ข่าวและประวัติวงชาตรี
“ชาตรี” ประกาศคืนสู่วงการเพลงอีกครั้ง เตรียมส่งอัลบั้มใหม่ลงแผงปลายปี หลังห่างวงการนาน 24 ปี
ในวันนี้ “ชาตรี” แถลงข่าวประกาศกลับสู่วงการเพลงอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ สมาชิกทั้งสี่ แดง นราธิป กาญจนวัฒน์ , คทาวุธ สท้านไตรภพ , อนุสรณ์ คำเกษม และ ประยูร เมธีธรรมนาถ หวนสู่เวทีอีกครั้ง หลังหายหน้าจากวงการนาน 24 ปี ซึ่งทั้งสี่ไม่ได้ทิ้งร้างเรื่องเพลงไปเลย เพราะตลอดเวลาที่หายหน้าไปนั้น ต่างก็ทำงานเพลงอยู่เบื้องหลัง ซึ่งประสบการณ์ทางดนตรีไม่เป็นสองรองใคร
ขณะนี้ วง “ชาตรี” กำลังเตรียมผลงานเพลงชุดใหม่ ซึ่งเป็นเพลงใหม่ทั้งอั้ลบั้ม ในสไตล์ดั้งเดิมของวง “ชาตรี” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบบฉบับดั้งเดิมที่ยังคงตราตรึงอยู่ในทุกดวงใจของแฟนเพลงตลอดมา และนับต่อยอดจากอัลบั้มล่าสุดที่ออกไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว งานเพลงชุดใหม่นี้ จึงนับเป็นอัลบั้มชุดที่ 16 สีสันของเพลงจะสดใสขึ้น ให้คติและแง่คิดมุมมองต่าง ๆ มากขึ้น
และในต้นปี 2553 ทางวง “ชาตรี” จะมีงานคอนเสิร์ตสัญจรตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั้งเชียงใหม่ , ขอนแก่น , โคราช , ภูเก็ต , หาดใหญ่ ฯลฯ. ก่อนที่จะมีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวงานเพลงอัลบั้มล่าสุด ชุดที่ 16 แฟน ๆ เพลงที่รอคอยเพลงใหม่ ๆ ของวง “ชาตรี” รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
วง “ชาตรี”
ในสมัยก่อนการจะมีผลงานทางด้านดนตรี จะมีผู้แต่งทำนอง คำร้อง เรียบเรียงเสียงประสาน ผู้เล่นดนตรีและผู้ร้องอยู่กระจัดกระจายกัน แต่วงชาตรีภายใต้การนำของ นราธิป เป็นจุดเริ่มต้นที่นำเอาทุกองค์ประกอบมาอยู่ด้วยกันทั้งหมด โดยนราธิป สามารถแต่งคำร้อง ทำนอง เรียบเรียง บรรเลงและร้องครบทุกขั้นตอน ทำให้วงและเพลงของชาตรีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แตกต่างจากวงดนตรีอื่นๆในยุคนั้น
วงชาตรีต้องการสร้างสรรค์และรณรงค์ให้คนไทยฟังเพลงไทย ร้องเพลงไทย จึงมีแนวคิดว่า เพลงที่แต่งขึ้นมาจะใช้ทำนอง จังหวะ คำร้อง และคอร์ดกีต้าร์ง่ายๆ เพื่อให้จดจำง่าย เล่นง่าย แต่บทเพลงมีความไพเราะ น่าฟัง ด้วยการมีอุดมการณ์ทางดนตรีแบบนี้ทำให้ วงชาตรีไม่เคยร้องเพลงสากลเลย เพลงของวงชาตรีเล่นง่ายๆก็ไพเราะได้ ทำให้เพลงของชาตรีเข้าถึงวัยรุ่นอย่างกว้างขวาง ฝ่ากระแสความนิยมเพลงสากลในยุคนั้น ทำให้
