EFในไทย แนะเพิ่มบทบาทภาคประชาชนสู่การขับเคลื่อนประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
วงเสวนาEFในไทย ระบุ สังคมไทยโหยหาผู้นำที่หมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวมากขึ้น ทำให้มิติส่วนอื่นบกพร่อง แนะเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนเพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มากกว่าการพึ่งพาผู้นำคนเดียว
การลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ขณะนี้ สามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยการเพิ่มบทบาทให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งในปัจจุบันกลับสวนทางกันเนื่องจากมิติในการแสดงบทบาทของภาคประชาชนกลับหายไป
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (EF ASEAN Regional Program 2013) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “เพิ่มบทบาทของภาคประชาชน:กลไกที่หายไป” จัดขึ้นโดย Eisenhower Fellowships Alumni Thailand ร่วมกับทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ภายใต้สังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในด้านต่างๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนที่มี 2 มิติ คือ 1.ความสามารถที่ประชาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และ 2.กลไก เครื่องมือ วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้ รวมถึงภาคประชาชนต้องเต็มใจในการมีส่วนร่วมและกล้าแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้กลับหายไป
นอกจากนี้ยังพบว่าตัวการที่ทำให้บทบาทภาคประชาชนหายไปคือ ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลในเชิงลึกค่อนข้างยาก เพราะภาครัฐมักอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ยกตัวอย่างกรณีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน หรือเปิดเผยภายในกี่วัน หากไม่เปิดเผยจะมีโทษอย่างไร และมีเหตุผลอะไรกรณีไม่เปิดเผยข้อมูล
ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการแจ้งเบาะแสข้อมูลคอร์รัปชั่นว่าไทยยังมีปัญหาในเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นอุปสรรคของผู้ที่ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสของผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ต่างประเทศมีกลไกคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือต่อประเทศ อุปสรรคดังกล่าวจึงส่งผลให้ปัญหาคอรัปชั่นในไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (EF Multination Program 2001) กล่าวถึงบทบาทภาคประชาชน โดยหยิบยกสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยระบุว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มมวลมหาประชาชนเหมือนภาพเหตุการณ์เมื่อช่วงปี 2553 ซึ่งปรากฏซ้ำกันมาแล้ว เนื่องจากประชาชนไม่พอใจการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ใช้กติกาให้เสียงข้างมากออกกฎหมายโดยไม่สนใจนิติธรรม นิติรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมองและตั้งคำถามว่านี่คือประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ส่งผลให้เกิดคลื่นของมวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการบริหารงานที่ไม่ชอบมาพากล
แต่ในความขัดแย้งดังกล่าว ปลัดกระทรวงยุติธรรม กลับมองเห็นจุดร่วมของแต่ละขั้ว ว่ามีจุดร่วมเดียวกันคือ ความไม่พอใจในระบบประชาธิปไตย ความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งทางออกคือแกนนำจะแก้ปมเหล่านี้ได้ด้วยการศึกษา ทำความเข้าใจ คิดอย่างเป็นระบบและช่วยกันหาทางออกเพื่อประโยชน์ของประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับยกข้อเสนอ 5 ข้อของโทนี่ แบลร์ อดีตรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ระบุว่า 1.การปรองดองจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ 2.หากอดีตยังตกลงกันไม่ได้ ค้นหาความจริงยังไม่ได้ การไม่ลืมอดีตแต่มองอนาคตแทนก็เป็นสิ่งที่ดี 3.มีกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยหาจุดที่รับได้ร่วมกัน 4.แนวทางต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่แบบ Voting แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบ Thinking ด้วย และ5.คนที่เป็นผู้นำปฏิรูป หรือผู้นำการปรองดอง หากเป็นคนที่ประชาชนเชื่อถือก็จะเป็นประโยชน์ ที่สำคัญจะมองข้ามภาคประชาชนไม่ได้ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้หากผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียหาจุดร่วมให้ได้จะนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้ง รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์สลายขั้วขัดแย้ง ซึ่งในเรื่องนี้บทบาทภาคประชาชนจะมีความสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน และหากทำได้จากนี้ไปสังคมไทยจะไม่โหยหาคำว่าผู้นำที่หมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวอีกต่อไป
สอดคล้องกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (EF Multination Program 1994) กล่าวว่า สังคมไทยโหยหาผู้นำ (Single Agent) และให้ความสำคัญกับผู้นำซึ่งหมายถึงคนๆเดียวมากเกินไปทำให้มิติอื่นบกพร่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเมืองที่ทุกคนหาแกนนำของตัวเอง ทำให้กลไกภาคประชาชนหายไป ไม่เว้นแม้แต่องค์กรรัฐที่มีความอ่อนแอ เนื่องจากรอฟังเฉพาะผู้นำอย่างเดียว
โดย นพ.บัญชา มองว่า ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ในอีกด้านสังคมไทยก็ต้องการความยุติ ซึ่งตนสนับสนุนแนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่พูดถึงการทำงานเป็นเครือข่ายฝ่าให้พ้นทวิลักษณ์ ในความเชื่อที่ว่าในเหลืองมีแดง ในแดงมีเหลือง ซึ่งหากสามารถสร้างกลไกการมีส่วนร่วมได้จะทำให้ลดวิกฤติความขัดแย้งและรุนแรงได้เช่นกัน
ด้าน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ (EF ASEAN Regional Program 2013) กล่าวว่า ภาคประชาชนต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันสื่อต้องสามารถทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชนได้ โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เสพสื่อในโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางอื่นๆที่มีประเด็นเรื่องความเร็วและความแท้ในการนำเสนอข่าว ทำให้ต้องมีการกำหนดวาระข่าวที่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจมีด้วยกัน 2 ประเด็นคือ 1.สื่อจะทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้อย่างไร และ 2.สื่อจะอยู่รอดในเชิงธุรกิจอย่างไร โดยทั้ง 2 ประเด็นถือเป็นเรื่องท้าทายมาก ว่าจะทำพร้อมกันอย่างไร
ทั้งนี้ คุณสฤณี ได้เสนอแนะไปยังสื่อในฐานะตัวกลางในการสื่อสารกับภาคประชาชนสามารถทำได้โดย 1.วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data journalism) สื่อและประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเนื้อหา วิเคราะห์และตีความ ทำข่าวสารข้อมูล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะเป็นกลไกเพิ่มพลังให้แก่ประชาชน 2.ผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ซ้ำได้และเผยแพร่ได้ และเป็นระบบที่เข้าถึงง่าย และ 3.ผลักดันมาตรฐานรัฐเปิด (Open Government) ให้เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และรับฟังความเห็นจากประชาชน
อย่างไรก็ตามวงเสวนา เห็นตรงกันว่า กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาและเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้หลักการพื้นฐานนั่นคือ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์ปชั่น และยินดีที่จะเสียสละ ซึ่งจะทำให้ทิศทางการทำงานของภาคประชาชนมีบทบาทอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดูข่าวนี้ได้ที่
http://tdri.or.th/tdri-insight/tdrireport20140121/