เอเลี่ยนบนโลก:
งานสตั๊นต์และอาวุธ
หลังจากสงครามสิ้นสุด ผู้รอดชีวิตกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่บนโลก (หรือตามที่แจ็คเชื่อมาตลอด) ก็คือกลุ่มเอเลี่ยนที่คอยตามเก็บกวาดซาก เอเลี่ยนพวกนี้รับบทโดยนักแสดงสตั๊นต์ และเป็นเรื่องสำคัญที่ชุดเอเลี่ยนทั้งหลายนั้นจะต้องทั้งปลอดภัยและใช้งานได้ดี หน้ากากเริ่มต้นด้วยการใช้หน้ากากการบินแบบง่ายๆ จากนั้นมีอุปกรณ์หลายอย่างถูกติดเข้าไปเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ ส่วนของหูให้แสงสว่างได้ ขณะที่ชิ้นส่วนของกล้องเก่าๆ ถูกติดเข้ากับตาของทุกชุด ชุดของเอเลี่ยนแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน
สำหรับฉากแอ็กชั่นหลายต่อหลายฉากที่พวกเอเลี่ยนเก็บซากจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดั๊ก แม็คควอร์รี่ ที่ปรึกษาด้านการทหารและเป็นหน่วยเนวีซิลที่เกษียณแล้ว จะต้องทำงานกับนักแสดงสตั๊นต์ที่แต่งชุดเอเลี่ยน 10 คน และยังต้องร่วมงานกับแผนกสตั๊นต์ทั้งหมด แม็คควอร์รี่ได้ตั้งแค้มป์ฝึกเอเลี่ยนขึ้นมาเพื่อฝึกสตั๊นต์แมนเหล่านี้ รวมถึงสตั๊นต์หญิงอีกหนึ่งคน (โซอี้ เบลล์ ซึ่งต้องแสดงเป็นคาร่า) แม็คควอร์รี่ที่ต้องทำงานกับอาวุธ เป็นคนแนะนำกลุ่มนักแสดงในบทเอเลี่ยนเก็บซากว่าพวกเขาจะต้องคลาน เดิน หรือวิ่งยังไงในฉากการเผชิญหน้า แม็คควอร์รี่ไม่ลังเลเลยที่จะตะโกนเสียงดังใส่เอเลี่ยนฝึกงานของเขา ด้วยคำสั่งอย่างเช่น “ดู! ยิง! ฆ่า!” เพื่อกระตุ้นพลังจากนักแสดงสตั๊นต์เหล่านี้
โคซินสกี้และแม็คควอร์รี่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่กลุ่มเอเลี่ยนเหล่านี้จะต้องเคลื่อนไหวเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ในแบบทหาร แม็คควอร์รี่เล่าว่า “เอเลี่ยนเก็บซากพวกนี้จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยท่าทีที่ดูสบายๆ ผมได้ทำงานกับกลุ่มนักแสดงสตั๊นต์ที่มีความคล่องแคล่วและมีความสามารถกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขามีทักษะพื้นฐานแบบทหารและมีรากฐาน จากนั้นเราก็ได้สร้างสไตล์จำเพาะขึ้นมาด้วยกัน”
ก่อนหน้านี้ แม็คควอร์รี่เคยร่วมงานกับครูซโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านทหารให้กับภาพยนตร์เรื่อง Jack Reacher มาแล้ว ทำให้พวกเขาคุ้นเคยกันดี หลังจากแม็คควอร์รี่และครูซได้พูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับว่าแจ็คจะยิงปืนยังไง จะเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ยังไง พวกเขายังได้ทำงานด้วยกันในส่วนของอาวุธที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Oblivion โดยเฉพาะ แม็คควอร์รี่กล่าวว่า “นี่คืออาวุธในโลกอนาคต ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวและปรับมันเพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น”