วัยรุ่นหันมาสนใจเพลงไทยตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ ชาตรีกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้วัยรุ่นอยากจะเล่นดนตรีโดยเฉพาะการเล่นกีต้าร์จากเพลงของชาตรีสามารถฝึกเล่นได้ง่ายๆฝึกไม่กี่วันก็เล่นได้ นี่เป็นเหตุผลที่ ชาตรี คือวงดนตรีที่เป็นตำนานของเมืองไทย ทำให้คนไทยหันมาร้องเพลงไทย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆในการทำงาน ในการสู้ชีวิต ให้บรรลุเป้าหมายที่ดีไว้ "วินิจ เลิศรัตนชัย" DJ.ชื่อดัง ถึงกับยกย่องวงชาตรีในรายการจันทร์กระพริบ ว่า "ชาตรี คือ The Beatles เมืองไทย"
ตำนานวง “ชาตรี”
จุดเริ่มต้นของวงชาตรี เกิดขึ้นที่ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ฯ แผนกช่างภาพ ในปี พ.ศ. 2518 โดย นราธิป กาญจนวัฒน์ ได้เชิญเพื่อนอีก 2 คน คือ ประเทือง อุดมกิจนุภาพ และคฑาวุธ สะท้านไตรภพ ซึ่งเรียนอยู่ด้วยกัน มาร่วมกันทำเพลงให้วัยรุ่นชอบ ทำให้วัยรุ่นไทยรักและชอบเพลงไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น เขาทั้ง 3คนจึงได้ตกลงใจว่าจะตั้งชื่อวงเป็นชื่อแบบไทยแท้ว่า“ชาตรี”
เมื่อเริ่มแรกนั้น วงชาตรีใช้กีตาร์โปร่งทั้ง 3 ตัว ต่อมาวงชาตรีได้ อนุสรณ์ คำเกษม ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนอยู่ห้องเดียวกันมาเป็นมือกลอง และได้เข้าร่วมประกวดโฟล์คซองซึ่งทางชมรมโฟล์คซองเป็นผู้จัดขึ้น แต่เมื่อการประกวดผ่านไปถึงรอบที่ 2 วงชาตรีก็สละสิทธิ์จากการประกวดครั้งนั้น แต่คุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการตัดสินเห็นว่า วงชาตรีมีลักษณะแปลกและเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวต่างกับวงอื่นๆ จึงได้ชวนวงชาตรีไปอัดเสียงในรายการ 120 นาทีมัลติเพล็กซ์ ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่ครูไพบูลย์จัดอยู่
วงชาตรีได้ฝากผลงานเพลงไว้มากมายหลายเพลงจนทำให้แฟนในรายการรู้จักวงชาตรีเป็นอย่างดี แฟนเพลงพากันเรียกร้องอยากให้ทำเทปของวงชาตรี ดังนั้นครูไพบูลย์จึงรวบรวมผลงานเพลงของวงชาตรีบันทึกเป็นเทปคาสเซ็ทเพื่อเผยแพร่ให้แฟนๆได้ฟังตามเสียงเรียกร้อง นอกจากนี้ครูไพูลย์ ยังมีความคิดริเริ่ม บันทึกเสียงร้องและดนตรีแยกลำโพงซ้ายขวา เพื่อให้แฟนเพลงนำไปร้องด้วยตนเองได้ นี่คือความคิดที่ล้ำหน้าไปไกลถึงสามสิบปีโดยไม่ได้เลียนแบบใคร น่าเสียดายที่คาราโอเกะของครูไพบูลย์ไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นเพราะ ความไม่สะดวกในทางเทคโนโลยี เนื่องจากยุคนั้นเทปคาสเซ็ทยังเป็นเรื่องหายากและมีราคาแพง..
