นานมีบุ๊คส์เปิดตัวรวมเรื่องสั้น “25 ปีต่อมา” ผลงานรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2556
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ จัดเปิดตัวหนังสือ “25 ปีต่อมา” ผลงานรวม 20 เรื่องสั้น รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2556 พร้อมเผยโฉมหน้านักเขียนฝีมือเยี่ยม โดยมีตัวแทนนักเขียนผู้ได้รับรางวัล อาทิ นทธี ศศิวิมล องค์ บรรจุน อภิรักษ์ ชัยปัญหา และกล้า สมุทวณิช ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกรรมการตัดสินรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2556
คิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า “สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น 25 ปีต่อมา ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า 25 ปีต่อมาเป็นรวมเรื่องสั้นคุณภาพ การันตีด้วยทุกชิ้นงานเป็นเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ พ.ศ. 2556 นักเขียนหลายท่านไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่ ชั้นเชิงในการประพันธ์จึงทำให้ท่านดื่มด่ำไปด้วยอย่างง่ายดาย ในขณะที่นักเขียนอีกจำนวนหนึ่งเป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่ไม่อาจมองข้าม ความจัดเจนในกลวิธีเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 20 เรื่องสั้นในเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีความสุขและช่วยกระตุ้นความคิดของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี”
นทธี ศศิวิมล กล่าวว่า “25 ปีต่อมา เขียนขึ้นจากความรู้สึกของตนเองที่กำลังคิดถึงคุณพ่อเป็นอันดับแรก รวมถึงยังฝันถึงคุณพ่อว่าท่านมาที่บ้าน พอตื่นขึ้นมาจึงนึกขึ้นได้ว่าคงจะเป็นเรื่องน่าสนุกนะ ถ้าคนในปี 2531 อยู่ดีๆ มาอยู่ในปี 2556 เขาจะประหลาดใจกับอะไรบ้าง เขาจะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไปบ้างและยังมีประเด็นที่อยากจะเล่าอีกคือ เรื่องของค่านิยมของคนที่เปลี่ยนไป นิสัย รูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิต และปัจจัยหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไป รวมถึงเทคโนโลยีในสมัยก่อนกับสมัยนี้ การสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นส่งผลให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ความรู้สึกเมื่อตอนประกาศว่าได้อันดับที่หนึ่งก็รู้สึกประหลาดใจ เพราะว่าไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะต้องได้อันดับหนึ่ง เมื่อชนะและชื่อเรื่องสั้นได้นำมาเป็นชื่อหนังสือก็ยิ่งรู้สึกดีใจมากขึ้น”
อภิรักษ์ ชัยปัญหา กล่าวว่า “อาทิตย์กลับบ้าน เป็นเรื่องราวที่เกิดจากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งที่ตนเองจะต้องย้ายกลับบ้านที่ต่างจังหวัดแล้วก็ต้องไปทำงานอีกที่ จึงทำให้ต้องเดินทางกลับไปกลับมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง ทั้งสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยว่าแล้วตอนนี้เราเป็นใคร พ่อแม่หรือคนที่เรารู้จักยังเป็นคนเดิมอยู่ไหม รวมทั้งการตั้งคำถามว่าแล้วบ้านของเรา ในความรู้สึกของเรา อะไรคือบ้านของเรา ความรักความผูกพันของคนในบ้านยังมีอยู่ไหม การเดินทางของอาทิตย์ก็คือการตั้งคำถามกลับไปหวนคำนึงหาถึงบ้านและการตั้งคำถามต่างๆ ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้รับรางวัลเพราะตนเองก็ถือว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ เป็นนักอ่านวรรณกรรมมานาน แต่ในด้านการเขียนนี้เพิ่งเริ่มต้น และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”