ที่ปรากฏให้เห็นที่เรเว่นร็อคด้วยก็คือรถลากของเอเลี่ยน ซึ่งพวกเอเลี่ยนใช้สำหรับขนร่างแจ็คที่หมดสติอยู่ กิลฟอร์ดอธิบายว่าสิ่งแรกที่พวกนั้นต้องหาให้ได้ก็คือแผ่นเหล็ก เป็นยานพาหนะที่พวกเขาสามารถนำมาเชื่อมติดกันได้ เขากล่าวว่า “เราพิจารณารถตีนตะขาบวิ่งบนหิมะและรถลากชนิดอื่นๆ เราพบรถตีนตะขาบวิ่งบนหิมะที่มีคันบังคับ เราจึงซื้อมันมาคันหนึ่งจากเวอร์มอนต์ มันเป็นรถสโนว์แค็ทคันเก่า เรานำมันกลับมาที่นี่และเริ่มชำแหละชิ้นส่วนมัน เราใช้ส่วนราง และระบบกลไกตีนตะขาบและเริ่มสร้างแท่นขึ้นบนตัวรถ ไมก์ ไมนาร์ดัส ซึ่งเป็นกูรูทางด้านสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ได้ชำแหละรถสโนว์แค็ทนั้นออกเป็นชิ้นๆ ให้กับเรา และสร้างดาดฟ้ารถด้วยแผ่นเหล็ก”
ไมนาร์ดัสและทีมงานของเขายังได้สร้างรถที่มีลักษณะเหมือนรถถัง ที่ติดตั้งปืนกลเอ็มเคไว้สองกระบอก กับตัวบรรจุกระสุน 50 นัดที่สามารถยิงได้ครั้งเดียวถึง 100 นัด รถตีนตะขาบนี้จะมีตัวยิงระเบิดเอ็มเค 19 พร้อมด้วยระเบิดขนาด 40 ม.ม. ป้อมปืนบนรถ และระบบไฮโดรลิคทำให้เป็นไปได้ที่จะขึ้นและลงและวิ่งไปในทุกทิศทาง นี่คือเครื่องจักรสังหารโดยแท้ความแม่นยำเหนือมนุษย์:
การควบคุมกล้องบิน
Oblivion ได้รับเกียรติด้วยการเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยกล้องซีนอัลต้า เอฟ 65 ของโซนี่ ซึ่งเป็นกล้องเอ้าต์พุท 4 เค ที่ให้รายละเอียดภาพคมชัดมากเป็นพิเศษผ่านระบบปฏิบัติการของชิพ 8K โคซินสกี้ที่รู้ว่าเขาจะไปถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ในไอซ์แลนด์ เลือกใช้กล้องชนิดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเก็บภาพจากโลเกชั่นที่น่าตื่นตานี้เท่านั้น แต่ตัวกล้องยังให้ผลลัพธ์เป็นภาพที่มีสีสันที่เหมือนจริง โคซินสกี้หัวเราะ “มันถูกเปิดตัวออกมาจากสายการผลิตเพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่เราจะเริ่มต้นงานถ่ายทำกัน”
ด้วยความละเอียดสูงของกล้องรุ่นนี้ทำให้ผู้กำกับโคซินสกี้ได้ทุกสิ่งที่เขาต้องการ โคซินสกี้เล่าว่า “หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ผมเลือกกล้องที่เราใช้กันอยู่นี้ ก็คือ มันมีเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดสูงมาก มันให้ภาพฟุตเตทระดับ 4K ซึ่งมีความละเอียดมากกว่ากล้องดิจิตอลที่มีใช้กันอยู่มากถึง 4 เท่า และยังมีระดับความคมและรายละเอียดที่คุณไม่เพียงแต่สามารถมองเห็นประกายแสงในดวงตาของนักแสดงเท่านั้น แต่ยังมองเห็นรายละเอียดของภาพที่สะท้อนกลับมาด้วย ผมรู้ดีว่ารายละเอียดของภาพวิวทิวทัศน์ในไอซ์แลนด์จะถูกบันทึกภาพเอาไว้ในแบบที่น่าตื่นตาที่สุดด้วยกล้องตัวนี้ และจะต้องดูดีที่สุดเมื่อขึ้นจอใหญ่”
ในฉากแจ้งกลางของเรเว่นร็อค และฉากจุดตกของยานโอดิสซี่ ตั้งอยู่ที่ถนนฮูเปอร์ในบาตันรู้จ ที่นั่นมีการใช้กล้องบินได้ที่มีลักษณะพิเศษ กล้องบินที่มีน้ำหนักประมาณ 125 ปอนด์ เป็นการผสมผสานระหว่างหัวเข็มทิศ กล้องความละเอียดสูง และเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ควบคุมโดยทีมงานห้าคนผ่านระบบรีโมทไร้สายที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