ต่อมา ห้างเมโทรแผ่นเสียงซึ่งเป็นเจ้าตลาดเพลงไทยสากลในยุคนั้นได้ติดต่อผ่านคุณไพบูลย์ มายังวงชาตรีให้อัดแผ่นเสียงกับบริษัท โดยให้เหตุผลว่า การทำแผ่นเสียงจะดีกว่าเทปเพราะสามารถนำไปออกอากาศตามสถานีวิทยุได้อย่างกว้างขวาง อัลบั้มชุดแรกของชาตรีจึงออกมาในรูปแบบของแผ่นเสียง นั้นคือ ชุด “จากไปลอนดอน”ซึ่งใช้กีตาร์โปร่งบรรเลงทั้งหมด หลังจากชาตรีออกแผ่นเสียงชุดแรก ในปี พ.ศ.2518 เทปคาสเซ็ทเริ่มมีอิทธิพลต่อวงการมากขึ้น ผู้คนเริ่มนิยมเทปตามลำดับ ทำให้ราคาของเครื่องเล่นค่อยๆถูกลง แต่ตอนนั้น พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ เพลงยังไม่ออก วงการเพลงจึงเน้นหนักไปในการขายแผ่นเสียงเท่านั้น ส่วนเทปที่มีอยู่ใน
ท้องตลาดมีแต่เทปผีเทปปลอมเกลื่อนตลาดไปหมด เนื่องจากเทปสามารถบันทึกเสียงง่ายไม่เหมือนแผ่นเสียง ดังนั้นอัลบั้มที่ฮิตสุดขีดอย่าง จากไปลอนดอน จึงโดนปลอมเข้าไปหลากหลายหน้าตาบนแผงเทป เรียกว่าคนซื้อสามารถเลือกปกเอาตามใจชอบได้เลยทีเดียว
ในต้นปี พ.ศ. 2519 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดที่สอง ให้กับบริษัท เมโทรแผ่นเสียง นั่นคือ ชุด “แฟนฉัน” และในระยะเวลาเดียวกันนั่นเอง วงชาตรียังได้ทำเพลงประกอบหนังเรื่อง “สวัสดีคุณครู” ภาพยนตร์ เรื่องนี้ได้ฮิตเปรี้ยงปร้างทำรายได้ถล่มทลาย และส่งให้ จารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกหน้าใหม่ได้กลายเป็นดาวประดับฟ้าเมืองไทย ก่อนจะเป็นนางเอกหมายเลขหนึ่งของยุคนั้นได้ในที่สุด ความสำเร็จของหนังเรื่อง “สวัสดีคุณครู” ทำให้บทเพลงของชาตรีได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก เพลงสองเพลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ สวัสดีคุณครูและสนุกกันวัยเรียน มีเจ้าของเสียงใสๆมาร่วมแจมกับชาตรี คือ ศิริลักษณ์ โสภณ หรือ แป๋ว แล้วต่อมา “ศิริลักษณ์ โสภณ” ก็กลายเป็น “ศิริลักษณ์ สะท้านไตรภพ”ต่อมาในปลายปี 2519 วงชาตรีได้ออกผลงานชุดที่ 3 คือชุด “หลงรัก”
พอขึ้นต้นปี 2520 วงชาตรีก็ทำผลงานชุดที่ 4 คือชุด “ฝนตกแดดออก” ซึ่งเป็นเพลงในหนังเรื่อง ฝนตกแดดออก และยังได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น “รักแล้วรอหน่อย” “จ๊ะเอ๋เบบี้”
ปี 2521 ถึงช่วงอวสานของวงการแผ่นเสียง โดยวงการเทปได้เติบโตขึ้นเป็นตัวตายตัวแทน วงการเพลงไทยเปลี่ยนความนิยมจากแผ่นเสียงมาเป็นเทปคาสเซ็ทอย่างเต็มตัว ด้วยความสามารถที่โดดเด่นของสื่อชนิดใหม่เล่นได้ บันทึกได้ มีขนาดเล็กพกพาสะดวก ด้วยความง่ายชนิดที่ผู้ฟังก็สามารถบันทึกเทปด้วยตนเองก็ได้ ทำให้มีการลอกเลียนปลอมแปลงกันอย่างมโหฬาร การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยไม่มีใครจับได้เพราะไม่มีกฏหมายรองรับ คนในยุคนี้ได้ยินแล้วอาจรู้สึกแปลกที่ใครๆก็สามารถทำเทปเพลงชุดไหนออกวางขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ยอดการจำหน่ายแผ่นเสียงลดฮวบฮาบลงอย่างน่าใจหาย และบางห้างถึงกลับเลิกกิจการไปก็มีบางห้างที่เคยเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียงก็หันมาเป็นผู้ผลิตเทปแทน