องค์ บรรจุน กล่าวว่า “หมาของเธอกับหมาของเขา เขียนขึ้นเนื่องจากปกติก็ทำงานทำกิจกรรมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ งานวัฒนธรรมอยู่บ้าง ได้สัมผัสกับคนต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในสังคมไทย ได้สัมผัสกับคนที่เป็นแรงงานต่างด้าว คนพม่า คนลาว คนกัมพูชา หรืออาจจะเป็นคนไทยแต่มีเชื้อสายมอญ เมื่อได้คลุกคลีกับเขาก็รู้สึกว่าอยากจะช่วย แต่เราไม่ใช่เอ็นจีโอ ไม่ใช่ตำรวจ เราก็เลยช่วยได้เท่าที่เราช่วยได้โดยการเขียนหนังสือเพื่อให้คนในสังคมได้เข้าใจ ได้เห็นอกเห็นใจเขาว่าเขาก็เป็นคน จึงให้ตัวเอกของเรื่องเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามาผูกเรื่องโดยเทียบเคียงกับหมา ว่าคนต่างด้าวเป็นคนด้อยค่าโดยเทียบเคียงกับสัตว์อย่างหมาวัด คนต่างด้าวถูกมองว่าด้อยค่ากว่าหมา นายจ้างมักจะไม่ดูแล คอยเฆี่ยนตี โดยเทียบเคียงว่าคนที่ไม่มีค่าก็อยู่กับหมาที่ไม่มีใครสนใจ แต่หมาจะมีความผูกพันกว่ามนุษย์ ทำไมคนถึงไม่พยายามสร้างความเข้าใจต่อกัน จริงๆ แล้วเขียนคนเพื่ออยากให้คนมีอารีย์ต่อกัน ความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลคือ รู้สึกดีใจมาก จริงๆ แล้วเรื่องสั้นกว่าจะได้ตีพิมพ์นั้นยากมากกว่าจะผ่านการพิจารณา แต่ถ้าเป็นการประกวดจะใช้เวลาไม่นานเท่า ซึ่งการประกวดนี้จะช่วยทำให้เราได้ชื่อเสียง และได้รับการตีพิมพ์ รวมถึงโอกาสที่จะถึงมือผู้อ่านจะง่ายกว่ามาก”
25 ปี ต่อมา เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนฝีมือเยี่ยม ประกอบด้วย 20 เรื่องสั้น ได้แก่ 25 ปีต่อมา, หมาของเธอกับหมาของเขา, อาทิตย์กลับบ้าน, งานศพ, การอุบัติของสิ่งมีชีวิตบนโลกสองใบ, เงือก, ซีซีโนซอรัส, หญิงม้ายในทุ่งข้าวสีเหลือง, เกาะพยายาม, สถานการณ์บ้านเกิด, กลับบ้าน, ความทรงจำที่เหลือของแม่, จดหมายในตู้ ป.ณ.หมายเลข 4, เด็กแว้น, มกราคม, แม่ของผมคนเดียว, ยาอายุวัฒนะ, รังนอน, ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล และริมคลองนั้นมีเป็ดกับผม
“สุภาว์ เทวกุล” นามปากกาของ สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และบทละครโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมติดต่อกันหลายปี ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 6 ระหว่างพ.ศ. 2521-2525 รวม 2 สมัย เพื่อเป็นการระลึกถึง เพื่อนนักเขียนจึงได้ก่อตั้งมูลนิธิ “สุภาว์ เทวกุลฯ” ขึ้น และจัดให้มีการประกวดวรรณกรรมรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ เป็นประจำเพื่อส่งเสริมนักเขียนและวรรณกรรมไทยเรื่อยมา
ร่วมกันส่งเสริมผลงานคุณภาพของนักเขียนคนไทย กับ “25 ปีต่อมา” ผลงานรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2556 จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์เอโนเวล วางจำหน่ายที่ร้านแว่นแก้ว ร้านนานมีบุ๊คส์ช็อปทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ สอบถามที่ Nanmeebooks Call Center 02-662-3000 กด 1
www.nanmeebooks.com และwww.facebook.com/nanmeebooksfan