กล้องบินได้ทำให้ได้มุมมองที่เป็นอิสระและการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถทำได้ด้วยกล้องที่เชื่อมต่อด้วยสลิง กับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion กล้องชนิดนี้ทำให้ได้ชอตภาพที่เป็นมุมมองจากดรอนที่กำลังขึ้นบิน และยังได้ความเร็วและชอตภาพที่มีความมั่นคงขึ้นด้วย เอ็มมานูเอล พรีวินแนร์ จากทีมควบคุมระบบกล้องบิน อธิบายว่า “ศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องของการควบคุมหุ่นยนต์ ดังนั้นคุณจึงมีคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่องจักรที่เป็นโมเดล คอมพิวเตอร์นี้สามารถทำงานอย่างที่คุณต้องการด้วยความถูกต้องแม่นยำในแบบที่มนุษย์ไม่มีทางทำได้”
ถึงแม้จะเคยมีการใช้กล้องบินกับภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible, Harry Potter และภาพยนตร์ชุด James Bond แต่ได้มีการสร้างเทคโนโลยีขึ้นใหม่ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Oblivion วินาทีแรกที่กล้องตัวนี้ถูกใช้ก็คือตอนที่ดรอนตัวหลักๆ หยุดทำงานและตกลงมาจากท้องฟ้า พวกมันกลิ้งลงไปตามเขาและหยุดตรงหน้าประตูบานใหญ่ของเรเว่นร็อค เทคโนโลยีนี้ทำให้โคซินสกี้สามารถจำลองชอตภาพของเหตุการณ์นี้แบบชอตต่อชอต ภายในระยะสองนิ้วของแต่ละเทก ความถูกต้องแม่นยำขนาดนี้คือสิ่งที่ทีมที่สำนักงานใหญ่ของฟลายอิ้ง-แคมในยุโรปค้นคว้าและสร้างมาสักระยะแล้ว เทคโนโลยีนี้ ซึ่งผสมรวมระบบจีพีเอสและการเชื่อมโยงด้วยดาวเทียมเข้าด้วยกันกับระบบกล้องดิจิตอล เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏมาก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน
ไฮก์ กาซาเรียน แห่งทีมฟลายอิ้ง-แคม กล่าวว่า “สมาชิกในทีมทุกคน และทีมวิศวกรที่เรามีในยุโรปคือนักบินและผู้ควบคุมกล้อง และทุกคนต่างฝันถึงช่วงเวลานี้กันทั้งนั้น เราได้เห็นมันเกิดขึ้นในจอมอนิเตอร์ ดังนั้นมันจึงเป็นคอนเซ็ปต์ที่โดดเด่นของเทคโนโลยีและงานถ่ายภาพที่เกิดขึ้นในฉากใหญ่ยักษ์สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion”เกินจะสร้างได้จริง:
งานวิชวลเอฟเฟ็กต์
ก่อนหน้านี้ บาร์บา ซึ่งเป็นวิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ เคยร่วมงานกับโคซินสกี้มาแล้วตอนสร้างภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy เขามองเป้าหมายของเขากับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ว่าเป็นการทำให้จินตนาการของโคซินสกี้เป็นจริงขึ้นมาได้ และเพื่อให้คนดูเชื่อว่ายานบับเบิ้ลชิพสามารถบินได้จริง, สกายทาวเวอร์ตั้งอยู่บนแท่นกลางอากาศที่ความสูง 3,000 ฟุต และพวกดรอนที่สามารถบินได้ด้วยความเร็วระดับวาร์ปเพื่อไล่ล่าพวกเอเลี่ยนเก็บซาก เฮนเดอร์สันบอกว่า “มีองค์ประกอบด้านวิชวลเอฟเฟ็กต์อยู่เยอะมากในการสร้างภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ อย่างไรก็ดี โจอยากได้ภาพที่ใช้งานได้จริงในกองถ่ายระหว่างการถ่ายทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เรามีสมดุลที่ดีระหว่างงานสองด้าน และพวกมันก็ช่วยเดินเรื่อง ฉะนั้นงานวิชวลเอฟเฟ็กต์จึงไม่ใช่มีแค่เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเดินเรื่องอีกด้วย”