ในช่วงนี้วงชาตรีก็ได้มือคีย์บอร์ดเพิ่มเข้ามา นั่นคือ ประยูร เมธีธรรมนาถ แล้วในต้นปี 2522 วงชาตรีก็ได้ทำเพลงให้กับละครทีวีช่อง 9 เรื่อง “นางสาวทองสร้อย”
แม้วงชาตรี จะโด่งดังเป็นที่นิยมเพียงใด แต่รายได้ของวงก็ยังเป็นลักษณะรับจ้าง ไม่มีส่วนได้เสียกับยอดขาย ดังนั้นแม้วงชาตรีจะได้รวมเพลงขึ้นมาจนเสร็จไปอีกหนึ่งชุดแล้ว คือชุด “รัก 10 แบบ” แต่ก็ยังไม่ได้ออก เพราะตกลงกับห้างแผ่นเสียงทองคำไม่ได้ วงชาตรีต้องการริเริ่มเรียกร้องหลักการที่น่าจะเป็นธรรมกว่า ด้วยการขอแบ่งเปอร์เซ็นต์แทนที่จะเป็นการรับจ้าง ตอนนั้นหลายคนในวงการพูดถึงบริษัทฝรั่งแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งเข้าสู่
ตลาดเมืองไทยว่ามีหลักการตรงกับวงชาตรี และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาตรี ได้เข้าร่วมงานกับบริษัทฝรั่งนั้น“EMI”
EMI เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง บริหารงานแบบมืออาชีพ เป็นบริษัทที่ใหญ่ มั่นคง มีสาขาอยู่ทั่วโลก แม้แต่ “The Beatles” วงดนตรีที่ชาตรีชื่นชอบยังสังกัด EMI อังกฤษ จึงเป็นการตัดสินใจอย่างถูกต้องที่ วงชาตรีได้เข้าสังกัด EMI และความร่วมมือครั้งนี้กลายเป็นแม่แบบของการแบ่งเปอร์เซ็นต์เทประหว่างนายทุนและศิลปินจวบจนทุกวันนี้
กลางปี 2522 วงชาตรีจึงได้เริ่มต้นออกชุดแรกกับสังกัดใหม่ คือชุด รักสิบแบบ แต่เป็นชุดที่ 5 ของวงชาตรี การที่ชุดนี้ออกช้าเพราะ EMI รอให้ พรบ.ลิขสิทธิ์ประกาศใช้เสียก่อน แล้วจึงออกวางตลาดในรูปแบบเทปคาสเซ็ท ในช่วงนั้นแผ่นเสียงไม่มีการวางจำหน่ายอีกแล้ว จะมีก็แต่พวกนักสะสม และพวกนิยมแผ่นเสียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้นที่จะหาซื้อมาเก็บไว้ ส่วนใหญ่การผลิตแผ่นเสียงจะผลิตเพื่อนำเสนอออกทางสถานีวิทยุเท่านั้น ในขณะนั้น เทปปลอมเริ่มลดจำนวนน้อยลงเพราะ พรบ ลิขสิทธิ์มีบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ชาตรีมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น รายได้ทั้งหมดวงชาตรีได้แบ่งให้กับสมาชิกทั้ง 5 คนอย่างเท่าเทียมกัน
ก่อนจะออกอัลบั้มใหม่ วงชาตรีได้เดินทางไปเที่ยวสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ท่านอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ ได้ฝากข้อคิดว่า ขอให้แต่งเพลงเกี่ยวกับคนที่ติดยาเสพติด ทำให้วงชาตรีแต่งเพลง “หลงผิด” ในชุด “ชีวิตใหม่” และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปมอบให้กับสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้
ปลายปี 2523 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชุด “รักครั้งแรก” ชุดนี้ นราธิป แต่งไว้ 5 เพลง ส่วนอีก 3 เพลงแต่งโดย วันทนา วุฑากร ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.1 โรงเรียนมาแตร์เดอี ซึ่งมีอายุ 13 ปีเท่านั้น โดย คฑาวุธ ได้นำทำนองเพลงญี่ปุ่นที่คฑาวุธชื่นชอบไปให้เธอใส่เนื้อร้อง วันทนา เป็นเด็กสาวที่เก่งมากๆ ใช้ภาษาไทยได้ไพเราะ สวยงาม เนื้อร้องสอดคล้องกับทำนองโดยไม่มีการเพี้ยนของเสียงวรรณยุกต์ของคำที่ใช้เลย ซ้ำยังมีความหมายโรแมนติค กินใจ ใครจะเชื่อว่า เพลงรักครั้งแรก ยากยิ่งนัก และบทเรียนรัก ซึ่งกลายเป็นบทเพลงอมตะ ถูกศิลปินรุ่นหลังนำมารีเมคหลากหลายเวอร์ชั่นนั้น เป็นผลมาจากฝีมือของเด็กสาวอายุ13ปีเท่านั้น
