรับเยาวชน , นวนิยาย , กวีนิพนธ์ , รวมเรื่องสั้น , สารคดี , นิยายภาพ(การ์ตูน) , รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้มีหนังสือที่ส่งเข้าร่วมประกวดตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 3,044 เล่ม นอกจากเวทีประกวดแล้วยังมีโครงการกล้าวรรณกรรม , โครงการ 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน , โครงการยอดกล้า ที่ริเริ่มส่งเสริมให้ครูอาจารย์และเยาวชนนำศาสตร์ภาษาไทยและศิลปะ มาสร้างคุณค่าให้ผลงาน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนและครูอาจารย์ผ่านการอบรมกว่า 2,000 คน สำหรับโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 จะปิดรับผลงานภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ สำหรับผู้สนใจจะส่งผลงานเข้าประกวด สามารถติดต่อได้ที่สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2648-2901-2 หรือดูรายละเอียดที่
www.pr7eleven.com “อีกหนึ่งยุทธศาสตร์สร้างคนที่สำคัญ เพื่อเพิ่มทักษะทางปัญญา นั่นคือ การส่งเสริมกีฬาหมากล้อม หรือ (โกะ) กีฬาที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมอง เพราะในแต่ละเม็ดที่ตัดสินใจวางลงบนกระดานนั้น ล้วนมีผลตัดสินแพ้หรือชนะได้ทุกเมื่อ และยิ่งท้าทายมากขึ้นในกระดานที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้ผู้เล่นมีสติปัญญา รู้จักการวางแผน จัดระบบความคิดได้อย่างดี รู้จักตนเองและเรียนรู้นิสัยของฝ่ายตรงข้ามควบคู่ไปด้วย ทั้งยังนำมาประยุกต์ใช้ในหมากชีวิตได้ทุกเมื่อ เช่น การชนะโดยไม่คิดเอาชนะ หรือ หลักการงานด่วนมาก่อนงานใหญ่ จึงเป็นโอกาสอันดีหากเริ่มต้นเรียนรู้กีฬาหมากล้อม เพราะเมื่อก้าวพลาดบนกระดานก็จะทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนชีวิตและดำเนินไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ปัจจุบันมีผู้เล่นหมากล้อมในประเทศไทยกว่าล้านคน และมีเยาวชนเป็นนักกีฬาหมากล้อมระดับฝีมือระดับสูง(ระดับดั้ง)กว่า 550 คน“ นายก่อศักดิ์กล่าว
สุดท้าย คุณก่อศักดิ์ได้กล่าวถึงความสำเร็จที่จะเกิดจาก "การสร้างคน" ในครั้งนี้ว่า "ความสำเร็จนั้นมาจากการที่เด็กได้เห็นงานจริง การปฎิบัติจริงทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยกันกับเพื่อนของเขา เป็นทฤษฏีที่ง่ายต่อการเรียนรู้ การปฎิบัติจริงควบคู่ไปกับการเรียน จะเป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับการหาประสบการณ์การทำงานชีวิต ความรู้ ก็คือแค่ความรู้ ที่สมัยนี้สามารถหาได้ง่ายๆ ใน Google แต่นี่ไม่ใช่ ต้องเป็นความรู้ที่ไม่ได้หาได้แค่ใน Google แต่ต้องมาจากอาจารย์ที่เก่งจริงๆ นอกจากนั้นความสำเร็จต้องมาจากความร่วมมือของคนรอบข้างด้วย"