ผู้กำกับโคซินสกี้พูดถึงโลกที่ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ของเขาได้ช่วยสร้างขึ้นมาว่า “จากแง่มุมของงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราก็คือการทำให้แน่ใจว่าองค์ประกอบด้านดิจิตอลในภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการถ่ายภาพนักแสดงจริงๆ อย่างไร้รอยต่อ เพราะภาพส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในงานกล้อง เราไม่เคยอยากจะใช้งานดิจิตอลทั้งหมด ดังนั้นเมื่อดรอนบินตระเวนไปรอบๆ มันต้องให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการถ่ายทำด้วยกล้องในกองถ่ายจริงๆ”
สตีฟ กั๊ก ซึ่งเป็นวิชวลเอฟเฟ็กต์ โปรดิวเซอร์ และผู้อำนวยการสร้างร่วม ได้เข้ามาร่วมงานเพื่อสร้างภาพชอตต่างๆขึ้นมาล่วงหน้า โดยร่วมมือกับโคซินสกี้ กั๊บเล่าว่า “เรามีทีมพรีวิชวลไลเซชั่นที่ทำงานแอนิเมชั่นกันตั้งแต่แรกเริ่ม ยิ่งเราสามารถล็อคงานได้มากเท่าไหร่ เราก็สามารถที่จะสร้างเทมเพลทต้นแบบของงานที่เราอยากได้เมื่อต้องลงมือถ่ายทำจริงๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคสร้างขึ้นมา และสิ่งที่เราต้องการแบบครึ่งต่อครึ่ง”
ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์จะบันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกองถ่ายเอาไว้ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้มีเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปใช้งานได้ในระหว่างการทำงานโพสต์โปรดักชั่น (เมื่อพวกเขาสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์) ด้วยการใช้ภาพนิ่งเพื่อการอ้างอิง พวกเขาจะเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดในเรื่องของพื้นที่และการจัดแสง รวมไปถึงรายละเอียดของฉากที่มีความซับซ้อน ที่ถูกใช้ในการถ่ายทำแต่ละวัน
ศิลปินคอมพิวเตอร์ประมาณ 400 คนที่ดิจิตอล โดเมน และพิกโซมอนโด ได้อาศัยทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่อยู่ในกองถ่ายของ Oblivion เพื่อให้เก็บข้อมูลทางด้านรายละเอียดพื้นผิวและแสง เพื่อให้โมเดลสามมิติของทุกอย่างตั้งแต่ฉากจนถึงยานบับเบิ้ลชิพ จนถึงทีมนักแสดง สามารถถูกสร้างขึ้นมาเป็นชอตวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้ แสงเงาถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อฉากแอ็กชั่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลางแจ้งภายใต้แสงอาทิตย์เจิดจ้า ขณะที่ภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์จำต้องเข้ากันได้เนียนกับโลกจริงๆ อย่างไร้รอยต่อเชดสีเทา:
เสื้อผ้าของ Oblivion
เมื่อเธอเข้าร่วมทีม Oblivion มาร์ลีน สจ๊วร์ต ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นตำนาน ผู้เคยทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง JFK และ Terminator 2: Judgment Day จนถึง The Doors และ Tropic Thunder รู้ตัวดีเลยว่าเธอกำลังเซ็นสัญญาเพื่อสร้างโลกอนาคตที่มีการออกแบบเอาไว้แล้ว เธอชื่นชมที่โคซินสกี้ต้องการความงดงามสมัยใหม่ สจ๊วร์ตกล่าวว่า “โจอยากให้ทุกอย่างดูเรียบง่าย ทันสมัยและต้องให้ความรู้สึกที่เน้นเทคโนโลยี หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ก็คือโทนสีที่มีการควบคุมไว้แล้ว ต้องเป็นเชดสีเทา เราได้เรียนรู้ว่ามีเชดสีเทาอยู่ไม่จำกัด และได้สร้างชาร์ตสีเทาขึ้นมา มีครบทุกสีตั้งแต่สีเทาออกเขียว เทาออกน้ำตาล เทาอมเหลือง แต่มันก็ยังต้องอาศัยกลเม็ด เพราะคุณมีสีให้ทำงานอยู่แค่สองสามสีเท่านั้น”
