happy on March 10, 2013, 08:00:36 PM

ไทยเปิดเวทีใหญ่รับนานาชาติ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก 27 – 29 มี.ค. นี้

               กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก หรือ Worldwide Symposium on Geographical Indications 2013 ระหว่างวันที่ 27 – 29 มี.ค. นี้ โดย 2 วันแรกจัดที่ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิลด์ ส่วนวันสุดท้ายลงพื้นที่ชมตัวอย่างกระบวนการผลิตสินค้า GI ที่สมุทรสงคราม  ระดมสมองจากกูรูทั่วโลกหลากหลายสาขา และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรนานาชาติ มาสร้างจุดยืนร่วมกันกับอนาคตสินค้า GI ในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในเชิงการค้าและข้อกฎหมาย พร้อมชมนิทรรศการสินค้า GI ทั้งของไทย อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มั่นใจจะสร้างประสบการณ์ใหม่และจุดประกายให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและชุมชนผนึกจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของไทย เพิ่มมูลค่าสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้า GI ของไทยเติบโตเชิงพาณิชย์ในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน   ทั้งยกระดับให้ไทยก้าวเป็นผู้นำเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (champion country)    ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในที่สุด


               นายณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดประชุมสัมมนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลกว่า รัฐบาลไทยโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจและยุทธศาสตร์สำคัญด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property: WIPO) จัดการประชุมสัมมนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลกปี 2556 หรือ Worldwide Symposium on Geographical Indications 2013 เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้ของท้องถิ่นหรือชุมชน อันได้แก่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยอาศัยกลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจระดับโลก

               การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ที่มีหัวข้อหลักของการจัดงาน คือ พัฒนาการ และการบริหารจัดการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ และอนาคตสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของไทยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการและชุมชน การกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งเป็นเครื่องมือ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555 - 2559) ที่ให้ความสำคัญ กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ เน้นการใช้ปัญญา ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

               นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า “การจัดประชุมดังกล่าว จะเป็นเวทีสำคัญที่ไทยจะได้ประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพ ความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศ และยังจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย ตลอดจนฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมด้านการจัดงานในระดับระหว่างประเทศต่อไป”








               ด้านนางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property: WIPO)กำหนดจัดการประชุมสัมมนานานาชาติว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก (Worldwide Symposium on Geographical Indications) ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2556 ณ กรุงเทพมหานคร โดยการจัดสัมมนาในลักษณะนี้ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี และได้เชิญประเทศสมาชิก WIPO  ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้เป็นเจ้าภาพ

               การจัดประชุม และในการประชุมครั้งนี้ WIPO ได้ให้เกียรติประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพร่วม โดย 2 วันแรกคือวันที่ 27 - 28 มี.ค.จะเป็นการประชุมสัมมนาวิชาการ และจัดแสดงนิทรรศการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้   ที่เพิ่งได้รับการจดทะเบียนในสหภาพยุโรป สินค้ากาแฟ ข้าว ผ้าไหม สินค้าเกษตรและหัตถกรรมที่เป็นสินค้า GI ที่มีชื่อเสียงของไทย รวมทั้งสินค้า GI จากอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยจะจัดขึ้นที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล เวิลด์ ณ ห้องเวิลด์ บอลรูม ชั้น 23 ส่วนวันสุดท้ายคือวันที่ 29 มี.ค. จะนำผู้สัมมนาลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อชมตัวอย่างกระบวนการผลิตสินค้า GI ได้แก่ ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม และมะพร้าวน้ำหอมแม่กลอง เป็นต้น นอกจากนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้จัดให้มีการจำหน่ายสินค้า GI แก่ประชาชนที่สนใจบริเวณพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 28 - 31 มีนาคม 2556 และจะจัดนิทรรศการจำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แก่ประชาชนที่สนใจ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. 2) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างวันที่ 29 - 31 มีนาคม 2556 อีกด้วย

               การจัดประชุมสัมมนานานาชาติว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โลก มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และผู้สนใจในเรื่องการนำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับคุณลักษณะพิเศษของสินค้าที่เชื่อมโยงกับชื่อทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้านั้น ทักษะ ความชำนาญและ ภูมิปัญญาของชุมชนที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดยเชิญผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมประมาณ 300 คน จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการใช้การคุ้มครอง การส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากวิทยากรที่มีประสบการณ์ระดับโลก และผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศ  ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสถานะของไทยในการเป็นผู้นำเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (champion country) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามเจตนารมณ์ที่สะท้อนในแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN Intellectual Property Rights Action Plan) รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

               นางปัจฉิมา กล่าวว่า “ปัจจุบันไทยมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้วจำนวน 46รายการ เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง  ข้าวหอมมะลิสุรินทร์  หอยนางรมสุราษฎร์ธานี  ไข่เค็มไชยา  หมูย่างเมืองตรัง    มะขามหวานเพชรบูรณ์  ส้มโอนครชัยศรี เป็นต้น และอยู่ระหว่างยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรป 2 รายการ คือ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จากพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาจากสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ไปยังตลาดบนของสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น  และในอนาคตได้เตรียมยื่นจดทะเบียนสินค้า GI ได้แก่ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ยื่นต่อประเทศเวียดนาม และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ยื่นต่อสหภาพยุโรป”