กสทช.นำร่อง ขยายโครงข่ายบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง พิษณุโลก หนองคาย
พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เตรียมจัดประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการโทรคมนาคมดำเนินการขยายเครือข่ายบริการโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ไปสู่พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีบริการแต่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2556 คาดว่าจะเปิดให้มีการประกวดราคาใน 2 จังหวัดนำร่อง คือจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดหนองคาย เพื่อทดสอบกลไกลการประกวดราคา และในปี พ.ศ. 2557 จะเปิดให้มีการประกวดราคาในอีก 73 จังหวัด ทั่วประเทศ
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ด้วยวิธีการประกวดราคา จะเน้นการดำเนินงานไปยังพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังขาดแคลนบริการ บรอดแบนด์ เป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงภายในระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้
1.บริการโทรศัพท์ (Voice Service) ประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคล และจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 1-2 เลขหมายต่อหมู่บ้าน
2. บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Service) ประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตชุมชน ในสถานศึกษา อินเทอร์เน็ตในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวนไม่น้อยกว่า 50,0000 ครัวเรือน
พลเอกสุกิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงในระยะเวลา 5 ปี จะจัดเก็บจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกประเภท โดยกำหนดอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ของรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคม
สำหรับการดำเนินงานโครงการจัดให้มีบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ด้วยวิธีการประกวดราคาใน 2 จังหวัดนำร่อง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดหนองคาย มีเป้าหมายในการขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติคไปยังตำบลเป้าหมาย โรงเรียน ตำบล ในจังหวัดพิษณุโลก และ 26 ตำบลในจังหวัดหนองคาย โดยจะเชื่อต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังโรงเรียน อนามัย องค์การบริหารส่วนตำบลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย รวมจำนวนกว่า 325 แห่ง และการตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนอีก 19 แห่ง รวมถึงการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะในหมู่บ้านที่ไม่มีหรือขาดแคลนบริการโทรศัพท์กว่า 60 หมู่บ้าน ใน 2 จังหวัดนำร่อง และโดยที่ผู้ชนะการประกวดราคา จะสามารถติดตั้งและเปิดให้ในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้ลงนามในสัญญา ซึ่งประมาณการกำหนดการเปิดขายซองประกวดราคา วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 นี้