ชุดประจำตัวที่แจ็คต้องใส่เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ตามที่สจ๊วร์ตบอก เป็นชุดที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้ออกมาเหมือนกับชุดของซูเปอร์ฮีโร่ “เราต้องการให้ชุดออกมาให้ความรู้สึกคุ้นเคยในบางลักษณะ เป็นชุดที่เหมาะจะใส่ออกไปสู่โลกภายนอก” สจ๊วร์ตและทีมของเธอใช้เนื้อผ้ากว่า 250 ชนิดและลวดลายเพื่อตัดเย็บชุดสำหรับใส่ออกลุยสภาพแวดล้อมภายนอก พวกเขาสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมา รวมถึงแผ่นโลหะที่หน้าอก และได้ทำชิ้นส่วนที่มีความแข็งสำหรับส่วนหัวเข่าและข้อศอก ที่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องป้องกันสำหรับแจ็ค พวกเขาใช้หมึกที่มีความหนาแน่นสูงและพิมพ์โลโก้บริษัทลงไปที่ชุดนั้น
เพราะครูซแสดงฉากสตั๊นต์ด้วยตัวเองในชุดนี้ สจ๊วร์ตจึงต้องทำให้แน่ใจว่าชุดนี้จะให้อิสระในการเคลื่อนไหวกับเขา ชุดหนัง ผ้าโพลยูรีเทน และเนื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่น ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างชุดนี้เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์และความรู้สึกแบบชุดยูนิฟอร์มของนักขับขี่โมโตครอส ที่ใช้ควบคู่กับเชดสีเทาในการทำเสื้อผ้า ชุดนี้ยังต้องถูกนำมาทำให้ดูเก่า รองเท้าบู้ทและถุงมือก็ถูกทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อจัดการกับรอยเก่าและรอยขาดที่ครูซทำให้เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ต้องมีการผลิตชุดแบบเดียวกันนี้มากถึง 26 ชุดเพื่อใช้ตลอดการถ่ายทำ
สจ๊วร์ตไม่เพียงแต่จะได้พบกับความท้าทายในการออกแบบชุดให้กับแจ็ค, ไวก้า และจูเลียเท่านั้น แต่ทีมของเธอยังต้องสร้างชุดสำหรับชาวเรเว่นร็อค เอเลี่ยนเก็บซาก และผู้รอดชีวิตทั้งหลาย สจ๊วร์ตทำงานประสานอย่างใกล้ชิดกับไอร่อนเฮด สตูดิโอส์เพื่อออกแบบชุดให้กับการปฏิวัติและทำให้เหลือคนเพียงหยิบมือหลังสงครามโลก
โคซินสกี้มีภาพที่เขาคิดเอาไว้มานานแล้วว่าเสื้อผ้าของกลุ่มเอเลี่ยนเก็บซากควรจะออกมาเป็นอย่างไร เขาได้บอกแนวคิดนั้นให้กับสจ๊วร์ตและไอร่อนเฮดเพื่อสร้างชุดให้กับเอเลี่ยนเก็บซากสิบตัว และยังมีชุดสำหรับบีชและไซก์สอีกด้วย ชุดแต่ละชุดประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 25 ชิ้น มีสามถึงสี่ชั้น และมีระบบความเย็นหมุนเวียนอยู่ภายใน เสื้อผ้าด้านในสุดทำจากผ้าคอตต้อน เพื่อให้ทีมนักแสดงไม่รู้สึกว่าร้อนจนเกินไป และต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีในการแต่งตัวให้กับเอเลี่ยนเก็บซากแต่ละตัว อันที่จริง ชิ้นส่วนเหล่านี้แต่ละชิ้นถูกย้อมและทำให้เก่าเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในฉาก จนถึงรองเท้าบู้ททรงทหารสีดำ
