โครงการเปิดตัว “มอก.9999 เล่ม 1-2556 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม”
1. ความเป็นมา
นับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติจนถึงฉบับที่ 11 ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของแผนพัฒนาฯ นับว่าตั้งแต่ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาเป็นการบูรณาการแบบองค์รวมเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ต่อมาเมื่อประเทศไทยและหลายประเทศแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งขาดความสมดุลกับสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จนถึงฉบับปัจจุบันจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทย สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยทุกคน
จวบจนปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทย และนานาประเทศว่าสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายใน อาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวังในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอน เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจคนในชาติให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีสติรอบคอบด้วยหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล ซึ่งในภาคเกษตรกรรม และสังคมชนบทได้ไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย และได้ผลอย่างดียิ่ง สำหรับในภาคอุตสาหกรรมได้มีธุรกิจหลายองค์กรที่สามารถนำไปใช้ และประสบผลสำเร็จ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จึงได้ประกาศกำหนดมาตรฐาน มอก.๙๙๙๙ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทานมีความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกัน อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกิดความมั่นคง ยั่งยืน และประชาชนในสังคมมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนของสภาวการณ์ต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้มาตรฐาน มอก.๙๙๙๙ –๒๕๕๖ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายขับเคลื่อนของรัฐบาล
ดังนั้น เพื่อแนะนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จึงได้จัดให้มีงานเปิดตัว “มอก.9999 เล่ม 1-2556 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม” ขึ้น
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อแนะนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมแก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย
2.2 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงประโยชน์ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปใช้ปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ
3. กลุ่มเป้าหมาย
3.1 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
3.2 หน่วยงานภาคการผลิต เน้นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SME
รวมจำนวนประมาณ 500 - 700 คน
4. วิธีดำเนินการ/หัวข้อการสัมมนา
4.1 จัดพิธีเปิดตัวแนะนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการ
4.2 การบรรยายพิเศษ เรื่อง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
4.3 การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับความสำเร็จในการบริการธุรกิจอุตสาหกรรม”
5. วิทยากร
5.1 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
5.2 ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
5.3 ผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว
6. ที่ปรึกษาโครงการ
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
7. ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน (สสพ.)
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
8.1 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรู้จักและเข้าใจในมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม
8.2 ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรู้จัก มอก.9999 และตระหนักถึงประโยชน์ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