happy on March 08, 2013, 05:47:46 PM
เปิดศูนย์ CSSC ไทยหนึ่งเดียวในอาเซียน
ตอบโจทย์ผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์




มจธ. เปิดตัว CSSC ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบครบวงจร  ด้วยมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 แห่งแรกของอาเซียน รองรับผู้ประกอบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น



               นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวใการเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบครบวงจรแห่งนี้ เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในภูมิอาเซียนที่เป็นศูนย์ทดสอบแบบครบวงจรอีกทั้งยังได้มาตรฐาน ISO/IEC17025:2005แห่งแรกของอาเซียน ซึ่งมั่นใจว่าศูนย์ฯ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ตระหนักถึงมาตรฐานที่เชื่อถือได้ รวมถึงมาตรฐานใหม่ๆ ของสากล

               อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแสนและอนุรักษ์พลังงาน  (พพ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจมาลงทุนในเรื่องการของผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น  ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาศูนย์ทดสอบภายในประเทศที่มั่นใจได้ว่ามีมาตรฐานจริง ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ พพ.ร่วมกับมจธ.ซึ่งเคยมีความร่วมมือกันในการส่งเซลล์แสงอาทิตย์รวมถึงส่วนควบต่างๆ ให้มจธ.ตรวจสอบคุณภาพอยู่แล้ว คิดที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ( CES SOLAR CELLS TESTING CENTERหรือ CSSC ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางขุนเทียน โดยศูนย์แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 ภายใต้การสนับสนุนจาก พพ. กระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เป็นหน่วยงานของรัฐในการทดสอบคุณภาพระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งล่าสุด ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐาน ตาม มอก.17025-2548 หรือ Testing laboratory according to ISO/IEC 17025:2005 , TLAS accredited testing laboratory No.TESTING 343 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทำให้ศูนย์ CSSC เป็นแห่งแรกของไทยและเป็นรายเดียวของภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวในขอบข่ายของการทดสอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ครบทุกหัวข้อ ตามมาตรฐาน IEC61215:2005 สำหรับแผงเซลล์ชนิดผลึกซิลิคอนและ IEC61646:2008 สำหรับแผงเซลล์ชนิดฟิล์มบาง นอกจากนั้น CSSC ยังได้การรับรองในขอบข่ายของการทดสอบแบตเตอรี่ และอินเวอร์เตอร์อีกด้วย
               
               ดร.ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์ CSSC กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ CSSC ดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่ มจธ. มีประสบการณ์สะสมที่ยาวนานด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยกว่า 30 ปี และมีส่วนงานทดสอบในกลุ่มวิจัยระบบพลังงานสะอาด (CES) ภายใต้โครงสร้างของสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของมจธ. แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานแบบเครือข่ายของมจธ. ดังนั้น CSSC จึงเป็นการทำงานร่วมกันกับคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เป็นหน่วยงานการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ บริการอุตสาหกรรม ทดสอบอุปกรณ์ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ประกอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ รับเป็นที่ปรึกษา ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

               ต่อมาราวปีพ.ศ.2542-2543 มจธ. ร่วมกับสวทช. และสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (สพช.) หรือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (พพ.) ในปัจจุบัน จัดทำโครงการการจัดทำร่างมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย โดยเล็งเห็นเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เสียประโยชน์จากการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่ได้คุณภาพ และเมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 75 ล้านบาท เพื่อให้ มจธ.ดำเนินโครงการศูนย์ CSSC โดยมีกรอบแผนงานหลัก คือ ความพร้อมด้านเครื่องมือและความสามารถการทดสอบ การคงความเป็นมาตรฐานและการสอบเทียบ และกลไกการบริหารจัดการและความเป็นกลาง  โดยปัจจุบัน CSSC ให้บริการทดสอบใน 3 ส่วน คือ (1) การทดสอบสมรรถนะบางหัวข้อของอุปกรณ์ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่หน่วยงานรัฐหรือโรงไฟฟ้าเอกชนสุ่มตัวอย่างมาทดสอบ  (2) การทดสอบรับรองแบบ (Type Test) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  และ (3) การทดสอบแบบเร่งอายุในบางหัวของผู้ผลิตแผงเซลล์ภายในประเทศและต่างประเทศทดสอบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์

               ผู้อำนวยการศูนย์ CSSC กล่าวว่า CSSC นอกจากจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2005 เพียงแห่งเดียวของไทยแล้ว ยังเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ผ่านการประเมินมาตรฐานดังกล่าวครบทุกหัวข้อทดสอบ  แม้ประเทศสิงคโปร์จะมีห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับไทย แต่เพราะศูนย์ CSSC มีความพร้อมในการทดสอบครบแบบทุกขั้นตอน ซึ่งหัวข้อการทดสอบกว่า 20 หัวข้อ  ขณะที่ห้องปฏิบัติการอื่นไม่มี  เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในห้องปฏิบัตินั้นสูง โดยเฉพาะค่าดูแลความเป็นมาตรฐานของเครื่องมือที่จะต้องมีการส่งสอบเทียบและยืนยันการเป็นไปตามมาตรฐานทุกปีทั้งในและต่างประเทศ  ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก ประกอบกับที่ผ่านมาการใช้งานระบบเซลล์ยังไม่แพร่หลายนัก  จึงยังไม่คุ้มค่าสำหรับการลงทุนภาคเอกชน  แต่มีความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพมาตรฐานแก่ผู้บริโภค และเป็นพื้นฐานสำคัญการสร้างความเข้มแข็งทางอุตสาหกรรมของประเทศเพราะโลกการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคตคือการแข่งขันทางด้านมาตรฐานและความเชื่อมั่นคุณภาพ

               ขณะที่ศูนย์ CSSC มจธ.ดำเนินการในฐานะหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิชาการ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มารับการทดสอบได้ถึงความเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ  สำหรับการทดสอบรับรองแบบของ สมอ. ตามมาตรฐาน มอก. นั้น CSSC ทดสอบและออกใบรายงานผลทดสอบ หรือ Test Report แก่ สมอ. เพื่อให้การรับรอง  ส่วน อินเวอร์เตอร์แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ นั้น CSSC ออกใบรับรองผลการทดสอบมาตรฐาน เฉพาะอุปกรณ์ที่ผ่านการทดสอบ เท่านั้น  ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง จึงจะอนุญาตให้เชื่อมต่อระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้

               โดยผู้ประกอบการสามารถประสานงานขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (CSSC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางขุนเทียน  เลขที่  49 ซ.เทียนทะเล 25  ถ.บางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150 โทรศัพท์/โทรสาร: 02-470-7445     อีเมล์: ces@kmutt.ac.th เว็บไซต์ : www.ces.kmutt.ac.th