นอกจากเสื้อผ้าสำหรับคนในฉากเรเว่นร็อคแล้ว สจ๊วร์ตยังพบความท้าทายด้วยการต้องเตรียมเสื้อผ้าลุคใหม่ให้กับผู้รอดชีวิตมากกว่า 100 คน สจ๊วร์ตออกแบบชุดโดยครุ่นคิดถึงวัสดุที่อาจพอหาได้ในยุคสิ้นโลก วัตถุต่างๆ ที่ถูกทิ้งอยู่รอบๆ คือสิ่งที่ถูกนำมาประกอบเข้ากันเป็นเสื้อผ้าซาวน์แทร็คประกอบฉากหลังสิ้นโลก:
งานดนตรีของ M83
เมื่อโคซินสกี้เขียนเรื่อง Oblivion ขึ้นมาในปี 2005 เขาได้ทำรายชื่อซาวน์แทร็คจากคนที่ถือว่าเป็นมันสมองของ M83 เขาผู้นั้นก็คือแอนโธนี่ กอนซาเลซ เขารู้สึกว่า M83 คือศิลปินที่มีงานดนตรีที่เหมาะกับเรื่องที่เขาพยายามเล่า และรู้ดีว่าเมื่อเขาจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไหร่ งานดนตรีของเขาควรจะเป็นเช่นไร
ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้ออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกพร้อมกับวงดนตรีต่างๆ ตั้งแต่ Depeche Mode และ The Killers จนถึง Kings of Leon ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2001 และเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งจะมีอัลบั้มดับเบิ้ลดิสก์แรกที่ชื่อ “Hurry Up, We’re Dreaming” ออกมาเป็นผลงานลำดับที่ 6 ผู้กำกับโคซินสกี้กล่าวว่า “ดนตรีของเขาไม่เพียงแต่ก้าวล้ำนำหน้า แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ซึ่งเหมาะกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก”
ด้วยการร่วมมือกับโจเฟซฟ ทราพานีส ผู้ควบคุมงานดนตรีออร์เคสตร้าให้กับโคซินสกี้ในภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy พวกเขาได้แต่งงานดนตรีซาวน์สเคปส์ที่ทำให้ Oblivion มีความแปลกและแตกต่างออกไป และเข้ากับภาพและฉากแอ็กชั่นทั้งหลาย โคซินสกี้กล่าวว่า “มันเป็นงานดนตรีแนวไฮบริด มีงานอีเลคทรอนิคและเสียงกลองที่คุณอาจไม่เคยได้ยินจากงานดนตรีของ M83 แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีวงออสเครตร้าและวงประสานเสียงแบบเต็มวง การนำเอาองค์ประกอบที่แตกต่างกันมาไว้ด้วยกันจนกลายเป็นงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนดึงดูดเข้าหากันสำหรับภาพยนตร์ของเรา คือส่วนที่สนุกของขั้นตอนการทำงาน และมันผสมผสานเข้ากันอย่างงดงาม ให้เสียงดนตรีที่ฟังดูโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งคือสิ่งที่ผมต้องการสำหรับภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนใครเรื่องนี้”
M83 ได้พูดถึงความสนใจที่เขามีต่อการร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ว่า “ผมอยากจะทำซาวน์แทร็คมานานแล้ว ดังนั้นการเริ่มต้นทำงานกับภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยานเช่นนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก โจกับผมเริ่มต้นทำงานในโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน และเราเริ่มพูดคุยกันถึงไอเดียต่างๆ สำหรับงานดนตรีประกอบ ดังนั้นผมเลยเริ่มหลงใหลในภาพยนตร์แนวไซไฟและงานซาวน์แทร็ค” ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีภาพยนตร์หลายเรื่องทาบทามให้ M83 ทำดนตรีประกอบให้มาแล้ว แต่เขายังไม่ตกลงปลงใจกับเจ้าไหน “ผมไม่เคยได้มีโอกาสตกหลุมรักบทภาพยนตร์เรื่องไหนอย่างที่ผมรู้สึกกับ Oblivion มาก่อน ผมรู้สึกผูกพันกับเรื่องนี้ และรู้สึกได้ถึงอิทธิพลของโจในฐานะของคนทำหนัง ผมพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นงานด้านนี้”
