"เห็ด" หาทานได้ง่าย แถมยังมีประโยชน์มากมายเลยล่ะคะ โดยปัจจุบันเห็ดหลากชนิด อาทิ เห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดหลินจือ เห็ดแชมปิญอง เห็ดเข็มทอง เห็ดออรินจิ เห็ดสกุลนางรมต่างๆ เห็ดโคน เห็ดหูหนู ถูกนำมาทำเป็นอาหารสุขภาพหลากเมนู นิยมทานทั้งแบบเห็ดสด แบบบรรจุกระป๋อง หรือแม้แต่ตากแห้ง นอกจากนี้วงการยาก็นำไปศึกษาวิจัยเรื่องสรรพคุณทางยา
ที่น่าสนใจคือเคยมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เห็ดหลายชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีโปรตีนสูง สามารถทดแทนโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ อาหารมังสวิรัติจึงนิยมใช้เห็ดเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้เห็ดบางชนิดยังนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้อีกด้วย
เห็ดส่วนใหญ่มีแคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ ปราศจากคลอเลสเตอรอล มีธาตุโปแตสเซียมสูง จึงมีคุณสมบัติช่วยลดความดัน และยังมีสารซีลีเนียมที่เป็นสารต้านมะเร็ง แถมยังอุดมด้วยวิตามินบี เฉพาะในเห็ดหอมสดจะมีวิตามินซีสูงมาก ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เพื่อเสริมกระดูกและฟัน อย่างไรก็ตาม การทานเห็ดสดหรือเห็ดที่ปรุงโดยความร้อนที่ไม่สูง โดยใช้เวลาไม่นานนัก จะให้คุณค่าของสารอาหารมากกว่าเห็ดที่ปรุงสุกหรือผ่านความร้อนนานๆ นะคะ เว้นแต่ในส่วนดอกสดของเห็ดจะมีวิตามินซีมากจึงไม่ควรกินสด ควรทำให้สุกเสียก่อน เนื่องจากมีสารบางอย่างจะไปยับยั้งการดูดซึมของอาหารในระบบย่อยอาหาร
คุณสมบัติของเห็ดจะเหมือนกับถั่ว ซึ่งมีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และกรดอะมิโนบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนรสชาติเมื่อทำให้สุกจะคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ แต่จะย่อยง่ายกว่า นอกจากนี้เห็ดยังให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยซึ่งช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย เห็ดบางชนิดอย่างเช่นเห็ดหอมแห้งที่แช่น้ำก่อนนำมาปรุงอาหารจะมีปริมาณเส้นใยสูงเทียบเท่าผักที่มีเส้นใยมาก และยังมีปริมาณไขมันที่ต่ำ
เห็ดยังถือเป็นทั้งอาหารและยาในเวลาเดียวกัน เพราะมีซีลีเนียม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระใกล้เคียงกับวิตามินอี ลดเสี่ยงเกิดมะเร็ง และโรคสำหรับผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ มีโพแทสเซียม เป็นสารที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ความสมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ มีวิตามินบีรวม ไรโบฟลาวิน ช่วยบำรุงผิวพรรณและการมองเห็น ไนอะซิน ควบคุมการทำงานระบบย่อยอาหารและระบบประสาท แต่เห็ดมีโซเดียมต่ำ
เรามาดูสรรพคุณของเห็ดแต่ละชนิดกันบ้างดีกว่าค่ะ
เห็ดหอม ลดไขมันในเส้นเลือด เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสและมะเร็ง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน โซเดียมต่ำเหมาะสำหรับคนป่วยโรคไต ลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร
เห็ดหูหนู เป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เพิ่มความแข็งแรงให้เม็ดเลือดขาวส่งผลให้ภูมิต้านทานดี ช่วยรักษาโรคกระเพาะและริดสีดวง บำรุงสมอง หัวใจ ปอด กระเพาะ ตับ แพทย์แผนจีนใช้บำรุงไต ลดไข้ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ต้มกับน้ำตาลกรวดจิบแก้ไอ
เห็ดเข็มทอง ถ้าทานเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคตับ กระเพาะและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เยื่อบุช่องท้อง ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
เห็ดหลินจือ มีสารสำคัญเบต้ากลูแคน ช่วยต้านมะเร็ง คนญี่ปุ่นมักใช้เสริมการรักษาโรคมะเร็งและโรคผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคในระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ อย่างระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร ระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ แก้ปอดอักเสบ ภูมิแพ้ และระบบการไหลเวียนของเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลดคลอเลสเตอรอล
ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรม เห็ดภูฎาน ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดน้ำตาลในเลือด ปรับสภาพความดันโลหิต ลดการอักเสบ ยังยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย เห็ดหูหนูขาว ช่วยบำรุงปอดและไต เห็ดฟาง ลดความดันโลหิต เร่งการสมานแผล บำรุงกำลัง บำรุงตับ แก้ช้ำใน เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน และเห็ดโคนบำรุงร่างกาย ทำให้แช่มชื่น กระจายโลหิต ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาสารสำคัญในเห็ด โดยเฉพาะสารจำพวกโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ผู้วิจัยพบมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญของเอชไอวี ไวรัส เพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยืดอายุผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังยั้งการเจริญของก้อนเนื้องอก และลดระดับคอเลสเตอรอลในสัตว์ทดลองอีกด้วยค่ะ
อย่างไรก็ดี ยังมีเห็ดบางประเภทที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือที่เรียกว่า เห็ดพิษ ซึ่งสวนใหญ่เจริญในป่า ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราจะหลีกเลี่ยงอันตรายจากเห็ดพิษ คือ ไม่นำเห็ดที่ไม่รู้จัก เห็ดที่ถูกเก็บมาจากป่า มาปรุงอาหารทานเด็ดขาด
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านที่รักสุขภาพคงได้ทำความรู้จักกับเห็ดกันมากขึ้นจนอยากจะหาเมนูเห็ดมาทานกันในมื้อถัดๆ ไปกันแล้วใช่ไหมค่ะ อย่าลืมนะคะว่า เลือกทานเฉพาะเห็ดที่เราคุ้นเคย แค่นี้เราก็จะมีสุขภาพที่ดีจากสารอาหารที่มีอยู่ในเห็ดกันแล้วล่ะคะ.
"PrincessFangy"
twitter.com/PrincessFangy
อิงเนื้อหาบางส่วนจาก
www.ist.cmu.ac.thhttp://www.dailynews.co.th/article/822/187444