ชาตรีประสบความสำเร็จจากชุดรักครั้งแรกอย่างมโหฬาร ทำสถิติยอดจำหน่ายสูงกว่าหนึ่งล้านตลับ คนนิยมฟังเพลงท่วประเทศไม่มีใครไม่รู้จักวงชาตรี
ปี 2523 เป็นปีเริ่มต้นที่ชาตรีเริ่มออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ทอย่างจริงจังต่อเนื่องทั่วประเทศ เป็นที่น่าภูมิใจที่งานของชาตรีขายได้อย่างต่อเนื่องยืนยาว เคยขายยังไงก็ยังมียอดขายอยู่อย่างนั้น ตอนนี้งานหลักของวงชาตรีก็กลายมาเป็นการนำวงชาตรีออกไปตระเวณแสดงยังต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย
กลางปี 2524 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดใหม่มาอีกชุดหนึ่งคือ “สัญญาใจ” ซึ่งวงชาตรีทำขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักให้กับ ประเทือง มือเบสของวงซึ่งได้แต่งงานกับสาวหาดใหญ่
ปลายปี 2524 วงชาตรีออกผลงานชุด “ชะตารัก” ซึ่งชุดนี้ ทาง EMI ได้ตัดสินใจให้ คริส ปาปิด้า นักดนตรีในสังกัด EMI ฮ่องกงเป็นผู้เล่นและเรียบเรียงเสียงประสานทั้งหมด โดยส่งเพลงทั้งหมด 12 เพลงที่ชาตรีแต่ง
เรียบร้อยแล้วบันทึกลงเทปคาสเซ็ทไปที่ฮ่องกง เมื่อ คริส ปาปิด้า ทำดนตรีเรียบร้อยแล้วสมาชิกทุกคนจึงเดินทางไปอัดเสียงที่ บริษัท อี เอ็ม ไอ ประเทศฮ่องกง ชุดนี้เป็นชุดเดียวที่ คฑาวุธ สะท้านไตรภพร้องเพลงทุกเพลงในอัลบั้มจากการตัดสินใจของนราธิป
ชุดชะตารักจึงเป็นชุดแรกที่ชาตรีไม่ได้เล่นดนตรีเอง แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของวงชาตรีอยู่อย่างเต็มที่เนื่องจากการแต่งเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของนราธิป และเสียงร้องของคฑาวุธ ซึ่งฟังอย่างไรก็รู้ทันทีว่าเป็นชาตรีแม้จะเป็นการทำดนตรีและมิกส์เสียงของEMIฮ่องกงก็ตาม
ในยุคสมัยนั้น หนังสือเพลง The Guitar โดยบริษัท I.S. Song Hit ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง นักจัดรายการเพลงสากลชื่อดังในสมัยนั้นจะลงเฉพาะเพลงสากลพร้อมคอร์ดกีต้าร์จากเมืองนอกเท่านั้น ชาตรีเป็นวงดนตรีวงแรกของคนไทย ที่บริษัท I.S. Song Hit ตีพิมพ์เนื้อเพลงของวงพร้อมคอร์ดลงในหนังสือ The Guitar และหลังจากนั้นมาหนังสือ The Guitar ก็กลายเป็นหนังสือเพลงไทยที่มีเพลงไทยเป็นส่วนใหญ่
ในปี 2525 วงชาตรีก็ออกผลงานมาอีกหนึ่งชุดคือ “ชุดชาตรีอินคอนเสิร์ต” ซึ่งเป็นการแสดงสดที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีวง Back up ให้อีกประมาณ 40 ชิ้น
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2525 ชาตรีก็ได้ออกชุด “รักไม่เป็น” ที่ห้องอัดศรีสยาม โดยมี วิชัย ปุญญะยันต์ แห่งวงพิงค์แพนเตอร์เป็นผู้เล่นดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสานให้ ทั้งนี้เพราะชาตรีไม่ค่อยมีเวลาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เนื่องจากต้องเตรียมซ้อมหนักเพื่อเดินทางแสดงคอนเสิร์ตทั่วประเทศ และชุดนี้เอง ที่วงชาตรีได้รับรางวัลตุ๊กตาทองมหาชนในเพลง “ภาษาเงิน”