ทีมผู้อำนวยการสร้างก็รู้สึกพอใจกับการตัดสินใจเลือกของเขา คล๊าร์กกล่าวว่า “แอนโธนี่ กอนซาเลซคือคนที่โจติดตามผลงานมาสักระยะแล้ว ทุกอัลบั้มเพลงที่ M83 ทำออกมาก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเตรียมตัวมาเพื่อ Oblivion ตัวโจเองก็เป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์อยู่แล้ว นี่คือการจับคู่ที่เหมือนกับสวรรค์ส่งมาเลยทีเดียว”
****
การถ่ายทำปิดกล้องลงในช่วงฤดูร้อนของปี 2012 ที่จูนเลก ในแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งถ้ำเครเตอร์เลกของแจ็ค ที่เขาใช้เป็นที่หลบลี้จากสกายทาวเวอร์ ถูกสร้างขึ้น ที่นั่น แจ็คได้เก็บสะสมสิ่งของซึ่งเป็นของที่ระลึกถึงอดีตเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ของสะสมที่เขาพบในร้านขายของที่ระลึกที่ตึกเอ็มไพร์สเตท จนถึงหนังสือต่างๆ ที่เขาเก็บมาจากห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก แจ็คได้สร้างบ้านขึ้นมา กลางหุบเขาแห่งนี้ ทีมนักแสดงและทีมงานใช้เวลาห้าวัน ณ โลเกชั่นที่ตั้งอยู่ที่บึงน้ำอันห่างไกลที่รายล้อมด้วยเนินหญ้า และที่นี่เองเป็นที่ตั้งของกระท่อมพักผ่อนหลายหลังที่ย้อนกลับไปในสมัยต้นศตวรรษที่ 20 รวมถึงกระท่อมหลังที่เคยเป็นของผู้กำกับ แฟรง คาปรา ผู้ล่วงลับไปแล้วแห่งทศวรรษ 1930 ทุกวันนี้ ลูกหลานของเขาก็ยังคงมาพักผ่อนที่นี่อยู่เป็นประจำ
****
ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับรีเลทิวิตี้ มีเดีย ผลงานการสร้างของ เชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์/ โมโนลิธ พิคเจอร์ส/ เรดิคัล สตูดิโอส์ ผลงานภาพยนตร์ของ โจเซฟ โคซินสกี้ โดยมี ทอม ครูซ แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ซึ่งร่วมนำแสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน, โอลก้า คูรีเลนโก้, แอนเดรีย ไรส์โบโรห์, นิโคลัจ คอสเตอร์-วัลเดา และเมลิสซ่า ลีโอ งานดนตรีประกอบของภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัยเรื่องนี้เป็นฝีมือของ M83 และดนตรีประกอบแต่งโดย แอนโธนี่ กอนซาเลซ และโจเซฟ ทราพานีส ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ มาร์ลีน สจ๊วร์ต และผู้ลำดับภาพ ได้แก่ ริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ, เอซีอี โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ ดาร์เรน กิลฟอร์ด และผู้กำกับภาพ ได้แก่ คลาวดิโอ มิแรนด้า, เอเอสซี ทีมผู้อำนวยการสร้างบริหารของ Oblivion ได้แก่ เดฟ มอร์ริสัน, เจสซี่ เบอร์เกอร์, จัสติน สปริงเกอร์ ภาพยนตร์เอพิคเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย โจเซฟ โคซินสกี้, ปีเตอร์ เชอร์นิน, ดิแลน คล๊าร์ก, แบร์รี่ ลีไวน์ และดันแคน เฮนเดอร์สัน โดยอิงเรื่องจากนิยายภาพที่คิดสร้างเรื่องโดย โจเซฟ โคซินสกี้ จากการเขียนบทภาพยนตร์โดย คาร์ล กัจดูเซ็ก และไมเคิล เดอบรูน Oblivion กำกับโดย โจเซฟ โคซินสกี้ © 2013 Universal Studios. www.oblivionmovie.com