เดือนมีนาคม 2526 ชาตรีได้ออกอัลบั้มชุด “รักที่เธอลืม” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว จากยอดเทปขายเกินกว่า 2 แสนตลับ ภายใน 2 อาทิตย์ และเริ่มรับสมัคร ชาตรีแฟนคลับ รุ่นที่ 1 โดยมี คฑาวุธเป็นประธานแฟนคลับ
ในชุด “รักที่เธอลืม” นี้ ชาตรีได้ออกแสดงสดในรายการโลกดนตรีเป็นครั้งแรก และก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ รายการโลกดนตรี ต้องย้ายการแสดงสดจากในห้องส่งออกมานอกห้องส่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ห้องส่งเล็กเกินกว่าที่จะรับจำนวนแฟนเพลงอันมากมายมหาศาลของ ชาตรี ได้ เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ แห่ง 72 โปรโมชั่น ผู้ดำเนินรายการโลกดนตรีจึงได้ตัดสินใจจัด Out Door เป็นครั้งแรก เพื่อต้อนรับชาตรีและแฟนเพลง หลังจากนั้นรายการ “โลกดนตรี” ก็มาจัดด้านนอกห้องส่ง ทีวีสีช่อง 5 โดยตลอด
เดือนตุลาคม 2526 วงชาตรีได้ออกผลงานชุดที่ 13 คือชุด “แอบรัก” ซึ่งบันทึกเสียงที่ห้องอัดเสียงของชาตรีเอง เพราะชาตรีต้องการทำเพลงอย่างประณีตพิถีพิถันที่สุด การทำที่ห้องอัดเสียงของตัวเองสามารถทำได้อย่างเต็มที่โดยจำกัดระยะเวลา
ปี 2527 เป็นปีที่ 10 ของวงชาตรี และวงชาตรีก็นำความใหม่มาสู่วงการเพลง โดยการนำเอาบุคคลที่มีมันสมองเยี่ยมในด้านการเรียบเรียงเสียงประสานคือ คุณโทนี่ อากิล่า ซึ่งเป็นคุณพ่อของ คริสตินา อากีล่า มาร่วมกันผลิตผลงานชุดที่ 14 โดยใช้ชื่อ “ชาตรีทศวรรษ” และเพื่อให้การบันทึกเสียงยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ทาง
บริษัท อี.เอ็ม.ไอ. ได้เชิญเทคนิคเชี่ยน จากประเทศสิงคโปร์ คือคุณวินเซนท์ ลิม มาบันทึกและมิกซ์เสียง ที่ห้องอัดเสียงชาตรี เป็นชุดที่ 2
ปี 2528 ชาตรีออกผลงานชุดสุดท้าย “อธิษฐานรัก” แล้วช็อคแฟนเพลงด้วยการประกาศสลายวงอำลาวงการโดยการแสดงครั้งสุดท้ายณ.ลานโลกดนตรี
ข่าวการเลิกวงของชาตรีแพร่ออกไปทำให้ผู้คนพากันเดินทางมาชนคอนเสิร์ทครั้งนี้มากมายจนล้นออกไปบนถนนพหลโยธิน บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเศร้าใจกับการอำลาของวงชาตรี แฟนเพลงจำนวนมากพากันร้องไห้และขอรายเซ็นของสมาชิกกลับไปเป็นที่ระลึกเป็นครั้งสุดท้าย
...วงการเพลงต้องจารึกว่า ชาตรี คือตำนานของวงดนตรีไทย ที่ยิ่งใหญ่วงหนึ่ง ชาตรีอยู่ในวงการเพลงไทย โดยไม่มีการขาดช่วงความสำเร็จในผลงาน ทั้ง 15 ชุดของวงชาตรี ประสบความสำเร็จทั้งความนิยมและยอดขาย ไม่มีชุดไหนขายได้ต่ำกว่าหลายแสนตลับ บางชุดทะลุหลักล้านก็มี การเลิกวงของชาตรีทำให้แฟนเพลงพากันเสียดายกันทั้งประเทศ
(แฟนๆชาตรีที่สนใจ สามารถหาอ่านประวัติอย่างละเอียด และชมภาพเก่าๆของชาตรีได้ จาก หนังสือ "ชาตรี 3 ทศวรรษ บทเพลงแห่งความทรงจำ" ของ EMC ซึ่งคุณ วันชัย สุนทรถาวร แห่ง วงสิชล ได้รวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด) ด้วยความยิ่งใหญ่ของวงชาตรี ที่ได้มีโอกาส กลับมาร่วมเล่นดนตรี แสดงคอนเสิร์ตอีกครั้ง หลังจากเวลาผ่านไป 33 ปี บันทึกการแสดงสดในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย ที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมอย่างยิ่ง